ABC เหนือล่าง สกว.


ในฐานะที่เป็นภาคีภาควิชาการที่อยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญและทุ่มเทให้กับโครงการนี้เป็นอย่างมาก เราต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ให้กับพื้นที่ และมีส่วนร่วมในการใช้ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมของทุกจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง ให้มีความเจริญรุ่งเรืองเต็มตามศักยภาพที่ควรจะเป็น

  สวัสดีครับ 

  การวิจัยเชิงพื้นที่ ABC ที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 10 จังหวัด ประกอบด้วย 9 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง และอีก 1 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบน 

  9 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วยกลุ่มจังหวัดที่ 1 รวม 5 จังหวัด คือ จังหวัดตาก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดเพชรบูรณ์ และกลุ่มจังหวัดที่ 2 อีก 4 จังหวัด คือ จังหวัดพิจิตร จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดอุทัยธานี 

  จังหวัดสุดท้ายอีก 1 จังหวัดอยู่ในเขตภาคเหนือตอนบนก็คือจังหวัดลำปาง รวมเป็นทั้งหมด 10 จังหวัด 

  ภายในแต่ละพื้นที่ของแต่ละจังหวัดจะมีภาคีที่สำคัญรวม 4 ภาคีที่จะมามีส่วนร่วมในการทำวิจัย 4 ภาคีที่ว่าจะมาจาก (1) ภาคราชการ (2) ภาคธุรกิจเอกชน (3) ภาคประชาสังคม และ (4) ภาควิชาการ 

  ภาคีที่สำคัญที่จะช่วยเป็นกลไกหลักในการเชื่อมโยงการวิจัยของแต่ละจังหวัดเข้าด้วยกันเป็นเครือข่ายก็คือ ภาคีจากภาควิชาการ ซึ่งประกอบด้วยสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ในแต่ละจังหวัด ซึ่งอาจจะเป็นวิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฎ หรืออาจจะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐหรือของเอกชนภายในจังหวัดนั้น ๆ 

  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. จะช่วยสนับสนุนทั้งทางด้านวิชาการและด้านเงินทุนสนับสนุนการวิจัย รวมทั้งคอยเชื่อมโยงเครือข่ายวิจัยในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งในระดับสากล 

  ในภาพรวม การวิจัยเชิงพื้นที่ “ABC เหนือล่าง สกว.” เราเน้นอยู่ 3 เรื่อง คือ (1) การมีส่วนรวมของทั้ง 4 ภาคีในแต่ละจังหวัด (2) การทำวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และ (3) การทำงานในลักษณะเครือข่าย 

  การทำวิจัยในลักษณะนี้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายทุกภาคีเป็นอย่างมาก ที่สำคัญ เช่น (1) เกิดประโยชน์โดยตรงกับชาวบ้าน อันเนื่องมาจากชาวบ้านได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมสร้างและใช้ความรู้สำหรับการแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ลดลง (2) เกิดประโยชน์กับแวดวงวิชาการของโลกในระดับนานาชาติ เนื่องจากในกระบวนการวิจัยจะเกิดการหลอมของศาสตร์หลายศาสตร์จากนักวิชาการหลายสาขาเข้าด้วยกัน มีการเชื่อมโยง globalization กับ localization มีการเชื่อมโยงภูมิปัญหาท้องถิ่นกับภูมิปัญญาสากล (3) เกิดประโยชน์กับการพัฒนาทั้งพื้นที่อย่างยั่งยืน อันเนื่องมาจากมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ส่งเสริมความเข้มแข็งซึ่งกันและกัน ทั้งภายในเครือข่ายและระหว่างเครือข่าย 

  สุดท้ายก่อนจบ ผมขอกล่าวถึงท่าทีของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่มีต่อโครงการวิจัยเชิงพื้นที่ ABC นี้ว่า ในฐานะที่เป็นภาคีภาควิชาการที่อยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญและทุ่มเทให้กับโครงการนี้เป็นอย่างมาก เราต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ให้กับพื้นที่ และมีส่วนร่วมในการใช้ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมของทุกจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง ให้มีความเจริญรุ่งเรืองเต็มตามศักยภาพที่ควรจะเป็น 

  ครับ ทั้งหมดที่เล่ามานั้น เป็นทั้งแนวคิดและสิ่งที่เราปฏิบัติกันจริง ๆ ในการดำเนินงานโครงการวิจัยเชิงพื้นที่ “ABC เหนือล่าง สกว.” ที่มีมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน

  ขอขอบคุณ และสวัสดีครับ

         วิบูลย์ วัฒนาธร

 

หมายเลขบันทึก: 106108เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2007 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอเพิ่มเติมความประทับใจใน ABC เหนือล่างค่ะ

  • จังหวัดที่สนใจคือ สุโขทัย ที่มีความประทับตั้งแต่สมัยเด็กอยู่แล้ว 
  • ได้รับโอกาสเป็นนิสิตไปสังเกตการณ์ กระบวนการของ ABC ที่สุโขทัยด้วย
  • ได้เห็นความร่วมแรงร่วมใจทั้งราชการ เอกชน ประชาชน และทุกภาคี ต้องการพัฒนาสุโขทัยด้วยวัฒนธรรมความเป็นสุโขทัยจริงๆ
  • ได้เห็นความบังเอิญที่น่าอิจฉาคนสุโขทัยที่ได้นักวิจัยเก่งๆ และพบความร่วมมือกันจากที่ประชุมนำเสนอโจทย์วิจัย เลยได้ทีมใหม่ที่ใหญ่ขึ้นจาก 1 รวมเป็น 3 จาก 3 กลายเป็นหนึ่งเดียวคือเรื่องผ้าสุโขทัย
  • ความสุขที่ได้เห็นพลังยิ่งใหญ่ของคนรักเมืองไทย ที่ไม่ใช่ด้วยปาก แต่ด้วยวิจัยเพื่อพัฒนาจริงๆ

เรียน อ.วิบูลย์

ชื่นชมกับบทบาทของ ม.นเรศวร และสกว.   ซึ่งน่าจะมีการขยายไปที่อีสานใต้   แต่ดูขนาดพื้นที่วิจัยทั้งที่เป็นจังหวัด และภูมิภาค ดูจะใหญ่มาก  จะออกแบบการวิจัยอย่างไรถึงจะได้ตามที่วางเป้าหมายไว้ คือให้มีส่วนร่วมทั้ง 4 ภาค  ทำงานเป็นเครือข่าย  และได้งานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ ??? ต้องทำงานกันอีกมาก ต้องใช้เวลา และความต่อเนื่องมากๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท