ประชาสังคมกับการพัฒนาสี่แยกอินโดจีน


ขอให้ประชาชนในทุกชุมชนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นระดับตำบล อำเภอ จังหวัดหรือในหน่วยใดอื่น รวมตัวเชื่อมโยงกันในแนวราบ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวิจัย จะเกิดโครงสร้างความสัมพันธ์ในสังคมแบบใหม่ ที่ให้อิสรภาพ ความรัก ความสร้างสรรค์ และความสุข อย่างหาที่เปรียบมิได้ นี้คือกุญแจที่จะไขไปสู่สันติภาพและสันติสุขของมนุษย์และสรรพสิ่ง

< เมนูหลัก >

         คำนำ

         “ประชาสังคมกับการพัฒนาสี่แยกอินโดจีน”

         การพัฒนาประเทศ ถ้ารอพึ่งอำนาจรัฐอย่างเดียว จะไม่สำเร็จหรือวิกฤติอย่างที่กำลังวิกฤติ เพราะอำนาจรัฐรวมศูนย์ มีประสิทธิภาพต่ำแต่คอรัปชั่นสูง ปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจดี การเมืองดี และศีลธรรมดี คือการที่ประชาชนรวมตัวกัน ร่วมคิดร่วมทำให้มากที่สุด สังคมที่ประชาชนรวมตัวกันร่วมคิดร่วมทำในรูปต่าง ๆ เช่น กลุ่ม ชมรม สหกรณ์ สมาคม มูลนิธิ ชุมชน ประชาคม หรือชื่อใดอื่นเรียกว่า ประชาสังคม (Civil Society) ความเป็นประชาสังคมมีรากฐานทางศีลธรรมที่ลึก คือ อยู่ที่ความเคารพคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคน และเข้ามาร่วมมือกันอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นคนเสมอกัน อย่างนี้เรียกว่ามีความสัมพันธ์กันทางราบ ตรงกันข้ามกับความสัมพันธ์ทางดิ่งที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้ไม่มีอำนาจ เช่นระบบอุปถัมภ์ หรือระบบราชการ ที่ใดมีความสัมพันธ์ทางดิ่งมากที่นั่นจะมีความเสื่อมเสียทางศีลธรรมสูง ความสัมพันธ์ทางราบหรือความเป็นประชาสังคม หรือ สังคมประชาธรรมจะช่วยให้เกิดความสุข ความสร้างสรรค์และความเจริญ

         หนังสือเรื่อง พิษณุโลก 2020 : วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาสี่แยกอินโดจีน โดยนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป และคณะเล่มนี้ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่สี่แยกอินโดจีนเอง แต่อยู่ที่ความเป็นหน่อของกระบวนการประชาสังคมพิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียง อันได้แก่การที่มีคนจำนวนหนึ่งมารวมตัวกันคิดเรื่องจังหวัดของตน และจังหวัดใกล้เคียง ไม่รอให้เป็นเรื่องของรัฐ (แนวดิ่ง) เท่านั้น ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือมีการวิจัย ให้เกิดความรู้เกี่ยวกับสภาพจังหวัดของตน การสร้างความรู้จะช่วยให้การเรียนรู้ได้ผลเร็วขึ้น การรวมตัวโดยไม่รู้จะได้ผลช้า หรือไม่ได้ผล การวิจัยเพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นมีความจำเป็นต่อการพัฒนาทุกระดับ

         หวังว่าหนังสือเรื่อง “พิษณุโลก 2020” เล่มนี้จะช่วยกระตุ้นให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของประชาสังคม ศึกษาทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น ทั้งพระและฆราวาส เพราะอุดมการณ์ทางพุทธศาสนาที่แท้จริงอยู่ที่การสร้างชุมชนเรียนรู้ สงฆ์คือชุมชนเรียนรู้ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับประชาคม หรือประชาสังคม ขอให้ประชาชนในทุกชุมชนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นระดับตำบล อำเภอ จังหวัดหรือในหน่วยใดอื่น รวมตัวเชื่อมโยงกันในแนวราบ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวิจัย จะเกิดโครงสร้างความสัมพันธ์ในสังคมแบบใหม่ ที่ให้อิสรภาพ ความรัก ความสร้างสรรค์ และความสุข อย่างหาที่เปรียบมิได้ นี้คือกุญแจที่จะไขไปสู่สันติภาพและสันติสุขของมนุษย์และสรรพสิ่ง

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี

16 กันยายน 2540

จากคำนำหนังสือ “พิษณุโลก 2020 : วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาสี่แยกอินโดจีน”

         วิบูลย์ วัฒนาธร

 

หมายเลขบันทึก: 10495เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2005 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท