เราควรจะตามใจเด็กที่จ่ายเงินมากมาเรียนหนังสือหรือไม่ เพียงใด


ทุกทางเลือก คนที่เลือกต้องรับผิดชอบกับทางเลือกนั้น ตามกฎกติกาของสังคมและธรรม ... เราทำหน้าที่ได้เพียงแนะ และดำเนินตามกติกาที่มีอยู่ ... ขั้นตอนของการแนะนำ ฝึกฝนให้เรียนรู้นั้นสำคัญที่สุด แต่กติกาไม่ควรหย่อน

หลายวันมานี้ผมเข้ามาจอดรถในมหาวิทยาลัย ที่ชั้นใต้ดิน ผมสังเกตุเห็นความผิดปกติอย่างนึงคือ ผมเห็นนักศึกษาเอารถเข้ามาจอดที่ชั้นใต้ดิน ซึ่งในธรรมศาสตร์ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะปกตินักศึกษาจะเอารถเข้ามาได้ก็ประมาณสามโมงเย็น นี่สามโมงเช้าก็เข้ามาแล้ว ถ้าเข้าได้แสดงว่ามีสติ๊กเกอร์อนุญาตให้เข้า แต่สติ๊กเกอร์ก็ระบุเอาไว้ด้านหลังชัดเจนว่านักศึกษาห้ามใช้ แล้วเด็กพวกนี้มีได้ยังไง?? งง มากๆ (ถามยามชั้นใต้ดิน ยามก็งง)

เห็นแบบนี้ผมจำเด็กบางคนได้ว่าเป็นเด็ก BE หรือ BBA ก็เลยคิดไปได้ว่า เอ... หรือเค้าให้สิทธิพิเศษเด็กพวกนี้ ? อันนี้ก็ไม่รู้จริงเท็จประการใด แต่ยามบอกว่าจะลงมาจอดได้และได้สติ๊กเกอร์ต้องเป็นการทำเรื่องจากคณะ ... หรือไม่ก็แอบทำ เพราะเคยมีกรณีเด็ก BE ที่ปลอมสติ๊กเกอร์เข้ามา โดนพักการเรียนเลยเพราะปลอมเอกสารราชการ แต่ยังไงก็ดีก็ยังไม่รู้ว่าจริงหรือเท็จ แต่เรื่องนี้ทำให้นึกไปถึงเรื่องหนึ่งที่แม่ผมเล่าให้ฟังเมื่อก่อน

คือ เราคงเคยได้ยินข่าวคราวว่า เดี๋ยวนี้บางทีเด็กๆนักเรียน นักศึกษาไม่ค่อยเชื่อฟังครู และคุณพ่อคุณแม่บางทีก็ให้ท้ายเหมือนกัน และเด็กก็มักจะอ้างว่า ก็จ่ายเงินจ้างครูแล้ว ครูก็เหมือนลูกจ้างของเขาไปโดยปริยาย ฉะนั้นครูไม่มีสิทธิ์จะมาว่า หรือลงโทษเขา ...

ไม่รู้เคยได้ยินกันมั้ย

ยิ่งเด็กๆที่จ่ายเงินแพงๆเข้ามาเรียน อย่างเด็กโครงการภาคภาษาอังกฤษบางส่วนนี่ มีแนวโน้มที่จะคิดไปทางนั้นพอสมควร

เรื่องนี้ผมเลยนั่งคิดไปคิดมาก็พบว่า....

ประการแรกคือ นักเรียนนักศึกษาไม่ได้จ่ายเงินจ้างครูอย่างเรา คุณพ่อคุณแม่เค้าต่างหากที่จ่าย .... ฉะนั้น จริงๆแล้วคุณพ่อคุณแม่ต่างหากที่ดูเหมือนจะมีสิทธิ์พูดอย่างนี้มากกว่า

ประการที่สองคือ คุณพ่อคุณแม่จ่ายเงินให้ลูกมาเรียนและอยู่ในความดูแลของครูเพื่ออะไร ก็เพื่อประสิทธิ์ประสาทวิชา พร้อมทั้งอบรมจริยา ความประพฤติทั้งปวงให้อยู่ในร่องในรอย จบออกมาเป็นพลเมืองดีของสังคม มีวิชาการที่เข้มแข็ง ใช้ชีวิตกับผู้อื่นได้ มีคุณธรรม ฉะนั้นกระบวนการสั่งสอน หรือวางเงื่อนไขในเรื่องของการลงโทษก็เป็นกระบวนการหนึ่งเช่นเดียวกัน แต่แน่นอนว่า กระบวนการดังกล่าวต้องไม่ถึงกับการทำร้ายกันโดยเลือดตกยางออก ...

ประการที่สามคือ คุณพ่อคุณแม่สามารถมีอิทธิพลต่อการดำเนินการของคุณครูได้มากขนาดไหน ? ผมว่า มันควรจะอยู่ในระดับที่คุยกันเพื่อหาทางว่าจะทำอย่างไรให้ลูกๆได้บรรลุเป้าหมายการศึกษาออกมาเป็นพลเมืองดีมีคุณธรรมดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ... แต่เรื่องสไตล์การเรียนการสอน การวางเงื่อนไข การประเมินผล มาตรฐานคุณภาพของการเรียนการสอนและการประเมินผล เป็นอำนาจเต็มของครู ผู้ปกครองไม่ควรจะเกี่ยวข้อง ... และครูก็ไม่ควรจะลดมาตรฐานของตนเอง

ฉะนั้นเด็กๆที่มีปัญหาเรื่องการเรียน ตั้งแต่เกรดไม่ดี ไปจนถึงทำทุจริตตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนเรื่องใหญ่ ไม่ควรจะให้ผู้ปกครองเข้ามาเคลียร์ ผ่อนหนักเป็นเบา หรือทำให้ไม่ได้รับโทษ หรือ นำไปสู่การแก้ไขเกรด หรือ การทำให้ทั้งโรงเรียนกลายเป็นโรงเรียนปล่อยเกรดไป   และผู้ปกครองก็ต้องรู้ว่าไม่ควรทำแบบนั้น

ทุกทางเลือก คนที่เลือกต้องรับผิดชอบกับทางเลือกนั้น ตามกฎกติกาของสังคมและธรรม ... เราทำหน้าที่ได้เพียงแนะ และดำเนินตามกติกาที่มีอยู่ ... ขั้นตอนของการแนะนำ ฝึกฝนให้เรียนรู้นั้นสำคัญที่สุด  แต่กติกาไม่ควรหย่อน

เหมือนเราจะไปกินกาแฟที่สตาร์บัคส์ แต่เราชอบกินกาแฟแบบกาแฟโบราณ เราจะบอกให้สตาร์บัคส์ ทำกาแฟโบราณเค้าคงไม่ทำให้ เพราะเค้าก็มีเมนูของเขาอยู่แล้ว มีมาตรฐานของเขา

โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาก็เหมือนกัน ก็คุณพ่อคุณแม่ ซื้อบริการการศึกษาจากโรงเรียนหรือสถาบันแล้ว ซึ่งก็ต้องรู้อยู่ก่อนแล้วว่า มันเป็นอย่างไร คุณภาพเป็นอย่างไร เด็กเข้าไปแล้วออกมาจะเป็นอย่างไร ... ฉะนั้น ต้องปล่อยให้โรงเรียนหรือสถาบันดำเนินการ วางเงื่อนไขต่างๆเพื่อให้เด็กๆ ออกมาเป็นคนที่ โรงเรียนหรือสถาบันบอกเอาไว้ก่อนว่า เขาน่าจะออกมาเป็นแบบนั้น .... เช่น ธรรมศาสตร์มีปณิธานจะส้รางนักศึกษาที่ เป็นเลิศ เป็นธรรม ร่วมนำสังคม ... ก็ควรต้องให้กลไก ภายในมหาวิทยาลัยเป็นตัวจัดการ

ส่วนที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะแทรกแซง ให้ความเห็นหรือเรียกร้องคือ ถ้าเห็นว่า กระบวนการใดกระทบต่อสวัสดิภาพของชีวิตทางร่างกายลูก อันนั้นก็เรื่องนึงที่ควรจะต้องแจ้ง และจัดการ แต่อีกเรื่องที่สำคัญคือ ดูว่า กระบวนการจะทำให้ลูกเราถึงเป้าหมายอย่างมีคุณภาพตามที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาบอกเราไว้ว่าลูกเราจะถึงหรือเปล่า ... แต่มิใช่ว่า ลูกเราจะเรียนจบ/ได้เกรดดี หรือเปล่า มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  เพราะเรื่องเรียนจบ เกรดดี หรือแม้กระทั่งได้รับงดเว้นจากโทษทัณฑ์ หรือควรได้สิทธิพิเศษหรือไม่ มันเป็นเรื่องกฎเกณฑ์กติกาของโรงเรียนและสถาบันการศึกษานั้นๆมากกว่า

ฉะนั้น โดยสรุป โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาไม่ควรตามใจเด็ก ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ควรทำตามกฎกติกา และปณิธานที่เราตั้งใจจะประสิทธิประสาทเด็กให้เต็มที่ .... และผู้ปกครองก็ต้องร่วมกับโรงเรียนหรือสถาบันให้ลูกๆได้รับการประสิทธิประสาทและออกมาเป็นพลเมืองดีมีคุณธรรม ... มิใช่เข้าแทรกแซงกฎกติกา หรือลดมาตรฐานโดยรวมเพื่อลูกของตนเองเท่านั้น ไม่ว่าจะจ่ายเงินมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม

หมายเลขบันทึก: 104756เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2007 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

ในฐานะที่ต้องเข้าไปดุแล นศ.  กำลังคิดทำอยู่สามเรื่องค่ะ

 เรื่องแรก คุยกับผู้ปกครอง  ... คงต้องมานั่งทำความเข้าใจกันใหม่เรื่อง หลักการ จริยธรรม และอื่นๆ

เรื่องที่สอง  คุยกับกลุ่มตัวแทนนักศึกษา (scobe) เพื่อปรึกษาปัญหา และหาทางสร้างกติกาที่จะพัฒนาไปเป็น "วัฒนธรรมชุมชน" ที่มีนักศึกษาดูแลควบคุมกันเอง

เรื่องที่สาม คุยกับอาจารย์ผู้สอน เพื่อตกลงในการจัดกติการ่วมกัน  ที่ผ่านมาอาจารย์ก็มีหลายมาตรฐาน

กะว่า ที่นี่จะใช้มาตรฐานเดียว  คือ มาตรฐานอาจารย์ป๋วยค่ะ

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

อ้อ .. คิดว่าจะนัดคุยและทานอาหารเที่ยงกับ scobe  วันที่ 12 หรือ 13 กค. นี้

เรียนเชิญอาจารย์ฝ่ายการนักศึกษาด้วยนะคะ

สวัสดีครับอาจารย์ชล

ขอเสนอความคิดเห็นนะครับ

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าสถาบันศึกษาปัจจุบันก็คือธุรกิจอย่างหนึ่ง (นิยามว่า ได้เงิน จากการทำกิจกรรมการเรียนการสอน) ดังนั้นเมื่อเป็นธุรกิจก็สามารถเอาหลักการบริหารธุรกิจมาประยุกต์ใช้ได้

หลักของ demand และ supply ก็เป็นกฏหนึ่งที่สามารถอธิบายปรากฎการณ์นี้ เพราะสถาบันการศึกษาต้องการ miximize demand (นักเรียน)ในขณะที่ไม่ทำให้ over supply (อาจารย์)

ไม่ว่าจะเงินของนักศึกษาหรือผู้ปกครองของเค้า การจ่ายจะเกิดขึ้นเมื่อลูกค้าเกิดความพอใจในสินค้า และสินค้าในที่นี้ ไม่ได้เป็นวิชาการแต่อย่างเดียว มันกลายเป็นองค์ประกอบอีกหลายๆ อย่างที่เข้ามามีส่วนให้นักศึกษาเลือกที่จะเรียนในสถานศึกษานั้นๆ ดังนั้นมันเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะต้องหาทางจัดการกับ criteria เพื่อทำให้เกิดการ purchase ครับ

ในยุคของทุนนิยมปัจจุบัน ผมว่าเราขาดการอบรมเรื่องจริยธรรม เด็กหลายคนขาดจิตสำนึก กฎระเบียบก็เป็นแค่กระดาษที่เขียนไว้ที่ไหนก็ไม่รู้ ความพอดีมันขาดหายไป

ก็เห็นด้วยนะครับ ที่จะสอนให้เด็กทำตามกติกา โดยมีผู้ปกครองคอยช่วยดูแล เพื่อสร้างพลเมืองที่ดีมีความรู้ (ดีกว่าสร้างเครื่องจักรฉลาดๆ แต่ขาดคุณธรรมครับ)

 

หดหู่จังค่ะ

เวลาที่ได้ยินว่า การศึกษา คือ ธุรกิจ อย่างหนึ่ง

แม้โดยสภาพความเป็นจริง อะไรหลายๆ อย่างจะเป็นไปในรูปรอยนั้นก็ตาม (โดยเฉพาะการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย)

แต่หากเราตั้งกรอบการมองเช่นนั้นเสียแล้ว เราจะสามารถเรียกร้องคุณธรรม ความดี ความงาม จากเด็กได้จริงๆ หรือค่ะ ในเมื่อระบบที่สั่งสอนอบรมเขาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็พูดถึงแต่เพียงเรื่องของเงินตรา การแลกเปลี่ยนซื้อ-ขาย ไปเสียทั้งหมด 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท