BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปรัชญามงคลสูตร ๔๒ : สรุป


ปรัชญามงคลสูตร

มงคลสูตร ว่าด้วยหลักปฏิบัติหรือแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดีซึ่งจัดว่าเป็น มงคล มี ๓๘ ประการ... เป็นพระสูตรที่สำคัญซึ่งโบราณาจารย์ประยุกต์ใช้มาเป็นบทสวดหลักในการเจริญพระพุทธมนต์ สำหรับทำ น้ำมนต์ เพื่อใช้ประพรมให้เป็นสิริมงคลดังที่พวกเราทราบกันโดยทั่วไป.... อันที่จริง มงคลสูตรจะเป็นสิริมงคลได้จริงแท้ก็ต้องนำไปปฏิบัดิหรือใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวต... เพียงแต่รดน้ำมนต์ ถ้าไม่ปฏิบัติตามมงคลสูตร ผู้เขียนคิดว่าชีวิตนี้ก็จะหาสิริมงคลได้ยาก.....

ประสบการณ์จากการสอน ป.ธ. ๔ ซึ่งใช้คัมภีร์อธิบายมงคลสูตร (มังคลัตถทีปนี) มาหลายปี ทำให้ผู้เขียนคิดว่าลำดับของคาถาในมงคลสูตร มีลักษณะเป็น ธรรมลูกโซ่ คือเป็นการจัดลำดับสิ่งสำคัญตามช่วงวัยแห่งชีวิต ซึ่งผู้เขียนได้เล่ามาย่อๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ... โดยตั้งชื่อเรื่องว่า ปรัชญามงคลสูตร เพราะเป็นการตีความโดยผู้เขียนเอง และโดยอาศัยร่องรอยบางอย่างที่คัมภีร์อรรถกถาชี้ช่องทางไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น... ดังนั้น ก่อนจะจบปรัชญามงคลสูตร จึงจะทบทวนลำดับทั้งหมดอีกครั้ง....

คาถาแรกเริ่มต้นด้วยหลักความเจริญก้าวหน้า นั่นคือ คนเราจะเจริญก้าวหน้าได้ต้องประกอบด้วยคุณธรรมเบื้องต้น กล่าวคือ การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต และการบูชาผู้ควรบูชา เช่นพ่อแม่ หรือครูบาอาจารย์เป็นต้น ซึ่งจะเป็นผู้ชี้แนะให้เราทราบว่า ใครเป็นคนพาล หรือลักษณะไหนที่ได้ชื่อว่าบัญฑิต...

เริ่มต้นชีวิตใหม่ นั่นคือ ชีวิตแรกเกิดก็ต้องอยู่ในท้องถิ่นที่สมควร บุญที่สั่งสมไว้ในปางก่อนจะเป็นตัวนำพาให้เราอยู่ในท้องถิ่นที่สมควรหรือไม่อย่างไร... นั่นเป็นทุนรอนเก่า แต่เราก็สามารถสร้างสิ่งใหม่ในการเริ่มต้นชีวิตนี้ได้โดยการดำรงตนไว้ในแนวทางที่ชอบที่ควร...

การดำรงตนไว้ในแนวทางที่ชอบที่ควรก็คือ ต้องเป็นผู้ใคร่รู้มีการศึกษามาก และสามารถกระทำสิ่งนั้นๆ ได้ตามที่เรียกกันว่าผู้มีศิลปะ... วางระเบียบในการดำรงชีวิตให้เหมาะสมที่เรียกกันว่าวินัย... และมีมนุษย์สัมพันธ์เป็นผู้รู้หลักในการพูดที่เรียกว่าวาจาสุภาษิต.... เมื่อสิ่งเหล่านี้ครบถ้วน นั่นคือ การตระเตรียมอย่างดีเพื่อจะได้อยู่ครองเรือน

เมื่ออยู่ครองเรือน โดยแยกออกมาจากครอบครัวเดิม กลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ก็จะต้องรับผิดชอบจัดการกับภารกิจต่างๆ ซึ่งจำแนกได้เป็นสิ่งที่จะต้องกระทำและสิ่งที่ควรทำ

ในสิ่งที่จะต้องกระทำเหล่านั้น การบำรุงมารดาบิดา การสงเคราะห์บุตรและภรรยา (หรือสามี) และการไม่ให้หน้าที่การงานหมักหม่มคั่งค้าง... แม้ถ้าสิ่งเหล่านี้ขัดแย้งกันก็ให้จัดความสำคัญจากมากไปหาน้อยดังนี้ กล่าวคือ มารดา บิดา บุตร ภรรยา (หรือสามี) และการงาน... 

ส่วนในสิ่งที่ควรกระทำเพื่อสังคมนั้น รู้จักเสียสละที่เรียกว่าทานเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นโดยตรง ประพฤติอยู่ในทำนองครองธรรมเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นโดยอ้อม สงเคราะห์บรรดาญาติในฐานะสายเลือดหรือวงศ์ตระกูลเดียวกัน และหลีกเลี่ยงการงานที่มีโทษเพื่อเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น...

เมื่ออายุสูงขึ้นไปอีกก็ควรดำรงตนเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชนคนรุ่นหลังที่เรียกว่าตัวแทนทางศีลธรรม ด้วยการงดเว้นจากบาป รู้จักสำรวมจากการดื่มน้ำเมา และรู้จักระมัดระวังตนโดยการไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย....

เมื่อวัยกลางคนกำลังจะผ่านไปก็ควรตระเตรียมตัวเองเพื่อเข้าสู่ปัจฉิมวัยหรือผู้สูงอายุ โดยการเคารพต่อสัจธรรมความจริง อ่อนน้อมต่อสัจธรรมความจริง รู้จักสันโดษด้วยการยินดีตามมีตามได้และตามความเหมาะสม รู้จักอุปการคุณของผู้อื่นที่ได้กระทำให้แก่ตนที่เรียกว่ากตัญญู และฟังธรรมตามกาลเหมาะสมเพื่อยกระดับจิตใจให้ค่อยๆ สูงขึ้น....

เพิ่มพูนคุณธรรมให้แก่ตัวเองโดยการเป็นผู้อดทน เป็นผู้อันใครว่ากล่าวโดยง่าย มิใช่เป็นผู้ดื้อด้านถือดีเพราะมีอายุมาก หันหน้าเข้าวัดเพื่อจะได้พัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นซึ่งเรียกว่าการพบเห็นสมณะ และร่วมสนทนาธรรมตามโอกาสเพื่อพิจารณาและตรวจสอบความเห็นถูกเห็นผิดของตัวเอง....

แม้มุ่งหวังความเจริญสูงขึ้นแห่งธรรมต่อไป ความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุก็จะค่อยๆ เป็นเรื่องลึกลับสำหรับตัวเองและคนอื่นๆ กล่าวคือ...

บำเพ็ญตปะ โดยการสำรวมระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เพื่อมิให้ช่องทางแก่อกุศลที่จะเกิดขึ้นมา และเผาผลาญความเกียจคร้านให้หมดไปเพื่อจะได้ไม่เป็นภาระของผู้อื่นมากนัก....

บำเพ็ญพรหมจรรย์ โดยการเว้นจากการร่วมหลับนอนกับหญิงหนึ่งหรือชายใด แล้วพิจารณาร่างกายโดยอาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ว่ามิใช่สิ่งที่สวยงาม คงทน หรือมิใช่สิ่งที่เป็นไปในอำนาจของเราได้....

พิจารณาทุกข์ เหตุเกิดทุก การดับทุกข์ และแนวทางการดับทุกข์ ที่เรียกว่าการเห็นอริยสัจ...

และใส่ใจถึงการกระทำนิพพานให้แจ้งเป็นอารมณ์เพื่อจะได้เป็นบุญวาสนาปารมีสั่งสมไปสู่ชาติหน้าและชาติต่อๆ ไป....

สรรพสิ่งและสุขทุกข์ล้วนอยู่ที่ใจ แต่จิตรใจของบุคคลผู้ใดอันโลกธรรมทั้งส่วนที่พึงปรารถนาได้แก่ สุข ลาภ ยศ และสรรเสริญ... และส่วนที่ไม่พึงปรารถนาได้แก่ ทุกข์ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ และนินทา... เข้าไปถูกต้องสัมผัสแล้ว ก็ไม่หวั่นไหวคลอนแคลนไปกับโลกธรรมเหล่านั้น ก็จะไม่เศร้าโศรก ไม่ขุ่นมัวหม่นหมอง เป็นจิตรใจที่ปลอดโปร่งสดชื่น.. ซึ่งจิตรใจของผู้ใดเป็นอย่างนี้ได้ชื่อว่าบรรลุธรรมหรือถึงพระนิพพานอันเป็นอุดมคติสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนา.....

..................

ผู้เขียนเริ่มเขียนบันทึกชุดนี้มาตั้งแต่วันที่ ๓๐ มกราคม และเร่งเขียนเพื่อให้จบเมื่อไม่กิ่วันที่ผ่านมา รวมทั้งหมด ๔๒ ตอน ผู้สนใจอาจทบทวนทั้งหมดได้อีกครั้ง

อนึ่ง ที่เร่งเขียนให้จบก็เพื่อจะรวบรวมพิมพ์เป็นเล่ม เพื่อพิมพ์แจกเป็นอนุสรณ์งานทอดผ้าป่าประจำปีของหน่วยวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดสงขลา ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ ๓๐ มิถุนายนนี้

ดังนั้น จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน ร่วมงานทอดผ้าป่าฯ ครั้งนี้ด้วย ณ.ที่ตั้งหน่วยฯ วัดหงษ์ประดิษฐาราม อ.หาดใหญ่ จ. สงขลา ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ ๒๕๕๐ เวลาประมาณ ๑๒.๐๐ น. 

หมายเลขบันทึก: 104620เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2007 17:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

กราบนมัสการหลวงพี่BM.chaiwut  

ขอกราบขอบพระคุณในธรรมทาน ที่หลวงพี่ได้เขียนสรุปปรัชญามงคลสูตรให้ได้อ่านค่ะ ดิฉันได้ประโยชน์มากจากการอ่านบันทึกของหลวงพี่ เพราะได้ทบทวน ได้สอบตัวเอง และได้นำไปใช้ในบ้างในบางโอกาสค่ะ

น่าเสียดายที่อยู่ไกลและติดงานสอน ไม่สามารถไปร่วมงานทอดผ้าป่าได้ค่ะ

กราบนมัสการขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ...

ดิฉันมีเรื่องจะถาม ว่าโลกธรรม ๘ ในการประยุกต์ใช้อย่างไร ดิฉันหาข้อมูลไม่ได้สักทีอยากให้ท่านช่วยตอบด้วยคะ

ไม่มีรูป
ชมพู
ไม่เข้าใจคำถามว่า ในการประยุกต์ใช้ จะว่าไปตามที่พอเห็นสม...
โลกธรรม ๘ จะครอบงำสังคมอยู่ ไม่มีใครสามารถรอดพ้นไปได้.... นี้เป็นประเด็นทั่วไป
ไม่ควรหวั่นไหวหรือยินดียินร้ายในเมื่อโลกธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดกระทบจิต โดยพิจารณาว่าเป็นเรื่องธรรมดา... นี้เป็นประเด็นควรใส่ใจ
ในการดำเนินชีวิต ไม่ควรให้ความสำคัญต่อแสวงหาโลกธรรมฝ่ายที่พึงพอใจ (ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข)... และหลีกหนีโลกธรรมฝ่ายไม่เป็นที่พึงพอใจ (เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์) เพราะทำให้เราหลงไหลหรือจมอยู่ในโลกธรรม...
เจริญพร

สิ่งที่ดีๆนี่ช่างพบยาก  รู้ยาก  ทำยาก  และบรรลุยาก นะพระคุณเจ้า

ไม่มีรูป

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

เป็นปลื้ม ! (อีกแล้ว) ที่อาจารย์มาเยี่ยม....

อาตมาก็พยายามนำเรื่องที่คิดว่า ไม่ค่อยเจอในที่อื่นๆ มาเล่า... ส่วนที่เจออยู่ทั่วๆ ไป ก็ขี้เกียจนำมาเล่า ....

ส่วนที่่ อาตมา บ่น ไปบ้าง นั่นก็เป็นธรรมดา ทำนองเดียวกับคนทั่วๆ ไป....

เจริญพร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท