Workshop KM ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี


เวทีระดมสมองหรือเวทีCQI ซึ่งเน้นกำหนดปัญหา หาสาเหตุของปัญหาและร่วมกันคิดหาแนวทางแก้ไขซึ่งเป็นเวทีระบายทุกข์ แต่KMเป็นเวทีระบายสุข ไม่ใช่การระดมความเห็นแต่เป็นการระดมปัญญา ไม่มุ่งเน้นเรื่องอนาคตที่ยังไม่ได้ทำแต่เน้นอดีตที่ทำไปแล้วให้ผลดี

  ผมและคณะได้รับการติดต่อจากคุณอรวรา งานสนับสนุนวิชาการ 3 สสจ.อุดรธานี ให้ไปเป็นวิทยากรในโครงการประชุมวิชาการเรื่องการจัดการความรู้ จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ ปี 2550 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้ทีมงานสาธารณสุขในจังหวัดอุดรธานีมรความรู้ ความเข้าใจ และทักษะเกี่ยวกับการจัดการความรู้ในองค์กร และสามารถบริหารจัดการความรู้ในองค์กรเพื่อให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในวันที่ 11-12 มิถุนายน 2550 ที่ห้องแกนด์บอลรูม โรงแรมเจริญศรีแกรนด์รอยัล อ.เมือง จ.อุดรธานี

ในวันแรกคือ 11 มิถุนายน เป็นการบรรยายโดยผู้จัดขอให้ผมเล่าเรื่องKMให้ละเอียดพร้อมยกตัวอย่างโดยมีเข้าฟังประมาณ 350 คน แต่กว่าจะเริ่มบรรยายได้ก็เกือบสี่โมงเช้า แต่ก็สามารถจบได้ในสี่โมงเย็น ในการบรรยายของผม เวลาไปบรรยายที่ไหนก็ตามผมจะต้องพยายามทำให้ได้ 3 เรื่องคือ (1) ผมจะต้องทำให้คนฟังรู้สึกว่าเรื่องที่ผมพูดเป็นเรื่องง่าย ไม่ยาก เป็นเรื่องใกล้ตัว (2) เรื่องที่ผมพูดนั้นเขาเองก็ได้มีทำอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปเริ่มใหม่และ (3) เติมไฟใส่ฟืนให้คนฟังรู้สึกอยากเอาไปทำต่อ หลังจากบรรยายจบคุณรัชนีกร พิธีกรของงานได้สรุปประเด็นที่ผมบรรยายไป เป็นการสรุปที่ดีมาก เก็บขุมทรัพย์ความรู้ในการทำKMได้อย่างสมบูรณ์มาก ทีมงานผู้จัดได้มาพูดกับผมว่าปกติแล้วช่วงบ่ายคนมักจะหายไปเยอะ แต่ดูครั้งนี้แล้วคนฟังอยู่เกือบเท่าเมื่อเช้าและแทบไม่มีคนหลับเลย อีกทั้งมีผอก.หลายคนที่อยู่ฟังจนจบ ถือว่าการจัดงานนี้เขาประสบความสำเร็จแล้ว

ในวันที่สองวันที่ 12 มิถุนายน เป็นการฝึกปฏิบัติการจัดการความรู้ซึ่งจะคัดเลือกผู้เข้าร่วมอบรมมาจากอำเภอต่างๆประมาณ 70 คนโดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ใช้วิทยากรจากโรงพยาบาลบ้านตาก 3 คนและอีก 3 คนจาก สสจ.อุดรธานี ที่ได้เข้าร่วมอบรมเมื่อครั้งที่ สคร. 6 ขอนแก่นจัดครั้งก่อนแล้ว ในการทำกลุ่มครั้งนี้มีข้อด้อยอย่างหนึ่งคือผมไม่สามารถทำBARในกลุ่มวิทยากรทั้งหมดได้เนื่องจากมาไม่พร้อมกันทำให้การเตรียมวิทยากรไม่สมบูรณ์นัก ทำให้เราไม่สามารถCalibrateให้วิทยากรไปในทางเดียวกันได้

การแบ่งกลุ่มในการทำกลุ่มแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มคือกลุ่มสสจ.อุดรธานี, กลุ่มโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี, กลุ่มโซนอำเภออีก 4 โซน โดยกิจกรรมกลุ่มที่ทำคล้ายๆกับตอนทำกลุ่มที่อุบลราชธานีแต่เน้นที่การฝึกคุณอำนวยของแต่ละกลุ่ม

การแลกเปลี่ยนในกลุ่ม สสจ.อุดรธานี เป็นการตั้งKVเรื่องการดำเนินกิจกรรม 5 ส อย่างยั่งยืน มีเอ้ (สุภาภรณ์) เป็นวิทยากรกลุ่ม มีสมาชิกกลุ่ม 7 คน ก็แลกเปลี่ยนกันอย่างสนุกสนาน

กลุ่มโรงพยาบาลอุดร ตั้งKVเรื่องการจูงใจให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมาร่วมกันออกกำลังกาย โดยมีน้อย (วราพร) เป็นวิทยากรกลุ่ม มีสมาชิก 10 คน มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันสนุกสนานเช่นกัน เป็นบรรยากาศสบายๆ

กลุ่มโซน 1 มีปู (วรวรรณ) เป็นวิทยากรกลุ่ม มีสมาชิกกลุ่ม 9 คน มีการแลกเปลี่ยนกันแบบเงียบๆในประเด็นKVเรื่องมาตรฐาน PCU

กลุ่มโซน 2 มีคุณอรวรา เป็นวิทยากรกลุ่ม มีสมาชิก 10 คนตั้งประเด็นเรื่องการพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรมนุษย์ ก็มีการแสดงความคิดเห็นค่อนข้างมาก แต่ไม่ค่อยเน้นเรื่องความสำเร็จความภาคภูมิใจนัก วิทยากรกลุ่มเป็นผู้จัดการประชุมทำให้ค่อนข้างยุ่งและต้องลุกออกจากกลุ่มไปประสานงานเรื่องอื่นๆบ่อย

กลุ่มโซน 3 มีคุณรัชนีกร เป็นวิทยากรกลุ่ม มีสมาชิกกลุ่ม 11 คน ตั้งประเด็นในเรื่อง การป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันดี แต่สังเกตกลุ่มนี้เวลาสร้างกลุ่มสัมพันธ์น้อยไปหน่อย แต่เนื่องจากรู้จักคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว จึงแลกเปลี่ยนกันได้ดี

กลุ่มโซน 4 มีคุณอุเทน เป็นวิทยากรกลุ่ม มีสมาชิกกลุ่ม 8 คน ทำกิจกรรมตามที่กำหนดไว้ ตั้งประเด็นคุยกันในเรื่องการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกแต่ก็สร้างสัมพันธ์กลุ่มน้อยไปหน่อย แต่ทีมสมาชิกกลุ่มก็แลกเปลี่ยนกันดี

จะเห็นว่า ในการทำกิจกรรมกลุ่มการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้น การเตรียมความพร้อม สร้างความเข้าใจในขั้นตอน วิธีการการทำกลุ่มจะมีความสำคัญมาก ก่อนทำกลุ่มจะต้องเชิญคุณอำนวยทุกคนมาพูดคุยเตรียมความพร้อมและทำBARร่วมกันก่อน

ผมได้เข้าไปช่วยกลุ่มโซน 2 เพื่อสร้างความเข้าใจของกลุ่ม สมาชิกท่านหนึ่งได้สรุปออกมาว่า เวทีKMจะต้องมีGroup process, best practice, benchmarking ซึ่งผมก็ได้ช่วยขยายความให้อีกว่าต้องมีกลุ่มสัมพันธ์ สรรค์สร้างสิ่งดี มีการชื่นชม ด้วย

ในกลุ่มที่เหลือ ผมได้เข้าไปช่วยอธิบายสร้างความเข้าใจเพิ่มเติม ในเรื่องการบันทึกขุมทรัพย์ความรู้ซึ่งส่วนใหญ่จะพบว่าเรามักบันทึกหลักวิชาซึ่งเป็นExplicitมากกว่าบันทึกหลักปฏิบัติซึ่งเป็นTacit และในการแลกเปลี่ยนกันจะไม่เหมือนเวทีระดมสมองหรือเวทีCQI ซึ่งเน้นกำหนดปัญหา หาสาเหตุของปัญหาและร่วมกันคิดหาแนวทางแก้ไขซึ่งเป็นเวทีระบายทุกข์ แต่KMเป็นเวทีระบายสุข ไม่ใช่การระดมความเห็นแต่เป็นการระดมปัญญา ไม่มุ่งเน้นเรื่องอนาคตที่ยังไม่ได้ทำแต่เน้นอดีตที่ทำไปแล้วให้ผลดีและต่างจากFocus group ที่เจาะลึกเหมือนกันแต่จะพูดทั้งปัญหากับความสำเร็จแต่KMจะเน้นความสำเร็จเป็นหลัก และในการนำเสนอความสำเร็จความภาคภูมิใจคุณกิจควรบอกได้ว่าอะไรสำเร็จ สำเร็จอย่างไร ทำอย่างไรถึงสำเร็จด้วย

ขุมทรัพย์ความรู้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พอฟังปุ๊บจะทำให้คนรู้สึกปิ๊งหรือติดใจ กินใจ  ไม่ใช่แค่หัวข้อประเด็นกว้างๆที่ไม่บอกถึงการปฏิบัติ ถ้าคนรู้สึกปิ๊งแว๊บจากคำพูดแสดงว่าสิ่งนั้นเป็นขุมทรัพย์ที่มีค่าแล้ว

คุณอำนวยต้องพยายามวิเคราะห์บรรยากาศ ช่วยกระตุ้นให้คุณกิจเล่าการปฏิบัติที่ดีๆออกมาให้ได้มากที่สุด การเน้นเฉพาะสิ่งที่คิดว่ามีประโยชน์ เรียกว่าเอาแต่เนื้อไม่เอาน้ำนั้นมักไม่ได้ช่วยการแลกเปลี่ยนนักเพราะจะไปจำกัดคนพูดทำให้เกร็ง ไม่ผ่อนคลาย จนไม่กล้าเล่า

ดังนั้นเวทีKMอาจจะน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรงไปบ้างก็ไม่เป็นไรเพราะผักบุ้งที่มีโหรงเหรงนั้นจะเป็นขุมทรัพย์ที่มีค่าเชิงปฏิบัติที่หลุดออกมา ดังนั้นเวทีประกวดผลงานวิชาการที่นำเสนอในเวลา10-15 นาทีจึงมักไม่ค่อยได้ขุมความรู้ที่เป็นTacit เพราะความจำกัดเรื่องเวลาและกติกาการประกวดทำให้คนเกร็ง จึงควักความรู้ในตัวออกมาได้น้อย

คุณกิจเองเวลาเล่าก็ต้องเล่าอย่างมีพลังเพื่อเร้าพลังคนฟัง มั่นใจภูมิใจในเรื่องที่ตนเองเล่า มั่นใจในเรื่องที่เล่าเพราะเราทำมากับมือ เห็นผลมากับตาของตนเอง

เมื่อวานมีคนถามผมว่าแล้ว KM กับ AIC ต่างกันอย่างไร ในความเห็นผมนั้นทั้งสองเครื่องมือนี้มีความเชื่อมโยงกันอยู่ ในส่วนของAICนั้นเริ่มต้นจากภาพฝันแห่งความสำเร็จหรืออนาคตแห่งความสุขร่วมกัน ฝันถึงสิ่งดีๆร่วมกัน แล้วมาช่วยกันกำหนดแนวทางที่จะไปสู่ฝันและนำสู่การปฏิบัติ ซึ่งจะมีการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส อุปสรรค สร้างวิสัยทัศน์ กำหนดกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการร่วมกัน นำไปสู่การปฏิบัติและการประเมินร่วมกัน แต่KMเน้นภาพอดีตแห่งความสำเร็จเพื่อนำเอาความรู้เบื้องหลังความสำเร็จนั้นมากำหนดเป็นแนวทางในการปฏิบัติในอนาคตต่อไป หากเราทำKMแล้วเอาBest practice ไปกำหนดแนวทางในAIC ก็จะทำให้ได้ประโยชน์มากขึ้น อยู่บนหลักความรู้เชิงปฏิบัติมากขึ้น เหมาะสมกับบริบทของตนเองมากขึ้น

ตารางอิสรภาพ จะช่วยในการเปรียบเทียบทำให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันได้มากขึ้น ส่วนแผนภูมิแม่น้ำเป็นตัวช่วยบอกว่าความกว้างของBest practiceหรือความรู้ของแต่ละแห่งแตกต่างกันแค่ไหน จะเกิดประโยชน์หรือไม่ถ้านำมาแลกเปลี่ยนกัน ส่วนแผนภูมิขั้นบันไดจะช่วยบอกว่าใครจะเป็นผู้ให้และใครจะเป็นผู้รับ หลังจากนั้นจึงเริ่มกระบวนการแลกเปลี่ยนต่อไป     
หมายเลขบันทึก: 103074เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2007 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • แวะเวียนมาเรียนรู้ ประสบการณ์ จากการ กระบวนการ Workshop  KM ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี  
  •  แต่ที่ได้มากกว่า ก็คือ ได้ รู้ถึงความต่างที่นำมาปรับใช้ได้อย่างลงตัว ของ KM กับ AIC เพราะเคยนึกตั้งคำถามในใจ เหมือนกันคะ..
สวัสดีครับ คุณหมอ
เข้ามาทักทาย หวังว่าคงจำกันได้นะครับ
  • แวะเข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้ด้วยคนนะครับ 
  • ขอบพระคุณมากครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

  • แวะมาเก็บความรู้ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

    สวัสดีคะ   คุณหมอ

     แวะมาเก็บความร้คะ

     ขอบคุณคะ   

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท