หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง (จุดที่ 3 หมู่ที่ 1 ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)


มีของดี ๆ มากมายให้ค้นหา ถ้าเรารู้จัดคำว่า "พอเพียง" เป็น

 [อ่าน : หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จุดที่ 4]

 ในการไปจัดเวทีเพื่อรวบรวมและจัดเก็บข้อมูล หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จุดที่ 3 หมู่ที่ 1  ตำบลช้างใหญ่  อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่  30 เมษายน 2550 นั้น ได้จัดกระบวนการโดยเริ่มจาก

1.  เล่าความเป็นมา ของงานที่พวกเราจะมาทำกับท่านนั้นเป็นเรื่องอะไรบ้าง?  ต้องการให้เกิดอะไรบ้าง?  และจะนำไปใช้ทำอะไร?

2.  ชี้แจงประเด็น ที่จะรวบรวมและจัดเก็บข้อมูล ได้แก่  ความเป็นมา/ความเป็นอยู่ของหมู่บ้าน  การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ปฏิบัติ  และการเชื่อมโยงสู่ 3 ห่วง 2 เงื่อน

3.  ทำการประมวลผลข้อมูล เพื่อสรุปคำตอบ ได้แก่  1)  ความเป็นอยู่ของชาวบ้าน  2)  ผลที่เกิดขึ้นจากการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยเทียบกับ 3 ห่วง 2 เงื่อน  และ 3)  ความเป็นรูปธรรมของ "พอเพียง"

4.  สรุปผลและงานที่จะทำต่อไป  สิ่งที่ทีมงานาช่วยทำก็คือ  ช่วยจัดระบบข้อมูล  นำถวายในหลวงในวันที่ 5 ธันวาคม 2550  และการจัดเก็บข้อมูลหลังจากนี้จะจัดเก็บเป็นรายครัวเรือน

ส่วนผลที่เกิดขึ้นจากการประมวลข้อมูลนั้นมีรายละเอียด คือ

      1.  กระบวนการสร้างชุมชน  การเกิดขึ้นของชุมชนนั้นคนส่วนใหญ่ย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  มีอาชีพหลักคือทำนา  แต่ราคาข้าวไม่ค่อยดีจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นสวนมะม่วง แต่ก็ประสบปัญหาทางด้านราคา จึงหันกลับมาปลูกข้าวและทำแปลงเมล็ดพันธุ์ โดยมีทั้งที่ดินเป็นของตนเอง  เช่าที่ดิน  และบางส่วนที่ดินเป็นของตนเองและบางส่วนเช่า  แล้วในปี  2525ได้รับพระราชทานที่ดิน จำนวน  35  ไร่  ให้เป็นพื้นที่ของ  สปก.  เพื่อนำมาจัดรูปที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร โดยมีการปรับโครงสร้างพื้นฐาน  ทำอาชีพเกษตรผสมผสาน  แต่ละครัวเรือนมีทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม  เช่น  เลี้ยงปลา  ทำนา  ทำสวน  และอื่น ๆ  ในปี 2536  ชาวบ้านส่วนใหญ่เริ่มปรับเปลี่ยนพื้นที่นามาเป็นสวนมะม่วง เพราะทำนาต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก  ในปี  2546  มีการขยายอาชีพ คือ  เลี้ยงปลา  และปลูกผัก  แล้วในปี  2548  เริ่มมีการนำปุ๋ยชีวภาพเข้ามาใช้ในการทำสวน (ประมาณ 10 %) 

     และมีกลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะในปี 2550 มีกลุ่มเครื่องจักรกล  ความเป็นอยู่ในชุมชนจะเป็นสังคมเครือญาติ  มีการประกอบอาชีพกันเป็นกลุ่ม  เช่น  กลุ่มเลี้ยงวัว  กลุ่มทำนา  (เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็งและเป็นฐานในการพัฒนาของชุมชน)  กลุ่มทำสวน  กลุ่มเลี้ยงปลา  กลุ่มเครื่องจักรกล  และอื่น ๆ  มีศูนย์เรียนรู้เมล็ดพันธุ์ดี (ข้าว)  มีภูมิปัญญาหรือผู้นำด้านความรู้ ได้แก่  หมอดิน  ปุ๋ยชีวภาพ   ส่วนรายได้หลักและความเป็นอยู่มาจากลูกส่งมาให้  จากการทำอาชีพเกษตร (ทำสวน/ทำนา/เลี้ยงปลา/อื่น ๆ)  และจากอาชีพเสริม 

     ส่วนเป้าหมายที่วางไว้ก็คือ

       1)  อีก 2 ปี  สปก. จะส่งมอบชุมชนให้กับ อบต. เพื่อดูแลช่วยเหลือและสนับสนุน 

       2)  ในปี 2551 เกษตรกรจะซื้อรถไถใช้เอง   แต่ชุมชนจะอยู่ด้วยกันภายใต้กฎระเบียบและนโยบายของการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 

     2.  กระบวนการเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง  ความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้นตั้งแต่ สปก. จัดรูปที่ดินให้ และมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาดูแลสนับสนุน  ทางด้านอาชีพหลักคือ  อาชีพการเกษตร  และทำอาชีพเสริม คือ  รับจ้าง  เลี้ยงวัว  เลี้ยงปลา  จักรสาน  ทำดอกไม้  และอื่น ๆ ที่เป็นรายได้ให้กับครอบครัวมาใช้จ่ายและรายได้ส่วนหนึ่งมาจากลูกส่งเสียให้  ส่วนรายจ่ายส่วนใหญ่มาจากในครอบครัว เช่น    ซื้อข้าวสาร  และรายจ่ายภาคการเกษตร  มีการพึ่งพากันในการทำอาชีพและการ อยู่ร่วมกันอย่างมีระเบียบ  ชาวบ้านจะมีเงินรายได้เป็นรายวัน  มีการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยกินปลา กินผัก ที่ปลูกกันเอง จึงทำให้มีรายจ่าย ประมาณ  100 บาท/วัน 

     นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะลดค่าใช้จ่ายด้านปัจจัยการผลิตในการประกอบอาชีพการเกษตร มีการช่วยเหลือกันด้านความรู้จากการแลกเปลี่ยนประชุมและปรึกษาหารือร่วมกัน  จากการฝึกอบรม  และจากการไปศึกษาดูงาน  เช่น  เรื่องปุ๋ยชีวภาพ  และเรื่องพันธุ์ข้าวที่เหมาะกับฤดูกาล  เป็นต้น  ดังนั้น จึงสรุปเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ได้ว่า

       (1)  ความพอประมาณ  ได้แก่  มีการจัดรูปที่ดินทำกินในระดับครัวเรือน  ลดรายจ่ายในครัวเรือน (ปลูกผัก/เลี้ยงปลากินเอง)  ลงทุนทำอาชีพตามกำลังไม่เกินตัว  มีแหล่งเรียนรู้ในอาชีพ  มีอาชีพหลักและอาชีพเสริม  เรียนรู้อาชีพจากการปฏิบัติและทดลองทำด้วยตนเอง  โครงสร้างพื้นฐานของชุมชนดีขึ้น  และมีฐานข้อมูลความเป็นอยู่ของคนในชุมชน

       (2)  ความมีเหตุมีผล  ได้แก่  มีระบบการคิดเพื่อทำอาชีพและความเป็นอยู่ (ปลูกผัก/เลี้ยงปลากินเอง)  มีนโยบายในการอยู่ร่วมกันของชุมชน  มีการช่วยเหลือและพึ่งพากันในชุมชน  มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยน (โครงสร้างพื้นฐาน)  และมีกลุ่มทำนาที่เข้าแข็งเป็นฐานให้กับชุมชน                               

       (3)  มีภูมิคุ้มกัน  ได้แก่  มีกองทุน (กลุ่มออมทรัพย์)  มีการทำอาชีพที่หลากหลายในครัวเรือน (เพื่อกินเอง/ขายเป็นรายได้)  มีเงินเข้ากลุ่ม  ชาวบ้านมีรายได้เข้ามาในครอบครัวเป็นรายวัน  และมีการออมเงินเป็นของครัวเรือน                               

       (4)  มีความรู้  ได้แก่  ความรู้เกิดขึ้นเมื่อได้คุยกัน  ได้รับการฝึกอบรมจากหน่วยงานต่าง ๆ (เมล็ดพันธุ์ดี/ปุ๋ยชีวภาพ)  ครอบครัวอยู่ได้เพราะทำอาชีพหลากหลาย  มีการสรุปความรู้จากการปฏิบัติ  มีภูมิปัญญาชาวบ้าน (ด้านอาชีพการเกษตร/สัตว์ เช่น  เรื่องดิน  เรื่องปุ๋ยชีวภาพ  เรื่องปลา  เรื่องไก่  และอื่น ๆ)                            

       (5)  มีคุณธรรม  ได้แก่  มีการช่วยเหลือและพึ่งพากันในชุมชน  และอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ                

     ส่วนการสรุปความของคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง คือ  ถ้าปลูกและทำไว้กินเองด้วยก็จะมีเหลือให้เก็บ  ไม่เป็นเครื่องมือของนายทุน  จึงทำเพื่อกินเหลือจากกินก็เอาไว้ขาย

           ก็เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ดิฉันได้ไปดำเนินมาค่ะ.

  [ อ่าน : หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง  7  กรณีตัวอย่าง]

หมายเลขบันทึก: 102997เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2007 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
      ขอบพระคุณมากครับทีนำมา ลปรร.
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท