เรื่องเล่ากับเป้าหมาย


ผู้เล่ามักจะเริ่มคิดถึงวิธีการที่ควรทำมากกว่าวิธีการที่ได้ทำไปแล้ว ผลที่ได้จากการเล่าจึงมักผ่านกระบวนการคิดก่อนและมีหลักการ ทฤษฎี ต่างๆ ที่คิดว่าดีแทรกอยู่ในเรื่องเล่า

สมัยที่ทุกท่านยังเป็นเด็ก ดิฉันเชื่อแน่ว่าร้อยทั้งร้อยได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้เรื่องการเขียนเรียงความ ด้วยคำสั่งจากคุณครูว่า จงเขียนเรียงความในหัวข้อ "เหตุการณ์ที่ข้าพเจ้าประทับใจที่สุดในชีวิต"  อะไรทำนองนี้ ซึ่งเป็นโจทย์คลาสสิก ที่ใช้ใด้ผลดีในทุกยุคทุกสมัยทีเดียว

ดิฉันพอจะจับเคล็ดได้ว่า เป้าหมายของครู คือ สอนการเขียนเรียงความให้ได้ดีแก่เด็ก โดยกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจ จากการกำหนดหัวข้อเรื่องเล่าที่กระตุ้นความรู้สึก การให้เด็กๆ นึกถึงเรื่องที่ประทับใจที่สุด จะได้เกิดอารมณ์เขียนออกมาได้เป็นเรื่องเป็นราว แล้วครูค่อยสอนเกลาสำนวนกันต่อไป

อีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่สามารถกระตุ้นการเขียนเรื่องเล่าให้ได้ดี  ที่ดิฉันประสบกับนิสิตในมหาวิทยาลัย คือ ตอนขอทุน  เป้าหมายของกรรมการพิจารณาจัดสรรทุน คือ คัดกรองนิสิตที่ยากจนจริงๆ ให้ได้รับทุน  จึงออกระเบียบกำหนดให้ผู้ขอรับทุน เขียนเรียงความเล่า "สาเหตุที่ขอรับทุน" ให้กรรมการอ่าน นิสิตที่อยากได้ทุนทุกคนทราบดีว่า หากสามารถเล่าเรื่องพรรณาให้กรรมการอ่านแล้วเกิดความสงสาร และเชื่อถือในความยากลำบากของตนและครอบครัวเพียงใด ก็จะมีโอกาสได้ทุนมากเท่านั้น

ทั้งสองกรณีข้างต้น  เป้าหมายของการให้เล่าเรื่อง และ การกำหนดหัวข้อเรื่องเล่า ต่างกัน แต่สอดรับสัมพันธ์กัน

หลายต่อหลายครั้งในกระบวนการ KM ที่ดิฉัน รู้สึกว่า แม้หัวปลา (เป้าหมาย หรือ Knowledge Vision : KV) ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชัด แต่เรื่องที่ผู้เล่าเล่ากันในกลุ่ม  ยังหนีไม่พ้นทฤษฏีและหลักการ หรืออาจเป็นเพราะ การกำหนด เรื่องเล่ากับเป้าหมาย ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต้องแยกประเด็นให้ชัดเจน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้ากำหนดหัวปลา (เป้าหมายของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้) เรื่อง "การบริหารงานบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ"  ผู้เล่ามักจะเริ่มคิดถึงวิธีการที่ควรทำมากกว่าวิธีการที่ได้ทำไปแล้ว ผลที่ได้จากการเล่าจึงมักผ่านกระบวนการคิดก่อนและมีหลักการ ทฤษฎี ต่างๆ ที่คิดว่าดีแทรกอยู่ในเรื่องเล่า (มักเป็นลักษณะของผู้บริหาร)  เพราะไม่มีอะไรไปกระตุ้นจิตใต้สำนึกที่ฝังอยู่ในความทรงจำที่ประทับใจจากประสบการณ์ของตนเอง  หรือถ้าคิดไม่ออกว่าจะเล่าเรื่องอะไรที่เกี่ยวข้อง ก็จะเป็นการบ่น การวิพากษ์สถานการณ์ต่างๆมากกว่า (มักเป็นลักษณะของผู้ปฏิบัติ)

ถ้าลองกำหนดเรื่องเล่าจากเป้าหมายเดิม ว่า "เรื่องที่ท่านภาคภูมิใจที่สุดในการบริหารงานบุคคลคือ..."  จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เล่าย้อนนึกถึงอดีตที่น่าจดจำ  และจะทำให้ผู้เล่าเล่าเรื่องออกมาจากจิตใต้สำนึกได้ดีกว่าหรือไม่ค่ะ?  หากมีโอกาสได้จัดกิจกรรม KM อีก ดิฉันจะลองพิสูจน์ทฤษฎีนี้ดู

เรื่องที่ยากอีกเรื่องหนึ่งที่ตามมาก็คือ  การสกัดประเด็นเรื่องเล่าให้มุ่งสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้แต่ต้น ซึ่งต้องการคุณอำนวย (Knowledge Facilitator : KF ) และคุณลิขิต (Note Taker) ในวงสนทนาที่มีทักษะในการฟัง และวิเคราะห์จับประเด็นแก่นความรู้จากเรื่องเล่า เรียงร้อยเป็นถ้อยความสั้นๆ ให้ได้ใจความออกมา

เหมือนเมื่อครั้งยังเป็นอาจารย์ใหม่ๆ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ดิฉันรู้สึกไม่มั่นใจและรู้สึกว่ายังมีเรื่องที่ต้องปรับปรุงตนเองอีกมากในการทำหน้าที่เป็น CKO หรือ KF ในกระบวนการ KM แต่ที่แน่ๆ คือ ปัญหาที่พบจากการปฏิบัติจริง  ช่วยให้เรียนรู้ได้เร็วกว่าการศึกษาจากการอ่านตำราอย่างเทียบกันไม่ได้  แต่ก็ไม่ได้ทิ้งทฤษฏีนะค่ะ ทั้งทฤษฎีจากหนังสือ และการฟังการอบรม สัมมนาต่างๆ นับเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากค่ะ ต้องประกอบกันเสมอ

หากบังเอิญท่านผู้ทรงภูมิปัญญาท่านใด มีโอกาสแวะเวียนเข้ามาอ่าน Diary ของดิฉัน และเห็นทางสว่าง โปรดกรุณาชี้แนะเพิ่มเติมด้วยนะค่ะ

 

คำสำคัญ (Tags): #km#facilitator
หมายเลขบันทึก: 10261เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2005 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยครับเรื่องการกำหนดหัวปลาและการเล่าเรื่องตามที่อาจารย์ตั้งเป็นทฤษฎีไว้ครับ และ workshop CKO/KF รุ่นที่ 1 เมื่อ 19 ธ.ค. 48 ที่ทรัพย์ไพรวัลย์ ผมได้ชี้แจงด้วยวาจาว่าให้สมาชิกกลุ่มช่วยกันคัดเลือกเรื่องที่ตนเองได้ทำมาแล้วและภาคภูมิใจมากที่สุด (success story) ที่จะมีผลทำให้บรรลุซึ่งหัวปลา (KV) คนละหนึ่งเรื่องมาเล่าเพื่อ ลปรร. กัน ปรากฎว่าได้ผลดีอย่างที่อาจารย์เห็นนั่นแหละครับ

ส่วนเรื่อง ทฤษฎี ปฏิบัติ และการทบทวน (เพื่อการปรับทฤษฎี และการฏิบัติให้ดียิ่งขึ้น) นั้น ผมเห็นว่าสำคัญและสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกครับ ต้องทำทั้งสามอย่าง บางจังหวะอาจจะต้องไปเน้นด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษตามบริบทของขณะนั้น แต่สุดท้ายแล้วต้องให้ความสำคัญทั้งสามด้าน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นของผมในขณะนี้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท