เพลงอีแซว การแสดงที่มีมานาน


คุณค่าที่ไม่คุ้มค่า เพียงแต่คิดน่าเสียดาย

เพลงอีแซว  การแสดงที่มีมานาน

สายเลือดสุพรรณ สืบสานอย่างยั่งยืน 

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ศิลปะพื้นบ้านที่โดดเด่นที่สุดของจังหวัดสุพรรณบุรี และมีเล่นกันมานานนับ 100 ปีที่วัดป่าเลไลยก์ คือการแสดงเพลงอีแซว เป็นเพลงพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่มีความสนุกสนาน น่าติดตาม และแฝงเอาไว้ด้วยประโยชน์ คุณค่าแห่งความไพเราะ มีคติสอนใจให้คิดและวิเคราะห์ตนเอง เพื่อการนำชีวิตไปสู่ทางที่ดีมีคุณธรรมต่อไป ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีบุคคลสำคัญ 2 ท่าน ที่ได้สร้างชื่อเสียงให้วงการเพลงอีแซวและจังหวัดสุพรรณบุรีอย่างมาก คือ

          1. แม่บัวผัน   จันทร์ศรี  (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดงเพลงพื้นบ้าน ปี พ.ศ. 2533)

 2. แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดงเพลงพื้นบ้าน ปี พ.ศ. 2539) 

 

         บุคคลทั้งสองเปรียบเสมือนเสาหลักของนักเพลง ถึงแม้ว่าวันนี้ แม่บัวผัน จันทร์ศรี  ได้ล่วงลับไปตามกาลเวลาด้วยอายุ 85 ปี (เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2548) ยังความอาลัยสู่ชาวเพลงเป็นที่สุด แต่ก็ยังมี แม่ขวัญจิต ศรีประจันทร์ อยู่เป็นสาหลัก (ต้นสุดท้าย) ให้คนในวงการเพลงพื้นบ้านได้ยึดเหนี่ยว แต่ว่าในวันนี้ จะมีใครบ้างที่คิดได้อย่างลึกซึ้ง มีหัวใจและร่างกายที่ดำรงไว้ซึ่งความเป็นไทย คิดถึงวิถีไทยอย่างจริงจัง รักท้องถิ่น หวงแหนเอกลักษณ์ของท้องถิ่น (จังหวัดสุพรรณบุรี)  เอาไว้อย่างมั่นคงถาวร ยึดมั่นในการอนุรักษ์สืบสานเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านอื่นด้วยสายเลือด โดยมิได้หวังผลประโยชน์ ก่อนที่จะโดดเข้ามาเล่นเรื่องนี้ เพราะการที่จะรักษาเพลงอีแซวให้คงอยู่ได้อย่างยั่งยืนถาวรนั้น เป็นสิ่งที่จะต้องเดินตามวิถีชีวิตครูเพลงจริง ๆ หรือศึกษาความเป็นมา  แล้วฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง และต่อเนื่องมิให้ขาดตอน ผลที่ตามมาคืออาชีพการแสดงที่สามารถรับงานได้ทั้งคืน (การแสดงงานละ 3-4 ชั่วโมงและจะต้องมีคนดู) มิใช่แสดงได้แค่ 15-30 นาที หมดเนื้อเพลงที่จะร้องเสียแล้ว แถมยังเรียกศรัทธาจากผู้ชมไม่ได้

           การจัดกิจกรรมบางอย่างทำแล้วดูเหมือนว่า ตั้งใจที่จะช่วยจรรโลงไว้ซึ่งความยั่งยืนของเพลงพื้นบ้าน แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป เมื่อการจัดกิจกรรมนั้น ๆ จบลง เหลืออะไรเป็นร่องรอยให้เห็น เมื่อเทียบกับการลงทุนในแต่ละโครงการที่จัดขึ้นในแต่ละครั้ง มีใครบ้างที่จะช่วยผมคิดและช่วยสานต่อเรื่องนี้อย่างบริสุทธิ์ใจ ขอนำเอาประสบการณ์บางส่วนมาชี้ให้เห็น เป็นเครื่องเตือนใจให้คิดถึงคำว่า คุณค่า ที่ ไม่คุ้มค่า

         1. กิจกรรมประกวดเพลงพื้นบ้าน ที่จัดโดยหน่วยงานระดับหนึ่งแต่เชิญนักวิชาการมาเป็นกรรมการตัดสิน  เป็นผู้เชี่ยวชาญ  แต่ในตอนสุดท้าย  กลับมีการสั่งสอนคนเล่นเพลงจริงๆ ให้ได้รับรู้ในสิ่งที่ผิดอีกด้วย 

         2. จัดการฝึกอบรมเพลงพื้นบ้าน  เอาคนมานั่งฟังการบรรยาย  เชิญวิทยากรที่เป็นผู้มีผลงาน เพลงพื้นบ้าน  ทั้งที่ในหนึ่งปี  เขาไม่เคยมีคนมาหางานไปแสดงบนเวทีเลยสักครั้ง

         3. จัดดำเนินโครงการอนุรักษ์สืบสานเพลงพื้นบ้าน เวลา 3 วัน 5 วัน ได้รับงบประมาณจำนวนมาก  หลังจากการจัดโครงการเสร็จสิ้นลง  ไม่ปรากฏว่ามีผลผลิตเกิดขึ้น  น่าเสียดายเวลาและต้นทุน

        

          ในวันนี้นอกจากแม่ขวัญจิต ศรีประจันทร์แล้ว วงการเพลงอีแซว สุพรรณฯ ยังมีบุคคลที่เสียสละและทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจมอบให้กับสังคมทั้งรับงานแสดงและให้ความรู้ ขอนำมากล่าว (บางท่าน) เพื่อเป็นแนวทางในการสานต่อหรือร่วมคิดร่วมทำงานกับบุคคลที่อยู่ในสายเลือดแห่งเพลงอีแซวตัวจริงต่อไป  

           1. แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ บ้านสนามชัย   อำเภอเมือง                      โทร.08-1945-4771 

           2. พ่อสุจินต์ ศรีประจันต์   บ้านวังน้ำซับ   อำเภอศรีประจันต์               โทร.08-1795-3615

           3. แม่ขวัญใจ ศรีประจันต์  บ้านวังน้ำซับ   อำเภอศรีประจันต์              โทร.08-1195-8197

          4. แม่นกเอี้ยง เสียงทอง    บ้านใต้อนุสรณ์ดอนเจดีย์   อ.ดอนเจดีย์     โทร.08-9887-6711

           5. แม่จินตนา  ทับมี         บ้านอู่ยา          อำเภอเมือง                     โทร. 08-1705-3109

          6. ครูชำเลือง มณีวงษ์         โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1  อ.ดอนเจดีย์             โทร.08-4976-3799

          7. ครูพิสูจน์ ใจเที่ยงกุล    โรงเรียนบางลี่วิทยา         อ.สองพี่น้อง      โทร.08-7171-5496

          8. ครูนารินทร์ แจ่มจิตต์     โรงเรียนอู่ทองศึกษาลัย    อ.อู่ทอง          โทร.08-6089-6716 

                  

         ขอขอบพระคุณสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2  โดยท่าน ผอ.อนุสรณ์ ฟูเจริญ  ผู้ที่ส่งเสริมเพลงอีแซวอย่างจริงจัง ขอขอบพระคุณสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี ท่าน ผอ.ประยุทธ์ โอสธีระกุล ที่ให้การสนับสนุนเพลงอีแซวสุพรรณฯ มาโดยตลอด และท่าน ผอ.ลั่นทม พุ่มจันทร์  โรงเรียนบรรหาร แจ่มใสวิทยา 1  โรงเรียนที่มีเพลงพื้นบ้านกว่า 10 ชนิดรับงานแสดงได้อย่างมืออาชีพมายาวนานกว่า 15 ปีนักเพลงสามารถนำเสนอผลงานการแสดงได้อย่างต่อเนื่อง เป็นเวลางานละ 4 ชั่วโมง   ขอเชิญชวนทุกท่านที่มีใจรักท้องถิ่น  ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานเพลงพื้นบ้านให้คงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป  บนแผ่นดินนี้

(ชมภาพตัวอย่าง และตัวอย่างเสียงร้องเพลงพื้นบ้าน ในไฟล์อัลบั้ม)

โดย.ชำเลือง มณีวงษ์ ครูผู้มีผลงานดีเด่นด้านศิลปะการแสดงพื้นบ้าน

รางวัลราชมงคลสรรเสริญ (พุ่มพนมมาลา) ปี พ.ศ. 2547

หมายเลขบันทึก: 101575เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2007 21:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ดีใจจังเลยครับ
  • ที่เพลงคุณแซวยังมีอยู่
  • ชอบฟังมากครับ
  • มีใครพอจะสอนได้ไหมครับ
  • เห็นมีอาจารย์พิสูจน์ด้วยครับผม
  • ขอบคุณครับ

เรียน คุณขจิต ฝอยทอง (Khajit Foythong)   

นักศึกษาปริญญาเอกภาษาอังกฤษศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
บุคคลที่ผมกล่าวมาข้างต้น 
-          บุคคลที่ 1-5 เป็นศิลปินนักแสดง  ระดับครูเพลง
-          บุคคลที่ 6    เป็นทั้งศิลปินนักแสดง เป็นครูน้อย และสอนเพลง 
-          บุคคลที่ 7-8 เป็นครู และเป็นครูสอนเพลงพื้นบ้านด้วย
 
                      ขอบคุณมากๆ ที่เข้ามาเยี่ยม (ขออภัยผมพูดเหน่อ)
                                        ชำเลือง  มณีวงษ์
  • สิบนิ้ววันทา  บูชาแน่แน่ว ครูเพลงอีแซว ผู้ยิ่งใหญ่
  • แม่บัวผันจันทร์ศรี ผู้มีพระคุณ แม่เป็นคู่บุญ กับพ่อไสว
  • แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ฉันแสนนับถือ ว่าแม่นี้คือ ครูผู้ให้
  • พี่สุจินต์ แม่นกเอี้ยง เสียงดี๊ดี พี่จินตนาทับมี พี่ขวัญใจ
  • อีกคนสำคัญ เชิงชั้นครบเครื่อง คือคุณครูชำเลือง ยกนิ้วให้
  • คุณครูนารินทร์ ดวงจินตน์แนหนัก ร่วมกันอนุรักษ์ เพลงพื้นบ้านไทย
  • ครูพิสูจน์อีกแรง ตกแต่งสานต่อ ของแม่ของพ่อ มิให้สูญหาย
  • ครูชำเลือง มณีวงษ์ เสริมส่งกระแส เพลงอีแซวเผยแพร่ เกริกกำจาย
  • ผมพูดเหน่อกว่าอาจารย์ครับผม
  • ฮ่าๆๆๆๆๆ

สิบนิ้วลูกน้อมนม  กราบเคารพก้มวันทา

หนูชื่อครูทองสา  ขอกราบอาจารย์ทั้งหลาย

เป็นนักเพลงรำร้อง หัวสมองยังไม่เด่น

พึ่งจะมาหัดเล่นยังไม่เก่งเท่าไร

เหมือนไก่อ่อนสอนขันยังไม่ประชันเชิงชน

เพิ่งเข้าสังเวียนเปลี่ยนขนยังไม่เก่งเท่าไร

ทั้งทักษะทักศาสตร์ยังไม่ฉลาดแจ่มจิต

พวกพ้องญาติมิตรอย่าเพิ่งเบนหน้าหน่าย

เสียงไม่แจ๋วจับจิต เหมือนแม่เพลงเมืองสุพรรณ

เป็นแม่เพลงเลาขวัญ ยังสู้ท่านไม่ได้

ขอฝากตัวไว้หนูจะช่วยเสริมส่ง

มาช่วยกันรณรงค์วัฒนธรรมไทย

 

 

   เรื่องของการรณรงค์    ไม่ต้องพะวงหรอกทองสา

เรื่องจิตสำนึก เรื่องศรัทธา  มาก่อนสิ่งใด

ทุกบทบาทที่ได้รับ          เป็นต้นตำรับให้ได้คิด

เป็นบทเรียนของชีวิต      ที่พรหมลิขิตมาให้

ไม่มีใคร ไม่มีใคร            หนีความจริง ได้พ้น เอย..

ในที่สุดตัวตน   ก็หนีไม่พ้น   ตัวใคร เอ่อ...

    สวัสดีครูทองสา

  • ยินดีมากครับ ที่ได้พบกับคนเพลง
  • ผมทำเพลงพื้นบ้านมานานตลอดทั้งชีวิต
  • งานด้านนี้เห็นผลช้ามาก ต้องใช้ความอดทน กว่าที่มาถึงจุดนี้ได้
  • ที่หน้าเวที ผมร้องสด ๆ ทุกตัวอักษร และเด็ก ๆ ในวงก็ด้นสดได้หลายคน
  • ขอฝากคุณครูเอาไว้ ถ้าเรื่มต้นได้แล้ว อย่าไปทิ้ง ทำต่อไปให้เกิดผล ขอเป็นกำลังใจให้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท