บันทึกปลัดกระทรวง 12 - ไปรับรางวัลที่สหรัฐอเมริกา


ในเดือนตุลาคมนี้มีเหตุจำเป็นให้ต้องเดินทางไปต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ไปไกลถึงสหรัฐอเมริกาทีเดียว ออกเดินทางตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม กว่าจะกลับก็ถึงวันที่ 16 ตุลาคม ตอนเที่ยงคืน รวมเป็นเวลาถึงเกือบ 9 วัน ในจำนวนนี้เป็นเวลาเดินทางเสียสองวันครึ่งเต็ม ๆ ประมาณ 60 ชั่วโมง คือขาไป 30 ชั่วโมง และขากลับ 30 ชั่วโมง เป็นการเดินทางที่ทรหดเอาการ

          ที่ต้องไปถึงอเมริกามาจากสองสาเหตุด้วยกัน เหตุแรกเพราะมหาวิทยาลัยที่เคยเรียนอยู่เมื่อ 30 ปีที่แล้วเขาอยากให้ไปเยี่ยมอีกครั้งหนึ่ง กับสาเหตุที่สองซึ่งก็เกี่ยวข้องกับเหตุแรก คือเขาอยากให้ไปศึกษาดูงานความก้าวหน้าของการศึกษาในรัฐมิชิแกน และอยากเจรจาเพื่อการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของเรากับมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน (Michigan State University) ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกย่อ ๆ ว่า MSU (เอ็ม เอส ยู) ตามที่เขาเรียกกัน ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากการเดินทางครั้งนี้จึงอยากเขียนบันทึกไว้ ดูจะเป็นเรื่องส่วนตัวไปบ้างหวังว่าคงไม่มีใครว่าอะไร

          ผมเดินทางด้วยการบินไทย จากกรุงเทพไปถึงลอสแองเจลีส ผ่านสนามบินโตเกียวของญี่ปุ่นด้วยความสะดวกเรียบร้อยดีทุกประการ ได้รับการดูแลจากพนักงานการบินไทยดีมาก จนถึงขนาดมาส่งให้ขึ้นรถบัสไปต่อสายการบินในประเทศของสหรัฐอเมริกา ต้องขอกล่าวขอบคุณทุกคนทุกฝ่ายที่ช่วยเหลือดูแลเป็นอย่างดี พอมาต่อสายการบินในประเทศก็ให้คิดถึงการบินไทย เพราะบริการที่ได้รับแตกต่างกันอย่างมาก พนักงานนอกจากจะยิ้มไม่เป็นแล้วยังดุอีกด้วย ทำให้ต้องบ่นในใจเป็นภาษาไทยไปตั้งหลายหน เดินทางออกจากกรุงเทพวันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม ตอนเช้า เวลา 07.30 น. ไปถึงจุดหมายปลายทางเอาตอนเที่ยงคืนของวันอาทิตย์ เมื่อถึงสนามบินแลนซิ่ง (Lansing) ดร.คริส วีลเลอร์ (Chris Wheeler) มารอรับอยู่แล้วพาไปเข้าที่พัก

          ที่ศูนย์ประชุมสัมมนาของมหาวิทยาลัยชื่อ Kellogg Center ดร.คริส เป็นศาสตราจารย์ทางการศึกษาของมหาวิทยาลัย ชอบมาเที่ยวเมืองไทย มาทำวิจัยเพื่อพัฒนาการสอนโดยวิธีที่ให้ชุมชน ครู และนักเรียน ร่วมมือกันรักษาป่าชุมชน ซึ่งเป็นวิธีสอน ที่ทันสมัยกับยุคปฏิรูปการศึกษา และได้ผลดีมาก

          ได้นอนพักไม่กี่ชั่วโมง ตอนเช้า ดร.คริส วิลเลอร์ มารับไปพบอธิการบดีของมหาวิทยาลัย เพื่อไปคุยทักทายในฐานะที่ได้มาเยือนถิ่นเขา ดร.แมคเพอร์สัน (McPherson) ดูจะเป็นคนรู้จักประเทศไทยดี เพราะเคยทำงานที่ธนาคารโลกมาก่อน มาเป็นอธิการบดีได้ห้าปีแล้ว เป็นคนสนใจโครงการความร่วมมือกับต่างประเทศมาก ถึงกับคุยว่า MSU เป็นมหาวิทยาลัยที่มี International Program มากที่สุดในสหรัฐอเมริกา และสนใจจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยประเทศไทยด้วย อธิการบดีกล่าวชื่นชมกิจกรรมของศิษย์เก่า MSU ของไทยเป็นพิเศษ เรื่องนี้ไม่ว่าไปพบใครต่างก็ชื่นชมเป็นเสียงเดียวกัน และเพราะสิ่งนี้แหละที่เป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องมาเยี่ยม MSU ในช่วงเวลานี้ จะเปลี่ยนเป็นเวลาอื่นก็ไม่ได้ เพราะเขาจะให้รางวัล เรียกว่ารางวัลศิษย์เก่าดีเด่น (Distinguished Alamni Award) ประจำปี 2000 ซึ่งจะมีการมอบกันในคืน วันพฤหัสบดีที่ 12 เดือนตุลาคม 2543

          หลังจากพบกับอธิการบดีแล้ว คริสยังจัดให้ได้พบกับคนอื่น ๆ อีกหลายคน เช่น คณบดีศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย คณบดีการศึกษาระหว่างประเทศ ศาสตราจารย์ที่มีโครงการใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ดูการสอนคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน และพบบุคคลทางด้านการศึกษาของรัฐมิชิแกน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านต่าง ๆ ระหว่างกัน เช่น เรื่องการพัฒนาครู การประกันคุณภาพการศึกษา เป็นต้น รวมทั้ง ที่สำคัญคือพาไปชมรอบ ๆ MSU เพื่อให้ทวนความจำว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

          MSU เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง จากที่เคยอยู่เรียนเมื่อปี พ.ศ. 2512 ถึง พ.ศ. 2517 เมื่อผ่านเข้าไปโดยรอบทั่ว ๆ ไป ความรู้สึกคือไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ตึกก็ยังดูเป็นสีอิฐเก่า ๆ เหมือนเคย แม่น้ำสีดาแดง (Red Cedar) ที่ไหลผ่านมหาวิทยาลัยก็ยังไหลเหมือนเดิม แถมเริ่มมีสีเข้มเกือบแดงเหมือนชื่อ คงเป็นเพราะใบไม้เริ่มร่วงหล่นลงไปในแม่น้ำสายเล็ก ๆ นี้ตามฤดูใบไม้ร่วง ทำให้ใบไม้เน่าเปลี่ยนสีของแม่น้ำ เห็นแม่น้ำแล้วคิดถึงเมื่อสมัยมาเรียนอยู่ เคยยืนเกาะราวสะพาน ดูสายน้ำไหล ส่งใจเหม่อลอยไปตามสายน้ำ หวังว่าจะให้ลอยไปถึงเมืองไทย ดูตึกต่างๆ แล้วจำไม่ค่อยได้ คริสบอกว่าบางตึกสร้างใหม่ บางตึกบูรณะใหม่ แต่เขายังรักษาสภาพภายนอกเดิมไว้จึงดูไม่เปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยมีคณะกรรมการดูแล การก่อสร้าง ตึกใหม่จึงผสมกลมกลืนกับตึกเก่าจนมองไม่ออกว่าตึกไหนเก่าตึกไหนใหม่ ถนนหนทางในมหาวิทยาลัยก็ดูขวักไขว่หลายเส้นจนงง ได้ทราบว่ามีการตัดถนนใหม่ผ่ากลางมหาวิทยาลัย มีไฟจราจรมากขึ้น มีวงเวียน ที่ไม่มีอะไรใหม่เลยคือตึกศึกษาศาสตร์ที่เคยเรียน ยังมีสภาพเดิมทุกประการ

          สภาพภายนอกดูเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่เมื่อเข้าไปในตึกทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมด ห้องสมุดในตึกศึกษาศาสตร์กลายเป็นห้องคอมพิวเตอร์รวมใหม่ นักศึกษาคนใดจะเข้าไปใช้เมื่อไรก็ได้ ห้องเรียนก็ติดอุปกรณ์มากขึ้น ห้องสมุดมหาวิทยาลัยมีหนังสือมากกว่าสมัยที่เรียนอยู่เป็นเท่าตัว คือมีเกือบห้าล้านเล่ม มีระบบค้นหนังสือทางไกลโดยไม่ต้องไปห้องสมุดก็ได้ โดยค้นผ่าน เครือข่ายคอมพิวเตอร์ แถมมีบริการส่งหนังสือที่ยืมถึงที่ทำงาน สรุปได้ว่าไอทีได้เข้ามามีบทบาทเปลี่ยนแปลงระบบบริการ ระบบบริหาร และระบบการเรียนรู้ค่อนข้างมาก พูดถึงข้อสังเกตที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงนี้กับคณบดีศึกษาศาสตร์ชื่อ แคโรล เอมส์ ก็เล่าว่ารู้ไหมกว่าจะเปลี่ยนได้ก็ทุลักทุเลพอสมควร แล้วเล่าเรื่องศาสตราจารย์คิวสิคให้ฟัง ศาสตราจารย์คิวสิคนี้เป็นคนสอบรวบยอดที่เรียกว่า Comprehensive Exam ตอนเรียนปริญญาเอก พบกันยังจำกันได้ดี แครอลบอกว่าพยายามใช้อินเทอร์เนตแทนจดหมาย แต่ดร.คิวสิคเป็นคนหัวโบราณไม่ยอมรับ ส่งอินเทอร์เนตไปทีไร ดร.คิวสิคพิมพ์ตอบเป็นจดหมายมาทุกที จนวันหนึ่ง ดร.คิวสิค เอาปากไก่ (คือปากกาขนนก) มาให้แล้วบอกยอมแล้ว ต่อไปนี้ขอใช้อินเทอร์เนตแทน ทุกอย่างจึงเปลี่ยนแปลงได้เรียบร้อย ตอนนี้ ดร.คิวสิค เป็นหัวหน้าแผนกวิชาบริหารการศึกษา

          ได้ไปดูโครงการคลิก (KLICK) คงเลียนชื่อคลิกในการกดปุ่มคอมพิวเตอร์ เป็นโครงการร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับฝ่ายการศึกษาของรัฐ (State Department of Education) ทีแรกดูก็คิดว่าเป็นการสอนคอมพิวเตอร์ธรรมดา แต่ไม่ใช่ ปรัชญาเขามีว่าตอนบ่ายหลังเลิกเรียนแล้วเด็กยังมีเวลาว่าง น่าจะให้ทำอะไรที่สนุกสนาน น่าสนใจและเป็นประโยชน์ เขาคิดโครงการคลิก ที่ให้เด็กเรียนและเล่นกับคอมพิวเตอร์ตามความสนใจของเด็กเอง โรงเรียนเพียงจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบไว้ ฝึกครูให้คอยดูแลช่วยเหลือนักเรียนเมื่อนักเรียนต้องการความช่วยเหลือ เด็กเล่นกับคอมพิวเตอร์ได้หลายวิธี เท่าที่เห็นจากการไปดูที่โรงเรียน บางคนสนุกสนานกับการถอดรื้อคอมพิวเตอร์ออกเป็นส่วน ๆ แล้วหัดประกอบเข้าด้วยกันใหม่ บางคนก็เพิ่งหัดใช้อินเทอร์เนต บางคนกำลังเรียนสร้างภาพเคลื่อนไหวโดยถ่ายภาพ ดิวิตอลมาก ๆ แล้วให้คอมพิวเตอร์มาจัดเรียงใหม่ บางคนปั้นดินเหนียวแล้วถ่ายภาพแล้วเอามาต่อกัน ดินเหนียวก็เคลื่อนไหวเหมือนหนังการ์ตูนที่เคยดูไม่ผิดเพี้ยน บางกลุ่มกำลังเล่นกับหุ่นยนต์ เขาซื้อหุ่นยนต์มาประกอบ แล้วถ่ายทอดโปรแกรมเข้าในหน่วยความจำของหุ่นยนต์ หุ่นยนต์ก็จะเคลื่อนไหวหรือทำงานได้ตามคำสั่งเป็นของเล่นใหม่ของเขา ดูแล้วน่าสนใจมากมีเด็กอยู่เรียน-เล่นมาก น่านำไปลองทำเป็นตัวอย่างที่บ้านเรา เขาบอกไม่ต้องลงทุนแพง คอมพิวเตอร์ตกรุ่นยังใช้ได้ไม่ต้องซื้อหาอะไรมากมาย ขอบริจาคเขามาเป็นส่วนใหญ่

          ขอกลับไปกล่าวเรื่องรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นสักเล็กน้อย เรื่องมีอยู่ว่าสมาคมศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยได้ส่งหนังสือไปยังเครือข่ายของสมาคมทั้งหลาย ทั่วโลกให้เสนอชื่อศิษย์เก่าที่มีผลงานดีเด่น ได้บริการสังคม และทำงานให้เกิดชื่อเสียงแก่มหาวิทยาลัย คือ MSU ในเมืองไทยมีคนที่เคยเรียนจาก MSU หลายร้อยคน อาจถึงพันคน เรารวมตัวกันเป็นชมรม เรียกว่า CLUB และทำกิจกรรมร่วมกันสม่ำเสมอ มีการเลือกตั้งประธานกันทุก 1-2 ปี ตามความสะดวก ผมเองก็เคยเป็นประธานอยู่สมัยหนึ่งและเข้าร่วมกิจกรรมมาโดยตลอด เคยรับรองผู้แทนจาก MSU ที่มาเยี่ยม เคยรับรองคณบดี อธิการบดี เราจัดงานใหญ่กันทุกปี กิจกรรมของชมรม MSU ในเมืองไทยมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ชื่นชมของสมาคมศิษย์เก่าและมหาวิทยาลัยเป็นอันมาก ในปี 2000 นี้ชมรมได้เสนอชื่อผมไปเป็นศิษย์เก่าดีเด่น และได้รับการรับรองจากคณะศึกษาศาสตร์ของ MSU ชื่อผ่านการกลั่นกรองคัดเลือกจนในที่สุด ได้รับเลือกเป็นศิษย์เก่าดีเด่นคนหนึ่งในจำนวนทั้งหมดแปดคนของปีนี้ และเป็นคนต่างชาติเพียงคนเดียว อธิการบดีปีเตอร์ แมคเฟอสัน ก็ได้รับเช่นกัน เขาจัดงานแจกรางวัลในวันที่ 12 ตุลาคม มีวันคืนสู่เหย้าในวันที่ 13 และขอให้อยู่ดูอเมริกันฟุตบอลในวันที่ 14 ตุลาคม กิจกรรมทั้งหลายอยู่ในตอนเย็นเป็นส่วนใหญ่ ตอนกลางวันเลยได้ไปดูงานและพบปะผู้คน ทั้งคนไทยและคนอเมริกัน

          พูดถึงการศึกษาอเมริกาตอนนี้ต้องกล่าวว่าเขาเน้นมาก ดูโทรทัศน์ รายการโฆษณาหาเสียงเป็นประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี อัล กอร์ หาเสียงว่ามีนโยบายจะลดขนาดชั้นเรียนลงให้เหลือน้อยกว่า 18 แปลว่าชั้นเรียนขนาด 18 คน ยังใหญ่เกินไป ยังจัดการเรียนการสอนไม่ได้คุณภาพพอ ฟังแล้วคิดถึงตอนไป ออสเตรเลีย ไปเยี่ยมโรงเรียนแต่ละโรง พบว่าชั้นเรียนไม่เคยเกิน 18 คน เทียบกับบ้านเราโรงเรียน มีชื่อเสียง ชั้นเรียนยิ่งใหญ่ เพิ่มไปเป็นถึง 50-60 คน ไม่รู้จัดกันไปได้อย่างไร คงเป็นที่เราดูคุณภาพต่างกัน อเมริกันเน้นการกระทำการแสดงออกของ นักเรียน มากกว่าการจดจำความรู้ เขาจึงต้องการห้องเรียนขนาดเล็ก ของเรานักเรียนไม่ค่อยได้ทำกิจกรรม เลยเรียนรวมกันเป็นห้องโต ๆ ก็ได้ และดูจะชอบกันเสียด้วย ไม่ว่าจะเป็นครูหรือผู้ปกครอง

          ระบบอีกอย่างหนึ่งที่พบว่าเปลี่ยนไปมากคือระบบการจัดสรร งบประมาณให้โรงเรียน สมัยที่เคยเรียนเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว โรงเรียนได้เงินส่วนใหญ่มาจากชุมชน ท้องถิ่นของโรงเรียน มีการเก็บภาษีท้องถิ่นเพื่อการศึกษา เป็นรายได้ก้อนใหญ่ถึง 60-70 % ทีเดียว รัฐบาลแห่งรัฐสนับสนุนเพียง 20-30 % และรัฐบาลกลางสนับสนุนเพียงเล็กน้อย ขณะนี้ภาพเปลี่ยนไป เขาบอกว่ารัฐบาลแห่งรัฐเข้าไปสนับสนุนการศึกษาถึง 60-70 % ของท้องถิ่นเองเหลือไม่เกิน 20 % และจากรัฐบาลกลางก็สนับสนุนมากขึ้น เขาบอกว่าการศึกษาจะให้อยู่ในความดูแลของท้องถิ่นมากเกินไปไม่ได้ เพราะท้องถิ่นมีความพร้อมต่างกัน รัฐจึงต้องเข้าไปดูแลเพื่อให้เกิดความเสมอภาค ดูแล้วชักจะสวนทางกับบ้านเรา ที่เดิมรัฐดูแลเป็นส่วนใหญ่ ท้องถิ่นแทบไม่ได้ช่วยเหลือเลย ขณะนี้ พ.ร.บ.การศึกษากำหนดให้กระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่น ดูแลมากขึ้น หากกระจายมากไปอาจเกิดปัญหาเรื่องความไม่เสมอภาคแบบใหม่ ที่สหรัฐเขากำลังแก้ไขอยู่ก็ได้

          พูดถึงระบบประกันคุณภาพการศึกษา เขามีระบบที่แปลกแตกต่างไปจากที่เคยเห็นในสหราชอาณาจักร และในออสเตรเลีย คือในรัฐเขาแบ่งเป็น County คงคล้าย ๆ อำเภอบ้านเรา แต่การศึกษาเขาเป็น School District คงคล้าย ๆ เขตพื้นที่การศึกษาอย่างที่เราคิดจะทำกัน ทั้งสองอย่างเป็นคนละระบบกัน แต่เขามีระบบประกันคุณภาพ คือมีหน่วยงานทำหน้าที่ส่งเสริมดูแลเรื่องคุณภาพการศึกษาในระดับ County คือจากรัฐไปเป็น County งานนี้เขาเน้นด้านการเยี่ยมเยียน ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ มากกว่าการประเมินผลอย่างเอาเป็นเอาตาย แบบระบบประกันคุณภาพ ที่บ้านเรากำลังคิดกันอยู่ การประเมินผลก็เน้นการประเมินผลสัมฤทธิ์ (Achievement test) ไม่ใช่ประเมินตัวป้อน และกระบวนการ (Input & Process) เหมือนอังกฤษ ดูแล้วระบบเขาคล้าย ๆ ระบบนิเทศการศึกษาผสมการวัดผล มากกว่าระบบประกันคุณภาพตรง ๆ ดูแล้วน่าสนใจดี เรามีระบบศึกษานิเทศก็ดีอยู่แล้ว กำลังคิดระบบประกันคุณภาพใหม่ มีองค์กรอิสระมากมาย ไม่รู้ว่าจะเอาของเก่าไปทำอะไร ทำไมไม่คิดปรับปรุงจากระบบเดิมให้ดีขึ้น แทนที่จะสร้างของใหม่ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ น่าคิดน่าสนใจอยู่มาก

          ขอย้อนกลับมาเล่าเรื่องงานแจกรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นอีกครั้ง ที่จริงตัวผมเองก็ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นมาจากทุกแห่งที่เคยเรียนในเมืองไทยอยู่แล้ว เป็นต้นว่ารางวัลศิษย์เก่าดีเด่นจากโรงเรียนวัดทุ่งสมอ รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นจากโรงเรียนวิสุทธิรังษี กาญจนบุรี รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นจากสถาบันราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ก็เหลืออีกที่เดียวที่เคยเรียนแต่ยังไม่ได้รับรางวัลคือ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน ที่เคยเรียนปริญญาโท และปริญญาเอกอยู่ถึงห้าปีเต็ม ปีนี้จะได้รับรางวัล เป็นอันว่าครบถ้วนหมด ทำท่าว่าจะเป็นงานที่ตื่นเต้นเป็นพิเศษ

          การเดินทางครั้งนี้ไปกับแม่บ้าน แต่พอถึงชิคาโก เขาก็แยกไปพิตสเบิก ไปหาลูกสาวที่เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไทย กำลังเรียนปริญญาเอกทางคอมพิวเตอร์อยู่ที่คาเนกี เมลลอน (Carnaegie Mellon University) จึงต้องแยกไป แลนซิ่งคนเดียวก่อน

          พอวันอังคารแม่บ้านกับลูกสาวก็ไปสมทบด้วย วันพฤหัสบดีตอนเย็นมีงานมอบรางวัล นั่งโต๊ะหนึ่งมีคณบดี ศาสตราจารย์ศึกษาศาสตร์ คริส วีลเลอร์ และผมสามคน อยู่ด้วยกัน งานเริ่มจากการรายงานตัวแล้วเขาก็พาไปถ่ายรูป บอกเอาไว้ลงอินเทอร์เนตแล้วก็เข้ารับประทานอาหาร พอรับประทานอาหารเสร็จเขาก็เริ่มพิธีการมอบรางวัล มีพิธีกรขึ้นมากล่าว รางวัลมีสามประเภท คือ ศิษย์เก่ากิติมศักดิ์ ศิษย์เก่าด้านบริการ และศิษย์เก่าดีเด่น เขาจะบอกชื่อคนที่เสนอชื่อ แล้วเชิญผู้ได้รับรางวัลขึ้นไปบนเวที แล้วก็อ่านคุณสมบัติยกย่องสรรเสริญคุณงานความดีที่เป็นเหตุให้ได้รับรางวัล แล้วก็มอบรางวัลให้ ตอนอ่านคุณความดีจบทุกคนก็ปรบมือกันเกรียวกราว พอรับรางวัลก็ปรบมือกันอีกครั้งหนึ่ง ก่อนรับรางวัลพยายามเตรียมตัวเกรงว่าจะตื่นเต้นเกินไป ทำอะไรไม่ถูก ถามคริสว่าจะต้องทำอะไรบ้าง คริสบอกว่าไม่ต้องทำอะไรขึ้นไปรับเฉย ๆ แล้วก็ฉีกยิ้ม big smile ผมเป็นคนที่สี่ของพวกศิษย์เก่าดีเด่น ต่อจากอธิการบดี เขาเรียงตามตัวอักษรคนขึ้นไปรับ ตัว P Pongpaibool ต่อจาก M ของ McPherson พอเริ่มเรียก McPherson คนปรบมือเกรียวกราวเพราะเขาเป็นอธิการบดี เริ่มใจสั่น อธิการบดีรับรางวัลแล้วพูดเสียยาว เลยมีเวลาทำใจ พอสมควร พอถึงตัวเองบ้าง ใจเต้นเป็นตีกลอง เดินขึ้นเวทียืนฟังเขาอ่านคำสรรเสริญแล้วเข้ารับรางวัล ทุกคนเขาขึ้นไปรับเขาพูดกันคนละเล็กละน้อยเลยต้องพูด ผมพูดว่า “ผมต้องเดินทางครึ่งโลกเพื่อมารับรางวัล และมาเยี่ยม MSU ที่ผมรัก ผมมาในเสื้อสีเขียวเพราะผมรักสีเขียว” แล้วก็เปิดเสื้อนอกให้เขาดูเสื้อเชิ๊ตสีเขียวข้างใน คนปรบมือกราวใหญ่ ผมพูดต่อว่า “ผมไม่ได้มีเสื้อสีเขียวอย่างเดียว ผมมีเลือดเป็นสีเขียวด้วย” คนปรบมือดังกว่าครั้งแรกแล้วก็กล่าวขอบคุณคนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งชมรมศิษย์เก่า MSU ในไทยด้วย ลงจากเวทีมาคนบอกว่าผมได้รับเสียงปรบมือสามครั้ง มากกว่าอธิการบดี มีคนมาจับมือแสดงความยินดีมากพอสมควร คิดว่าพอรักษาชื่อคนไทยและชมรมศิษย์เก่า MSU ของไทยไว้ได้ หมายเหตุสีเขียวคือสีของ MSU

          วันศุกร์เขามีเดินพาเหรดวันสู่เหย้า วันเสาร์เขาเชิญไปงานเลี้ยงวันคืนเหย้า แล้วให้ไปชมอเมริกันฟุตบอลระหว่าง MSU กับวิสคอนซินเป็นการรื้อฟื้นความจำเรื่องอเมริกันฟุตบอล วันนั้นมีคนดูเต็มสนามที่จุได้เจ็ดหมื่นเศษ เกมตื่นเต้นพอสมควร แต่อากาศร้อนมาก แสงแดดจ้าจนแสบตัว ดูได้ครึ่งเวลา เกมเสมอกัน 10 ต่อ 10 เลยขอลากลับที่พักมาดูทางโทรทัศน์ต่อ เกมพลิกผัน MSU มาเสียท่าเอาวินาทีสุดท้ายแพ้ไป 17 ต่อ 10 ทุกคนหน้าเศร้าบ่นกันพึม ผมเองก็เสียใจ เป็นเพราะดูไม่จบหรือเปล่าทำให้แพ้ไปจนได้ เป็นการแพ้สามครั้งติดกัน

          ผมจากลา MSU เช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 15 ขึ้นเครื่องบินกลับบ้าน หากถามว่าประทับใจอะไรมากที่สุดในการไปครั้งนี้ คงต้องตอบว่านอกจาก คริส วีลเลอร์ ที่ดูแลอย่างดีโดยตลอดแล้ว ก็มีนักเรียนไทยหลายคนตามมาพูดคุย พาไปเที่ยว ไปรับประทานอาหาร ทุกคนตั้งใจเรียนและน่ารักมากอีกไม่ช้าคงได้กลับมาช่วยกันทำงานเพื่อประเทศชาติต่อไป ต้องขอขอบคุณไมตรีจิตคุณหมอปรีชา ที่พึ่งของนักเรียนไทย ที่นั่น เขาพูดกันว่านักเรียนไทยเวลาป่วยไข้ ไม่ยอมไปศูนย์สุขภาพของมหาวิทยาลัย แต่ไปหาหมอปรีชาแทน เพราะป่วยมากป่วยน้อยแค่ไหน หมอปรีชาไม่เคยคิดสตางค์ แถมตามไปรักษาให้อาจารย์ที่ MSU อีกด้วย วันสุดท้ายหมอปรีชาพาไปเลี้ยงที่บ้าน มีคนไทยมาราว 30 คน ทุกคนมีความสุขดีที่ได้พบปะพูดคุยกับคนไทยด้วยกัน ขอขอบคุณหมอปรีชามา ณ ที่นี้ด้วย ตั้งใจว่าหากหมอปรีชา มาเมืองไทยเมื่อไร จะพาไปเลี้ยงตอบแทนสักที

 

 

 

พนม พงษ์ไพบูลย์
16 ตุลาคม 2543

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 101127เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2007 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การจัดการศึกษาในวันนี้  ข้าพเจ้าเห็นว่าเรากลัวว่าจะไปไม่ทันคนอื่น หรือประเทศอื่น จึงเปิ ดรับความเจริญก้าวหน้าจากประเทศที่เจริญแล้วอย่างหลากหลาย ทำให้มีผลกระทบต่อวัฒนธรรมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก  ส่งผลต่อเยาวชนไทย ในการศึกษาเล่าเรียน   อีกประการหนึ่ง ปัจจุบันครูจะได้รับการพัฒนาอย่างมากมายหลายด้าน  แต่ในขณะเดียวกัน นักเรียน นักศึกษามีการศึกษาด้อยลง   ข้าพเจ้าจึงมีความคิดว่า ควรทบทวนกระบวนการบริหารจัดการศึกษาของประเทศใหม่ กลับมามองดูวิถีชีวิตของไทยจริงๆ ต้องการอะไร  จะทำให้คนไทยมีความสุข

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท