อันเนื่องมาจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๗


           

       ในช่วงกว่า ๒ เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อทำหน้าที่หลักทั้งในส่วนของการขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี สร้างภูมิคุ้มกัน การจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับชุดกฎหมาย และ การจัดทำศูนย์ปฏิบัติการสื่อสร้างสรรค์ขึ้น

               

            มาตรการหลักมาตรการหนึ่ง ก็คือ การพุ่งเป้าไปที่การขจัดสื่อร้าย นั่นหมายถึง เข้าไปจัดการปัญหากับสื่อที่เป็นภัยต่อสังคมไทย ซึ่งหนึ่งในสื่อเหล่านั้น คงหนีไม่พ้น สื่อลามก หรือที่ทุกคนมักจะเรียกกันอย่างติดปากว่า สื่อลามกอนาจาร

              

            แน่นอนว่า สื่อลามก นั้น เป็นสื่อที่กฎหมายมีบทบัญญัติให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๗  ที่บัญญัติว่า  “ผู้ใด

       (๑) เพื่อความประสงค์แห่งการค้า หรือโดยการค้า เพื่อการจ่ายแจกหรือเพื่อการแสดงอวดแก่ประชาชนทำ ผลิต มีไว้ นำเข้าหรือยังให้นำเข้าในราชอาณาจักร ส่งออกหรือยังให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พาไป หรือยังให้พาไปหรือทำให้แพร่หลายโดยประการใด ๆ ซึ่งเอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่อง หมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพหรือสิ่งอื่นใดอันลามก

       (๒) ประกอบการค้า หรือมีส่วนหรือเข้าเกี่ยวข้องในการค้าเกี่ยวกับวัตถุหรือสิ่งของลามกดังกล่าวแล้ว จ่ายแจกหรือแสดงอวดแก่ประชาชน หรือให้เช่าวัตถุหรือสิ่งของเช่นว่านั้น

        (๓) เพื่อจะช่วยการทำให้แพร่หลาย หรือการค้าวัตถุหรือสิ่งของลามกดังกล่าวแล้ว โฆษณาหรือไขข่าวโดยประการใด ๆ ว่ามีบุคคลกระทำการอันเป็นความผิดตามมาตรานี้ หรือโฆษณาหรือไขข่าวว่าวัตถุ หรือสิ่งของลามกดังกล่าวแล้วจะหาได้จากบุคคลใด หรือโดยวิธีใด

        ปัญหาชั้นต้นที่ถกเถียงกันมานานนับเกือบศตวรรษ ก็คือ อะไรคือเกณฑ์ชี้วัดความเป็นลามกของสื่อ หรือพูดกันง่ายๆว่า อะไรคือสื่อที่ลามก ???

         ในการให้นิยามคำว่าสื่อลามกนั้นสามารถแยกพิจารณาได้ใน ๒ ลักษณะกล่าวคือ

         ลักษณะที่ ๑        หากพิจารณาตามถ้อยคำตัวอักษร ตามนัยของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ..๒๕๒๕ สื่อลามก จะหมายถึง สื่อที่หยาบช้า เลวทราม สกปรก อันเป็นที่น่ารังเกียจแก่ผู้อื่นในด้านความดีงาม

         ลักษณะที่ ๒          พิจารณาตามตัวบทกฎหมาย และแนวคำพิพากษาศาลฎีกาคำว่าลามกนี้ เป็นคำที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๗ และพระราชบัญญัติปรามการทำให้แพร่หลายและการค้าวัตถุอันลามก พุทธศักราช ๒๔๗๑

         โดยสรุปแล้ว คำว่าสื่อลามกหมายถึงสื่อที่ทำให้ผู้พบเห็นมีความรู้สึกซึ่งน่าอุจาดบัดสี น่าอับอาย ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงออกในรูปของภาพเปลือยมนุษย์ ภาพอวัยวะเพศทั้งหญิงและชาย หรือภาพการร่วมเพศของมนุษย์ “โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้พบเห็นเกิดความใคร่ทางกามารมณ์” ไม่ว่าจะแสดงออกในรูปของภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพ ภาพโฆษณาเครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ หรือสิ่งอื่นใดก็ตาม

         โดยผลของถ้อยคำที่ปรากฎในคำพิพากษาของศาลฎีกาในหลายฉบับ ทำให้หลายคนนำเอาถ้อยคำในคำตัดสินนั้นมายึดถือเป็น “นิยาม” ของสื่อลามก เช่น ภาพหญิงยืนเปลือยกายกอดชาย ภาพหญิงสวมแต่กางเกงในโปร่งตา   มีผู้ชายนอนกอดมือโอบบริเวณทรวงอก หรือ ภาพหญิงเปลือยกายท่อนบน  ใช้มือกดหูโทรศัพท์กดที่อวัยวะเพศ เป็นต้น

               

                              ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว คดีที่ขึ้นสู่ศาล คือการนำเอาข้อเท็จจริงในแต่ละรายนั้นมาพิจารณาในชั้นศาล ซึ่งมีปัจจัยหรือเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ เวลา ยุคสมัย สถานที่ ดังนั้น การนำคำพิพากษามาใช้เป็นบรรทัดฐาน เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ละทิ้งเจตนารมย์ของกฎหมายประกอบด้วย

               

                            กฎหมายอาญามาตรา ๒๘๗ ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยมีเจตนารมย์ทั้งในเรื่องของความดีงามของสังคม รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาของสื่อลามกที่ในทางกฎหมาย ก็คือ “การยั่วยุทางกามารมณ์” ซึ่งหมายถึง สื่อที่มีผลเป็นการเหนี่ยวนำให้ผู้บริโภคไปแสดงออกเรื่องเพศ หรือไปกระทำกิจกรรมทางเพศต่อบุคคลอื่นอันนำมาซึ่งปัญหาสังคมอีกหลายประการทั้งปัญหาการข่มขืน การท้องก่อนวัยอันควร เป็นต้น รวมไปถึง ปัญหาทางจิตวิทยา พฤติกรรม และ วัฒนธรรม เช่น ภาพนักศึกษาในชุดรัดรูปที่ถ่ายให้เห็นช่องหน้าอกที่มองรอดไปจากกระดุมเสื้อ

              

                     ดังนั้น การพิจารณาถึงความลามก นั้น จึงต้องมองบริบททางสังคม การแพทย์ จิตวิทยา วัฒนธรรม ประกอบด้วย

               

                    ทั้งหมดเป็นปัญหาเรื่องของการให้คำนิยาม เรายังมีปัญหาเรื่องของบทลงโทษของการกระทำความผิดอีกด้วย

         เพราะในยุคเทคโนโลยีก้าวกระโดด เนื้อหาของสื่อลามกทวีความรุนแรงมากขึ้น มีสื่อลามกที่นำเสนอการมีเพศสัมพันธ์ของคนในครอบครัว กับสัตว์ แบบข่มขืน แบบหมู่ การแลกเปลี่ยนคู่นอน แอบถ่าย สื่อลามกเด็ก เหล่านี้ ล้วนนำมาซึ่งปัญหาทางสังคม วัฒนธรรม อย่างรุนแรง เรียกได้ว่าเป็นสื่อทางเพศในกลุ่มสีดำสนิท ในขณะที่สื่อลามกทั่วไปนั้น เป็นสื่อทางเพศในกลุ่มสีเทา นำมาซึ่งผลกระทบในทางสังคมและวัฒนธรรมที่น้อยกว่า แต่ทว่า โทษในทางอาญานั้น มีค่าเท่ากัน

        หลายคนพยายามผลักดันให้สื่อทางเพศสีดำสนิทนั้น ควรมีบทลงโทษที่หนักกว่าสื่อสีเทา ซึ่งในทางแนวคิดพื้นฐานทางกฎหมายแล้ว มีความชอบธรรมที่สามารถทำได้

        ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องหยิบกฎหมายฉบับนี้มาพิจารณาปัดฝุ่นกันอย่างจริงจัง ทั้ง การให้คำนิยาม การจัดระดับความรุนแรงของเนื้อหา และ บทลงโทษที่มีผลต่อสื่อทางเพศแต่ละระดับที่แตกต่างกันด้วย

          อย่าปล่อยให้ การให้คำนิยามคำว่า สื่อลามก เป็นการให้ความหมายโดยใช้บริบททางกฎหมายของผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยมองข้ามเจตนารมย์ของกฎหมาย ที่มุ่งคุ้มครองวัฒนธรรม ศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยในสังคม อย่างรอบด้าน หากพิจารณากันอย่างถ่องแท้แล้ว เราก็จะได้คำตอบว่า เราควรต้องแก้กฎหมายและบทลงโทษกันใหม่หรือไม่                
หมายเลขบันทึก: 101055เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2007 01:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

            ผมได้อ่านบทความของอาจารย์แล้วน่าสนใจมากและผมเห็นด้วยกับความคิดของอาจารย์ ผมอยากทำวิจัยเกี่ยวกับสื่อลามก ตามมาตรา ๒๘๗  ไม่ทราบว่าอาจารย์ช่วยแนะนำให้ผมได้หรือไม่ว่าควรจะเป็นประเด็นใด (ขอชื่อเรื่องด้วยครับอาจารย์)

           ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

                                                ด้วยความนับถือ

                                                            ชาคริต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท