อนุทิน 132447


ต้นโมกข์
เขียนเมื่อ

     มีนักวิชาการหลายคนกล่าวว่าสภาประชาชนที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณนำเสนอนั้นคล้ายคลึงกับความเป็นฟาสซิสต์ (Facism) อย่างมาก ความเป็นฟาสซิสต์ เป็นหนึ่งในลักษณะการปกครองของรัฐ  ความเป็นฟาสซิสต์ซึ่งปรากฏในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีแนวคิดสำคัญว่า รัฐเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าตนหรือปัจเจกบุคคล ฟาสซิสต์จะมีบุคคลคนหนึ่งปกครองประเทศเรียกว่า ผู้นำเผด็จการ มีอำนาจสิทธิในการควบคุมรัฐบาลและประชาชน ซึ่งประชาชนภายในรัฐจะต้องเชื่อฟังผู้นำสูงสุด เพื่อใช้ประเทศชาติอยู่รอดปลอดภัย และพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง

     ฟาสซิสต์ นั้นแตกต่างจากคอมมิวนิสต์ เนื่องจากฟาสซิสต์ไม่ต้องการจะเป็นเจ้าของที่ดิน หรือโรงงานผลิตสินค้า แต่ลัทธิฟาสซิสต์จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสิ่งเหล่านั้นและใช้เป็นทรัพยากรในการผลิตกองทัพที่แข็งแกร่ง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความเป็นฟาสซิสต์จะมีลักษณะ “คลั่งชาติ” อย่างสุดขั้ว  สำหรับลัทธิฟาสซิสต์แล้วถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่โรงเรียนทุกโรงในประเทศจะสอนเด็กว่าผู้นำเผด็จการเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในโลก เมื่อโตขึ้นแบบอย่างที่ควรทำคือเข้ารวมกลุ่มกับลัทธิฟาสซิสต์ โดยบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับลัทธิจักต้องถูกสังหารหมู่ทั้งหมด ผู้นำลัทธิฟาสซิสต์มักจะเป็นบุคคลที่มียศสูงในกองทัพ ถึงแม้พวกเขาจะไม่มียศมาก่อนก็ตาม และมักปรากฏตัวในชุดกองทัพบกหรือกองทัพเรือต่อหน้าสาธารณะชน

ประวัติรัฐฟาสซิสต์

     การที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พยายามที่จะจัดตั้ง “สภาประชาชน” ขึ้นมา โดยสรรหา“คนดี” ขึ้นมาทำหน้าที่แทนปวงชนชาวไทย อย่างไรก็ตามการกระทำเหล่านี้นอกจากขัดรัฐธรรมนูญแล้ว ยังไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย สภาประชาชนของนายสุเทพ คล้ายๆกับการจัดตั้งระบอบการปกครองใหม่ โดย นายเบนิโต มุสโสลินี ผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์ของอิตาลีในอดีต

     ในช่วงทศวรรษที่ 1920 ภายใต้การนำของมุสโสลินี ได้มีการจัดตั้งพรรคฟาสซิสต์ขึ้น จุดมุ่งหมายของพรรคดังกล่าว คือ การสร้างระบอบการปกครองใหม่ ซึ่งพวกเขาไม่มีความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เพราะไม่สามารถแก้ไขวิกฤติทางการเมืองและเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้

     สถานการณ์ทางการเมืองที่ชะงักงันของอิตาลี บวกกับกระแสสังคมนิยมที่ทวีความรุนแรง ทำให้รัฐบาลอิตาลีตัดสินใจสนับสนุนให้พรรคฟาสซิสต์เข้าสู่การเลือกตั้งในฐานะแนวร่วมต่อต้านพรรคสังคมนิยม แต่พรรคฟาสซิสต์ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงน้อยนิดเท่านั้นจากการเลือกตั้งในปี 2464

     ในเดือนตุลาคมปี 2465 มุสโสลินี ประกาศต่อที่ประชุมพรรคฟาสซิสต์ ในเมืองมิลาน ว่าจะเคลื่อนขบวน "ชายชุดดำ" หรือ "Blackshirt" ซึ่งเป็นกองทหารกึ่งพลเรือน และผู้สนับสนุนที่เขาอ้างว่ามีมากถึง 700,000 คน เข้ายึดสถานที่สำคัญของทางราชการ ในเหตุการณ์ "March on Rome" ขณะเดียวกัน ยังเรียกร้องให้รัฐบาลนายลุยยี ฟากตา ลาออกจากตำแหน่งแล้วคืนอำนาจให้กับพรรคฟาสซิสต์ซึ่งเป็นพรรคเสียงข้างน้อยในสภา (เหมือนกับการใช้มวลชนของคนสุเทพฯ ในการทำอย่างนี้ไหมครับ)

     สถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลของนายฟากตา และกองทัพได้เตรียมกำลังปราบปรามแล้ว แต่พระเจ้าวิคเตอร์ อิมมานูเอลที่ 3 กษัตริย์ของอิตาลี ทรงไม่อนุญาตรัฐบาล และกองทัพในพระองค์ให้ทำการปราบปราม เนื่องจากเกรงว่า พรรคสังคมนิยมอิตาลีจะได้รับการเลือกตั้ง และครองเสียงข้างมากในอนาคต ทั้งยัง มีจุดมุ่งหมายล้มล้างสถาบันกษัตริย์ พระองค์จึงโน้มเอียงสนับสนุนพรรคฟาสซิสต์ และแต่งตั้งให้มุสโสลินีขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามที่ร้องขอ

      หลังจากมุสโสลินีขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว เขาได้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเข้าปราบปรามศัตรูทางการเมืองโดยเฉพาะพรรคสังคมนิยมอิตาลี การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้อำนาจพรรคฟาสซิสต์อย่างเต็มที่ในการบริหารประเทศ และเป็นการนำไปสู่ความล่มสลายของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของอิตาลีในที่สุด

     เมื่อมุสโสลินีขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการประชุมรัฐสภาครั้งแรกเขาประกาศจุดยืนชัดเจนในการปฏิรูประบบรัฐสภา และการเลือกตั้ง โดยสนับสนุนให้สหภาพแรงงานเข้ามามีบทบาททางการเมือง รวมทั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ที่นั่ง 2 ใน 3 แก่พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเกินร้อยละ 25 ทำให้พรรคฟาสซิสต์สามารถครองที่นั่งในสภาได้ 2 ใน 3 จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2467 (นี่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณสุเทพ และกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง)

     นอกจากพรรคฟาสซิสต์จะครองเสียงข้างมากในสภาแล้ว พรรคฝ่ายค้านยังถูกข่มขู่คุกคามจนต้องถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสภาในที่สุด (แต่พรรคฝ่ายค้านในประเทศสารขัณฑ์ต่างลาออกเอง ไม่ไว้ใจรัฐบาลเพราะว่าถูกกำกับโดยคนภายนอก)  ทำให้พรรคฟาสซิสต์สามารถครองสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญ  และในปี 2471 "สภาสูงสุดของพรรคฟาสซิสต์" กลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจเหนือองคาพยพทั้งมวลของประเทศ หลังการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาสิ้นสุดลง

     มุสโสลินีดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ เพื่อรับสนองพระบรมราชโองการของกษัตริย์ สภานี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสรรหาผู้แทนราษฎรที่มาจากสหภาพวิชาชีพต่างๆ การถวายคำแนะนำกษัตริย์ในการแต่งตั้งถอดถอนนายกรัฐมนตรี ที่สำคัญสภาแห่งนี้ยังมีสิทธิในการเลือกองค์รัชทายาทเพื่อการสืบราชสันติวงศ์ได้อีกด้วย

     อำนาจที่ล้นพ้นของพรรคฟาสซิสต์นำไปสู่จุดจบของสภาผู้แทนราษฎรแบบเดิม ซึ่งต่อมามีการตั้ง "สภาฟาสซิสต์และความร่วมมือ" หรือเรียกสั้นๆว่า "สภาแห่งชาติ" ขึ้นทดแทนในปี 2482   สภาแห่งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อดำเนินการทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่เป็นความร่วมมือของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เช่น สหภาพวิชาชีพ กลุ่มทุนทั้ง 22 องค์กร ร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จของมุสโสลินี

     สภาฟาสซิสต์และความร่วมมือถึงจุดสิ้นสุดในปี 2486 เมื่อกองทัพสัมพันธมิตรกรีฑาทัพสู่กรุงโรม และโค่นล้มระบอบฟาสซิสต์ของมุสโสลินี ทำให้พระเจ้าวิคเตอร์ เอมมานูเอลที่ 3 ทรงสละราชย์สมบัติ ทำให้พระเจ้าอุมแบร์โตที่ 2 พระโอรสขึ้นครองราชย์ แต่ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสาธารณรัฐและฝ่ายกษัตริย์นิยม ก็นำไปสู่การลงประชามติกำหนดอนาคตชาติ ปรากฏว่าฝ่ายสาธารณรัฐชนะการลงประชามติด้วยคะเเนนเสียงร้อยละ 54 ด้วยเหตุผลที่ว่า สถาบันกษัตริย์สนับสนุนระบอบฟาสซิสต์ของมุสโสลินี อิตาลีจึงเป็นสาธารณรัฐจนถึงปัจจุบัน

      เมื่อมองย้อนกลับมาที่ "สภาประชาชน" ของกลุ่ม กปปส. ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสภาฟาสซิสต์ ที่คัดสรรบุคคลซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็น "คนดี" จากทุกสาขาวิชาชีพมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่คนกลุ่มนี้ยังคงถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรม เช่นในกลุ่มอาชีพ หากมีความขัดแย้งกันขึ้นมา คนหนึ่งได้รับเลือก อีกคนไม่ได้รับเลือก จะเกิดอะไรขึ้นกับองค์กรวิชาชีพเหล่านั้น ความดีความเลวขึ้นอยู่กับบุคคล คนไหนคิดว่าตนเองดี ก็จะมองว่าผู้อื่นและคนที่มีความเห็นจากเราเป็นคนเลวทั้งนั้น  

      การใช้สิทธิแก่คนไทยทั้งประเทศ เพื่อเลือกผู้แทนให้กับประชาชน เพราะคนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นในคุณค่า และบรรทัดฐานตามระบอบประชาธิปไตย ผ่านการลงคะแนนเลือกตั้งด้วยตนเอง คนทุกระดับชั้น 1 คน ย่อมมี 1 เดียว เช่นเดียวกันทุกคน

     ด้วยเหตุนี้จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า อะไรคือความต้องการที่แท้จริงของกลุ่ม กปปส. ต่อการปฏิรูปประเทศ ซึ่งอาจหวนประเทศกลับไปเป็นเหมือนอิตาลีในสมัยของมุสโสลินีก็เป็นได้

หนังสืออ้างอิง

สภาฟาสซิสต์ สู่สภาประชน ตอนที่ 1-2 จาก Voice TV 13 ธันวาคม พ.ศ .2556

 

 



ความเห็น (5)

สงสัยว่าสุเทพคงศึกษาเรื่องของฟาสซิสต์และมุสโสลินีมาอย่างแตกฉาน ศรัทธาอย่างล้ำลึก เลยเดินตาม บางทีประเทศไทยอาจต้องตกจะอยู่ใต้ระบอบนี้สักพักแทนระบอบทักษิณ(ถ้ามีจริง)

ขอบคุณค่ะสำหรับความรู้และการวิเคราะห์

เวทีนี้ ผมมีเพื่อนที่เริ่มจะรักมากเพิ่มขึ้นอีก ๒ คน คืออาจารย์ต้น กับ GD บางทีก็แค่คิดว่าเราเป็นแกะดำหรือเปล่า เห็นเงียบๆกัน ตอนแรกก็ชอบไปดอยสุเทพ พักหลัง แลเยอะเกิน เหมือนจะทำประโยชน์ให้พวกพ้องและพลพรรคมากกว่า…แค่นี้ก่อนนะอาจารย์ที่รักทั้งสอง เปิดตัวแรงไป เดี๋ยวจะยาว….จาก อาจารย์ ตุ๋ย

ขอบคุณมากครับ สำหรับความเห็นที่จะปกป้องประชาธิปไตยที่มี 1 คน 1 เสียง ไว้จนถึงที่สุด แต่ถ้าเราคิดว่า 1 คนไม่เท่ากับ 1 เสียงแล้ว อีกหน่อยอาจเกิด "สงครามประชาชน" (civil war) ขึ้นมาจริงๆก็ได้ครับ

ดร.บางท่านไม่คิดเหมือนเป็นความคิดต่างว่า จบสูง(ดร. ศ.ดร. ผศ.ดร. อะไรแล้วหนึ่งเสียงมีค่ามากกว่าคนจน .ครับ ผมรักประชาธิปไตยเช่นกันครับ.

ผมไม่ค่อยรู้และเข้าใจการเมืองต่างประเทศสักเท่าไหร่…แม้อ่านจบไปแล้วก็ยังงงๆ อยู่…จะพยายามติดตามนะครับ…ขอบคุณความรู้ดีๆ ที่นำมาแบ่งปันครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท