ขอบพระคุณ คุณสิงห์ป่าสักมากนะครับที่เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น และขอเรียนให้ทราบนะครับผมติดตามบันทึกของท่านอยู่เสมอ
ผมมีเรื่องเล่าต่ออีกนิดหนึ่งนะครับเกี่ยวกับเรื่องเล่าของคุณนิติภูมิ ฯ ในรายการทีวีเมื่อวันศุกร์ ที่ 26 พ.ค.49 โดยคุณนิติภูมิเล่าว่า ตนเองได้ส่งลูกกลับไปอยู่กับญาติผู้ใหญ่ (บ้านเดิม) ซึงก็ถือว่าเป็นบ้านนอก วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ลูกได้เรียนหนังสือที่นั่น (ชั้นประถม) เรียนรู้การใช้ชีวิตกับเพื่อน เรียนรู้วิถีชีวิตของคนบ้านนอก ซึ่งก็ถือว่าเป็นสังคมที่ลูกจะต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น ให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้ ในการเรียนที่กรุงเทพ ฯ คุณนิติภูมิ ฯ มองว่าเป็นการเรียนแบบที่มีการแข่งขันกันสูง มุ่งที่ตำราเป็นที่ตั้ง โดยเริ่มกับเด็กเล็กไปเลย ทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวแย่งชิงโอกาส จึงไม่อยากให้ลูกเป็นอย่างนั้น การเรียนชั้นประถมที่นั่นเพื่อปลูกฝังการเรียนรู้สังคมให้กับลูก เมื่อโตขึ้นก็ถือได้ว่าเขาได้รู้จักชีวิตจริงแล้ว (คนบ้านนอกอยู่แบบเอื้ออาทรคอยช่วยเหลือกัน) ก็เข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพ ฯ คุณนิติภูมิเล่าว่า "ผมภูมิใจมากเมื่อวันหนึ่งไปเยี่ยมลูกแล้วลูกตะโกนด่าเพื่อน" นั้นหมายถึงวิถีชีวิตที่แท้จริงของสังคมระหว่างเพื่อนกับเพื่อน
ผมทำงานสัมผัสกับความเป็นบ้านนอกมาตลอด ตั้งแต่เรียนจนทำงาน เรานักส่งเสริมพบกับความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นจากการพัฒนา สมัยก่อนที่ผมเรียนกับสมัยนี้ผิดกับเยอะมาก สมัยที่ผมเรียนชั้นประถม เมื่อถึงฤดูกาลทำนา ผมจำได้ว่าโรงเรียนปิด 10 วัน เพื่อให้นักเรียนในชนบท เฝ้าบ้าน หรือเลี้ยงดูน้อง ให้พ่อแม่ออกไปทำนา ซึ่งเป็นบรรยายกาศของวิถีชีวิตที่เป็นไปตามธรรมชาติจริง ๆ ทุกคนมีความสุขกับสิ่งที่เกิดขึ้น บรรยากาศแบบเอื้ออาทรดังในอดีตแทบหาไม่ได้แล้วในปัจจุบัน พ่อแม่จะได้ทำนาหรือไม่ มีเงินหรือไม่นั้นไม่เกี่ยวแต่ถ้าไม่ไปโรงเรียนก็คือขาดเรียน และที่พบเห็นในการหารายได้ส่วนใหญ่แล้ว คนในชนบทจะหาเงินเพื่อส่งลูกเรียนกันทั้งนั้น และเป็นหนี้จากรายจ่ายส่วนนี้เป็นจำนวนมาก