สวัสดีค่ะคุณ Man In Flame
การเกิดข้อโต้แย้ง เป็นสิ่งที่ดีค่ะ เพราะหมายถึงการอยู่ในความสนใจของเรื่องที่โต้แย้งนั้น หากไม่สนใจ ก็คงปล่อยหายไปเฉยๆ
ดิฉันเห็นด้วยค่ะ ที่ว่าถ้าจะมีภิกษุณี คงต้องเป็นมหายาน เพราะข้อกำหนดทางเถรวาทดังที่ได้บันทึกไว้ในบันทึก "ปัญหาการบวชภิกษุณีในนิกายเถรวาท" แล้ว
แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่า ผู้ที่มาบวชเป็นภิกษุณีล้วนยอมรับว่าสถานภาพของตนจะไม่ได้รับการยอมรับ ท่านธัมมนันทาได้ให้ความเห็นไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ในจดหมายข่าวพุทธสาวิกา ฉบับที่ 27 ต.ค. - ธ.ค.2551 ว่า
"การออกบวชทั้งๆที่ไม่มีสถานภาพรองรับนี้ เรียกว่าไม่ได้เข้ามาเพื่อหวังผลประโยชน์จากการบวชโดยสิ้นเชิง เพียงแต่ทำด้วยแรงศรัทธาที่จะเข้ามารับใช้พระศาสนา และด้วยความเคารพในพระพุทะองค์ ที่ได้ทรงเป็นผู้ประดิษฐานพุทธบริษัททั้ง 4 เอาไว้ นั่นคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา.......
........ภิกษุณีสงฆ์มีโอกาสดีกว่าพระภิกษุสงฆ์ในแง่ที่ได้เห็นข้ออ่อน ข้อด้อยของภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในระบบที่อ้วนอุ้ยอ้าย แก้ไขปรับปรุงอะไรก็ทั้งยาก ภิกษุณีสงฆ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ จึงมีโอกาสอย่างยิ่งที่จะสร้างบ้านใหม่ วางโครงสร้างใหม่ ใช้วัสดุที่ทั้งประหยัดและทนทาน คือฐานศีลที่มั่นคง ฐานธรรมที่เป็นเสาหลักให้บ้านใหม่คงทน ทนแดด ทนฝน ทนปลวก ทนแผ่นดินไหว ฯลฯ ศรัทธาชาวบ้านย่อมเพิ่มพูน
ยิ่งภิกษุณีสงฆ์ไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ กลับอาจเป็นข้อดีที่จะคัดสรรคนที่ตั้งใจจะเข้ามากอบโกยจากเนื้อนาพระศาสนาออกไป คัดไว้แต่คนที่มีความตั้งใจที่จะเข้ามารับใช้ รับภาระงานของพระศาสนา ยิ่งกว่าที่จะเข้ามาเพื่อเรียกร้องการยอมรับโดยปราศจากฐานสำคัญคือคุณภาพ....."
ดิฉันมองว่า การหาความพยายามว่าทำอย่างไร วัดจึงไม่เผยแพร่การสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา บูชาพระราหู เป่าเสกเครื่องรางของขลัง น่าเป็นห่วงกว่าการพยายามที่จะไม่ให้มีภิกษุณีอีกค่ะ เพราะสิ่งเหล่านั้นมอมเมาชาวพุทธแบบไม่ได้หยุดหย่อน
ชาวพุทธไทยจึงหย่อนการปฏิบัติภาวนาเพราะเชื่อว่าสามารถเอาตัวรอดได้ จากการตัดกรรม การสวดอ้อนวอนนี้เอง ซึ่งเป็นสีลัพพตปรามาสล้วนๆ
ขอบคุณที่แวะไปแลกเปลี่ยนฉันกัลยาณมิตรนะคะ