ในปัจจุบันระบบราชการมีลักษณะการทำงานที่มีการควบคุมในทุกขั้นตอน
ทั้งนี้แตกต่างจากการทำงานในระบบเอกชน อย่างเห็นได้ชัด
การทำงานในระบบราชการมีการเน้นหนักในการทำงานตามระเบียบกฎหมาย
และวางระบบควบคุมทุกขั้นตอน
การควบคุมดังกล่าวเป็นผลให้มีการกำหนดคุณภาพการทำงานในรายละเอียด
โดยอ้างเหตุแห่งการทำงานที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยส่วนรวม
ประกอบกับระบบราชการไม่จำต้องคำนึงถึงผลกำไรขององค์การ
เนื่องมาจากไม่จำต้องหารายได้
อันเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญกับภาคเอกชน
นอกจากนี้การทำงานในภาคราชการ
ยังคงขาดการประเมินผลที่เกิดขึ้นจริงต่อประชาชน ดังจะเห็นได้จาก
การตรวจสอบการทำงานมักจะตรวจเฉพาะระบบการทำงานว่าถูกต้องตามขั้นตอนปฏิบัติหรือไม่เท่านั้น
แต่จะไม่มีการประเมินผลที่เกิดขึ้นว่าสอดคล้อง
และเกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เช่นการตรวจสอบโครงการต่างๆ
มักจะตรวจสอบว่าการดำเนินการตามโครงการเป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่มีทุจริต
และโปร่งใส
แต่ไม่มีหรือมีน้อยมากในการประเมินว่าโครงการดังกล่าวบรรลุตามเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่
การปฏิบัติงานราชการในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นการจัดการคุณภาพ
(TQM)
ทั้งนี้จะพบว่าในข้อเท็จจริงจะส่งผลให้
การปฏิบัติราชการถูกละเลยในการพิจารณาผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
และข้าราชการจะทำงานเฉพาะตามขั้นตอน
และขาดการคำนึงถึงความคุ้มค่าของโครงการที่ดำเนินการ
อย่างไรก็ดี ได้มีการเริ่มนำระบบการจัดการโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์
(RBM) เข้ามาใช้ในระบบราชการดังจะเห็นได้จาก
หน่วยราชการทุกหน่วยจะต้องจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ
มีการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ
และมีการตรวจสอบโดยสถาบันที่เชื่อถือได้
การปรับปรุงดังกล่าวส่งผลให้ราชการต้องหันกลับมาพิจารณาถึงผลลัพธ์ในการทำงานมากขึ้น
และในอนาคตมีแนวโน้มที่ว่า สัดส่วนการจัดการคุณภาพจะลดความสำคัญลง
และไปเพิ่มความสำคัญในการจัดการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์
มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แนวโน้มดังกล่าวน่าจะส่งผลดีมากต่อระบบการทำงานราชการ
และข้าราชการจะสามารถหันกลับมามุ่งการทำผลงาน
มากการการทำตามขั้นตอนให้ถูกต้อง
เพราะระบบการจัดการต่างๆเอื้ออำนวย
อย่างไรก็ดี การพัฒนาบุคคล (HRM)
จะมีส่วนช่วยและเป็นตัวเร้าให้การจัดการมุ่งผลสัมฤทธิ์
สามารถส่งผลได้อย่างเหมาะสม และเป็นรูปธรรม โดยจักต้องปรับทัศนคติ
และเปลี่ยนแปลงประเพณีค่านิยม
ต่างๆในระบบราชการให้เกิดการยอมรับในการนำระบบการจัดการที่เหมาะสมดังกล่าวมาใช้ให้บังเกิดผลอย่างแท้จริง