แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครู กศน


แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครู กศน

เมื่อวาน วันที่ 30 ตุลาคม 2550 ผมได้มีโอกาสเข้าไปที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดตราด เพื่อไปสัมภาษณ์ผู้อำนวยการศูนย์ฯ แต่เนื่องจากท่านผู้อำนวยการศูนย์ฯติดประชุมหัวหน้าส่วนราชการที่ศาลากลางจังหวัดตราด ผมจึงได้สัมภาษณ์ท่านอาจารย์ สุธี วรประดิษฐ์ ตำแหน่ง ครูชำนาญการพิเศษ แทน โดยเรื่องที่ผมไปสัมภาษณ์ เป็นงานวิจัยของอาจารย์ที่ มสธ.ที่ผมกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทอยู่ ที่ฝากให้ผมไปช่วยเก็บข้อมูลให้ โครงการดังกล่าวชื่อ "โครงการศึกษาวิจัยการพัฒนาสินทรัพย์ชุมชนเชิงสังคม"

นอกจากการสัมภาษณ์ตามแบบสัมภาษณ์แล้ว ผมยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านอาจารย์ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของการทำงานเชิงบูรณาการ เนื่องจากงานของ กศน. เองมีบางส่วนที่มีความใกล้เคียงกับงานของเกษตรตำบล และพัฒนากร เช่น งานส่งเสริมการเกษตร งานส่งเสริมอาชีพ งานส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ แต่ กศน. มีจุดเด่นที่เรื่องของการเทียบวุฒิการศึกษา กับงานประจำที่ทำอยู่ เป้าหมายหลักของ กศน. แบ่งออกเป็น 4 ประเด็นคือ

1. ขั้นพื้นฐาน คือ การให้ความรู้ในระดับประถม มัธยมต้นและมัธยมปลาย

2 อาชีพ มี 3 ภารกิจคือ (3.1 การพัฒนาทักษะอาชีพ ,3.2 กลุ่มพัฒนาอาชีพ , 3.3 การใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาอาชีพ)

3. ส่งเสริมทักษะชีวิต

4. การศึกษาเพื่อสังคมและชุมชน

นอกจากนี้วิสัยทัศน์ของ กศน. ที่มุ่งเน้นการทำงานเชิงบูรณาการ โดยเฉพาะกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคี เช่นที่ทำการปกครอง เกษตร พัฒนาชุมชน และสาธารณสุข ซึ่งในปัจจุบันการดำเนินการของ กศน.ตราด กับหน่วยงานภาคีเหล่านี้ยังมีความห่างเหินกันอยู่มากในระดับจังหวัด แต่ในระดับพื้นที่ก็มีบางพื้นที่ที่มีการประสานงานกันอยู่ ซึ่งในสมัยผมทำงานในระดับอำเภอ ก็มีการทำงานในลักษณะบูรณาการร่วมกับ กศน. อยู่หลายโครงการเช่นการจัดทำแผนพัฒนาหรือแผนชุมชน ฯลฯ ซึ่งความสัมพันธ์ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี

อีกประเด็นหนึ่งที่ท่านอาจารย์สุธีได้กล่าวไว้คือการรวมงานที่มีลักษณะเหมือนกันเช่นการจัดทำแผนชุมชน ควรมีการจัดทำเป็นรูปแบบหลักภายใต้กรอบการทำงานเดียวกัน คือหน่วยงานไหนไปดำเนินการก็ใช้มาตรฐานเดียวกันในการทำงาน เมื่อหน่วยงานอื่นนำไปใช้ก็นำไปใช้ได้เหมือนกัน ซึ่งส่วนตัวผมเองก็คิดว่าเป็นแนวความคิดที่ดีอย่างยิ่งที่จะเกิดการบูรณาการร่วมกันเป็นทีมงาน ไม่ยึดติดกับสังกัดหรือหมวกที่สวมใส่ แต่ทุกอย่างมุ่งเน้นที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน นอกจากนี้ท่านยังมีแนวคิดที่จะทำเรื่องของการจัดการความรู้เรื่อง การทำสวนมังคุดแบบเกษตรอินทรีย์โดยจะหา Best Practice ด้านการผลิตมังคุดตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ที่ดีที่สุด แต่เนื่องจากในฐานะผู้ปฏิบัติจึงได้แต่บอกอาจารย์ไปว่า ขอทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการในเวทีดังกล่าวจะดีกว่า

การไปสัมภาษณ์ครั้งนี้ทำให้ผมได้รับทราบประเด็นต่างๆมามากมายในการที่จะบริหารจัดการงานในลักษณะของการบูรณาการ อีกทั้งยังแลกเปลี่ยนข้อมูลที่อาจจะเกิดประโยชน์ต่อการทำงานกันในหลายๆเรื่อง ซึ่งผมเองก็หวังว่าในระดับผู้บริหารต่อไปก็คงจะมีสายสัมพันธ์อันดีในการทำงานร่วมกันต่อไป

หมายเลขบันทึก: 143314เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2007 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
เครือข่าย ร่วมพัฒนาครับ
  • สวัสดีครับอาจารย์ JJ
  • การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณสุดทางบูรพา 

การได้รับฟังความคิดเห็นของผู้รู้ยิ่งทำให้ความรู้เราต่อยอดไปเรื่อยๆ ยินดีที่ได้รู้ว่ากำลังศึกษาต่อปริญญาโท ผมชอบคนที่ไขว่คว้าหาความรู้อย่างคุณสุดทางบูรพานี่แหละ ยิ่งลูกน้องผมคนไหนเรียนรู้เพิ่มเติมผมจะจับตาดูคนนั้นเป็นพิเศษ และเมื่อถึงเวลาพิจารณาความดีความชอบผมจะหยิบคนพวกนี้มาพิจารณาก่อนครับ

ข้าราชการก็ยังเป็นข้าราชการที่มองแต่หน่วยงานของตัวเองห่วงผลงานที่ทำว่าจะกลายเป็นของคนอื่น ไม่เคยมองไปที่ผลประโยชน์สุดท้ายที่ประชาชน คงมีพวกคิดทำแบบพวกเราอยู่ในสังคมบ้างแต่ต้องรอให้เป็นหัวหน้างานจึงจะคุยกันรู้เรื่อง เราอยากทำแต่เจ้านายอาจไม่เห็นด้วย แต่เราก็ต้องยอมเพราะเป็นไปตามสายงานบังคับบัญชาครับ

  • สวัสดีครับท่านอัยการชาวเกาะ
  • คาดว่าคงจะเรียนจบประมาณกลางปีหน้าครับ
  • เราคือผู้ปฏิบัติไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบาย ต่อให้มีประโยชน์แค่ไหน ผู้บริหารไม่เห็นด้วยก็เป็นอันจบครับ
  • การทำงานแบบบูรณาการคือการทำงานทีมีประสิทธิภาพ ลดรายจ่าย และอำนวยสุขให้แก่ประชาชนครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีคะ คุณสุดทางบูรพา

กศน. เป็นหน่วยงานที่น่ายกย่อง ในการให้โอกาสทางการศึกษาที่เหมาะสมกับวิถีชีวิต การสร้างเครือข่ายทำงานกับ กศน. นับเป็นวิธีการที่ดีในการพัฒนาการศึกษาของคนไปบนพื้นฐานของความสนใจในการพัฒนาอาชีพเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

เป็นกำลังใจในการทำงานนะคะ

---^.^---

  • สวัสดีครับคุพิมพ์ดีด
  • ผมเองก็ยกย่องครู กศน ครับ หากรวมแรงรวมใจกันกับหน่วยงานต่างๆที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ได้ น่าจะพัฒนาชนบทได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ
  • ผมเองก็ยังอยู่ในกรอบของราชการอยู่ เนื่องจากเป็นผู้ปฏิบัติ ทำให้การทำงานแบบบูรณาการยังไม่เกิดครับ
  • ขอบคุณครับ

น้องสุดทางบูรพา ครับ

ดีใจที่เห็นความสำคัญของอ กศน.นะครับ เห้นด้วยที่น้องสร้างความคุ้นเคยและความสัมพันธ์กันไว้ พี่ว่าอย่างนี้น้องทำถูกต้องแล้วครับ ต้องสร้างทั้งในแบบนอกแบบใต้ดินบนดิน ทำนานๆต่อเนื่องนะครับ กศน.-นักส่งเสริมฯ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท