มหาวิิทยาลัยกำลังหลงทาง เพราะตั้งโจทย์การแข่งขันผิด ...


หากมหาวิทยาลัยตั้งโจทย์และสร้างการแข่งขันที่ยึดสังคมเป็นตัวตั้งจริง (ไม่ใช่เพียงกล่าวอ้างเป็นพิธีการ) หรือสามารถสร้างบทบาทนำใน "วัฒนธรรมการแข่งขันที่ถูกต้อง" ในโลกที่จำเป็นต้องแข่งขัน ปัญหาเรื่องการขาดแคลนลูกค้าและความโหดร้ายของการแข่งขันคงไม่ทวีความรุนแรงเช่นปัจจุบัน

อ่านบทความทางการศึกษาของ "อาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์หัวหิน" ... ผมถือว่าเป็นบทความที่แสดงความกล้าคิดสิ่งใหม่ ๆ มีประเด็นอยู่มากมายอยู่ภายในนี้ ลองอ่านกันก่อนนะครับ

 

มหาวิทยาลัยกำลังหลงทาง เพราะตั้งโจทย์การแข่งขันผิด

 

เป็นความจริงว่า คนในประชาคมมหาิวิทยาลัยยุคปัจจุบันมีวิถีชีิวิตอยู่กับความเครียดสูง เนื่องจากต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตนเองและองค์กร ท่ามกลางการแข่งขันทางการศึกษาที่เข้มข้นมากขึ้นทั้งภายในประเทศและในระดับนานาชาติ

 

แต่เมื่อพิจารณาดูโจทย์การแข่งขันของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในบ้านเราขณะนี้ ดูเหมือนจะมีโจทย์หลัก ๆ กันอยู่ 4 ข้อ คือ

 

1. โจทย์เรื่องลูกค้า ... มหาวิทยาลัยต่าง ๆ วิตกกังวลมากขึ้นว่า นับวันลูกค้าที่เป็นนักศึกษาจะลดจำนวนลง เนื่องจากการขยายตัวของมหาวิทยาลัยเอกชนและการเปิดศูนย์การศึกษาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ในขณะที่จำนวนเด็กที่จบมัธยมศึกษาลดลง

ความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยจึงขึ้นอยู่กับการพยายามหาคำตอบว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถ "แย่งลูกค้า" ที่มีจำนวนจำกัดเข้ามาสู่สถาบันของตนให้ได้มากที่สุด และทำอย่างไรมหาวิทยาลัยจึงจะหารายได้ทางอื่นเลี้ยงตนเองได้นอกเหนือจากการสอน

เช่น ต้องรับจ้างทำวิจัย หรือ สร้างธุรกิจอื่น ๆ บนพื้นฐานความเชี่ยวชาญของตนเอง เป็นต้น

 

(... เป็นการดิ้นรนของมหาวิทยาลัยที่มุ่งไปที่ตัวลูกค้าก่อน ... ส่วนวิธีการอื่นให้ความสำคัญน้อยกว่า หรือไม่ต้องคิดกันเลย จริงหรือ :) 

 

2. โจทย์เรื่องทำการตลาด ... ในตลาดที่ดูเหมือนลูกค้ามีจำกัด แต่ละมหาวิทยาลัยต่างแข่งขันกันเปิดหลักสูตรใหม่ ๆ และสร้างกลยุทธ์การตลาดขายความรู้ที่มุ่งความพึงพอใจของลูกค้าเป็นตัวตั้ง

จึงมีการแข่งขันกันเปิดหลักสูตรปริญญาตรี โท เอก  กันเกร่อ แม้อาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยตนเองไม่เพียงพอ ก็ยอมจ้างอาจารย์พิเศษเกินครึ่ง เพื่อแย่งลูกค้าเอาไว้ก่อน และสร้างแรงดึงดูดลูกค้าด้วยสโลแกน "จ่ายครบก็จบได้" แต่ละหลักสูตรระดับปริญญาโท เอก ในแต่ละรุ่นจึงรับนักศึกษากันได้เกินครึ่งร้อยหรือเป็นร้อยคน

กลยุทธ์เช่นนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยความเชื่อที่ว่า จะทำให้องค์กรของตนเองก้าวหน้าและอยู่รอดในโลกของการแข่งขัน

แต่ในความเป็นจริงการแข่งขันกันอย่างมืดบอดเช่นนี้ต่างหากที่จะทำใ้ห้ทุกฝ่ายถึงจุดหายนะเร็วขึ้น

 

( ... ตลาด หมายถึง  การตั้งชื่อหลักสูตรวิชาให้ยั่วยวนใจลูกค้า จบไปแล้วบางทีงานยังไม่ทราบว่า ทำอะไรแน่นอน หรือใช้คำฮิตว่า บูรณาการ :)

 

3. โจทย์เรื่องการเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบ ... ที่พูดถึงเฉพาะการเพิ่มรายได้ของผู้บริหาร บุคลากรของมหาวิทยาลัย และความคล่องตัวในการบริหารจัดการเพื่อความอยู่รอดในโลกของการแข่งขัน

แต่ขาดกระบวนการสร้างความชัดเจนทั้งในประชาคมมหาิวิทยาลัยเองและต่อสังคมภายนอกในคุณภาพของการศึกษาความเป็นธรรมต่อผู้เีรียนที่ต้องจ่ายแพงขึ้น ความเป็นที่พึ่งทางปัญญาของสังคมและการมีบทบาทนำในการสร้างสรรค์สังคมให้เป็นธรรมและก้าวหน้าที่มีจุดยืนที่ชัดเจน โดยไม่ใช่เอาแต่วิ่งตามกระแสการแข่งขันทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่า จุดหมายปลายทางการแข่งขันที่ต่างพากันพุ่งไปหา

นั้นคือ "วัฒนะ" หรือ "หายนะ" กันแน่

 

(...ไม่มีคำตอบจากสวรรค์ เพราะผู้ชี้ขาดไม่ใช่ประชาคม  บุคลากรเป็นแค่เฟืองเล็ก ๆ ที่ไม่สำคัญ ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ต้องรวมใจเท่านั้น :) 

 

4. โจทย์เรื่องงานทางวิชาการที่ยึดติดรูปแบบและคับแคบ ... ทำไมคนทั่วไปจึงรู้สึกว่าตำราเรียนหรืองานวิชาการต่าง ๆ นั้นเป็นงานเขียนใน "แนวชวนง่วง" คำตอบน่าจะเป็นเพราะว่ารูปแบบงานวิชาการที่ประชาคมมหาวิทยาลัยยึดมั่นถือมั่นกันอย่างเหนียวแน่นนั้นทำให้ผลงานวิชาการขาด "พลังท้าทายทางความคิด"

 เพราะรูปแบบ หรือ ประเพณีการเขียนตำรา หรือ งานวิชาการนั้นเขาห้ามคิดให้คิดแต่น้อย หรือคิดเองเท่าที่จำเป็น ตำราหรืองานวิชาการจึงเป็นผลิตผลแห่งการลอกกันไปลอกกันมา ในประชาคมวิชาการคนที่เขียนหรือพูดโดยอ้างอิงความคิดของคนอื่น ๆ ได้มาก ย่อมได้รับยกย่องว่าเป็น "ผู้รู้" แต่ถ้าคิดเองก็ไม่ค่อยได้รับการยอมรับ เพราะ "ความคิด" ไม่ใช่ "ความรู้"

 ที่ตลกไม่ออกคือ บางทีเส้นแบ่งระหว่างความคิดกับความรู้ก็อยู่ที่ "รูปแบบ" ล้วน ๆ เช่น ถ้าให้คนในประชาคมวิชาการตัดสินบทความชิ้นหนึ่งของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (หรือคนอื่น ๆ) ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน เขาก็จะตัดสินว่านั่นไม่ใช่ "บทความวิชาการ" แต่เป็น "บทความทรรศนะ" หรือไม่ใช่ "ความรู้" แต่เป็น "ความคิด" แต่ถ้า "อาจารย์เขียว" เขียนบทความวิชาการตามรูปแบบงานวิชาการโดยอ้างอิงบทความเดียวกันนั้นเขากลับถือว่าเป็นความรู้

 

คือในรูปแบบหนึ่งบทความของนิธิเป็นเพียง "ทรรศนะ" (ของนิธิ) แต่ในอีกรูปแบบหนึ่งบทความเดียวกันนั้นเป็น "ความรู้" ที่อ้างอิงได้

 

ในทำนองเดียวกันนี้ตำราเรียนหรืองานวิชาการต่าง ๆ ก็อ้างอิง "ความคิด" ของปราชญ์ด้านต่าง ๆ โดยถือว่า เป็น "ความรู้" การมีความรู้จึงหมายถึงการรู้ว่า ... หรือจำได้ว่า ...

 

คนอื่นคิดพูดเขียนเอาไว้อย่างไรในการเขียนตำราหรืองานวิชาการโดยส่วนมากจึงเป็นการรายงานความรู้อย่างที่ว่านี้ และด้วยเหตุดังนี้ เมื่อนักศึกษาทำข้อสอบคนที่ควรจะได้คะแนนดีที่สุดจึงไม่ใช่คนที่คิดเก่ง แต่เป็นคนที่จำตำราได้เก่ง

 

ที่ว่ามานี้ไม่ใช่ผู้เขียนสรูปว่า ประเพณี "การอ้างอิง" (reference) ในทางวิชาการเป็นปัญหาในตัวมั่นเอง แต่สิ่งที่ต้องการชี้ให้เห็นคือ "การยึดมั่น" (อุปาทาน) ในรูปแบบการอ้างอิงอย่างเซื่อง ๆ ต่างหากที่ไปทำลายความเชื่อมั่นในการคิด ทำให้คนในมหาวิทยาลัยไม่กล้าคิดแตกต่าง (โดยเฉพาะคิดต่างจากผู้บริหารซึ่งติดยึดในวัฒนธรรม "การคิดแทน" และ "สั่งการ" ที่ยังมีกันอยู่มากในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ) หรือกระทั่งคิดไม่เป็น และไม่มีบทบาทนำทางปัญญาของสังคม

 

ดังเช่นตัวอย่างวิธีคิดโจทย์การแข่งขันผิด ๆ ที่ยกมานั้น กำลังสร้างวัฒนธรรมแฟชั่น "การแข่งขันเทียม ๆ" ในประชาคมมหาิวิทยาลัย (ซึ่งดึงดูดทุกมหาวิทยาลัยให้ลงไปอยู่ในลู่แข่งเดียวกัน) เพราะโจทย์ของการแข่งขันดังกล่าวนั้นไม่อาจนำไปสู่คำตอบเรื่องคุณภาพของการศึกษา ความรู้ความสามารถ คุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้เรียน การสร้างสรรค์ปัญญาและสังคมที่มีความเป็นธรรมกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งควรเป็นบทบาทหลักของมหาวิทยาลัย

 

(... ประเ็ด็นนี้ พลิกความคิดเรื่องการเขียนผลงานวิชาการ หรือบทความ เลย น่าจะนำไปคิดต่อยอดได้ ขอซื้อครับ ความคิดนี้ สุดยอด :) 

 

กลายเป็นว่าในท่ามกลางสังคมที่หลากปัญหาและไม่อาจพึ่งปัญญาจากมหาวิทยาลัยได้ แต่มหาวิทยาลัยกลับหมกมุ่นอยู่กับการแข่งขันเทียม ๆ ต่างพุ่งไปข้างหน้าด้วยดวงตาจับจ้องจุดหมายปลายทางที่ไกลห่างจากทุกข์ของสังคมมากขึ้นทุกที

 

แท้ที่จริงมหาวิทยาลัยจะอยู่รอดได้อย่างมีคุณค่า จำเป็นต้องตั้งโจทย์ให้ถูกต้อง และสร้าง "การแข่งขันแท้" นั่นคือ ต้องเอาปัญหาของมนุษย์ สังคม ธรรมชาติ หรือโลกตั้งเป็นโจทย์และแข่งขันกันพัฒนาความรู้ความสามารถ ทักษะ อาชีพที่เท่าทันความก้าวหน้าของตลาดงานปัญญา คุณธรรม ของผู้เีรียน สร้างสรรค์องค์ความรู้และภูมิปัญญาเพื่อขับเคลื่อนสังคมและโลกไปสู่ความเป็นธรรมและน่าอยู่มากขึ้่น

 

หากมหาวิทยาลัยตั้งโจทย์และสร้างการแข่งขันที่ยึดสังคมเป็นตัวตั้งจริง (ไม่ใช่เพียงกล่าวอ้างเป็นพิธีการ) หรือสามารถสร้างบทบาทนำใน "วัฒนธรรมการแข่งขันที่ถูกต้อง" ในโลกที่จำเป็นต้องแข่งขัน ปัญหาเรื่องการขาดแคลนลูกค้าและความโหดร้ายของการแข่งขันคงไม่ทวีความรุนแรงเช่นปัจจุบัน

 

เพราะในระยะยาวสังคมย่อมอุ้มชูมหาวิทยาลัยที่ "ทำการศึกษา" เพื่อสังคม มากกว่ามหาวิทยาลัยที่มุ่ง "ทำธุรกิจการศึกษา" เพื่อตัวเอง !

 

หนังสือพิมพ์มติชน ปีที่ 31 ฉบับที่ 10908 ประจำวันที่ 21 มกราคม 2551 หน้า 10

 

ผมชอบวิธีคิดของ "อาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์หัวหิน" ... ในบทความนี้ครับ ...

ผมเคยเรียนวิชา "สารัตถวิทยา" อาจารย์สอนผมว่า "คนมีความคิดต้องรู้จักการคิดนอกกรอบ ไม่ใช่ คิดตามคนอื่น ไม่ีมีความคิดอะไรเป็นของตัวเอง"

ขอบคุณอาจารย์ครับ

 

บุญรักษา ทุกท่าน ครับ :) 

หมายเลขบันทึก: 160560เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2008 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อ่านจนเหนื่อยเลยครับ :)

เพราะโจทย์ผิด การพัฒนาบ้านเมืองถึงได้ผิดพลาดตามไปด้วย เรากำลังล้อเล่นกับอนาคตของชาติ ด้วยโจทย์การแข่งขันผิด...

มหาลัย มหาหลอก ...

ค่าหน่วยกิตแพงขึ้น (อย่างไม่น่าเชื่อ) แล้วอย่างนี้คนจนๆจะเข้าถึงได้ยังไง...

ฮัลโล ๆ คุณเอก ...

  • สวัสดีครับ เขียนมาจากที่ไหนครับนี่ :)
  • ใช่ครับ ... กระแสเศรษฐกิจทุนนิยมที่รุนแรง ทำให้ประเด็นในการวิเคราะห์การก้าวเดินของมหาวิทยาลัยหลงทิศทางครับ ผมแค่ครูน้อย ... ไม้ซีกที่อยู่งัดไม้ซุงไม่ไหว ครับ ขนาดเอามางัดที่ Gotoknow ยังแทบแย่ ครับ :)
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกนอกระบบแล้ว รอเพียงแต่ให้นักศึกษาที่มีค่าหน่วยกิตปัจจุบันจบไปก่อน หลังจากมีการคาดการณ์ว่า น่าจะมีการขึ้นหน่วยกิตอีกระลอกครับ คนจนเรียนไม่ได้แน่ครับ ทุน กยศ. ไม่ได้ช่วยค่าอยู่กินในเมืองใหญ่นะครับ
  • ทำให้กระแสนักศึกษากำลังพัดเข้ามามหาวิทยาลัยที่มีค่าหน่วยกิตน้อยกว่าอย่างมหาวิทยาลัยแห่งท้องถิ่น ผมกำลังรอดูกระแสครับ
  • แต่สงสารเด็กแน่ ๆ ล่ะงานนี้

ขอบคุณมากครับ คุณเอก ... มีความสุขครับ :)

สวัสดีครับคุณ Wasawat Deemarn 

  • ขอบคุณมากที่นำเสนอบทความดี ๆ ครับ
  • เป็นบทความที่ให้ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจดีมากครับ
  • ..การเอาสังคมเป็นตัวตั้ง.. เป็นคำตอบที่น่าสนใจมากครับ
  • ในระบบทุนนิยม ถ้าสิ่งใดมีเงินเป็นแรงจูงใจ สิ่งนั้นจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้บริหารหลายคนเชื่อและบริหารอย่างนั้น
  • นานมาแล้วได้นั้งคุยกับเพื่อนชาวเวียตนาม (เขาทำงานให้ Net Nam เป็น ISP ของเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในเวียตนาม) อยู่ในบรรยากาศนานาชาติในประเทศที่เป็นกลาง (ตอนนั้นยังไม่เมาไวน์) ผมถามว่า เขาคิดอย่างไร ระหว่างประชาธิปไตย กับ คอมมิวนิสต์ เขาตอบว่า ..ไม่ดีหรือที่คน ๆ หนึ่งทำเผื่อคนอีกหลายคน..เวลาผ่านไปหลายปี ผมวิเคราะห์เล่น ๆ ตามข้อมูลที่มี เวียตนามจะหันซ้ายหันขวาได้ดีไทย เพราะถ้าโครงการใด รัฐเห็นด้วย ทุกอย่างจะไปได้สวยและรวดเร็ว ต่างจากไทย ที่เราโครงการใด ๆ จะหลากหลายกว่า (ผมไม่ได้ฟันธงว่าในระยะยาวแบบใดดีกว่า) ตอนนั้นผมมองว่า ในทางเศรษฐกิจ เวียตนาม คงสู้ไทยลำบาก เพราะว่า
    1. ทุกอย่างรวมเป็นหนึ่ง คือรัฐ ความคิดเห็นต้องเป็นหนึ่งเดียว ไปทางเดียวกัน มันก็เหมือนบริษัทหนึ่งบริษัท คือ บริษัทรัฐ แต่เมืองไทย เรามีความหลากหลาย ยกตัวอย่าง บริษัทมือถือ เป็นต้น ไทยจะไปเติบโตอย่างรวดเร็วมาก (ไม่ได้วิเคราะห์ผลกระทบด้านอื่น ๆ นะครับ)

    2. ความเป็นหนึ่งเดียว ไม่หลากหลาย มันจะสร้างวัฒนธรรมที่อ่อนแอในระยะยาว

แค่นี้ก่อนนะครับ มันจะเกินงาม

 

 

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์นิโรธ

  • ยินดีนักครับที่ท่านมาให้ความคิดเห็น
  • การคิดนอกกรอบ มักจะไม่เป็นการยอมรับในหลักการและทฤษฎีในปัจจุบันครับ แต่อาจจะได้รับการยอมรับอีก 50 ปี ต่อมาก็เป็นได้ครับ เมื่อเรารู้ตัวว่า ทางที่เลือกเดินมานาน มันไม่จีรัง ยั่งยืน (เปรียบเปรยครับ)
  • มหาวิทยาลัยบ้านเรามีกว่า 160 แห่งนะครับ เอาเป็นมหาวิทยาลัยที่เลือกทำเพื่อสังคมจริง ๆ สักกี่แห่งก็ไม่ทราบ
  • ผู้บริหารชอบให้ประชาคมตอบคำถามเดียวคือ "ทำอย่างไรมหาวิทยาลัยจะอยู่รอด"
  • คำว่า อยู่รอด ตีความอย่างไร ก็หันไปมองแต่ "นิสิต นักศึกษา" เท่านั้นแหละครับ เรื่องอื่นไม่ยอมมองแฮะ แปลกแต่จริง
  • ท่านอาจารย์นิโรธ ... ไม่มีอะไรเกินงามครับผม
  • ยินดีทุกเมื่อที่ท่านมาครับ
ขอบพระคุณครับ :)

"มหาวิทยาลัยกำลังหลงทาง"  เพราะตั้งโจทย์การแข่งขันผิด เห็นด้วยที่อาจารย์นำบทความนี้มาแสดงความคิดเห็นกัน
แต่ละมหาวิทยาลัย มีเอกลักษณ์ ในเชิงพื้นที่ ในเชิงวัฒนธรรม ในบริบท ที่มหาวิทยาลัยนั้นตั้งอยู่ ทำไมไม่สร้างเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย และวิชาการที่เด่นชัด ออกมา แทนที่จะแย่งกันเปิดหลักสูตรแบบเดียวๆ กัน  บางที่เก่งการเกษตรที่สูง ก็ให้ทำการเรียนการสอนวิจัยในเรื่องพืชที่สูงไปสิ  จะเกิดความเชี่ยวชาญชำนาญทีเดียว เทคโนโลยีการยาง (ที่ม.อ.) การประมงและชายฝั่ง (มหาวิทยาลัยที่ติดทะเล)
แล้วก็ส่งเสริมกันให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ ฟื้นฟูเอกลักษณ์ จากทรัพยากรของไทยและเอเชียที่เรามีอยู่นี่แหละ ^^

เห็นด้วยกับอาจารย์ ครูgisชนบท ต่อด้วยครับ อิ อิ

อัตลักษณ์ เป็นความสำคัญเหลือเกิน ไม่ควรมีมหาวิทยาลัยในประเทศแห่งนี้มานั่งเป็นคู่แข่งกัน

เพราะ "เงิน" ตัวเดียวหรือเปล่าครับเนี่ย

ขอบคุณครับอาจารย์ ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท