ชีวิตที่พอเพียง : 143. ความจำเลวทำให้มีความสุข


         ผมเป็นคนที่ความจำไม่ดีและดีพร้อมๆ กัน      ภรรยาบอกว่าผมเป็นคนที่เลือกจำ     แต่ผมว่าผมทำเช่นนั้นไม่เป็น หรือถ้าทำได้ก็เป็นทักษะแบบที่ไม่รู้ตัว

         สิ่งหนึ่งที่ผมแปลกใจมากที่ผมจำไม่ได้ชัด จำได้เพียงรางๆ และจำตัวบุคคลหรือชื่อคนไม่ได้     คือเรื่องความเจ็บใจ หรือแค้นใจ   ในชีวิตคนเรา ย่อมถูกกระทำ ในลักษณะถูกแกล้งให้เสียหน้า     ถูกแกล้งให้โดนอาจารย์ดุ     ถูกดูถูกที่เราเงอะๆ งะๆ ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรในสถานการณ์นั้น

        สมัยเป็น นศพ. (นักศึกษาแพทย์) เราถูกพยาบาลดุหรือแกล้งเสมอ     ยิ่ง นศพ. ผู้หญิงยิ่งโดนบ่อย     นศพ. ผู้ชายบางคนปล่อยเสน่ห์เก่งก็รอดตัวไป     บางหน่วยงานมีชื่อเสีย(ง) เป็นพิเศษ    เช่น (โออาร์) ห้องผ่าตัด     และผมก็โดนเข้าอย่างจัง   ทำให้ผมรู้สึกเสียหน้ามาก และเจ็บใจมาก    ตอนนั้นถึงกับคิดอาฆาตแค้นทีเดียว

         แต่แปลกนะครับ     การถูก "ทรีต" (treat = ปฏิบัติต่อแบบดูถูก) แบบนี้มันเปลี่ยนแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือชั่วข้ามคืนเมื่อเราเปลี่ยนสภาพเป็นอินเทิร์น     ผมยังแปลกใจไม่หายมาจนบัดนี้      และทำให้ผมได้เรียนรู้สภาพ "ชั่วคราว และไม่ใช่ของแท้" ของการถูก "ทรีต"      ผมมาคิดได้ทีหลังว่า ที่ผมโดนดุ แบบทำให้เสียหน้านั้น ก็น่าจะสมควรอยู่     เพราะผมซุ่มซ่ามจริงๆ     และคนที่ดุผมเขาก็ดุด้วยความมีอารมณ์กังวล เพราะเกรงว่าคนไข้จะติดเชื้อจากการปฏิบัติผิดระเบียบห้องผ่าตัด     หรือผิดระเบียบวิธีทางการแพทย์

        พอเรามองเรื่องที่เราถูกทำให้เสียหน้า ด้วยมุมมองของผู้อื่น     เราก็จะลด หรือหมดความรู้สึกเคียดแค้นอาฆาต     ผมอาจจะโชคดี ที่หัดมองเรื่องราวต่างๆ จากหลายมุมมองได้    บางมุมมองก็ช่วยให้เรามองตัวเองด้วยอารมณ์ขัน    ซึ่งช่วยลดความรู้สึก "จำไว้นะมึง" หรือ "ฝากไว้ก่อนเถอะ   รอให้ถึงวันของกูบ้าง"     เมื่อเรามีกลไก ที่ช่วยให้ไม่จำเรื่องด้านลบ     เราก็มีความสุขง่ายขึ้น

       ผมโชคดีกว่านั้นอีก    ผมมีความจำไม่ดีเป็นธรรมชาติประจำตัว     ทำให้ยิ่งไม่จำเรื่องด้านลบ     เพราะต้องสงวนสมองไว้จำเรื่องดีๆ     เมื่อไม่จำเรื่องด้านลบ     เราก็มีความสุขง่ายขึ้น    หรืออย่างน้อยๆ ก็ไม่จมอยู่ในกองทุกข์

วิจารณ์ พานิช
๑๗ ตค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 55910เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2006 09:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • ค่ะ ความจำในด้านลบ เป็นขยะในสมอง
  • แต่บางส่วน บางอย่าง ความจำในด้านลบ เป็นเสมือนข้อเตือนใจ ว่าหากเป็นอย่างนี้ เราต้องหลีกเลี่ยง ไม่ควรจำเอาไว้อาฆาตแค้น
  • ขอบคุณข้อคิดแสนดี เป็นหนทางหลีกเลี่ยงความทุกข์ค่ะ

อ่านแล้วคิดถึง "หนังสือ ...วิชาตัวเบา" ของคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ค่ะ ท่านเล่าว่า ท่านเป็นคน "โชคดีจัง...ที่เป็นคนขี้ลืม"  จำไม่ได้แบบอัตโนมัติเหมือนกันค่ะ   เมื่อไม่เก็บทุกข์ไว้ ก็ตัวเบา..ดีนะคะ

แต่ถ้า...."ไม่จำโดยอัตโนมัติ"..มันไม่เกิด ก็คงต้องพยายามฝึกปฏิบัติ "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" หรือ "มองด้วยมุมมองของผู้อื่น" อย่างที่อาจารย์เล่าให้มาก จน.."สามารถมองด้วย...มุมมองของผู้อื่นโดยอัตโนมัติ"   ใช่มั๊ยคะ  : )

     โดยส่วนตัวเป็นคนขี้ลืมอย่างหนักค่ะ  เคยสงสัยตัวเองเหมือนกันค่ะว่าสมองส่วนที่เกี่ยวกับความจำของเราไม่ค่อยจะดีรึเปล่าค่ะ  เดี๋ยวนี้จึงต้องเตือนตนให้มีสติอยู่เสมอ  พบเจออะไรจะต้องรีบจดไม่ค่อยหวังความจำของตัวเองค่ะ 

     ที่สำคัญถ้าเจอเรื่องไม่ดีไม่เคยเสียเวลาจดซักทีเลยไม่ต้องไปคิดถึงมันซ้ำสองปล่อยให้ผ่านไป  หรือเก็บไว้แค่เป็นบทเรียนเตือนตนค่ะ

     ด้วยความเคารพค่ะ

ตามหลักจิตวิทยาแล้ว

ผู้ที่มีประวัติถูกกระทำ มักจะไปกระทำกับบุคคลอื่น

ต้องระวังครับ บางทีเรานึกว่าลืมไปแล้ว แต่มันไปฝังอยู่จิตใต้สำนึกโดยที่เราไม่รู้ตัว พอเวลาล่วงเลยมา เราก็อาวุโสเกินกว่าที่ใครจะมาเตือน

ดิฉันจะสงสารคนที่คิดไม่ดีกับเราค่ะถ้าเรามั่นใจในความถูกต้องของตัวเองทำให้ไม่ค่อยโกรธและจำค่ะ
ผมก็เป็นคนที่ลืมง่าย แต่บางเรื่องจำเป็นต้องจำ และคิดว่าจะต้องนำมาใช้อีก เมื่อก่อนนี้ผมจะจดใน สมุดบันทึกเล่มเล็ก ๆ พกเป็นประจำมีทั้งเล่มเล็กเล่มใหญ่ ไปประชุม ไปเที่ยว ก็ติดตัวตลอดมีปัญหาที่เวลาใช้ไปนาน ๆ สภาพของสมุดบันทึกก็ไม่น่าดู ค้นหาสิ่งที่เราต้องการก็ยาก จะค้นหาข้อมูลข้ามปีก็ยาก ผมก็เลยเปลี่ยนเป็นการบันทึกโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ก็ใช้ Palm ต่อมาก็เปลี่ยนเป็น Pocket
ผมก็เป็นคนที่ลืมง่าย แต่บางเรื่องจำเป็นต้องจำ และคิดว่าจะต้องนำมาใช้อีก เมื่อก่อนนี้ผมจะจดใน สมุดบันทึกเล่มเล็ก ๆ พกเป็นประจำมีทั้งเล่มเล็กเล่มใหญ่ ไปประชุม ไปเที่ยว ก็ติดตัวตลอดมีปัญหาที่เวลาใช้ไปนาน ๆ สภาพของสมุดบันทึกก็ไม่น่าดู ค้นหาสิ่งที่เราต้องการก็ยาก จะค้นหาข้อมูลข้ามปีก็ยาก ผมก็เลยเปลี่ยนเป็นการบันทึกโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ก็ใช้ Palm ต่อมาก็เปลี่ยนเป็น Pocket PC ปัญหาต่าง ๆ ก็หมดไป ค้นหาข้อมูลก็ง่ายและรวดเร็วกว่าหลายเท่า เพราะการทำงานจะเหมือนกับการใช้ Computer ทั่วไป สำหรับการบันทึกนั้นทำเป็นปกติ ทำเป็นประจำอยู่แล้ว แถมยังมีเครื่องช่วยอีกมากมายเช่นการคัดลอกข้อความ การติดต่อกับฐานข้อมูลอีเลคทรอนิคส์อื่น ๆ การท่องอินเทอร์เนต แถมยังใช้เป็นโทรศัพท์ได้อีกด้วย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท