ชีวิตที่พอเพียง : ๑๓๓๓. สุขสดชื่นไปกับการเดินทางของ R2R ประเทศไทย


          เช้าวันที่ ๑๙ ส.ค. ๕๔ ผมนั่งฟังและร่วมเสวนาในเวที ลปรร. เพื่อเขียนคู่มือ R2R ด้วยความสุข
 
 
          ผมค่อยๆ เห็น “รอยเท้า” ของการเดินทางของ R2R ประเทศไทยชัดเจนขึ้น  เป็นรอยเท้าที่แสดงความก้าวหน้า   เป็นความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่   ที่จะส่งผลดีต่อวงการสุขภาพ   เชื่อได้ว่าจะก่อผลดีต่อคนไทย อย่างมหาศาล
 
 
          R2R ได้ช่วยลบภาพมายาของคำว่า “วิจัย” ที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องยาก   เป็นกิจของนักวิชาการ หรือคนที่มีปริญญาสูงเท่านั้น   เปลี่ยนเป็นกิจของคนทำงานหน้างานทุกคน   เป็นเรื่องที่ทำได้จากโจทย์เพื่อการพัฒนางานประจำ
 
 
          การริเริ่มสร้างสรรค์วิธีการจัดการของสำนักงาน R2R ศิริราช  นำไปสู่ Collective R2R  ก้าวหน้าจากเดิมผลงาน R2R มักเป็นผลงานของบุคคลหรือปัจเจก (Individual R2R)  มาเป็นว่า เราก้าวหน้าขึ้นมามี R2R แบบทีมคู่ขนานกับ R2R แบบปัจเจก
 
 
          โจทย์ของงานวิจัย R2R แบบทีม มาจากการรวบรวมปัญหาจากงานประจำ  เอามาคิดโจทย์วิจัยเพื่อพัฒนางาน ที่ทำกันเป็นทีม ข้ามวิชาชีพ ข้ามสายงาน   โดยมีทรัพยากรสนับสนุนจากฝ่ายบริหารโดยอัตโนมัติ 
 
 
          ผมได้เห็นการเดินทางหรือการเปลี่ยนแปลงด้านการพัฒนาคน (HRD)  จากกระบวนทัศน์ พัฒนาคนด้วยการฝึกอบรม (Training-Oriented HRD)   เปลี่ยนมาเป็นพัฒนาคนด้วยการเรียนรู้ในงานประจำ โดยมี R2R เป็นเครื่องมือของการเรียนรู้   การพัฒนาคนเปลี่ยนเป็น Learning-Oriented HRD   คือ HRD เปลี่ยนจากเน้น training มาเป็นเน้น learning  และ learning ที่สำคัญที่สุดคือ การเรียนรู้เรื่องคุณค่าของความเป็นมนุษย์
 
          เราได้เข้าใจว่าธรรมชาติของ R2R อยู่กับความไม่เป็นทางการ   แต่ก็ใช้ความเป็นทางการมาหนุน   โดยที่ต้องรู้เท่าทันว่า ความสัมพันธ์กับความเป็นทางการนั้น ต้องระมัดระวังการครอบงำด้วยอำนาจและโลภะ   พลังของ R2R เคลื่อนด้วยใจ ด้วยคุณค่า   อย่าหลงการหลอกล่อโลภะด้วยสินจ้างรางวัล
 
           ผมตีความว่า การประชุมวันครึ่งในครั้งนี้ เป็นการชุมนุม ลปรร. การเดินทาง R2R ประเทศไทย  ของ “ครอบครัว” R2R  เป็นการประชุมที่ให้ความรู้สูงยิ่ง   เพราะทุกคนพูดออกมาจากประสบการณ์ตรง และพูดออกมาจากใจ จากมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน 

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๙ ก.ย. ๕๔

         
        
 
หมายเลขบันทึก: 460721เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2011 09:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนรู้คุณค่าความเป็นมนุษย์
คือที่สุดเป้าหมาย R2R
นอกเหนือจากนั้นคือมายา
หลงหาคุณค่าความหมาย...ไม่จริง

เรียนท่าน ศ.ดร.วิจารณ์ พานิช ที่นับถือ

         กระผมมีประเด็นคำถามที่ขอความอนุเคราะห์จากท่านดังนี้

หัวข้อคำถาม หากต้องการนำR2Rเข้าสู่โรงเรียน ควรดำเนินการอย่างไร

รายละเอียดคำถาม ได้ศึกษาเรียนรู้ การใช้ R2R การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยของวงการแพทย์แล้วมีความสนใจที่อยากจะเรียนรู้เพื่อปรับใช้ในสถานศึกษา เนื่องจากว่าการทำงานของสถานศึกษาแต่ละงานที่เป็นงานประจำนอกจากงานสอนปกติซึ่งมีการใช้วิจัยในชั้นเรียน CAR (Classroom action research)แล้วยังมีงานที่ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนานักเรียนที่นิยมแบ่งกลุ่มงานเป็น 4 กลุ่มงาน คือ วิชาการ งบประมาณ งานบุคคล และงานทั่วไป ซึ่งพบว่าในบางครั้งการบริหารงานเหล่านี้ยังมีการขับเคลื่อนที่ไม่ส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนเท่าที่ควร ดังนั้นการนำ R2R ไปปรับประยุกต์น่าจะเกิดประโยชน์ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้โดยใช้ฐานความคิดที่มาจากวิจัย.. จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์จากท่านช่วยให้แนวคิดและรายละเอียดเพื่อจะได้นำไปปฏิบัติต่อไป...

                                             ด้วยความเคารพอย่างสูง

                                                  เสน่ห์ สายต่างใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท