ICT. กับการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง


มาถึงก็ก้มหน้าก้มตาจิ้มๆไปที่คีบอร์ดแบบเลอะเทอะไม่ง้อระบบการทำงานของเครื่อง ..ต่อให้วิทยาการทันสมัยแค่ไหนก็ตาม ถ้าคนใช้เป็นพวกหลังเขาอย่างผม มันไปด้วยกันไม่ได้ คอมพิวเตอร์เครื่องแรกจึงพังต่อหน้าต่อตา

ICT. กับการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง

     นิตยสาร "ไทม์ " รายสัปดาห์ที่ทรงอิทธิพลในอเมริกา ได้ประกาศให้ยกย่องบุคคลแห่งปีให้ YOU หรือ “คุณ” แทนที่จะยกย่องคนหนึ่งคนใด ปีนี้เขายกทั้งโขยงให้ชาว IT.ทั้งหลาย ที่เป็นทั้งผู้ใช้และผู้สร้างเว็ปไซต์ในอินเตอร์เน็ททั่วโลก เป็นบุคคลแห่งปี

    นับตั้งแต่ปีค.ศ.2000-2600 มีประชากรเน็ตเพิ่มขึ้นถึง200เปอร์เซ็นต์ ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีประชากรชาวเน็ตทั่วโลก 1,076 ล้านคน จากประชากรโลก 6,500 ล้านคน อันดับหนึ่งชาวเน็ตเอเชียมีจำนวน 378 ล้านคน ในจำนวนนี้เขานับรวมชาวเน็ทKM.ไว้ด้วยอย่างแน่นอน ดังนั้นท่านพันธมิตรชาวบล็อกKM.ทั้งหลายจงรับรู้เถิดว่า..ท่านนั้นเป็นบุคคลแห่งปีของนิตสาร “ไทม์ “ ไปแล้วละจ้า

   พูดถึงเรื่องเน็ตกับคนบ้านนอกคอกนาอย่างผมนั้น เรื่องICT.ดูเหมือนจะออเร่อไปก็เป็นได้ แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบของใหม่ จึงสนใจเรื่องคอมพิวเตอร์อย่างมาก

   เมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว ช่วงที่ได้ทำโครงการโรงเรียนชุมชนอีสาน ร่วมกับสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาของท่าน อาจารย์ใหญ่ ศ.เสน่ห์ จามริก ในสมัยนั้นเครื่องมือสื่อสารด้านเทคโนโลยีเพิ่งจะโผล่หน้าเข้ามา นึกออกไหมครับ

  • โทรศัพท์แบบกล่องอาหารกลางวันของเด็ก

  • กล้องถ่ายรูปแบบดิจิตอลเพิ่งจะเข้ามา

  • เครื่องพริ้นเตอร์ราคาเป็นแสน

  • ใช้เครื่องฉายสไลน์ ที่ใช้สไลด์เป็นแผ่นๆ

  • คอมพิวเตอร์ยังแพงและโปรแกรมต่างๆยังทึนทึก

   ทุกอย่างแพง เทอะทะ ใช้ยาก แต่เพราะความคันเทคโนโลยี ผมจึงไปซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ขนมาจากกรุงเทพฯ มาถึงก็ลองเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีหรอกที่จะไปซื้อคู่มือมาอ่าน หรือไปเข้าอบรมเรียนลัดเรื่องนี้ มาถึงก็ก้มหน้าก้มตาจิ้มๆไปที่คีบอร์ดแบบเลอะเทอะไม่ง้อระบบการทำงานของเครื่อง ..ต่อให้วิทยาการทันสมัยแค่ไหนก็ตาม ถ้าคนใช้เป็นพวกหลังเขาอย่างผม มันไปด้วยกันไม่ได้ คอมพิวเตอร์เครื่องแรกจึงพังต่อหน้าต่อตา เพราะไม่รู้แม้แต่การจะเปิด-ปิดว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ผมยกเครื่องไปให้ร้านที่กรุงเทพฯดู เขาบอกว่าอย่าซ่อมเลย มันไม่ใช่คอมพิวเตอร์แล้ว มันเป็นคอมพิวต๋อย!

   สุดท้ายก็ยกเอาเครื่องใหม่มาอีกเครื่องหนึ่ง คราวนี้มีประสบการณ์แล้วละครับ วิ่งถามคนโน้นคนนี้ให้เขาสอนวิธีการใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้น ค่อยฝึกค่อยเรียน บังเอิญว่าช่วงนั้น ดร.สรยุทธ รัตนพจนาถ (เอเชีย) มาอยู่โยงทำวิทยานิพนธ์ที่นี่ 2 ปี  ก็พอได้อาศัยไปถามกล้อมแกล้มเรียนรู้ ไม่ใช่แบบพึ่งตนเองนะครับ เพราะตนเองไม่มีอะไรจะให้พึ่งได้เลย คงเรียกว่าถูไถไปอย่างทรหด

     ช่วงที่ทำโครงการโรงเรียนชุมชนอีสาน นับเป็นความโชคดีมหาศาลที่อาจารย์นฤมล ปราชญ์โยธิน จากคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ พานักศึกษาปริญญาโทมาทำระบบสารสนเทศท้องถิ่น ผมได้เรียนรู้ศาสตร์ใหม่ๆว่าด้วยระบบข้อมูลชุมชนจากจอมยุทธสารสนเทศ

 

   

     ในปี ค.ศ.2001 ธนาคารโลกจัดประกวดในหัวข้อเรื่อง

     “การใช้ICT.พัฒนาชนบท”

      มหาชีวาลัยอีสานส่งโครงการเข้าประกวด ในหัวข้อ “ระบบสารสนเทศท้องถิ่นอีสาน” มีผู้ร่วมประกวดประมาณ 100 คนทั่วประเทศ วันประกาศผลการประกวดที่โรงแรมแชงกีรา ฯพณฯนายอนันท์ ปัญยารชุณประธานในพิธี ประกาศชื่อโครงการระบบสารสนเทศท้องถิ่นอีสาน ไปรับรางวัล ผลที่ได้จากรางวัลครั้งนั้น ทำให้ผมมีเครื่องมือในการทำงาน เช่น โน้ตบุกส์ เครื่องฉาย LCD. กล้องถ่ายรูป

   แต่กว่าจะเอาเงินรางวัลไปซื้อของพวกนี้ได้ เราต้องต่อรองกับสถาบันคีนันแห่งเอเชีย เพราะเขาต้องการให้ใช้เงินในการฝึกอบรมมากกว่า แต่ด้วยเหตุผลที่ว่า คนทำงานต้องมีเครื่องมือในการทำงานบ้าง จะให้ใช้น้ำลายกับกำปั้นเป็นอุปกรณ์พัฒนาคงไม่ไหวละครับ มันจะกลายเป็นพวกตกยุคไป

       หลังจากนั้นชาวมหาชีวาลัยก็เรียนรู้เรื่อง ICT.นอกระบบเรื่อยมา จนกระทั้งมาทำงานโครงการจัดการความรู้ระดับชุมชน ทำให้เรามีโอกาสพัฒนาอุปกรณ์ได้ในระดับที่พอทำงานได้สะดวกขึ้น เช่น ติดตั้งจานดาวเทียม ดึงสายโทรศัพท์จากหมู่บ้านเข้ามาเป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร ช่วงนี้ติดตั้งไวเลส เพื่อการฝึกอบรมเรื่องการใช้บล็อก ตอนนี้เรามีนักบล็อกที่ผ่านการอบรมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย หลายคนกำลังท่องวิทยายุทธ์อย่างสนุก

    ท่านอาจารย์ใหญ่ น.พ.วิจารณ์ พานิช ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า มหาชีวาลัยอีสานควรจะทำแผนงาน ICT.เศรษฐกิจพอเพียง โดยประสานงานกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำระบบการสื่อสารโทรนาคมมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชนบท เรื่องนี้มหาชีวาลัยพยายามขายความคิดไปที่

• กระทรวงศึกษาธิการ

  • กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • • สำนักงานประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา (สมศ.)

    • คุรุสภา

    • เครือข่ายพันธมิตรวิชาการ

    • นักจรยุทธทางเน็ต

        ในการที่จะนำระบบบล็อกที่ชาวKM.ดำเนินการอยู่นี้ ไปเป็นเครื่องมือในการพัฒนา/วัด/ประเมินผลระบบการศึกษาและการพัฒนาสังคม ท่านอาจารย์คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ได้คุยเรื่องนี้ในที่ประชุมสภาการศึกษาแห่งชาติ ว่าจะเปิดเว๊ปไซด์ให้ชาวศึกษาธิการได้สื่อสารเพื่อการพัฒนาระบบการศึกษา ส่วน (สมศ.) ถ้าเอาระบบบล็อกเข้าไปช่วยในการวัดประเมินผล จะช่วยให้ระบบการประเมินการศึกษาแบบมีส่วนร่วม แต่ก็ไม่ทราบว่าท่านเจ้าสำนักรับลูกแค่ไหนอย่างไร แต่ที่แน่ๆคุรุสภา ทำน่าว่าจะเอาจริงกับเรื่องนี้ คุณกรรณิการ์ บารมี มาหารือแล้วเห็นว่าน่าจะลองทำอะไรใหม่ๆกันบ้าง ไม่แน่นะครับนวัตกรรมเรื่องบล็อกอาจจะตั้งไข่ได้ที่คุรุสภาเป็นแห่งแรกก็ได้ ..ถ้าฟ้าสีทองผ่องอำไพ..วันใด จะส่งข่าวให้ชาวบล็อกKM.ไปช่วยเติมเต็มความรู้ร่วมกันให้ระเบิดเทิดเทิงดีไหมครับ.

       จากโจทย์ที่ท่านอาจารย์ใหญ่ชี้แนะเรื่อง ICT.เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องนี้เรามีแผนงานเชิงรุกไว้แล้วครับ เท่าที่เข้ามาสู่สนามบล็อกในช่วงสั้นๆ ก็พบว่าที่เรื่องบล็อกไม่ขยายเท่าที่ควร เป็นเพราะระบบการใช้การเข้าถึงยังต้องใช้ความรู้ความตั้งใจพอสมควร ทำให้คนเป็นโรคขยาดIT.จะแหยงและไม่อยากยุ่ง

      มีวิธีเดียวที่จะช่วยกันขยายผลก็คือการจัดฝึกอบรมการใช้อินเตอร์เน็ต ให้คนที่เรียนรู้แล้วไปสอนต่อคนใกล้ตัวไปเรื่อยๆ จะทำให้พลเมืองชาวบล็อกKM.แพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว เราจึงบรรจุการฝึกอบรมเรื่องนี้ไว้ในตารางกิจกรรมเสริมสภาพพร่องความรู้ของมหาชีวาลัยอีสาน

       ในการดำเนินการในระยะที่ 2 เราจะใช้ระบบบล็อกเป็นเครื่องมือในการพัฒนากิจกรรมและติดตามผลอย่างเต็มที่ ท่านอาจารย์ใหญ่และคณะ ส.ค.ส. โปรดตามเรื่องได้ทุกฝีก้าว รวมทั้งชาวบล็อกKM.ทุกท่านด้วยนะครับ ขอเชิญชวนมาให้คำแนะนำ หรือถ่ายเทความรู้ระหว่างกันได้ไม่อั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป.

    หมายเลขบันทึก: 68922เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2006 07:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (10)
    ความน่ากังวลประการหนึ่งถ้าคิดเรื่อง ICT กับเศรษฐกิจพอเพียง  คือผู้คนส่วนหนึ่งจะเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  แบบผิวเผิน  ถ้าบังเอิญเข้าใจICT แบบผิวเผินด้วยก็จะไปกันใหญ่ นับว่าเป็นภารกิจสำคัญของนักบริหารการศึกษาและครูไทยทั้งประเทศต้องขานรับเพราะนี่คือ   การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงความรู้ในท้องถิ่นกับความรู้สากล อีกรูปแบบหนึ่ง หรือครูทั้งหลายจะนอนฝันหวานเรื่องอะไร

     

       ถ้าไม่ให้ICT.และเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงผิวเผิน

       ทำให้มันเป็นเรื่องตำเข้าไปในหัวใจ

       จะได้ไหม  ใครคิดได้มารับไข่ขี้เกี้ยม

    ขอขอบพระคุณอาจารย์ครูบา สุทธินันท์...

    • ขอแสดงความยินดีกับอาจารย์ ชาว Go2know และมหาชีวาลัยอีสานที่ได้เป็นบุคคลแห่งปีจากนิตยสารไทม์
    • ขอขอบพระคุณอีกครั้งหนึ่ง...

      

       ลางบอกเหตุที่สังเกตุจาก "ไทม์" ผมคิดว่าสังคมโลกเริ่มให้ความสำคัญงานส่วนรวม มากขึ้นกว่างานปัจเจก ผม ชาวเรา และคุณหมอด้วยแหละ ที่ควรจะปรบมือให้ตนเอง ในช่วงท้ายปีใหม่นี้ 

      ขอบคุณครับ ที่ร่วมให้กำลังใจ

    • สวัสดีครับครูบาสุทธินันท์
    • ผมอ่านบล็อกครูบาเป็นประจำครับ วันนี้เลยทิ้งรอยไว้
    • ดีใจครับที่ ICT กับชาวGotoknow ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า สามารถสร้างโอกาส ความเท่าเทียมและเติมเต็มในช่องว่าระหว่างคนในหลายๆ สาขาอาชีพในสังคมบ้านเราได้
    • ดีใจที่ได้ ลปรร.(แบบไม่อั้น)ครับ

     

       ขอให้สิงห์ป่าสัก มีความสุขในการอ่าน

    ตลอดไปครับ  เรื่องขยายวงบล็อก น่าจะเป็นหน้าที่

    ของพวกเราทุกคน ช่วยๆกัน

     

    • คนส่วนมาก รวมทั้ง คุณครู ส่วนใหญ่ ยังมอง ICT เป็นเรื่อง ไกลตัว  และยังมองไม่เห็น ว่าจะเป็นเครื่องมือ ในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง และเครือข่าย ได้อย่างไร
    • ถ้า คุณครูทั้งหลาย ลอง  เปิดใจ เข้าไป ใช้ blog    GotoKnow   แล้วจะรู้คำตอบครับ

    ครูที่มอง ICT ไกลตัวนั้นเป็นครูปลอมครับ

    เพราะยุคนี้ ICT เป็นยาดำในทุกเรื่อง

    ใครไม่มี ICT ถือว่าตกยุค ตามเด็กไม่ทัน ต้องให้เด็กสอน

    แล้วยังจะกล้าเรียกตัวเองว่า "ครู" อยู่หรือครับ

    ถ้ากล้าเรียก แล้ว "ครู" จะแปลว่าอะไร

    แปลว่า "คนที่ต้องให้เด็กสอน"

    โลกจะไม่วิบัติหรือครับครู?????

     

      ประเด็นที่อาจารย์แสวงเสนอ

    ครูหลายคนยังไม่เข้าใจว่า

    ..ลูกศิษย์ที่คุณครูสอนอยู่นั้นเป็นเด็กพันธุ์ใหม่

    เด็กที่เรียนรู้จากสื่อภายนอกมากมาย

    เข้ารับรู้เข้าทุกทิศทุกทาง

    ถ้าคุณครูพันธุ์เก่า สอนไม่เข้าที่เข้าทางกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เด็กก็จะเบื่อ

    ..แต่เขาเป็นลูกศิษย์ เขาบ่นไม่ได้ เขาจะวางเฉย

    แล้วไม่สนใจครู ไม่สนใจเนื้อหา ไม่สนใจการเรียน

    ครูไม่รู้ตัวหรอกว่า ตนเองมีส่วนผลักดักให้ออกไปสู่

    โลกภายนอกที่เต็มไปด้วยสีแสงเย้ายวน

    ..ครูยุคนี้ต้องปรับกระบวนการสอนอย่างมาก ต้องเตรียมตัว เตรียมการบ้าน เตรียมตั้งรับ เตรียมรุก เพื่อร่วมเดินทางบนสายการเรียนรู้ร่วมกับเด็ก

    ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นอย่างที่อาจารย์แสวงว่าไว้ข้างบน

    แวะมาจากชายแดน มาอาสาครูบาอบรมบล็อกครับ เดือนกุมภาพันธ์ นะครับ
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท