มหัศจรรย์ของการอ่าน ... (จากคำสัมภาษณ์ของพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี)


การอ่านที่ดีเป็นการอ่านที่ไม่เชื่อสิ่งที่อ่านไปเสียทั้งหมด แต่ต้องรู้จักคิด รู้จักพิจารณา จนกระทั่งมีปัญญาเป็นของตนเอง

มีผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2548 พบว่า คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 1.59 ชั่วโมง โดยมีอัตราการอ่านหนังสือเฉลี่ย 5 เล่มต่อคนต่อปี

สี่ปีหลังจากนั้น สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ร่วมกับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการวิจัยเรื่อง "การศึกษาสถานการณ์การอ่านและดัชนีการอ่านของคนไทยในปี พ.ศ.2552" และพบว่า คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 94 นาทีต่อวัน ซึ่งหมายความถึงว่า คนไทยกำลังอ่านหนังสือน้อยลงทุกที ๆ

(ว่ากันว่า คนไทยอ่านหนังสือโดยเฉลี่ย 8 บรรทัดต่อปี)

 

ด้วยเหตุนี้ ทาง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบันจึงได้จัดตั้งโครงการ "Bangkok - World Book Capital 2013" ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่านมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดแรก เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่า ชาวกรุงเทพฯ มีศักยภาพมากพอที่จะทำให้เมืองหลวงแห่งนี้กลายเป็นมหานครแห่งการอ่านได้ภายในปี พ.ศ.2556 และคาดว่า โครงการดังกล่าวน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นดินแดนแห่งการอ่านในอนาคต

ได้มีการแต่งตั้งทูตแห่งการอ่าน 3 ท่าน ได้แก่ พระอาจารย์ ว.วชิรเมธี คุณวู้ดดี้ และน้องเดียว

ขอยกคำสัมภาษณ์บางส่วนของพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี มานำเสนอในจุดที่น่าสนใจในเรื่องการอ่าน

 


พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี

 

"การอ่านที่ดีเป็นการอ่านที่ไม่เชื่อสิ่งที่อ่านไปเสียทั้งหมด แต่ต้องรู้จักคิด รู้จักพิจารณา จนกระทั่งมีปัญญาเป็นของตนเอง"

 


พระอาจารย์มองว่าเมืองไทยในวันนี้ก้าวมาจากจุดที่คนไทยอ่านหนังสือ 8 บรรทัดต่อปีแล้วหรือยังครับ

 

ณ เวลานี้ คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเยอะมากเมื่อเทียบกับประมาณสิบปีที่แล้ว แนวโน้มก็กำลังดีขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น พระอาจารย์คิดว่า เมื่อเรามาถูกทางก็ควรขยายประเด็น เพิ่มพื้นที่ และรณรงค์ให้เกิดบรรยากาศการอ่านเพิ่มขึ้น ๆ แม้ว่ายูเนสโกอาจไม่ยอมรับ แต่เราก็ไม่ได้หยุดอยู่ที่เดิมแล้ว

 

 


แล้วพระอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรกับวัฒนธรรมการอ่านผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ไอแพด อีบุ๊ก

 

พระอาจารย์คิดว่า หัวใจสำคัญของการอ่านคือการที่คุณเห็นว่าการอ่านเป็นสิ่งสำคัญและได้รับประโยชน์จากการอ่านนั้น ๆ การรักการอ่านเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ไม่ใช่เรื่องของวัสดุ ควรแยกจากกัน เพราะโลกไม่หมุนกลับหลัง วันหนึ่งเมื่อเทคโนโลยีมาถึงเรา โลกการอ่านก็ย่อมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเช่นกัน เมื่อคุณหลงรักการอ่าน ไม่ว่าวัสดุที่ใช้อ่านจะเป็นอินเทอร์เน็ต สมุดข่อย หรือไอแพด ก็ไม่สำคัญอีกต่อไป

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ท่าทีการเสพสื่อของเรา เพราะหากเสพไม่เป็นก็จะด่าทุกสื่อ ละครโทรทัศน์ที่เลวและข่าวเน่า ๆ ก็ให้ข้อคิดที่ดีและให้สติปัญญาได้ ถ้าเราวางท่าทีการบริโภคข่าวสารข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณ จับเนื้อหาสาระจากสิ่งที่อ่านให้ได้ และได้ประโยชน์จากสิ่งนั้นจนกลายเป็นคนมีความคิดความอ่านเป็นของตนเอง ก็ถือเป็นใช้ได้

 

 


อยากให้พระอาจารย์ช่วยกรุณาแนะนำเยาวชนเรื่องการอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยครับ

 

พระอาจารย์อยากบอกว่า อย่าเชื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่อ่านพบโดยที่ยังไม่ได้ศึกษาหาความรู้จนพอเพียง เพราะบางครั้งสิ่งที่เราอ่านอาจมีวาระซ่อนเร้นของมันอยู่ เช่น ที่ "เจ้าชายน้อย" พูดว่า "สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา" ไม่ได้หมายถึงตาเนื้อ แต่ความหมายของประโยคนี้คือ ไม่อยากให้เราวินิจฉัยคนจากบุคลิกภาพภายนอก ให้รู้จักใช้วิจารณญาณ โดยคำนึงถึงเนื้อหาสาระเป็นสำคัญ ดังนั้น การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ หลักง่าย ๆ ก็คือ อย่าเชื่อทุกสิ่งที่อ่าน แต่จงคิดและพิจารณาอย่างถี่ถ้วน แล้วค่อยเชื่ออย่างมีเหตุผล ให้ถือหลักว่า ไม่ต้องศึกษา ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้

การอ่านเป็นช่องทางให้คิดอย่างเป็นระบบ มีวิจารณญาณ มีจินตนาการ มีหลักการ และถ้าให้ดีกว่านั้น อ่านเจออะไรแล้วไม่ชอบให้เถียงเลย อ่านไปถกเถียงไป ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมไปเปรียบเทียบจากฐานข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ๆ แล้ววันหนึ่งก็จะมีวิจารณญาณเพิ่มขึ้น โดยอัตโนมัติ

พระอาจารย์เชื่อมั่นว่า นอกจากการอ่าน คนรู้จักคิดได้จากการตั้งคำถาม การสังเกต การฟังอย่างพิเคราะห์จากประสบการณ์ตรงของเขาเอง เขาจะมีพุทธิปัญญาหรือศักยภาพในการคิดเพิ่มขึ้น เพียงแต่การอ่านเป็นตัวกระตุ้นให้คิดที่ง่ายที่สุด เพราะเมื่อเราบรรจุข้อมูลชุดหนึ่งเข้าไปในหัว ตัวข้อมูลชุดนั้นจะกระตุ้นให้เกิดกระบวนการทางการคิดทันที

การอ่านที่ดีจึงเป็นการอ่านที่ไม่เชื่อสิ่งที่อ่านไปเสียทั้งหมด แต่ต้องรู้จักคิด รู้จักพิจารณา จนกระทั่งมีปัญญาเป็นของตนเอง การอ่านต้องทำให้เกิดความคิด เราจึงเรียกคนที่อ่านหนังสือเยอะ ๆ ว่า เป็นคนมีความคิดความอ่าน เวลาเรากำลังอ่านงานของคนอื่นเท่ากับเรากำลังอ่านความคิดของเขา หากเราคิดได้จากการอ่านงานของเขา ก็ถือว่าเรามีความอ่านแล้ว วันหนึ่งเราอาจจะมีข้อเขียนของตนเองผ่านปลายปากกา หรือผ่านข้อคิดความเห็นของเราในแบบที่เป็นตัวของเราเอง นั่นแหละถือว่า บรรลุวัตถุประสงค์ของการอ่านแล้ว เพราะ...

วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการอ่าน ก็คือ เพื่อให้มีความคิดความอ่านเป็นของตัวเอง

 

.........................................................................................................................................

 

"การอ่านแล้วอย่าเพิ่งเชื่อ" เป็นหลักแห่งกาลามสูตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อ่านแล้วใช้ความคิดพิจารณาถึงเหตุ ปัจจัย ที่มาของเหตุ ผลที่เกิดจากเหตุ

การอ่านในที่นี้ หมายถึง อ่านผ่านจากทุกช่องทางสื่อ รวมทั้ง การอ่านบันทึกในบล็อกต่าง ๆ ของ gotoknow ด้วย

นั่นแน่ ! ท่านอย่าเพิ่งเชื่อบทความนี้ จงไปพิเคราะห์ พิจารณาเสียก่อน ;)...

 

บุญรักษา ทุกท่าน ;)... 


.........................................................................................................................................

ขอขอบคุณ ...

พีรภัทร  โพธิสารัตนะ.  "3 ทูตแห่งการอ่าน", Secret.  4, 76 (26 สิงหาคม 2554) : หน้า 24 - 26.

 

หมายเลขบันทึก: 457955เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2011 01:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

http://www.gotoknow.org/journals/entries/95897

"ดิฉันละภาพของผู้พัฒนาและหันมาพิจารณาปัจจัยต่างๆ ของ GotoKnow ที่ที่ทำให้ดิฉันรักการอ่านมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะด้วยเนื้อหาโดยส่วนใหญ่เป็นไปในแนวทางที่ชื่นชอบค่ะ คือเห็นการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ช่วยกันคนละไม้ละมือให้แก่สังคม และอัดแน่นไปด้วยประสบการณ์ความรู้สิ่งที่ได้ผ่านพบหรือร่วมทำด้วยตัวผู้เขียนเอง"

ขอบคุณค่ะอาจารย์วัส ​:)

ในหนังสือประวัติของ โทมัส เอดิสัน เขียนไว้ว่า ตอนเอดิสันอ่านหนังสือนั้น "แทบไม่มีบรรทัดไหน ที่เขาไม่อยากพิสูจน์ให้รู้จริงเลย.."

เคยชอบเอดิสันมาก ฮีโร่ในดวงใจ

แต่..อกหัก ที่มารู้ทีหลังว่า เอดิสัน ก็มีมุมมืดแบบนักธุรกิจเหมือนกัน

ฝากทิ้งท้ายคะ..

บทความวิจัย มีความน่าเชื่อถือ ก็เพราะบอกให้อย่าเพิ่งเชื่อ นี่แหละ

"หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน (และผลงาน)"

การอย่าเพิ่งเชื่อ ... รวมทุกอย่าง แม้กระทั่ง งานวิจัยที่ตีพิมพ์ทั้งหมดครับ

เมื่อเวลาผ่านไป อาจจะมีงานวิจัยอื่นมา "หักล้างถางพง" กันได้ครับ

งานทุกชิ้น เราคงเลือกสร้าง "ความตระหนักรู้" เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้นครับ

ขอบคุณมากครับ คุณหมอบางเวลา CMUpal ;)...

อ่านแล้วมีความสุขนะครับ

เล่มนี้อ่านแล้ว มีความสุข ได้มุมคิด มีพลังใจเสมอ ขอบคุณเจ้า

ยินดีและขอบคุณมากครับ คุณ Poo ;)...

เจ้าวิจารณญาณ...หนึ่งละที่ต้องใช้

กว่าจะมี...ปัญญาของตัว

ซึ่งต้อง..อย่างสัมพัทธ์ กับสิ่งอื่น

เช่น เวลาที่เปลี่ยน เหตุผล-หลักฐานที่เปลี่ยน

โดยเฉพาะ...ใจ บางที่ก็ยากจะบอก

ว่าทำไม..ทำให้ปัญญาเปลี่ยนไป

จึงต้องคอยบอกตัวเองเสมอ

อะไร ๆ ก็เปลี่ยนได้

แต่ก็ต้องมีหลักยึดบางอย่างให้เชื่อไว้บ้าง

เช่น คุณงามความดี ความซื่อสัตย์...

ขอบคุณที่นำมานะคะ

อ่านหนังสือ อ่านความคิด อ่านชีวิต

ยินดีและขอบคุณเช่นกันครับ คุณหมอ ทพญ.ธิรัมภา ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท