เรื่องราวจากถ้วย...เรื่องราวจากแผ่นดิน


เขียนจากความประทับใจในการทีเขาปราณีตในการผลิตถ้วย ที่คนเกี่ยวข้องทุกส่วนได้ใส่ความภูมิใจในการเป็นคนชาติอาฟริกาใต้ ความรักในสิ่งที่ทำ และการนึกถึงความสุขของผู้ซื้อที่ไม่ใช่แค่ซื้อถ้วยอีกหนึ่งใบไปสะสม

"ถ้วยแห่งความสุข" ของที่ระลึกจากประเทศอาฟริกาใต้ ที่เล่าในตอนที่แล้ว เกิดมาจากการเห็นคุณค่าของทุนธรรมชาติ และเอกลักษณ์ของความเป็นประเทศอาฟริกาใต้

ข้างกล่องด้านเดียวกันกับที่กล่าวถึงความร่ำรวยหลากหลายของพันธุ์พืชที่มีชื่อเสียงระดับโลก เขียนต่อไว้ว่าถ้วยชุดดอกไม้จากทุ่งนี้ได้ถูกออกแบบเพื่อเป็นของสะสมที่แสดงความเป็นอาฟริกาใต้ชุดแรกเพื่อสนองคนอาฟริกาใต้ที่รักภูมิทัศน์ของประเทศตนและผู้มาเยือนที่ต้องการกลับบ้านไปพร้อมกับเครื่องเตือนใจที่ทำอย่างสวยงามเพื่อให้ระลึกถึงสิ่งดีๆที่ได้ประสบจากการได้มาเยือน

Nice%20mug 

จากนั้นจึงไล่พรรณนาตั้งแต่วัตถุดิบที่นำมาทำเป็นตัวถ้วยว่าเป็นดินเหนียว(clay)ที่ได้มาจากการผสมผสานดินที่มาจาก Namaqualand ซึ่งเป็นดินแดนอยู่ทางตอนเหนือ กับดินที่มาจาก ส่วนคาบสมุทรด้านตะวันตก หรือ Western Cape เมื่อได้วัตถุดิบมาแล้วยังต้องไปผ่านกระบวนการที่เข้มงวดเพื่อให้ได้เนื้อถ้วยที่ตรงตามลักษณะข้อกำหนดที่ตั้งไว้ นั่นคือต้องการถ้วยที่มีรูปทรงงามสง่า น่าถนอมแต่ทว่าต้องแข็งแรงพอที่จะใส่เครื่องล้างจานได้ ต้องมีความโปร่งแสงเหมือนภาชนะกระเบื้อง(porcelain) แต่แข็งแรงแบบ stoneware รวมทั้งปลอดภัยที่จะใช้กับเตาอบไมโครเวฟและทนต่อการขีดข่วน จนได้ผลงานออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า soft porcelain โดยมีความโปร่งแสงเฉกเช่นporcelain แม้ว่าจะเผาที่อุณหภูมิที่ต่ำกว่า

นี่แค่ข้างกล่องด้านเดียว อีกสองด้านเป็นการออกแบบกล่องให้ดูดี ดึงดูดใจให้อยากซื้อ ที่เหลืออีกด้าน เป็นข้อมูลศิลปินผู้วาดภาพและผู้เขียนตัวหนังสือวิจิตร

การกล่าวถึงศิลปินไม่ได้มีแต่ชื่อ แต่เป็นการกล่าวถึงคนที่มีชื่อเสียงเพราะมีความชำนาญ ความรัก ความละเอียดละออในอาชีพและความตั้งใจที่ฝากฝีมือในชิ้นงานเพื่อการสะสมนี้

ข้อมูลเขียนว่าClare Linder Smith เป็น Botanical artist ทำงานให้กับ สถาบันพฤกษศาสตร์แห่งชาติ ที่เมืองPretoria และ CapeTown รวมทั้ง สวนพฤกษศาสตร์ Kew ประเทศอังกฤษ ที่รู้จักกันทั่วโลก เคยได้รับรางวัลเหรียญทองจาก Royal Horticulture Society กรุงลอนดอนด้วย การออกแบบและวาดภาพดอกไม้ให้กับชุดสะสมนี้เธอได้ผสานความช่างสังเกตลึกซึ้งและความถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์เข้ากับการออกแบบที่ให้ความรู้สึกซึ่งหาตัวจับยาก(คนที่มีความสามารถระดับนี้ไม่ได้หากันได้ง่ายๆ) ดังนั้นงานทีปรากฏจึงมีทั้งความชัดเจน มีรูปแบบเฉพาะตัวของศิลปิน ในงานที่สร้างสรรออกมาอย่างงดงาม

ส่วนตัวหนังสือวิจิตรที่ปรากฏอยู่ทั้งด้านนอกและด้านในตัวถ้วย เป็นผลงานของ Andrew van der Merwe นักเขียนตัวหนังสือวิจิตร หรือCalligrapher ที่เป็นที่รู้จักกันดีในระดับประเทศ มีผลงานมากมาย ที่รู้จักกันมากที่สุดคือผลงานการเขียนสาส์นบนแผ่นม้วน Freedom of the City of Cape Town เมื่อปี1997 เพื่อมอบให้ประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลลา

กล่องคงใช้บรรจุถ้วยทั้ง 6 ลาย

ถ้วยที่เลือกซื้อมาเป็นภาพวาดดอกไม้สีชมพู ตัวหนังสือวิจิตรเขียนว่า Dierama pendulum , grassland

มีเอกสารใบเล็กๆแนบมาทำเป็นเอกสารสี่หน้า ปกหน้าเป็นภาพวาดและชื่อดอกไม้เหมือนถ้วย ปกหลังเป็นลายดอกไม้ทั้ง 6 แบบในชุดสะสม และที่ติดต่อ ด้านในเป็นข้อมูลเกี่ยวกับดอกไม้แบบที่เลือก ซึ่งเป็นHorticulturist (ไม่ทราบภาษาไทยเรียกว่าอย่างไร)ของสวนพฤกษศาสตร์แห่งชาติ Kirstenbosch

ข้อมูลนั้นทำอย่างตั้งใจให้คนธรรมดาที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์อ่านเข้าใจ น่าอ่าน เหมือนทำเฉพาะเป็นพิเศษให้งานชุดนี้ มีตั้งแต่ชื่อสามัญ แหล่งที่พบ ความหมายของชื่อวิทยาศาสตร์ที่บอก genus อันมาจากภาษากรีกโบราณ ประวัติการพบในอาฟริกาใต้ซึ่งพบถึง 44 species อ่านแล้วรู้สึกว่าศิลปินผู้วาดกับนักวิชาการที่ชื่อ Graham Duncan ผู้ทำข้อมูลนี้ทำงานร่วมกัน เช่นเมื่ออธิบายถึงการขยายพันธุ์จากส่วนที่เป็นเมล็ดแห้งที่มักเกาะกันยาวเป็นสาย ส่วนการผสมเกสรซึ่งยังไม่ได้มีการศึกษากันมากนัก สันนิษฐานว่าทำโดยผึ้งช่างไม้เขาก็เขียนว่าอย่างที่เห็นในภาพ ข้อมูลยังบอกด้วยว่าชนเผ่าทาง Southern Sotho ใช้เมล็ดสกัดทำเป็นยาระบายอย่างแรง

นี่เขียนจากความประทับใจในการทีเขาปราณีตในการผลิตถ้วย ที่คนเกี่ยวข้องทุกส่วนได้ใส่ความภูมิใจในการเป็นคนชาติอาฟริกาใต้ ความรักในสิ่งที่ทำ และการนึกถึงความสุขของผู้ซื้อที่ไม่ใช่แค่ซื้อถ้วยอีกหนึ่งใบไปสะสม

อยากเห็นสินค้าไทยโดยเฉพาะที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น นึกถึงการใส่เรื่องราว ความสุขและความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำลงไปในงานทุกชนิด การคิดสู่สากลไม่ใช่แค่คิดถึงตลาดต่างประเทศ แต่เป็นการคิดถึงสิ่งที่เป็นสากลที่ผู้บริโภคทุกคนต้องการไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน คือความปราณีต ความพอใจอย่างละเอียด

ใครที่สนใจจะแบ่งปันความสุขจากถ้วยใบนี้ ขอเชิญมาร่วมดื่มชาที่มี"เรื่องราว"ให้ได้คุยกันสบายๆ(เอาไว้จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับชาให้อ่านกัน)ผ่านอยุธยาเมื่อไหร่แวะมาได้ ยินดีต้อนรับชาว gotoknow ทุกคนค่ะ

 

 

หมายเลขบันทึก: 89444เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2007 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ถ้วยที่เลือกซื้อมาเป็นภาพวาดดอกไม้สีชมพู ตัวหนังสือวิจิตรเขียนว่า Dierama pendulum , grassland

ถ้าอาจารย์ลงรูปด้วยก็ดีค่ะ คงสวยชะมัด บรรยายเห็นภาพเลยคะ

พอดีเป็นมือใหม่ใช้บล็อก ยังทำอะไรที่ซับซ้อนไม่เป็นค่ะ จะพยายามหัดเพราะคิดว่าเรื่องราวในบล็อกRiverlifeนี้เกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติรอบตัวหากมีภาพประกอบจะดีมาก

ติดไว้ก่อนนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท