จิตตปัญญาเวชศึกษา 17: เรียน palliative care เริ่มหล่อเลี้ยงหัวใจแด่มวลมนุษย์


เรียน palliative care เริ่มหล่อเลี้ยงหัวใจแด่มวลมนุษย์

เมื่อวันเสาร์ที่มาผ่านมา ได้ไปร่วมสัมมนาจัดโดยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตรศึกษาประเทศไทย (กสพท.) กลุ่มชมรมพุทธิกา และกลุ่มคณะกรรมการพัฒนา palliative care รพ.ศิริราช ในหัวข้อ palliative care in medical curriculum (หรืออะไรทำนองนี้แหละครับ ลืมไปแล้ว) ณ รพ.ศิริราช เขตบ้านเก่าผมเอง (จริงๆนา ผมเกิดที่ศิริราช บ้านอยู่ใกล้ๆศิริราช เรียนศิริราช ตอนบวชก็บอกแม่ค้าขนมเบื้องที่ในตลาดหลังศิริราช ให้ไปช่วยถวายขนมเบื้องให้ด้วย.... บอกตอนก่อนบวชนะ แฮ่ะๆ)

ในเมืองไทยตอนนี้ มีหลาย รพ. หลายองค์กร หลายสถาบัน ดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในระยะ advanced หรือ ใกล้วาระสุดท้ายมากมาย เทคโนโลยีการแพทย์ทำให้อายุยืนยาว แต่เดิมอวัยวะเดียวล้มเหลวก็จะตาย เดี๋ยวนี้ต้องเป็นหลายๆอวัยวะล้มเหลวจึงจะไม่รอด แต่เดิม Dying ใช้เวลาเป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือเป็นอาทิตย์ เดี๋ยวนี้ dying อาจจะใช้เวลาเป็นเดือน หรือแม้กระทั่งเป็นปีก็ได้ สาเหตุการตายอันดับหนึ่งของไทยก็เป็นโรคมะเร็ง ซึ่งไม่ตายทันที แต่จะใช้เวลา คนไทยเป็นเบาหวานกันเยอะมาก แล้วก็มีผลทำให้ไตวาย ตับวาย หัวใจวาย ตามๆกันมาเป็นแถว เราก็พบว่าบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ หมอ พยาบาล ไม่ได้มีการเตรียมตัว มีความรู้ หรือมีความชำนาญ ในเรื่องวาระสุดท้ายของคนสักเท่าไหร่ เจตนคติต่อความตาย เป็นเสมือนศัตรู เป็นเสมือนสัญญลักษณ์ของความพ่ายแพ้ทางการแพทย์ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกไม่อยากไปทำอะไรกับคนไข้กลุ่มนี้ ไม่ใช่ GLORY ที่จะทำให้ตนเองรู้สึกดีขึ้นมาได้ ความรู้สึกเช่นนี้น่ากลัว และจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการทำให้การดูแลไม่ได้เกิดจากกำลังใจด้านบวกอย่างเต็มที่ กลับจะเกิดจากความลำบากใจ ไม่แน่ใจ และความกลัวความตายของผู้ดูแลเองเป็นสำคัญ

กิจกรรมที่เราทำก็จะเริ่มตามหลักการเขียนหลักสูตรทั่วๆไป ก็คือ ค้นหาก่อนว่า "เราเป็นใคร เราจะผลิตอะไร เพื่อใคร เพื่ออะไร มีวัตถุประสงค์อะไร" เอาตรงนี้ให้ชัดเจน จะได้ไม่บิดเบี้ยวทีหลัง

ที่มีอาชีพแพทย์ พยาบาลนั้น แต่เดิม คนเราก็ได้มีประสบการณ์ร่วม ในการเห็น การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เคียงคู่กันมากับวิวัฒนาการ การเกิดวัฒนธรรมประเพณี เกิดชาติ ศาสนา มาแต่ไหนแต่ไร แต่กลุ่มของแพทย์ พยาบาล คือใคร?

ก็คือกลุ่มคนที่มองเห็นว่า ความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นกับคนอื่นนั้น น่าจะมีคนดูแล และรู้สึกว่า "เป็นหน้าที่ของตนเอง ที่จะต้องดูแล จึงจะถูกต้อง" คนกลุ่มนี้ก็ได้ลงไปช่วยเหลือ สังเกต บันทึก ทดลอง ลองผิดลองถูก สั่งสมเป็นองค์ความรู้ กลายเป็นศาสตร์ เป็นแพทยศาสตร์ เป็นพยาบาลศาสตร์ในที่สุด

ดังนั้นโจทย์ของวิชาชีพนี้ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ก็คือ ความทุกข์ สุขภาพ ของคนในสังคม นั่นเอง Glory ของแพทย์ พยาบาล ก็ต้องอยู่ที่ มีความเข้าใจในความทุกข์ ความสุข ของคน และช่วยเหลือตามบริบทของคน ให้ได้ดีที่สุด ชัยชนะของแพทย์ไม่สามารถเป็นของแพทย์ฝ่ายเดียวไปได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่แพทย์ พยาบาลจะเฉลิมฉลงว่าทำงานสำเร็จ เมือ่นั้นคนไข้ และประชาชน จะต้องสามารถเฉลิมฉลองร่วมด้วยได้เสมอไป

 

เราเชิญพี่สุรีย์ พยาบาลศิริราช พี่อร เคยเป็นพยาบาลอยู่ 4-5 ปี และอาจารย์พยาบาลอีก 14-15 ปี และหมอสิริโรจน์ หมอจบจุฬาฯและทำงานในพื้นที่ชนบทมาโดยตลอด ตอนนี้ก็ได้มีเวลาไปช่วยงานหลวงตา วัดคำประมง ช่วยเหลือให้การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายอยู่ มาเป็นตัวแทน Stake-holder ของคนทำงานในระบบสาธารณสุข ว่าใน งานที่แท้จริง ที่เขาได้ออกไปเผชิญนั้น ในมิติด้านผู้ป่วยใกล้เสียชีวิตนั้น หลักสูตรแพทย์ พยาบาล ที่มีอยู่นั้น เตรียมตัวหมอ พยาบาลไว้ได้ดีแค่ไหน ยังคิดว่าขาดตกบกพร่องอะไรไปบ้าง

ปรากฏว่า หมอ พยาบาล จบออกมานั้น ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับ ความตาย สักเท่าไหร่เลย เราเรียนเรื่องเซลล์หยุดทำงานก็จริง เรียนเรื่องเนื้อเยื่อตายก็จริง ทั้ง Necrosis, apoptosis เรียนเรื่อง vital signs เรียนเรื่อง signs and symptoms ของสมองตาย ฯลฯ แต่เราไม่ได้เรียนเรื่อง มรณวิทยา (Thanatology) หรือผลกระทบของความตายต่อจิตใจและสังคม ดังนั้นที่เราบอกว่าแพทย์ พยาบาล เรียนรู้เรื่องวงจรชีวิตของมนุษย์นั้น ไม่เป็นความจริงเลย เราเรียนเน้นไปที่ เกิด และ เจ็บ เป็นส่วนใหญ่ และในมิติชีววิทยาเท่านั้นด้วย เรื่องแก่ เราก็พึ่งจะมาตื่นตัวกันไม่นานมานี้ เรื่องตายไมได้เรียน และเราสนใจในมิติของจิตสังคม จิตวิญญาณของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย น้อยมาก

อาจารย์นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคมและสุขภาพ เคยมาบรรยายที่ ม.อ. ว่า ตอนเราซักประวัติ ก็จะ ค้นหาอวัยวะ ไม่ได้ค้นหาความทุกข์ของคน หมอตรวจร่างกาย กำลังเอาหูฟัง ไปฟังเสียงลมหายใจ พอคนไข้จะพูดออกมา ก็ดุว่า "อย่าพึ่งพูดครับ หมอกำลังฟัง!!??" คนไข้ก็งง เอ... หมอบอกกำลังฟัง แต่ห้ามพูด นั่นคือหมอกำลังสนใจฟังอวัยวะอยู่ เลยไม่ได้มีเวลาสนใจฟังคนซักเท่าไหร่

พี่อร เล่าให้ฟังว่า เคยดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย พาไปเข้าห้องน้ำ ก็บอกให้ถอดกางเกงคาไว้ที่ปลายขาก็พอ จะได้ใส่ใหม่สะดวก คนไข้ก็ยืนยันว่าไม่เอา จะถอดออกให้หมด ก็เถียงกันใหญ่ จนหงุดหงิด เอ๊ะ ทำไมไม่ยอมฟังกันบ้างเลย สุดท้ายก็ต้องยอมตามใจคนไข้ ด้วยความสงสัย พี่อรก็เลยแอบมาลองดูด้วยตนเองทีหลัง ถอดกางเกงคาขาเอาไว้ ตอนนั้นจึงค่อยเข้าใจว่า เออ... มันไม่สะดวก ไม่ถนัด เท่าถอดออกหมดจริงๆแหละ ยิ่งคนไข้ขยับตัว จัดท่าไม่สะดวก คงจะยิ่งไม่ถนัดมากขึ้น ประเด็นสำคัญก็คือ คนดูแล คือ หมอ พยาบาล ค้นเคยกับความคิดที่ว่า คนไข้ต้องฟังหมอ ฟังพยาบาล ต้องเชื่อหมอ เชื่อพยาบาล มากกว่าในทำนองกลับกัน

หมอสิริโรจน์เล่าให้ฟังว่า คนไข้มะเร็งระยะสุดท้าย ที่มาหาการดูแลที่วัดคำประมง ที่มีหลวงตาเป็นคนดูแล มีอาสาสมัคร มีคุณหมอมาช่วยบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีความรู้ทางการแพทย์อะไร มีแต่ธรรมะ มีแต่ใจ ยามอร์ฟีนอะไรก็ไม่มี แต่ที่ว่ากันว่าคนไข้ระยะสุดท้ายส่วนใหญ่จะเจ็บ จะปวด จะทรมานนั้น กลับไม่ค่อยพบที่วัดคำประมง ที่เน้นการฟังคนไข้ การปลอบใจ การเข้าใจคนไข้ การให้ธรรมะเยียวยาด้านจิตใจ ด้านอารมณ์ ด้านจิตวิญญาณ คนไข้หลายคนเดินไปเดินมา ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ ได้ โดยไม่ต้องอาศัยยาอะไรมากมายเลยในวัดคำประมงนี้ หมอสิริโรจน์เชื่อว่า เป็นเรื่องของ พลังงานในการเยียวยาอะไรบางอย่างในวัดคำประมง ที่มีประสิทธิภาพไม่น้อยไปกว่ายาปัจจุบัน ที่กำลังทำงานอยู่อย่างท่วมท้น รู้สึกได้ โดยคนที่กำลังเปราะบาง ในความทุกข์ทรมานอยู่นั้น

พลังงานแบบนี้เป็นอะไร เราก็ไม่ได้เรียนในโรงเรียนแพทย์เหมือนกัน!!

พี่สุรีย์ ทำงานไปเยี่ยมบ้านคนไข้ในเขตปริมณฑล พาหมอ family medicine ไป บางบ้านก็ไปอยู่ทุรกันดาร (แบบเมืองกรุงก็มี) หมอบางท่านก็เปรยๆ บอกว่าครั้งหน้าไปต้องชวนมาก็ได้นะครับ นัยว่ามันลำบากใช้ได้เลย แต่ก็สะท้อนลึกๆว่า เวลาหมอนัดคนไข้นั้น เขาก็ต้องเดินไต่ไม้กระดาน ต่อรถเครื่องสามสี่ทอด ใช้เวลาหลายชั่วโมง ตื่นแต่เช้าตรู่จะได้มาตามนัดได้ ลำบากไม่แพ้กับที่เราเดินทางมาเยี่ยม หรืออาจจะลำบากมากกว่า เพราะร่างกายเขาบาดเจ็บ ไม่สบายอยู่

คนไข้ที่ถูกดูแลที่บ้านหลายคน หมอเราไม่ทราบเลยด้วยซ้ำว่าใครเป็น caregiver อายุเท่าไหร่ สมรรถภาพเป็นอย่างไร เราก็แนะนำไปเป็นเรื่องปกติ เอ้า พลิกตัวทุก 2 ชั่วโมงนะ เดี๋ยวจะเป็นแผลกดทับ ปรากฏว่าคนพลิกตัวให้คนไข้ที่อายุ 72 ก็อายุพอๆกับคนไข้เหมือนกัน ไปๆมาๆ คนพลิกตัวพาลจะเป็นลมไปเสียก่อน บางคนก็มีสายให้อาหารทางจมูกคาอยู่แบบถาวร เพื่อให้อาหาร แต่ในวาระสุดท้ายนั้น คนไข้ทุกคนจะลดความอยากอาหารลง การย่อยเริ่มสูญเสียไป ใส่สายจมูกก็เจ็บ พยายามจะดึงออก ดึงออกทีก็เรื่องใหญ่ ใส่ใหม่ลำบาก ต้องหอบหิ้วไปใส่ที่อนามัย บางทีใส่ยากก็ต้องถึงกับพาไปโรงพยาบาล ลำบากนักก็เลยผูกข้อมือคนไข้ไว้กับขาโต๊ะบ้าง อิฐบล็อกบ้าง เอาชนะคนไข้ได้ไปพักหนึ่ง คนไข้บางคนไม่ยอมง่ายๆ มัดชั้นเหรอ ก็เลยถ่มน้ำลายใส่ทุกคนที่เข้ามาใกล้

ถึงตอนนี้คุณภาพชีวิตของทุกคนเริ่มเบลอๆ เริ่มไม่แน่นอน ไม่ชัดเจน แล้วว่าเรากำลังจะทำอะไรกันอยู่?

 

 

หมายเลขบันทึก: 122352เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2007 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 00:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขออนุญาติ link บทความอาจารย์นะครับ

ขออนุญาตินำบทความบางส่วนของอาจารย์ไปใส่ใน Thesis นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท