APHN Diploma of Palliative Care ๘: เราจำเป็นต้องรู้เวลาตายของคนไข้หรือเปล่า


แทนที่จะเข้าไปจับแต่ชีพจร วัดความดัน น่าจะเข้าไปจับอารมณ์ วัดความรู้สึกของคนไข้และญาติด้วยปฏิสัมพันธ์อย่างอื่นบ้าง

ในหัวข้อระยะสุดท้ายของชีวิต หรือ ในมรณวิถี เราใช้วิธีเรียนผ่านการเล่าประสบการณ์หรือตั้งคำถามแล้วแลกเปลี่ยนในกลุ่มย่อย ซึ่งผู้เรียนถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มๆละ ๑๐ คน

เราจำเป็นต้องรู้เวลาตายของคนไข้หรือเปล่า

คำถามข้างบนเป็นคำถามของผมที่โยนเข้ากลุ่มเป็นคนแรก เพราะกลัวพวกอินเดียแย่งพูดก่อน

คำถามนี้เกิดจากคำบ่นจากเพื่อนพยาบาลที่ผมเคยได้ยินมาว่า ตอนที่คนไข้ใกล้เสียชีวิต สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นภาระมากก็คือ การเข้าไปตรวจสัญญาณชีพของคนไข้เป็นระยะๆ ราวกับว่า เราอยากจะรู้ว่า เขาเสียชีวิตตอนไหน จะได้มาบันทึกเวลาที่แน่นอน ถ้าไม่ทำพอใครถามแล้วตอบไม่ได้ มันเหมือนไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่
บางครั้งถึงกับเอาเครื่องมาตั้งดูเส้นกราฟกันเลยก็มี แบบให้เห็นกันจะจะ ทั้งๆสิ่งนี้ต้องเรียกว่า เป็นการรบกวนความสงบของคนไข้ในขณะที่กำลังถึงลมหายใจสุดท้าย รบกวนเวลาที่คนไข้กับญาติจะได้มีเวลาส่วนตัว

ผมถามกลุ่มว่า มีใครมีประสบการณ์แบบนี้บ้าง แล้วเห็นว่าการทำแบบนี้เป็นอย่างไร

แน่นอนครับ เรื่องรบกวนความสงบของคนไข้เป็นสิ่งสะท้อนตรงกันหมดในคนทำงานด้านการดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย การทำเช่นนั้น เป็นการให้ความสนใจสิ่งที่เป็นเรื่องของเรา..ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของเรา ของพยาบาลของหมอ มากกว่าให้ความสำคัญกับคนไข้ในฐานะ..ความเป็นคน

แต่ก็มีบางวัฒนธรรม โดยเฉพาะเสียงจากจีน จะบอกว่าครอบครัวของคนไข้เองนั่นแหละ เป็นคนขอร้องให้พยาบาลทำ เพราะตัวเลขของเวลาเหล่านั้นล้วนมีความหมายสำคัญต่อคนไข้และคนในครอบครัวต่อไป

ความเห็นที่ช่วยกันเสนอ

  • น่าจะถามครอบครัวของคนไข้ว่า รู้สึกอย่างไรกับการวัดสัญญาณชีพของคนไข้เป็นระยะก่อนเสียชีวิต ต้องการหรือไม่ บางครอบครัวอาจมองเป็นความจำเป็นที่ต้องทำ แสดงออกถึงการดูแลเป็นอย่างดี บางครอบครัวต้องการมากโดยเฉพาะเรื่องตัวเลขที่ว่าไปแล้ว บางครอบครัวไม่อยากให้ทำ เพราะรบกวน อันนี้ไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัว
  • ถ้าจะไม่รบกวน และสามารถหาเครื่องมาบันทึกเป็นกราฟเลย ก็ได้ บางแห่งถือเป็นวิธีปฎิบัติทุกราย
  • แทนที่จะเข้าไปจับแต่ชีพจร วัดความดัน น่าจะเข้าไปจับอารมณ์ วัดความรู้สึกของคนไข้และญาติด้วยปฏิสัมพันธ์อย่างอื่นบ้าง
  • เรื่องนี้ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนนโยบายในระดับสูงด้วย เช่นผู้บริหารโรงพยาบาลมีแนวทางเรื่องนี้อย่างไร
  • ถ้าไม่ได้เป็นสิ่งที่ครอบครัวคนไข้ต้องการ การที่คนไข้เสียชีวิตไปแล้วพยาบาลไม่ทราบเวลาชัดเจน ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย การลงเวลาเป็นระยะเวลาโดยประมาณเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในสังคมหนึ่ง

 

<< APHN Diploma of Palliative Care ๗: ฉันต้องหาย..ต้องหาย แล้วไง

APHN Diploma of Palliative Care ๙: กฏหมายที่เกี่ยวข้อง >>

หมายเลขบันทึก: 98192เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2007 06:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สำหรับผมแล้ว..ในวาระสุดท้ายของชีวิตน่าจะมีโลกส่วนตัวอยู่กับคนที่เรารัก  หรืออยู่กับสิ่งที่เรารัก  หรืออยู่กับความดีงามอย่างใดอย่างหนึ่งครับ...

อาจารย์ย่ามแดง ครับ 

  • ครับ เราคงอยากนิ่งอยู่กับสิ่งที่เรารัก หรือความดีงาม  มากกว่า จะอยากให้ใครมาวัดความดันของเรา..ปิ๊ด ..ปิ๊ด แหกตาเราดูว่า ม่านตาเราขยายเต็มที่แล้วยัง เป็นแน่  

"แทนที่จะเข้าไปจับแต่ชีพจร วัดความดัน น่าจะเข้าไปจับอารมณ์ วัดความรู้สึกของคนไข้และญาติด้วยปฏิสัมพันธ์อย่างอื่นบ้าง"

ผมชอบประโยคนี้ครับ

ส่วนเรื่องการรู้เวลาตายนั้น ในช่วงสุดท้ายของชีวิตสำหรับผู้ป่วยคงอยากได้ความสงบและอาจจะไม่ได้ถือเป็นประเด็นสำคัญ ส่วนในฝ่ายญาติพี่น้องนัน้คงแล้วแต่บุคคล บางทีญาติหลายรายมองการวัดสัญญาณชีพเป็นเครื่องหมายของการดูแลทางการแพทย์  ในความเห็นผมคงทำในสิ่งที่ไม่รบกวนผู้ป่วยมากเกินไปแต่ให้ความใส่ใจต่อความรู้สึก/อารมณ์+ทำตามความต้องการสุดท้ายของผู้ป่วยและญาติให้มากที่สุดครับ

    เพิ่งมาอ่านค่ะ  อ่านแล้วนึกขึ้นได้เลยว่า คนจีนจะให้ความสำคัญกับเรื่องเวลาการตายของบรรพบุรุษมาก  ยกตัวอย่างเช่น จากประสบการณ์ตรงของดิฉันเลยคือ ตอนพ่อใกล้จะสิ้นลม มีผู้ใหญ่บางคนมาบอกว่า ต้องให้พ้นเที่ยงคืนไปนะ แล้วลูกหลานถึงจะได้มีกินมีใช้  โธ่ พ่อของดิฉันจะสิ้นลมอยู่แล้ว ตอนประมาณหกโมงเย็น ขืนต้องมาเชื่อถือแบบนี้ พ่อคงทรมาณจาการพยายามยื้อชีวิตต่อเนื่องด้วยการใส่สายระโยงระยาง

      สุดท้าย พ่อดิฉันสิ้นใจอย่างสงบค่ะ ไม่มีกระบวนการยื้อชีวิต ส่วนการที่ลูกหลานจะร่ำรวยหรือไม่นั้นคงอยู่ที่หลายเหตุหลายปัจจัยของแต่ละคน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท