โรจน์
นาย โรจนศักดิ์ ทองคำเจริญ

ผู้อยู่ VS ผู้กำลังจะจากไป ตอนที่ 2


"คุณเป็นคนที่สำคัญที่สุด ครอบครัวสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดในเวลานี้ ผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิตถึงจะไม่รู้ตัว แต่สามารถรับรู้ความรู้สึกได้ การอยู้ใกล้ชิด สัมผัส เป็นสิ่งสำคัญ"

1 สัปดาห์ต่อมามีอาการเหนื่อยมากขึ้น ยังมีขาบวม ผู้ป่วยยังถามลูกว่าจะหายหรือไม่ ลูกสาวรู้สึกว่าอาการไม่ดีขึ้นจึงมาปรึกษาผมที่ clinic ว่าจะช่วยคุณแม่ได้อย่างไร ผมแนะนำให้พาผู้ป่วยไปนอน รพ. แต่ผู้ป่วยและญาติไม่อยากไป รพ. ผมประเมินจากอาการที่ลูกสาวเล่าให้ฟังแล้วคิดว่าคงจะมีอาการมากพอสมควร ยังไม่กล้าตัดสินใจ ผมเลยตัดสินใจให้ลูกสาวพาผู้ป่วยไป ER ผมจะตามไปดูอาการ

ที่ ER

คุณป้าผอมลงกว่าเดิม นอนบนเตียงเหล็ก(stretcher) ดูหน้าตาทุกข์ เหนื่อย

ผม "คุณป้าเป็นไงบ้าง"

ผู้ป่วย "ป้าจะหายไหมหมอ หมอบอกป้าเถอะ"

ผมมองหน้าลูกสาว ลูกสาวหน้าตากังวลมาก ผมคิดว่าการปิดบังต่อไปคงไม่มีประโยชน์ คงต้องบอกความจริง

ผม "ป้าอยากรู้เรื่องอะไรบ้าง"

ป้าชี้ไปที่ท้องของตัวเองที่โตจากก้อนที่ตับ

ผมจับมือป้าแล้วพูด "ที่ท้องของป้าเป็นก้อนเนื้องอก....."

ป้า "จะหายไหมหมอ"

ผม "ก้อนนี้คงไม่หาย......แต่ถึงจะหายหรือไม่ผมก็จะดูแลป้า"

ป้าเงียบสีหน้านิ่งๆ

ผม "ป้าอยากถามอะไรผมอีกไหม"

ป้าไม่ถามต่อ "ขอหมอช่วยป้าเถอะ"

ผม "ผมจะช่วยเรื่องเหนื่อยได้ครับ"

ผมรักษาการอาการบวมเหนื่อย ผู้ป่วยกับญาติอยากอยู่บ้าน หลังจากนั้นผู้ป่วยกลับบ้าน 2 วัน ผมตามเยี่ยมบ้าน

ที่บ้าน

ผมไปถึงบ้านผู้ป่วยเห็นผู้ป่วยนอนนิ่งไม่ค่อยรู้ตัว อาการบวมดีขึ้น

คุณลุงสามีป้าบอกว่า หลังจากผู้ป่วยกลับมาบ้านหลังคุยกับลูกสาวเรื่องต่างๆ คุณป้าก็ซึมลงมาก

ลุง "เมื่อคืนยายจะไปไม่ไปแหล่"

ผม" อาการแย่ลง"

ลูกสาว "หมอว่าแม่จะอยู่ได้นานไหม"

ผมมองจากอาการแล้วคงเป็นช่วงสุดท้าย

ผม "คุณป้าเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ตามประสบการณ์ของผม อาการซึมลงมาก เป็นสัญญานว่าอาจจะใกล้เวลา"

ลูกสาว "พอประมาณได้ไหมคะ" สีหน้าเศร้า

ผม " คงไม่สามารถประมาณได้แน่นอน แต่คงจะประมาณ 1-2 สัปดาห์"

ลูกสาว "ป้ากินไม่ได้เลย หมอคิดว่าจะทำอย่างไรดี"

ผม "เมื่อเข้าใกล้ช่วงสุดท้าย ผู้ป่วยจะไม่หิว การให้กินจะทำให้แน่นอืดท้อง การใส่สายยางก็เจ็บและไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น"

ลูกสาว "แล้วเราจะช่วยแม่ได้ยังไง"

ผม "คุณเป็นคนที่สำคัญที่สุด ครอบครัวสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดในเวลานี้ ผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิตถึงจะไม่รู้ตัว แต่สามารถรับรู้ความรู้สึกได้ การอยู้ใกล้ชิด สัมผัส เป็นสิ่งสำคัญ"

ผมหยุดยาทุกอย่าง และให้กำลังใจญาติผู้ป่วยและให้คุณพยาบาลติดตามเยี่ยมเป็นระยะ หลังจากหยุดยา ผู้ป่วยรู้สึกตัวดีขึ้นและยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มีความกังวล ขณะที่ผมเขียนบันทึกนี้ผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่ ผู้ป่วยกินน้อยแต่ไม่ทุกข์ ลูกๆดูแลป้าเป็นอย่างดี ทุกคนรู้กันดีว่าวาระสุดท้ายใกล้มาถึง แต่ทุกคนร่วมกันเพชิญความตาย อย่างสงบ

ติดตามตอนต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 103977เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2007 08:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

 แล้วตอนนี้ป้าเขาเป็นยังไงบ้างค่ะ  ลูกๆและญาติคงอุ่นใจและไม่ทุกทรมานมากกับการดูแลบุคคลที่ตนเองรักซึ่งกำลังจะจากไป  เป็นโชคดีของผู้ป่วยและญาตินะคะ  ที่ได้เจอหมอที่ทุ่มเท และรักการดูแลผู้ป่วยเป็นคน  ไม่ใช่แค่การรักษาโรคตามวิชาการ   แล้วละเลยชีวิต-จิตใจ-ครอบครัวของเขา    

  อยากเห็นงานด้านนี้ได้รับการสนับสนุน  เพราะเป็นการทำงานเพื่อเมตตาจิต  เพื่อสังคม   ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง  สังคมทุกวันนี้ก็คงไม่วุ่นวายอย่างที่เห็น

   ขอเป็นกำลังใจและเป็นตัวอย่างที่ดีต่อไปค่ะ

     นิสา fm  เกาะสมุย

น้องนิสาครับ

ตอนนี้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น พี่หยุดยาที่ไม่จำเป็นทั้งหมด เหลือเฉพาะยาที่รักษาหัวใจวายเท่านั้น พี่ได้คุยกับลูกสาวของผู้ป่วยเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ว่าควรทำอย่างไร และควรปฏิบัติอย่างไรกับจิตใจของตนเอง ถ้ามีข่าว update ของผู้ป่วยจะ post ตอนต่อไปครับ

เป็นเรื่องราวที่ดีๆๆๆ ได้แง่คิดชีวิตและการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย  

ขอบคุณนะคะ

ขอบคุณซันซันที่แวะมาอ่านครับ ก็หวังว่าบทเรียนของผู้ที่กำลังจากไปจะช่วยสอนอะไรให้กับเราผู้ยังอยู่
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท