BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

นายเท่ง อาชีพลุนกุ้ง


นายเท่ง อาชีพลุนกุ้ง

หนังตะลุงจะมีตัวตลกติดตามพระนางอยู่หลายคู่ ตัวตลกเหล่านี้แตกต่างกันบ้างตามความนิยมของนายหนังและท้องถิ่นนั้นๆ ส่วนที่ขาดไม่ได้คู่หนึ่งก็คือ ไอ้เท่งกับหนูนุ้ย ตามประวัติบอกว่า ไอ้เท่ง เป็นชาวคูขุด อยู่บ้านหัวเปลว อาชีพลุนกุ้ง

สำหรับเด็กริมทะเลสาปสงขลาปัจจุบันอาจไม่เคยเห็นคนลุนกุ้ง เพราะสูญหายไปนาน (น่าจะ) เกินยี่สิบปีแล้ว ส่วนผู้เขียนนับว่าค่อนข้างจะโบราณอยู่นิดๆ เพราะเกิดมาก็เห็นคนลุนกุ้งอยู่ทั่วไป...

บ้านเรือนเกือบทั้งหมดของบ้านคูขุดจะอยู่ติดทะเลสาป ส่วนบ้านที่อยู่ลึกเข้ามาก็จะขุดคลองเล็กๆ แล้วก็สร้างบ้านเรือนอยู่ริมคลองเพื่อจะใช้เรือออกทะเลได้ทุกบ้าน และเมื่อมองไปยังทะเลห่างไปประมาณสองสามร้อยเมตรก็จะมีต้นลำพูสลับกับต้นจากปลูกเป็นทิวแถว เมื่อเลยทิวแถวลำพูและจากออกไปแล้วก็จะเห็นแผ่นน้ำ มีเกาะต่างๆ ปรากฎอยู่ เลยจากเกาะไปก็จะเป็นฝั่งจังหวัดพัทลุง...

น้ำริมทะเลชายฝั่งใกล้ๆ บ้านนั้น ในฤดูแล้งประมาณสะเอว น้ำจะค่อนข้างเค็ม (ถ้าฤดูฝนน้ำก็จะค่อนข้างจืด) มีสาหร่ายขึ้นอยู่ในน้ำทั่วไป และก็มีกุ้งนาอาศัยอยู่มาก ดังนั้น ชาวบ้านคูขุดและหรือหมู่บ้านอื่นๆ ที่อยู่ริมทะเลสาปก็มักจะลุนกุ้งเล่นๆ ในยามว่าง หรือยึดเป็นอาชีพสำหรับบางคน...

อุปกรณ์ที่ใช้ลุนกุ้งเรียกกันว่า แนท (คงจะเพี้ยนมาจาก net ) เป็นตาข่ายอวนถี่ๆ ขึงอยู่ในกรอบไม้สี่เหลี่ยมคางหมู ตาข่ายนี้จะหย่อนๆ และจะทำเป็นถุงห้อยอยู่ที่ตาข่ายเพื่อให้กุ้งนาพลัดตกลงไป ด้านแคบของกรอบสี่เหลี่ยมคางหมูนี้ จะมีไม้ยื่นออกมาเพื่อเป็นมือจับ...

แนทนี้ มีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดใหญ่ ๓-๔ เมตร จนถึงขนาดเล็กประมาณ ๕๐ ซม. เหตุที่มีหลายขนาดก็เพราะ ในพื้นที่กว้างๆ ผู้ใหญ่ก็สามารถลุนได้พื้นที่มาก ส่วนขนาดเล็กๆ ใช้ในพื้นที่แคบๆ หรือให้เด็กๆ ไว้ลุนเล่นๆ ยามว่างก็ได้ และแนทนี้มักจะมีเกือบทุกบ้าน หรือบางบ้านก็อาจมีหลายอัน...

เวลาจะลุนก็ลงไปในน้ำใช้มือจับกรอบด้านแคบ ส่วนด้านกว้างก็ให้กดลงไปที่พื้นดินเป็นมุมเฉียงๆ แล้วก็เดินเข็นไปข้างหน้า (กิริยาทำนองนี้ภาษาใต้เรียกว่า ลุน) กุ้งนาซึ่งอยู่ในกอสาหร่ายก็จะมากระทบตาข่ายหรือแนทแล้วก็พลัดตกเข้าไปอยู่ในถุง.......

เมื่อได้พอสมควรแล้วก็นำมาถ่ายใส่เรือ (ถ้าออกไปไกลจากบ้านก็มักจะพาเรือลำเล็กๆ ไปด้วย) แต่ถ้าใกล้บ้านก็อาจนำมากองไว้ที่ลานดินหรือนอกชานหน้าบ้านเลยก็ได้ เพื่อจะได้เลือกเศษสาหร่ายออกไปแล้วก็แยกกุ้งนาออกมา...

กุ้งนาตัวโตๆ ขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย เล็กลงก็ขนาดเท่าก้านไม้ขีดไฟ เมื่อได้มาเยอะๆ เป็นเข่งๆ ก็อาจนำไปขายสดๆ เลยก็ได้ เพราะในหมู่บ้านจะมีอีกกลุ่มที่นำกุ้งนานี้ไปต้มน้ำผึ้งโหนด (น้ำตาลปี๊ป) เพื่อส่งขายเป็นสินค้าออกของหมู่บ้าน หรือบางบ้านก็อาจซื้อน้ำผึ้งโหนดมาต้มเอง... หรือบางบ้านอาจเป็นอุตสาหกรรมครบวงจร โดยพ่อขึ้นตาลตโหนด ส่วนแม่ก็ลุนกุ้ง ... ประมาณนี้

สาเหตุที่อาชีพลุนกุ้งหมดไปคงจะเป็นเพราะน้ำเสีย มีกุ้งน้อยลง นายเท่ง อาชีพลุนกุ้ง จากที่ผู้เขียนเข้าใจทันทีเมื่อตอนเล็กๆ ก็กลับกลายมาเป็นแค่เพียงเรื่องเล่าในปัจจุบัน...

..............

อนึ่ง บ้านคูขุดนั้น เป็นที่ตั้งของตำบล จัดเป็นหมู่บ้านใหญ่ เพราะมี ๒ หมู่บ้าน คือ หมู่ ๔ (เรียกกันว่า บ้านตีน เพราะอยู่ทางทิศเหนือ) และหมู่ ๕ (เรียกกันว่า บ้านหัวนอน เพราะอยู่ทางทิศใต้)...

บ้านหัวนอนนั้นจะเป็นชาวไทยพุทธทั้งหมด ส่วนบ้านตีนจะมีชาวไทยมุสลิมจำนวนมากกว่าชาวไทยพุทธ และเลยบ้านตีนไปนิดหนึ่ง ก่อนถึงป่าช้าบ้านคูขุด ก็จะมีบ้านกลุ่มเล็กๆ อยู่ประมาณ ๔-๕ หลังคาเรือน เรียกกันว่า บ้านหัวเปลว ซึ่งจะเป็นชาวไทยพุทธ และที่นี้เองคือบ้านเกิดของนายเท่ง ตามประวัติที่จดจำกันมาและถูกจารึกไว้....

ฟังคนเฒ่าคนแก่เล่าว่า เมื่อก่อนบ้านหัวเปลวคนอยู่มาก ต่อมาก็ค่อยๆ ย้ายออกมาจนเหลือเพียง ๔-๕ หลังเท่านั้น...

แม้จะรับรู้กันโดยทั่วไปว่าที่นี้ คือบ้านเกิดของนายเท่ง แต่ก็ไม่ได้มีอนุสรณ์ใดปรากฎอยู่เป็นหลักฐาน เมื่อมีโอกาสผู้เขียนมักจะคุยกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันว่า ที่บ้านหัวเปลวก่อนถึงป่าช้ามีที่ดินสาธารณะอยู่ส่วนหนึ่ง น่าจะจัดสร้างเป็นอุทยานบ้านเกิดทวดเท่ง แล้วก็วาดรูปหรือจัดหาอุปกรณ์ลุนกุ้งไว้ด้วย เพื่อจะได้เป็นอนุสรณ์และสถานที่ท่องเที่ยวต่อไป...

ไปทอดกฐินปีนี้ ผู้เขียนมีโอกาสก็ขายความคิดอีกครั้ง เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งความคิดกระฉูดไปกว่าผู้เขียนอีก กล่าวคือ เขาบอกว่าแต่งตัวแล้วก็แสดงการลุนกุ้งด้วยอุปกรณ์จริงเลย ซึ่งผู้เขียนและเพื่อนอีกคนก็เห็นด้วย...

ผู้เขียนก็คอยต่อไปว่า เมื่อไหร่จะได้ไปเที่ยวอุทยานบ้านเกิดทวดเท่งตามที่คาดฝันไว้... 

 

หมายเลขบันทึก: 154215เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2007 16:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • นมัสการหลวงพี่ 
  • ไปทุ่งหวัง สงขลา
  • วัดทรายขาววัดอาจารย์ผัน มีบ้านหัวนอน
  • ไปใหม่ๆๆ งง ครับผม
  • ตามมาดูเรื่องเก่า
  • เขาว่าคนเล่าเรื่องเก่า
  • อายุมากครับ
  • ฮ่าๆๆ

P

ขจิต ฝอยทอง

 

 หมันแหละ ! (แปลว่า ถูกต้องแล้วคร๊าบบบบ)

คำใต้เรียกทิศทั้ง ๔ ดังนี้

  • เหนือ         =      ตีน
  • ใต้              =     หัวนอน
  • ตะวันออก  =      ออก
  • ตะวันตก     =     ตก

บางครั้งก็ใส่ ท่า นำหน้า เป็น ท่าตีน ท่าหัวนอน ท่าออก ท่าตก

และบางท้องถิ่นก็เติม ปะ ปละ หรือ ปล่า เข้าไปข้างหน้าเป็น ปะตีน ปละะตีน ปล่าตีน ... (ขึ้นอยู่กับสำเนียงแต่ละท้องถิ่น)

เจริญพร

นมัสการค่ะ

อาชีพลุนกุ้ง แปลว่า งมกุ้งเหรอคะ

P

sasinanda

 

งมกุ้ง คือ ใช้มือล้วงลงไปในน้ำ แล้วจับกุ้งขึ้นมา

ส่วนการ ลุนกุ้ง คือ การใช้อุปกรณ์คือแนทเข็นไปตามท้องน้ำแล้วก็ช้อนกุ้งขึ้นมาจากในน้า

ดังนั้น ลุนกุ้ง น่าจะใกล้เคียงกับศัพท์ว่า ช้อนกุ้ง หรือ ตักกุ้ง มากกว่า

อนึ่ง คำว่า ลุน ตรงกับภาษากลางว่า เข็น หรือ ผลัก 

เจริญพร 

 

นมัสการครับหลวงพี่

           ผมมีภาพให้ดูครับ

   

ชาวบ้านเห็นคงเข้าใจนะครับ

                                   นมัสการครับ

 

P

นายช่างใหญ่

 

อนุโมทนาต่อนายช่างอย่างมาก...

หลวงพี่ก็ไม่รู้ด้วยว่า เครื่องมือชนิดนี้ ภาษากลางหรือท้องถิ่นอื่นๆ เรียกกันอย่างไร ส่วนแถวบ้านเรียกกันว่า แนท

เจริญพร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท