จากนโยบายระดับชาติสู่การจัดการศึกษา การตรวจสอบและการพัฒนาคุณภาพ ระดับอุดมศึกษาของประเทศนิวซีแลนด์


จากนโยบายระดับชาติสู่การจัดการศึกษา การตรวจสอบและการพัฒนาคุณภาพ
ระดับอุดมศึกษาของประเทศนิวซีแลนด์
โดย ศ.ดร. กิตติชัย วัฒนานิกร

         หน่วยงานหลักของภาครัฐบาลที่ทำหน้าที่ดูแลด้านนโยบาย ด้านคุณภาพมาตรฐานและด้านการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศนิวซีแลนด์ ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ (Ministry of Education) คณะกรรมการการอุดมศึกษา (Tertiary Education Commission หรือ TEC) องค์การรับรองคุณวุฒิแห่งนิวซีแลนด์ (New Zealand Qualifications Authority หรือ NZQA) คณะกรรมการอธิการบดีแห่งนิวซีแลนด์ (New Zealand Vice Chancellors Committee หรือ NZVCC) และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ

กระทรวงศึกษาธิการ

         กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักในการให้คำปรึกษาด้านนโยบายเกี่ยวกับการอุดมศึกษาแก่รัฐบาล กระทรวงฯ จะเป็นผู้จัดวางกลยุทธ์การอุดมศึกษา (Tertiary Education Strategy หรือ TES) ของชาติ และเป็นผู้กำหนดถ้อยแถลงความเร่งด่วนของการอุดมศึกษา (Statement of Tertiary Education Priorities หรือ STEP) ทั้งนี้โดยผ่านการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นกระทรวงฯ ยังมีบทบาทในการวิเคราะห์ ตลอดจนติดตามตรวจสอบการดำเนินการว่าเป็นไปตามกลยุทธ์การอุดมศึกษาและถ้อยแถลงความเร่งด่วนข้างต้น

         สำหรับกลยุทธ์การอุดมศึกษาหรือ TES ในช่วงปี ค.ศ. 2002 ถึง ค.ศ. 2007 ได้กำหนดไว้ดังนี้

         • สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเสริมสร้างความสามารถและคุณภาพ
         • ช่วยให้เกิดความสำเร็จของการพัฒนาแรงบันดาลใจชนเผ่าเมารี (Maori development aspirations) 
         • ยกระดับทักษะรากฐาน (foundation skills) เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมในสังคมความรู้ (knowledge society)
         • พัฒนาทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการของชาวนิวซีแลนด์สำหรับสังคมความรู้
         • ให้การศึกษาเพื่อการพัฒนาและความสำเร็จของประชากรชาวปาซิฟิก
         • สร้างความเข้มแข็งในงานวิจัย การสร้างองค์ความรู้ ตลอดจนการรับรู้สำหรับสังคมความรู้

         กลยุทธ์เหล่านี้สนับสนุนเป้าหมายของชาติในประเด็นต่างๆ ทั้งด้านการเปลี่ยนถ่ายทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคมและโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาชนเผ่าเมารี การสร้างนวัตกรรม ตลอดจนการสร้างสมดุลทางสภาวะแวดล้อม

         สำหรับถ้อยแถลงความเร่งด่วนของการอุดมศึกษา หรือ STEP เป็นเอกสารที่กระทรวงศึกษาธิการทำการเผยแพร่ทุกหนึ่งถึงสามปี เพื่อระบุถึงความเร่งด่วนเฉพาะหน้าของรัฐบาล เอกสาร STEP ฉบับปัจจุบันเป็นของช่วงปี ค.ศ. 2005-2007 ความเร่งด่วนในเอกสารฉบับนี้จะสอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกับกลยุทธ์และวัตถุประสงค์ที่ระบุในกลยุทธ์การอุดมศึกษา หรือ TES โดยมีจุดเน้นใน 4 หัวข้อหลักคือ

         • ลงทุนในด้านความเป็นเลิศ (excellence) ทั้งด้านการเรียนการสอนและการวิจัย
         • เพิ่มให้มีความเข้ากันได้ (relevance) ของทักษะและความรู้ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายของชาติ
         • ทำให้นักศึกษาและผู้เรียนเข้าถึง (access) การศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เป็นเลิศและเข้ากันได้กับเป้าหมายของชาติและสามารถพัฒนาสู่ระดับการศึกษาที่สูงขึ้น และประสบความสำเร็จ
         • สร้างความเข้มแข็งด้านความสามารถ (capability) และคุณภาพข้อมูลในระบบอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนและการวิจัย

         จากกลยุทธ์การอุดมศึกษา (TES) และถ้อยแถลงความเร่งด่วนของการอุดมศึกษา (STEP) ข้างต้น คณะกรรมการการอุดมศึกษา (TEC) ก็จะได้รับไปดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป

คณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ TEC

         คณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ TEC มีหน้าที่หลักในการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ TEC จะทำงานร่วมกับหน่วยจัดการศึกษาเหล่านี้เพื่อพัฒนาให้การใช้งบประมาณภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนกลยุทธ์การอุดมศึกษา (TES) และถ้อยแถลงความเร่งด่วนของการอุดมศึกษา (STEP) ของชาติ

         เพื่อให้การดำเนินการของ TEC เป็นไปตามหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น จึงได้กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัย ต้องจัดส่งธรรมนูญที่ระบุถึงบทบาทของสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ ซึ่งเรียกว่า Charter และจัดส่งแผนปฏิบัติการของสถาบันซึ่งเรียกว่า Profile ไปยัง TEC เพื่อประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ  ใน Charter ของแต่ละสถาบันจะต้องบรรยายถึงบทบาทของตนเองว่าสอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับกลยุทธ์การอุดมศึกษา (TES) อย่างไร ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ TEC จะเป็นผู้ประเมิน Charter และให้คำแนะนำไปยังกระทรวงศึกษาธิการเพื่อแจ้งไปยังสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ให้ทราบผลการประเมิน Charter คือเอกสารสำคัญที่ใช้เป็นฐานในการจัดทำ Profile หรือแผนปฏิบัติการของสถาบันภายในช่วงเวลาที่สอดคล้องกับช่วงเวลาของถ้อยแถลงความเร่งด่วนของการอุดมศึกษา (STEP) สำหรับ Profile ของแต่ละสถาบันจะต้องแสดงความเชื่อมโยงกับกลยุทธ์การอุดมศึกษา (TES) และเชื่อมโยงกับถ้อยแถลงความเร่งด่วนของการอุดมศึกษา (STEP) อย่างชัดเจน รายละเอียดที่ปรากฏใน Profile จะประกอบด้วย

         • แผนปฏิบัติการ นโยบายที่เป็นกุญแจสำคัญ และข้อเสนอกิจกรรมในระยะสามปีต่อไป
         • วัตถุประสงค์, ตัวบ่งชี้ผลการปฏิบัติงาน เป้าที่ต้องบรรลุแต่ละปี (Targets) และเป้าหมายปีสุดท้ายของแผน (Goals)
         • ทิศทางของกลยุทธ์ทั้งระยะสั้นและระยะกลาง
         • กิจกรรมที่ต้องการรับงบประมาณสนับสนุนจาก TEC สถาบันอุดมศึกษาจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก TEC ก็ต่อเมื่อ Profile ของสถาบันผ่านความเห็นชอบแล้วเท่านั้น

         งบประมาณที่ TEC จัดสรรให้สถาบันอุดมศึกษาแบ่งออกเป็นหลายส่วน ส่วนที่สำคัญได้แก่ งบประมาณในส่วนของนักศึกษา (Student Component Funding) งบประมาณวิจัย (Research Funds) ทุนนักศึกษา (Scholarships) และการพัฒนาการเรียนการสอน (Teaching and Learning Development)

         งบประมาณในส่วนของนักศึกษาเป็นงบประมาณจำนวนมากที่สุดที่จัดสรรแก่สถาบันอุดมศึกษาโดยขึ้นกับจำนวนนักศึกษาเต็มเวลาเทียบเท่าที่ลงทะเบียนในโปรแกรมและวุฒิการศึกษาที่ได้รับการรับรองแล้วเท่านั้น ทั้งนี้การจัดสรรก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนงบประมาณวิจัยแบ่งเป็นหลายประเภท เช่น งบประมาณเพื่อสนับสนุนศูนย์ความเป็นเลิศทางการวิจัย หรือ งบประมาณที่ให้แก่สถาบันตามความสำเร็จของผลงานวิจัย ซึ่งมีการประเมินเป็นระยะๆ ในด้านงบประมาณที่จัดสรรเป็นทุนนักศึกษา เป็นงบประมาณเพื่อสนับสนุนการวิจัยแก่นักศึกษา โดยจัดสรรแก่นักศึกษาทั้งระดับปริญญาเอก และต่ำกว่า แต่หากเป็นการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาเอกต้องเป็นการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนส่วนหนึ่งจากบริษัทเอกชนและสถาบันการศึกษา และมีส่วนของการศึกษาที่ทำวิจัยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 งบประมาณอีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือ งบประมาณเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ทั้งนี้รัฐบาลได้จัดงบประมาณปีละ 4 ล้านเหรียญให้แก่ศูนย์แห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศในการสอนระดับอุดมศึกษา (National Centre for Tertiary Teaching Excellence) ศูนย์นี้มีหน้าที่สนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาซึ่งทำงานร่วมกับคณาจารย์และนักศึกษา ตลอดจนส่งเสริมอาจารย์แต่ละบุคคลในเรื่องการศึกษาค้นคว้าเพื่อนำไปสู่ความเป็นเลิศของผลลัพธ์จากการศึกษาระดับอุดมศึกษาของผู้เรียน

องค์การรับรองคุณวุฒิแห่งนิวซีแลนด์ หรือ NZQA

         องค์การรับรองคุณวุฒิแห่งนิวซีแลนด์ หรือ NZQA ได้รับการจัดตั้งขึ้น โดยมีบทบาทในการประกันคุณภาพและประสานงานด้านวุฒิการศึกษา สำหรับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและระดับที่สูงกว่า ซึ่งรวมถึงการศึกษาระดับวิทยาลัยจนถึงโพลีเทคนิค หรือการฝึกอบรมของสถาบันต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ NZQA ไม่ได้ดูแลคุณภาพมาตรฐานระดับมหาวิทยาลัยโดยตรง แต่มอบอำนาจให้คณะกรรมการอธิการบดีแห่งนิวซีแลนด์ หรือ NZVCC เป็นผู้ดำเนินการแทน ภารกิจหลักของ NZQA ประกอบด้วย

         • พัฒนากรอบคุณวุฒิระดับชาติ (Framework for National Qualifications หรือ NQF) ทุกระดับการศึกษา
         • จัดทำนโยบายและหลักเกณฑ์เพื่อรับรองโปรแกรมการศึกษาและกระบวนวิชาของสถาบันการศึกษาต่างๆ (Approval of academic programmes and courses) 
         • จัดทำนโยบายและหลักเกณฑ์ที่จะทำให้สถาบันการศึกษาทั้งการศึกษาระดับมัธยมศึกษา และระดับที่สูงกว่าได้รับการรับรองวิทยฐานะ (Accreditation of Institutions)
         • ติดตาม ตรวจสอบและส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานตลอดจนคุณภาพการจัดการศึกษา (Audit of processes and enhancement of quality)

         นอกจากภารกิจหลักๆ เหล่านี้แล้ว NZQA ยังมีหน้าที่ติดต่อประสานงานกับองค์การที่มีหน้าที่รับรองคุณวุฒิของประเทศต่างๆ เพื่อให้การยอมรับวุฒิการศึกษาซึ่งกันและกัน ทั้งการให้การยอมรับวุฒิการศึกษาของสถาบันการศึกษาต่างชาติ หรือการให้องค์การต่างชาติยอมรับวุฒิการศึกษาของสถาบันการศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์

คณะกรรมการอธิการบดีแห่งนิวซีแลนด์ หรือ NZVCC

         คณะกรรมการอธิการบดีแห่งนิวซีแลนด์ หรือ NZVCC มีบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบอำนาจจาก NZQA ในการรับรองวิทยฐานะของมหาวิทยาลัย รับรองโปรแกรมการศึกษาและกระบวนวิชา ตลอดจนติดตามตรวจสอบกระบวนการจัดการศึกษา และการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้ายภาระหน้าที่ดังกล่าว NZVCC จึงได้จัดให้มีส่วนงานที่เกี่ยวข้องขึ้นมา 2 ส่วน คือ คณะกรรมการโปรแกรมวิชาการของมหาวิทยาลัย หรือ Committee on University Academic Programmes เรียกย่อๆ ว่า CUAP และหน่วยตรวจสอบวิชาการมหาวิทยาลัยแห่งนิวซีแลนด์ หรือ New Zealand Universities Academic Audit Unit เรียกย่อๆ ว่า AAU.

         คณะกรรมการโปรแกรมวิชาการของมหาวิทยาลัยหรือ CUAP มีหน้าที่พิจารณางานด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยทั้งหมด ได้แก่ การให้ความเห็นชอบโปรแกรมการศึกษาที่เปิดสอนขึ้นใหม่ในมหาวิทยาลัยใดๆ ติดตามตรวจสอบโปรแกรมการศึกษาที่ได้รับความเห็นชอบไปแล้ว ให้คำแนะนำและความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาการตลอดจนการโอนหน่วยกิจระหว่างโปรแกรมการศึกษา ประสานงานกับ NZQA ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การกำหนดเกณฑ์การรับรองและการติดตามวุฒิการศึกษาของมหาวิทยาลัย เป็นต้น

         สำหรับหน่วยตรวจสอบวิชาการมหาวิทยาลัยแห่งนิวซีแลนด์หรือ AAU มีหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบกระบวนการและผลลัพธ์ของการจัดการศึกษา ตลอดจนเสริมสร้างคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ การตรวจสอบโดย AAU ได้เริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1995 ในรอบแรกของการตรวจสอบ (ระหว่าง ค.ศ. 1995-1998) ได้ทำการตรวจสอบในภาพรวมคือ ตรวจสอบระบบทั้งหมดของมหาวิทยาลัย ต่อมาในรอบที่สอง (ระหว่าง ค.ศ. 2000-2001) การตรวจสอบมุ่งเน้นไปที่ระบบการวิจัยได้แก่ นโยบายการวิจัย การบริหารจัดการและผลสัมฤทธิ์ การสนับสนุนนักศึกษาบัณฑิตศึกษา การเชื่อมโยงระหว่างการวิจัยและการสอน สำหรับการตรวจสอบในรอบที่ 3 ในปัจจุบันจะเน้นในเรื่องคุณภาพการสอน การให้การศึกษาตามโปรแกรม ความสำเร็จของผลลัพธ์จากการเรียน สำหรับหลักการที่ AAU ใช้ในการตรวจสอบมีดังนี้

         • พิจารณาและประเมินกลไกของมหาวิทยาลัยที่ใช้สำหรับติดตามและเสริมสร้างคุณภาพมาตรฐานทางวิชาการ ซึ่งจำเป็นต่อความสำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย
         • ให้ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะต่อกระบวนการที่มีอยู่แล้ว (Procedures in Place) ของแต่ละมหาวิทยาลัย ให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
         • ให้ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะต่อกระบวนการที่มีอยู่แล้วของแต่ละมหาวิทยาลัยที่ได้สะท้อนถึงวิธีปฏิบัติที่ดีในการรักษาไว้ซึ่งคุณภาพ
         • เสาะหาตลอดจนให้ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะต่อวิธีปฏิบัติที่ดีของมหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถคงวิธีปฏิบัติที่ดีนั้นไว้ ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างมาตรฐานวิชาการในระดับชาติ

         นอกเหนือจากทำหน้าที่รับรองวิทยฐานะและโปรแกรมการศึกษาตลอดจนติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาแล้ว คณะกรรมการอธิการบดีแห่งนิวซีแลนด์ หรือ NZVCC ยังได้ประสานงานด้านอื่นๆ เช่น การมอบหมายให้คณะทำงานเกี่ยวกับการได้งานของบัณฑิต (Standing Committee on Graduate Employment) ทำการสำรวจบัณฑิตของมหาวิทยาลัยทุกแห่งเป็นประจำทุกปีเป็นต้น

สถาบันอุดมศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์

         สถาบันอุดมศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์มีหลายประเภท ตั้งแต่มหาวิทยาลัย สถาบันโพลีเทคนิค วิทยาลัยการศึกษา สถาบันฝึกอบรมเอกชน หน่วยงานฝึกอบรมของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนหน่วยงานให้การศึกษาแก่ชุมชน และการศึกษาผู้ใหญ่เป็นต้น สำหรับในส่วนของมหาวิทยาลัยนั้น ได้ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในเมือง Dunedin ในเกาะใต้ของประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อปี ค.ศ. 1869 โดยตั้งชื่อว่า University of Otago ในอีกไม่กี่ปีถัดมาก็เกิดมหาวิทยาลัยตามมาอีกสองแห่งคือ University of Canterbery และ University of Auckland หลังจากนั้นก็มีมหาวิทยาลัยที่ตั้งใหม่หรือที่แปลงสถานภาพจากวิทยาลัยและโพลีเทคนิคตามมาอีกหลายแห่ง ได้แก่ Victoria University of Wellington, Massey University, University of Waikato, Lincoln University จนกระทั่งในปี ค.ศ.2000 ก็มีมหาวิทยาลัยน้องใหม่ล่าสุดซึ่งเปลี่ยนสถานภาพจาก Auckland Institute of Technology มาเป็น Auckland University of Technology ปัจจุบันประเทศนิวซีแลนด์มีมหาวิทยาลัยของรัฐทั้งหมด 8 แห่ง

ความเชื่อมโยงของหน่วยงานที่เกี่ยวกับการอุดมศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์

         รูปที่ 1 แสดงความเชื่อมโยงจากหน่วยงานระดับนโยบายสู่หน่วยงานระดับปฏิบัติของการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์ เริ่มจากกระทรวงศึกษาธิการที่จัดวางนโยบายระดับชาติ จัดสรรทรัพยากรตลอดจนติดตามประสิทธิผลที่เกิดขึ้นและเพื่อให้การดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษาทุกประเภทเป็นไปตามนโยบายระดับชาติข้างต้น จึงมีหน่วยงานที่เรียกว่า คณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ TEC ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณโดยพิจารณาจากธรรมนูญ (Charter) และแผนปฏิบัติการ (Profile) ของสถาบันอุดมศึกษาว่าเป็นไปตามนโยบายระดับชาติและได้ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว นอกจากนั้นก็มีองค์การรับรองคุณวุฒิแห่งนิวซีแลนด์หรือ NZQA และคณะกรรมการอธิการบดีแห่งนิวซีแลนด์ หรือ NZVCC ทำหน้าที่รับรองวิทยฐานะของสถาบันอุดมศึกษา รับรองโปรแกรมการศึกษาและกระบวนวิชาเพื่อเป็นข้อมูลแก่ TEC ในการจัดสรรงบประมาณ นอกจากหน้าที่ดังกล่าว NZQA และ NZVCC ยังมีหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบกระบวนการจัดการศึกษาและการส่งเสริมคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย และของมหาวิทยาลัยตามลำดับ ทั้งนี้ในส่วนของ NZVCC ได้มอบหมายให้อีกสองหน่วยงานช่วยดำเนินการคือ คณะกรรมการโปรแกรมวิชาการของมหาวิทยาลัย หรือ CUAP และหน่วยตรวจสอบวิชาการมหาวิทยาลัยแห่งนิวซีแลนด์ หรือ AAU.

         รูปที่ 1 สรุปความเชื่อมโยงจากระดับนโยบายสู่ระดับปฏิบัติสำหรับการจัดการศึกษา การตรวจสอบ และส่งเสริมคุณภาพระดับอุดมศึกษาของประเทศนิวซีแลนด์

อ่านบทความ : มหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรี่ : People prepared to make a difference (โดย ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร) LINK

         วิบูลย์ วัฒนาธร

 

หมายเลขบันทึก: 39172เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2006 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท