Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

การระดมสมองเพื่อสร้างประชาคมวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในสังคมไทย : ก้าวที่สองของประชาคมวิจัยและพัฒนา


จึงสรุปได้ว่า ผลของการทักทอความคิดที่ได้รับจากที่ปรึกษา ทีมงาน เจ้าของปัญหา และผู้สนับสนุนที่เข้ามาร่วมทำงานในประชาคมวิจัยและพัฒนานั้น ก็คือ การเกิดขึ้นของเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาเพื่อเด็กและครอบครัวไร้รัฐไร้สัญชาติที่ร่วมกันผลักดันประชาคมวิจัยและพัฒนาที่วางระบบการทำงานอยู่บนแนวคิดที่สำคัญ ๒ ประการ กล่าวคือ (๑) เด็กนิยม และ (๒) กฎหมายนิยม

         ดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า แม้ทีมงานวิจัยของเราใช้วิธีการศึกษาจากเอกสาร (Documentary Research) เหมือนกัน แต่เราให้ความสำคัญในการศึกษาจากบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ และพื้นที่ที่เกิดเหตุจริงๆ (Field Research) มากกว่า เราเริ่มต้นจากองค์ความรู้ในความเป็นจริง ก่อนที่จะไปค้นคว้าองค์ความรู้ในอดีตที่บันทึกในเอกสาร

         การบริหารประชาคมวิจัยและพัฒนาเป็นงานที่ต้องการการระดมสมองจากทุกฝ่ายที่ร่วมงาน แม้บุคคลอันเป็นวัตถุแห่งการศึกษาจะพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ แต่งานก็ไม่อาจดำเนินไปด้วยดี หากไม่มีการระดมสมองเพื่อแสวงหาแนวคิดในการบริหารจัดการอย่างดี 

         ขอให้ตระหนักว่า โดยข้อเท็จจริง ประชาคมการวิจัยเพื่อพัฒนาเกี่ยวกับคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติเป็นประชาคมที่ใหญ่มาก และแต่ละเครือข่ายไม่มีระบบการทำงานที่เป็นเอกภาพระหว่างกัน การหารือเพื่อจัดการระบบการทำงานร่วมกันจึงเป็นงานที่ไม่ง่ายนัก

         เราจึงเสนอให้มี การประชุมที่ปรึกษาโครงการเด็กไร้รัฐ ซึ่งในช่วงแรก เราพยายามที่จะชักชวนมวลมิตรที่เคยร่วมงานกับเรา ให้เข้ามาร่วมประชุมเพื่อตอบข้อหารือของเรา ณ ที่นี้ เราอาจบันทึกว่า ในขณะที่เริ่มต้นคิดโครงการเด็กไร้รัฐ เราคาดหวังเพียงแค่จะมี คณะกรรมการที่ปรึกษา (Advisory Board or A-Board) เหมือนโครงการวิจัยทั่วไปที่มักมีที่ปรึกษาสักคณะหนึ่งเพื่อช่วยคิด แต่ในระหว่างการทำงาน เราพบว่า คนที่เราไปขอความรู้และความคิดเห็นตั้งแต่วันแรกๆ ของการทำงานในโครงการนี้ ก็ยังติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการ และติดตามให้ความรู้และความคิดเห็นอยู่ตลอดมา และบางท่านก็มาร่วมลงแรงในการทำงานกับเราทั้งในงานวิจัยและงานพัฒนา แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องบันทึกอีกด้วยว่า เพื่อนร่วมทางหลายท่านที่เข้าร่วมในช่วงแรกๆ ก็หายจากเราไปในระหว่างการดำเนินการโครงการ บางก็ท้อถอยกับปัญหาของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติซึ่งมีมากมายและมีแนวโน้มที่จะมีมากขึ้นด้วยความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการและแนวคิดด้านความมั่นคงแบบคลุมเครือที่กลับมาครอบงำประเทศไทยในช่วง พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นต้นมา นอกจากนั้น เราเห็นการจากไปของเพื่อนร่วมทางบางท่าน เนื่องจากมีแนวคิดในการทำงานที่แตกต่างกัน ที่ชัดเจนมากในช่วงที่เราทำงานโครงการเด็กไร้รัฐนี้ ก็คือ เราโดยเฉพาะผู้เขียนงานวิจัยนั้น เริ่มเชื่อมั่นมากขึ้นในแนวคิดที่ถือเอาเจ้าของปัญหาเป็นตัวตั้งของการทำงาน และในแนวคิดที่ใช้กฎหมายและนโยบายในการจัดการปัญหา (Management by Law and Policy) นั้น สำหรับเพื่อนร่วมทางของเราบางท่าน ไม่เห็นว่า แนวคิดดังกล่าวมิใช่วิถีที่ท่านเหล่านั้นมีความเชื่อถือ ท่านเหล่านั้นจึงหายไปจากการทำงานภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ

            แต่เมื่อต่อมาที่เราบรรลุที่จะพบมวลมิตรใหม่และเราสามารถสร้างจุดเชื่อมต่อระหว่างมวลมิตรเก่าและมวลมิตรใหม่ได้ แม้เครือข่ายการทำงานที่ยังไม่เป็นเอกภาพมากนัก ก็อาจทำงานร่วมกันได้ในจุดที่เห็นพ้องต้องกันว่า เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของปัญหา การประชุมเพื่อแสวงหาที่ปรึกษาในการจัดการประชาคมการวิจัยเพื่อการพัฒนาของเราก็เป็นที่ประชุมระหว่างคนทำงานเก่าและคนทำงานใหม่ ดังจะเห็นตัวอย่างจากการประชุมในระบบงานของโครงการแม่ อันได้แก่ โครงการ ดยค มสช. ซึ่งเป็นโอกาสที่เราจะได้หารือกับมวลมิตรใหม่ที่มีความเชื่อใน เด็กนิยม เหมือนกัน

            เราอาจสรุปได้อีกว่า นับแต่ช่วงเวลาคิดสร้างสรรค์โครงการเด็กไร้รัฐในตอนต้นปี พ.ศ.๒๕๔๗ มาจนถึงปัจจุบันซึ่งประชาคมวิจัยและพัฒนาเพื่อเด็กและครอบครัวไร้รัฐไร้สัญชาติก็ยังทำงานอยู่ มีการประชุมเพื่อขอระดมความคิดเห็นในการบริหารจัดการประชาคมวิจัยเพื่อการพัฒนาใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) เป็นการประชุมหารือกันโดยโทรศัพท์และอีเมลล์ในกรณีของที่ปรึกษาและทีมงานซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางหรือไม่มีเวลามากนัก และ (๒) เป็นการหารือกันโดยการประชุมกันในโลกแห่งความเป็นจริง  ซึ่งในรายงานสรุปการดำเนินการของโครงการเด็กไร้รัฐฉบับนี้ เราอยากจะบันทึกถึงการจำแนกการหารือในประการหลังภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐนี้ออกเป็น ๔ ลักษณะ ด้วยกัน กล่าวคือ

          กิจกรรมลักษณะที่ ๑ : การหารือประชาสังคม

            การประชุมที่นับได้ว่า เป็นการหารือเกี่ยวกับประชาคมวิจัยเพื่อการพัฒนากับประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ก็คือ เวทีสาธารณะเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๗ นั่นเอง เราซึ่งเป็นนักวิจัยได้รับข้อคิดเห็นจำนวนไม่น้อยและสร้างสรรค์ในการบริหารจัดการประชาคมวิจัยเพื่อการพัฒนาโครงการเด็กไร้รัฐ ซึ่งประชาคมที่เข้าร่วมเวทีนั้นมีจำนวนกว่า ๖๐ คน และเป็นผู้มาจากหลายภาคส่วนในสังคม โดยคนส่วนใหญ่เป็นมวลมิตรเก่าที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในสังคมไทย

          กิจกรรมลักษณะที่ ๒ : การหารือผู้ทรงวุฒิที่เป็นมวลมิตรเก่า

            นอกจากนั้น ยังมีการประชุมหารือกับผู้ทรงวุฒิเพื่อขอคำปรึกษาในการกำหนดทิศทางและวิธีการทำงานวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐกับผู้ทรงวุฒิซึ่งเป็นมวลมิตรเก่าอีก ๒ ครั้ง กล่าวคือ (๑) เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม  .. ๒๕๔๗ และ (๒) เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๗ ซึ่งทั้งสองครั้งจัด ณ ห้องประชุม ๔๐๕๐ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

            กิจกรรมลักษณะที่ ๓ : การหารือระหว่างทีมวิจัย

               การประชุมหารือระหว่างทีมวิจัยในโครงการเด็กไร้รัฐฯ เพื่อกำหนดทิศทางและวิธีการทำงานวิจัยและพัฒนาเกิดขึ้น ๖ ครั้งด้วยกัน กล่าวคือ (๑) เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๗ ณ ห้องประชุม ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทย์ คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (๒) เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๗ ณ ห้องประชุม ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทย์ คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (๓) เมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๗ ณ มูลนิธิกระจกเงา กทม. (๔)  เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๗ ณ ห้องประชุม ๔๐๕๐ คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ (๕) เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๗ ณ ห้องประชุม คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยพายัพ และ (๖)  เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ณ ห้องรับรอง สนามบินดอนเมือง

             กิจกรรมลักษณะที่ ๔ : การหารือกับคณะนักวิจัยและทีมบริหารในโครงการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

                 การประชุมหารือประชุมกับคณะนักวิจัยและทีมบริหารในโครงการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เกิดขึ้น ๒ ครั้ง กล่าวคือ (๑) เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๗ และ (๒) เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๘ ทั้งสองครั้งจัดที่โรงแรมรามาการ์เด้น กทม.

             กิจกรรมลักษณะที่ ๕ : การหารือกับทีมสื่อสารสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

                การประชุมหารือกับทีมสื่อสารสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อหารือถึงการบริหารจัดการประชาคมวิจัยและพัฒนาเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ครั้งที่สำคัญและวางแนวคิดในการทำงานร่วมกัน ก็คือ ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๗

            จึงสรุปได้ว่า ผลของการทักทอความคิดที่ได้รับจากที่ปรึกษา ทีมงาน เจ้าของปัญหา และผู้สนับสนุนที่เข้ามาร่วมทำงานในประชาคมวิจัยและพัฒนานั้น ก็คือ การเกิดขึ้นของเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาเพื่อเด็กและครอบครัวไร้รัฐไร้สัญชาติที่ร่วมกันผลักดันประชาคมวิจัยและพัฒนาที่วางระบบการทำงานอยู่บนแนวคิดที่สำคัญ ๒ ประการ กล่าวคือ (๑) เด็กนิยม และ (๒) กฎหมายนิยม  

ที่มา : งานเขียนอันเป็นผลมาจากการวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกองทุนศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

หมายเลขบันทึก: 51057เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2006 02:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 19:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท