แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานทันตฯ ในผู้สูงอายุ (5) รวมกลุ่มผู้สูงอายุจัดกิจกรรม (ตอนที่ 3 รพ.พุทไธสง)


ในเรื่องปัญหาสุขภาพไม่ว่า สุขภาพจิต สิ่งแวดล้อม หรือทางด้านคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน ของประชาชน ทุกคน ถ้าเรามองปัญหาร่วมกันแล้ว เราก็จะสามารถแก้ไขได้

 

คุณหมอเก้ากันยา ลีลาเกรียงศักดิ์ ควงแขน นายก อบต.บ้านเป้า อ.พุทไธสง คุณสมบูรณ์ บุญเพชร มาเล่าเรื่องของกิจกรรมผู้สูงอายุที่ อำเภอพุทไธสง ให้พวกเราได้ฟังกันนะคะ

มาลองดูว่า อำเภอพุทไธสง ที่คุณหมอเก้า บอกเอาไว้ว่า บ้านเราบ้านน๊อก บ้านนอก บ้านนอกแบบน่ารัก ... จะน่ารักอย่างไร คุณหมอ และ นายก อบต. จึงทุ่มสุดหัวใจเพื่อทำงาน ณ ที่นี้ละค่ะ

กิจกรรมผู้สูงอายุที่นี่ มีเป้าหมายที่ PCU หายโศก และบ้านแฮด โดยนำผู้สูงอายุ และ อสม. มาทำกิจกรรมร่วมกัน แห่งละประมาณ 48-60 คน คุณหมอแอบบอก ... เลือก อสม. เพราะอาจเป็นคนช่วยเขียนค่ะ

การดำเนินการ เป็นการทำงานร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย คือ อบต. PCU และ รพ. โดย

  1. อบรมให้ความรู้เรื่องโรคในช่องปาก การดูแลสุขภาพช่องปาก การแปรงฟันที่ถูกวิธี ฝึกตรวจฟัน และการบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า
  2. ฝึกทักษะการแปรงฟันที่ถูกวิธี และตรวจความสะอาดโดยการย้อมสีฟัน
  3. กิจกรรมกลุ่ม เพื่อค้นหาสิ่งที่ต้องการ ปัญหา และการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องในชุมชน
  4. เสริมสร้างแรงจูงใจ โดยมอบแปรงสีฟัน ยาสีฟันแก่ผู้เข้าร่วมอบรม
  5. ผู้เข้าร่วมอบรมไปดำเนินกิจกรรมในชุมชนตนเอง โดยผู้เข้าอบรม 1 คน ไปฝึกทักษะการแปรงฟันในผู้สูงอายุ 10 คน และรายงานผลการปฏิบัติ

สรุปผลได้ว่า

  1. ผู้สูงอายุ อสม. และ จนท.สอ. เข้าอบรม ร้อยละ 99.12
  2. ผู้สูงอายุ และ อสม. ได้รับการแจกแปรงสีฟัน ยาสีฟัน สีย้อมฟัน และไม้พันสำลี ร้อยละ 100
  3. ความสะอาดของฟัน หลังการแปรงฟันของผู้สูงอายุ และ อสม. ร้อยละ 100
  4. ผู้สูงอายุ และ อสม. ถ่ายทอดลักษณะการแปรงฟันในหมู่บ้าน ร้อยละ 100
  5. ความสะอาดของฟันหลังแปรงฟันของผู้รับการถ่ายทอด หลังฝึกทักษะการแปรงฟัน ร้อยละ 41.32

กิจกรรมกลุ่ม จะให้คำถาม ให้กลุ่มหาคำตอบก็คือ

  1. ผู้สูงอายุ และ อสม. มีการดูแลสุขภาพช่องปากปัจจุบัน
  2. ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก และปัญหาอื่นๆ ที่พบในปัจจุบัน ... ในข้อนี้ ได้สังเกตดู ก็พบว่า จากข้อ 1 ทำได้ดีมาก แต่ข้อ 2 มีปัญหาเยอะมาก ... แสดงว่า เขาก็คงรู้วิธีการนะคะ แต่ปฏิบัติจริง ทำไม่ได้อย่างที่เขารู้ เพราะว่าปัญหาของเขา ก็ไม่เพียงแต่เป็นปัญหาเรื่องโรคในช่องปากเท่านั้น แต่ก็มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ ปัญหาสังคมก็ด้วย ซึ่งต่างก็มีอิทธิพลในทางลบต่อการรักษาสุขภาพ
  3. ทำอย่างไรให้คนอื่นที่ไม่ได้มาร่วมอบรม มีการดูแลสุขภาพช่องปากได้อย่างถูกต้อง และต่อเนื่อง ... ก็ได้คำตอบว่า ใช้วิธี
    - แนะนำผู้ที่ไม่ได้มา
    - แนะนำลูก หรือคนในครอบครัวให้รักษาความสะอาดฟันให้ถูกวิธี
    - ฝึกให้ อสม. ก่อนในตอนเย็นเวลา 17.00 น. ให้เข้าใจ แล้วก็ให้ไปฝึกต่อที่หลังคาเรือนที่รับผิดชอบ เพราะ อสม. 1 คน รับผิดชอบ 10 ครัวเรือน
    - ประชาสัมพันธ์ และสอนวิธีรักษาฟัน ในวันที่ อสม. ตรวจวัดความดัน
    - อธิบาย สอน และบอกวิธีรักษาฟัน เวลาไปตรวจลูกน้ำยุงลาย (ให้กับครอบครัวนั้นๆ)
    - สอนเด็กในหมู่บ้าน เวลาออกกำลังกาย
  4. ผู้สูงอายุ และ อสม. ต้องการให้หมอ หรือเจ้าหน้าที่ช่วยในเรื่องใดบ้าง

มีบางข้อที่เกี่ยวกับสุขภาพทั่วไป เช่น เขาอยากได้เครื่องช่วยฟัง สำหรับคนหูหนวก และอยากได้แว่นตา เราก็นำไปเสนอ อบต. เพื่อที่จะจัดกิจกรรมร่วมกัน

ต่อจากนั้นก็มีการสรุปข้อมูล และนำข้อมูลปรึกษากับแกนนำผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่ สอ. เพื่อดำเนินกิจกรรมต่อ

  • โครงการต่อเนื่อง คือ กลุ่มที่ไปวัด (ทั้งในวันธรรมดา วันพระ วันจำศีล และ เสาร์-อาทิตย์) กลุ่มตรวจสุขภาพประจำเดือน กลุ่มออกกำลังกาย กลุ่มออมทรัพย์ และกลุ่ม อสม. และคนในชุมชน
  • กิจกรรมที่วัด
    - ให้ข้อมูลสุขภาพ โดยผู้สูงอายุทุกวัน วันละ 3-5 นาที ขณะพระฉันอาหาร
    - ให้ข้อมูลสุขภาพ (เรื่องฟัน และเรื่องอื่นๆ) หรือตามกลุ่มอายุ 2 สัปดาห์ต่อ 1 เรื่อง
    - ตอบคำถาม เรื่อง สุขภาพผู้สูงอายุ ข้อมูลความรู้ โดยประสานงานกับ สอ. และ รพ. เป็นผู้สนับสนุน
    - เริ่มต้นที่เดือน กค. ให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก ดังนี้ ... สัปดาห์ที่ 1 ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ ตอบคำถาม และฝึกปฏิบัติแปรงฟัน ... สัปดาห์ที่ 2 ให้ความรู้ ตอบคำถาม ฝึกแปรงฟัน นำความรู้ที่ได้ไปสอนตามแบบฟอร์ม
    - มีแบบรายงานการฝึกทักษะการแปรงฟันง่ายๆ

 

ที่นี่ผู้สูงอายุจะชอบ สนุกมากเลย ที่มีกิจกรรมให้ทำ และตอนนี้เขาก็ขยายไปหมู่บ้านอื่นด้วย คุณหมอเก้าภูมิใจมาก เพราะคุณแม่ก็เป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมกับเขาด้วย และบอกว่า ตอนหลังๆ มีผู้เข้ามาร่วมเต็มไปหมด

ภาพน่ารักที่พบได้ เมื่อพระ เณร และผู้สูงอายุฝึกแปรงฟันในวัดค่ะ

กลุ่มที่ไปวัดก็นั่งแปรงฟันกันสนุกสนานมากค่ะ นั่งกับพื้นก็มี นั่งยองๆ ก็มี พระ เณร ก็เข้ามาร่วมกิจกรรมหมดค่ะ ...
ที่หายโศกนี้ เจ้าอาวาสบอกว่า ใครไม่มีแปรงสีฟัน ยาสีฟัน ให้มาบอก จะบริจาคให้

 

การทำกิจกรรมในกลุ่มออมทรัพย์ ของเขาก็คือ 1 เดือน เขาจะต้องเอาเงินมาออมกับหัวหน้า ในวันนั้นจะมีผู้ปกครอง พ่อแม่พาลูกมาด้วย ก็จะมาแปรงฟันด้วย ... ในเด็กเล็ก ผู้ปกครองก็จะมาสอนเด็กแปรงด้วย

 

กลุ่ม อสม. และคนในชุมชน (คนชราจะไปสอน อสม. และคนอื่นด้วย) ... เวลาที่ใช้จะเป็นช่วงเวลาตอนเย็น อสม. ก็จะช่วยตรวจฟัน

มีปัญหาและอุปสรรคเหมือนกัน คือ

  • ความไม่เชื่อมั่นในการเปลี่ยนพฤติกรรม ในกลุ่มผู้สูงอายุในช่วงแรก ... หมอเก้าเล่าว่า มีคุณยายพูดอย่างไม่มั่นใจว่า "ให้ยายไปสอน ยายไม่ใช่หมอ แล้วเขาจะเชื่อไหม ยายเป็นชาวบ้านธรรมดา" ตอนแรกเขาไม่เชื่อมั่นเลย แต่ตอนหลังๆ นี่ เขาจะชอบมาก ทำทุกวัน แต่ก็มีการเปลี่ยนคนเข้ามาพูด เพื่อให้คนอื่นได้แสดงบทบาทบ้าง จะได้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า

และตอนนี้ ก็กำลังดำเนินการร่วมไปกับ กิจกรรมเด็กไทยไม่กินหวาน เอากลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านมาร่วมกันทำด้วย ก็เพื่อให้โรงเรียนได้รับทราบ ว่า เราจะลดขนมได้อย่างไร และก็จะนำโครงการเสนอ อบต. เพื่อของบประมาณต่อไป


การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเรา ผู้ทำกิจกรรมผู้สูงอายุ ก็รู้สึกว่า มีรสชาติขึ้นมากเลยนะคะ ที่ท่านนายก อบต.บ้านเป้า อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ คุณสมบูรณ์ บุญเพชร ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมด้วย ท่านได้ฝากความคิดต่อเรื่องการทำงานร่วมกันทางด้านสาธารณสุขไว้ ในวันนี้ด้วยละค่ะ

กิจกรรมเรื่องการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ผมถือว่า เป็นงานของเราที่ต้องทำร่วมกัน เพราะว่าของผมเลือดสาธารณสุข early เมื่อปี 2547 ฟ้า ... ("ฟ้า" ของท่านนายก ก็หมายถึง "ประชาชน" นั่นเอง) ให้มาอยู่ในตำแหน่งนี้ เราก็คงจะเป็นดาวอยู่บนฟ้า และจะทำอย่างไรที่จะทำให้เราได้มาส่องสว่าง ถ้าเรามารวมกัน ทุกภาคส่วนได้มารวมกัน เพื่อให้พี่น้องของเราได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นตัวผลักดันนะครับ และทำอย่างไรให้ "ฟ้า" ที่เราตั้งเป้าหมายไว้ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เฉพาะสาธารณสุขเราคงไปไม่รอด คงจะทำงานเหน็ดเหนื่อย บางครั้ง บางท่านก็อาจจะหมดกำลังใจนะครับ แต่ถ้าเรามาร่วมกันได้ อย่างองค์กรของพวกเรา ... คุณหมอเก้ากันยา และ สสจ. ที่ให้ความตระหนัก ให้ความสำคัญในส่วนนี้ ผมได้มาอยู่ตรงนี้ ก็อยากที่จะทำอะไรให้ดีที่สุด ร่วมกับทางสาธารณสุข ผมคิดตรงที่ว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้คนที่อยู่ตรงนี้ ที่ของเรา จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

ในเรื่องปัญหาสุขภาพไม่ว่า สุขภาพจิต สิ่งแวดล้อม หรือทางด้านคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน ของประชาชน ทุกคน ถ้าเรามองปัญหาร่วมกันแล้ว เราก็จะสามารถแก้ไขได้ อย่างเช่น ถ้ามองผลงานที่ผ่านมา ในการดำเนินกิจกรรมในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นส่วนปลายแล้ว และเราก็ได้ดำเนินการทุกอย่าง ทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น

... ในส่วนบ้านนอกของเรา เราก็อยู่กันด้วยความจริงใจ ถ้าชาวบ้านทำให้ความร่วมมือ เขามีความรู้ อย่างที่ท่าน ผอ.สุธา พูดไว้ว่า งานที่เราไม่สำเร็จ ก็เพราะขาดความรู้ ความรู้บางครั้งพวกเรารู้ แต่การถ่ายทอด การสื่อความหมาย และบางครั้งเราก็ลืม แล้วประชาชน หรือฟ้าของเรา เขาจะรู้ได้อย่างไร เขาจะช่วยเราได้อย่างไร ผมจึงมองที่ว่า ถ้าเราให้ความรู้อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ให้เกิดความรู้ เกิดความตระหนัก เขาก็จะเกิดการให้ความร่วมมือ เราก็จะสามารถทำงานทุกอย่างได้สำเร็จ เราก็จะภาคภูมิใจในผลงานของเรา

สำหรับ องค์การบริหารส่วนตำบล จะมีส่วนในทุกกระทรวง เพราะช่วงนี้ การกระจายอำนาจ พรบ. สาธารณสุขปี 2535 มาเกี่ยวกับประชาชนทั้งนั้น และช่วงนี้ เป็นช่วงจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ซึ่งประมาณเดือน สค. ทางสภาเรา ฝ่ายบริหารก็จะนำข้อบัญญัติมาทำประชาคมกับพี่น้องชาวบ้าน และภาคส่วนราชการ ที่อยากจะทำอะไรในพื้นที่ ให้นำเสนอเป็นโครงการเข้าสู่สภา

ก็ขอฝากว่า พวกเราที่อยู่ในส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ ถ้าเราไม่มีการออกประชาคม ไม่รู้ปัญหาของพี่น้องชาวบ้าน และไปทำแผนงานส่งเข้ามา เพื่อเข้าสู่ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย เราก็ไม่สามารถจะจัดสรรเงินได้ ในการที่จะดำเนินกิจกรรมให้กับพี่น้องของเรา ... ในเขตพื้นที่พุทไธสง คุณหมอเก้ากันยา สสจ. และ เจ้าหน้าที่ PCU ได้ให้ความสำคัญตรงนี้ ก็ได้ส่งแผนงานเข้าไปแล้ว

ที่ อบต. เขตอำเภอพุทไธสง ผมมีโครงการเป็นภาพรวม ว่า มองกลุ่มเด็ก ใช้การให้ทักษะแก่เด็ก ไปให้ความรู้ ไปสอนโดยให้ผู้สูงอายุ ให้เกิดเป็นความภาคภูมิใจ ... เราทำให้ผู้สูงอายุมีความรู้ มีความสามารถตรงนี้ แล้วนำไปให้เด็ก หรือลูกหลาน ในกิจกรรมศูนย์เด็ก output ตรงนี้ก็เป็นการให้เกียรติกัน เราก็จะมีภูมิปัญญา ผู้เฒ่า ผู้แก่ เล่านิทานเป็น เอาผู้สูงอายุที่หน้าสวยๆ ฟันยังมีมาก เอาไปพูดเรื่องนิทานให้เด็กฟัง เล่าให้ฟังเรื่องฟัน ว่า ทำไมตา หรือยายมีฟันดีขนาดนี้ เราก็สอนกันไป และฝึกให้เด็กแปรงฟันได้ตั้งแต่เล็ก หลังทานข้าว 3 เวลา ถ้าทานข้าวเสร็จ ฝึกให้ทำยังงั้น รับรองครับ ทันตฯ ต้องมีงานฟันที่สวยมากเลย โดยคิดไว้ตั้งแต่เด็ก และก็พี่สอนน้อง กิจกรรมวันเด็ก ก็ให้เด็กได้มีความรู้ ให้รางวัลเด็กที่มีฟันสวย ในวันผู้สูงอายุ ก็เอาผู้สูงอายุกับเด็กมาทำกิจกรรมร่วมกัน

สุดท้ายก็ขอปิดท้ายด้วยสโลแกนเท่ห์ๆ ของท่านนายก อบต.สมบูรณ์ บุญเพชรค่ะ

"เราจะทำงาน ให้สำเร็จในทุกด้าน
เราต้องช่วยกัน ทุกฝ่ายจึงได้ผล
ไม่ใช่ว่า ทำแต่พวกเรา เพียงหนึ่งหรือสองคน
ประชาชนนั้นจะสุข ได้อย่างไร"

รวมเรื่อง แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานทันตฯ ในผู้สูงอายุ ครั้งที่ 1

 

หมายเลขบันทึก: 46542เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2006 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

 

เพิ่มเติมเรื่องล่าของพุทไธสงหน่อยนะคะ

คุณหมอเต้ ... ดนุภาส มาเล่าต่อตอนท้ายว่า สำหรับพุทไธสง คุณหมอเก้าตกประเด็นไป 1 เรื่อง คือ

คุณหมอเก้าหยุดประเด็นการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากกับผู้สูงอายุไว้ ที่เรื่องของสุขภาพช่องปาก แต่พุทไธสงไม่ได้หยุดแค่เรื่องสุขภาพช่องปากทีเดียว กิจกรรมจะอยู่ในวังวนของการดูแลสุขภาพช่องปาก มาสู่เรื่องของสุขภาพร่างกายด้วย

เพราะว่าหลังจากที่ผู้สูงอายุรวมกลุ่มกันแปรงฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีผู้สูงอายุอยู่กลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ได้มาร่วมกิจกรรม ที่อยู่บ้าน และไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ อาจจะเพราะว่า เขามีปัญหาเรื่องสุขภาพร่างกาย ผู้สูงอายุที่ไปวัด ก็จะผ่านแวะเวียนมาเยี่ยม คล้ายๆ กับเป็นพยาบาลชุมชนไปในตัวเลย

พอมาเยี่ยมเยียนถามข่าวเสร็จ ก็จะฝากคำถามมาว่า เจ็บไข้ได้ป่วยตรงนี้ แล้วจะดูแลอย่างไร โดยฝากกับกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากมาแล้ว หลังจากนั้น กลุ่มผู้สูงอายุตัวแทนก็นำคำถามไปถามหมอ แล้วก็นำคำตอบมาให้กับผู้สูงอายุที่อยู่ที่บ้าน ก็เป็นเรื่องของการดูแลของเขา แทนที่จะเป็นเรื่องของการดูแลสุขภาพช่องปาก มันกลายเป็นการดูแลเรื่องสุขภาพร่างกาย

โดยที่ รพ. ทำการสนับสนุนวิชาการอย่างเดียว เพราะเข้าไปแค่ตอนแรก คือ เข้าไปหาแกนนำชมรมผู้สูงอายุ

เพิ่มอีกสักหน่อยก็คือ อบต. เข้ามาแต่ในปีแรก เพราะฉะนั้น เมื่อ อบต. + แกนนำ + รพ. เข้ามาพร้อมๆ กัน โครงการนี้เลยไปเร็ว และโครงการมาจบด้วยเรื่องของร่างกายทั้งหมด ไม่ใช่แค่เรื่องของช่องปาก กลายเป็นเรื่องของช่องปากเป็น part นำกิจกรรมของการดูแลสุขภาพร่างกาย

นี่ก็เป็นวงจรเริ่มต้นของงานผู้สูงอายุใน อำเภอพุทไธสงละค่ะ

 

พี่นนทลีคะ

อ๋อขออนุญาตนำภาพในบทความนี้ไปตีพิมพ์ต่อในวารสารทันตภูธรนะคะ คือทาง สสจ.บุรีรัมย์ส่งเรื่องของคุณหมอเก้ากันยา กับงานผู้สูงอายุ รพ,พุทไธสงมา แต่ไม่มีภาพค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ ร่วมด้วยช่วยกันนะคะ

อ๋อค่ะ

ขอบคุณค่ะ เดี๋ยวจะแจ้งทางคุณหมอยักษ์ จีรศักดิ์อีกครั้งค่ะ

อ๋อค่ะ

 

ดีใจจังค่ะที่เห็นพุทไธสงมีคนดี ๆ

เราจะทำงาน ให้สำเร็จในทุกด้าน

เราต้องช่วยกัน ทุกฝ่ายจึงได้ผล

ไม่ใช่ว่า ทำแต่พวกเรา เพียงหนึ่งหรือสองคน

ประชาชนนั้นจะสุข ได้อย่างไร"

ชอบจังค่ะกับคำพูดที่ดูเรียบง่ายแต่ดูมีพลัง

หนูก็เป็นเด็กพุทไธสงค่ะบ่านบุ่งเบาใหญ่ค่ะ

  • P
  • สวัสดีค่ะ น้อง กิ่ง
  • เดี๋ยวนี้ คนดีดี น่าจะมีเยอะนะคะ ... เพียงแต่มาร่วมกันทำความดีให้เห็นผลกันดีกว่า
  • ตอนนี้ กิจกรรมชมรมผู้สูงอายุ ก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ นะคะ พี่ว่า
  • เพราะว่า ผู้สูงอายุเอง ถ้าท่านเป็นหลักของการทำกิจกรรมแล้ว ... พี่คิดว่า ทำอะไรก็สำเร็จแน่นอน เพราะว่า ชาวบ้านทั้งหลาย ก็ต้องสนับสนัน ผู้สูงอายุกันอยู่แล้วละค่ะ
  • ยิ่งภาคอีสาน ผู้สูงอายุยิ่งเข้มแข็งค่ะ
  • ขอบคุณมากค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท