หูเสริมใยเหล็ก


วิวัฒนาการของหูยุคไฮเทค

พักหลัง ๆ ภาพของวัยรุ่นเอาไม้ก๊อกจุกหูเดินไปมาในเมือง กลายเป็นภาพที่คุ้นตา

อือม์..อาจเป็นการพูดเกินเลย เพราะไม่ใช่ไม้ก๊อกซักหน่อย จริง ๆ แล้วเป็นหูฟังรุ่นใหม่เอี่ยมตะหาก ขนาดใช้ไปตั้งหลายครั้ง ยังใหม่จนดมแล้วได้กลิ่นความใหม่โชยออกมา กลิ่นกรุ่ย ๆ (><)

ผมสงสัยว่าผ่านไปอีกหลายสิบปี คนที่ทำแบบนี้บ่อย ๆ เวลาแก่ตัวลง มีโอกาสหูหนวกกี่เปอร์เซนต์ ?

ไม่ใช่ผมไม่เห็นด้วยกับการใช้หูฟัง ผมก็ฟังเพลงกับหูฟังแบบนี้เกือบทุกวัน

แต่สิ่งหนึ่งที่ต่างกัน คือผมฟังในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างเงียบ อย่างเช่น ตอนดึกที่กำลังพิมพ์นี้ ได้ยินเสียงกบเขียดเริงร่าเป็นเสียงฉากหลัง ราวอยู่ในบึงกลางป่า

แต่คนที่ฟังเพลงแบบที่ผมว่า เขาฟังหูฟังกลางเมืองที่กำลังจอแจอึกทึกขนาดที่คุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง

คิดง่าย ๆ ว่าถ้าเราจะฟังเพลงให้สุโข เราก็คงต้องเปิดให้เสียงดังกว่าสิ่งแวดล้อมขึ้นมาสัก 20 เดซิเบล (dB) คุณภาพเสียงจึงจะฟังแล้วเป็นดนตรี

อุตสาห์หาเครื่องเล่นไฮเทคมาฟังดนตรีแล้วไม่เป็นเสียงดนตรี ฟังไปทำไมง่ะ ถ้าไม่บ้าก็เมา

ทุก 10 dB ที่เพิ่มขึ้น คือความดังคูณ 10

20 dB คือความดังคูณ 10 แล้วคูณ 10 อีกที

คือเสียงต้องดังกว่าสิ่งแวดล้อม 100 เท่า

ทำไมผมจึงใช้ 20 dB เป็นตัวตั้ง ?

ครั้งหนึ่ง ผมเคยซื้อบัตรไปนั่งฟังนักดนตรีมาเดี่ยวเชลโล

นักดนดรีเล่นไปหน่อยนึงก็เหลียวหน้าเหลียวหลังหาผู้คุมระบบเสียง ล้งเล้งสักพัก ตอนหลังก็ปิดระบบเสียงไปเลย แล้วเล่นสด

ตอนปิดระบบเสียง ผมได้ยินเสียงความเงียบ

เสียงฮัมของเครื่องเสียงเบากว่าเสียงดนตรีมาก คนฟังแทบสังเกตุไม่ออก แต่สำหรับนักดนตรี เป็นเสียงอึกทึกน่ารำคาญ

ยิ่งหูมีรสนิยม ยิ่งต้องการเสียงรบกวนให้น้อย

หรือในมุมกลับ ต้องเล่นให้ดังกว่าเสียงรบกวนให้มากพอจนไม่รับรู้ถึงเสียงรบกวน

20 dB คือเสียงที่อยากฟัง ต้องดังเป็น 100 เท่าของเสียงรบกวนฉากหลัง หรืออาจบอกว่า เสียงรบกวนระดับ 1 ใน 100 ของเสียงดนตรี

ว่าง่าย ๆ คือ ยิ่งหูมีรสนิยมอันเลิศวิไลในการฟังเพลง ยิ่งเสี่ยงที่จะเปิดดังเป็นพิเศษ เพื่อกลบเสียงจอแจรอบข้างให้หายไป  ซึ่งจะทำให้ความคมชัดของรายละเอียดดนตรีอยุ่ในเกณฑ์ดี

ใน wikipedia (http://en.wikipedia.org/wiki/Decibel) ระบุว่าความดังเกิน 85 เดซิเบลถือว่าเป็นระดับอันตราย

ในเมืองที่จอแจมาก ๆ เสียงจอแจระดับ 70 dB ก็ถือว่าหนักหนาพออยู่แล้ว ลองบวกเข้าไปอีก 20 dB (คูณความดังด้วย 100 เท่า) แล้วจะรอดจากการหูหนวกตอนแก่หรือ ?

ถ้าใช้หลักว่า ฟังดนตรีให้ไพเราะ ต้องฟังให้ดังกว่าเสียงแวดล้อมรอบข้าง 100 เท่า การคูณเสียงความสงบที่มีแต่เสียงนกกา สายลม และแสงแดด ด้วย 100 จะเป็นไรไป แต่การคูณความอึกทึกของมหานครด้วย 100 นั่นก็ไม่ใช่เรื่องควรเพิกเฉยแล้ว

สำหรับผู้ที่ชอบทำแบบนี้ ...

หากตอนนี้หูยังไม่พัฒนาถึงขั้น "หูเสริมใยเหล็ก" ...

เมื่อแก่ตัวลง ...

คงต้องข้ามไปใช้หูรุ่นที่พัฒนาไปอีกขั้น ...

นั่นคือ...

"หูเสริมเครื่องช่วยฟัง"

 

หมายเลขบันทึก: 58534เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2006 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท