ฝึกหายใจ คลายเครียด


Hiker

วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม 2550 ผู้เขียนนำรถไปเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง นั่งรออ่านหนังสือพิมพ์ในศูนย์บริการรถ พบคำแนะนำในการฝึกหายใจ คลายเครียดตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 มีนาคม 2550

ท่านอาจารย์รองศาสตราจารย์กนกรัตน์ สุขะตุงคะ แห่งคลินิกคลายเครียด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลแนะนำวิธีฝึกหายใจ คลายเครียดไว้อย่างนี้ครับ...

(1). อย่าเพิ่งรังเกียจความเครียด:

ความเครียดในระดับที่พอดีมีส่วนช่วยกระตุ้นให้คนเรากระตือรือร้น กระฉับกระเฉง ไม่เฉื่อยชา

ความเครียดที่น้อยเกินมักจะทำให้คนเราเฉื่อยชา ล้าหลัง และขาดพลังการในการทำงาน

ความเครียดที่มากเกินมักจะทำให้คนเราเคร่งเครียด หงุดหงิด งุ่นง่าน รำคาญ... ดีไม่ดีเลยพาลทำให้ตัวเอง และคนรอบข้างเดือดร้อน

ปัญหาของคนยุคนี้มักจะเป็นผลจากความเครียดที่สูงเกิน ซึ่งการฝึกหายใจ คลายเครียดมีส่วนช่วยลดความเครียดได้

(2). ฝึกหายใจ คลายเครียด:

คนเราควรฝึกหายใจเพื่อคลายเครียด โดยเลียนแบบรูปแบบการหายใจช่วงหลับสนิท โดยการนอนหงาย นำมือข้างหนึ่ง (ซ้ายหรือขวาก็ได้) มาวางไว้ที่ท้องอย่างแผ่วเบา

ฝึกหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อกะบังลมเป็นหลัก ลดการหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าอก โดยถือหลัก "หายใจเข้าท้องพอง – หายใจออกท้องยุบ"

หายใจเข้าช้าๆ ลึกๆ... เมื่อหายใจสุดแล้ว ให้กลั้นลมหายไว้ไว้ 5-10 วินาที จากนั้นให้หายใจออกช้าๆ

ทำซ้ำแบบนี้จนครบ 5 นาที และให้สังเกต จดจำว่า การหายใจแบบนี้ "เบา... สบาย" อย่างไร เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และเปรียบเทียบว่า เวลาเราผ่อนคลายกับเวลาเครียด... เราหายใจต่างกันอย่างไร

ต่อไปเราจะค่อยๆ รับรู้ได้ว่า เวลาเครียดหายใจอย่างไร เวลาผ่อนคลายหายใจอย่างไร หลังจากนั้นให้พยายามหายใจช้าๆ ลึกๆ และใช้หลัก "หายใจเข้าท้องพอง – หายใจออกท้องยุบ" เวลาเครียด... ความเครียดจะค่อยๆ ลดลง

(3). ฝึกเกร็ง-ผ่อนคลาย:

การฝึกคลายเครียดง่ายๆ เริ่มจากการฝึกเกร็งกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งทีละส่วน สังเกตลักษณะการเกร็ง จากนั้นให้ผ่อนคลายเต็มที่ และสังเกตลักษณะการผ่อนคลาย

เมื่อฝึกบ่อยๆ และสังเกตจนชำนาญจะเกิดการเรียนรู้ว่า เวลาเราผ่อนคลายกับเวลาเครียดง... กล้ามเนื้อเกร็งต่างกันอย่างไร ผ่อนคลายต่างกันอย่างไร

ต่อไปเราจะค่อยๆ รับรู้ได้ว่า เวลานี้เครียดซึ่งกล้ามเนื้อจะเกร็ง และเวลาผ่อนคลายซึ่งกล้ามเนื้อจะหย่อนความตึงลง หลังจากนั้นให้พยายามผ่อนคลาย (relax) กล้ามเนื้อเวลาเครียด... ความเครียดจะค่อยๆ ลดลง

ท่าที่แนะนำให้ฝึกเกร็งก่อน ผ่อนคลายทีหลัง เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ระดับความเครียด สังเกตคลื่นแห่งความผ่อนคลายที่กระจายจากแขนไปสู่ปลายมือได้แก่

  • กำมือให้แน่น 10 วินาที แล้วผ่อนคลาย
  • เลิกคิ้วสูงสุดเหมือนประหลาดใจ แล้วผ่อนคลาย
  • ยิ้มกว้างสุด แล้วผ่อนคลาย

  • ก้มคางลงให้ใกล้ชิดหน้าอกมากที่สุด แล้วผ่อนคลาย
  • เกร็งกล้ามเนื้อคอ แล้วผ่อนคลาย
  • กัดฟันกราม แล้วผ่อนคลาย

  • ยกไหล่สูงขึ้น ให้ไหล่ใกล้ติ่งหูมากที่สุด แล้วผ่อนคลาย
  • แอ่นอกไปทางด้านหน้าให้มากที่สุด แล้วผ่อนคลาย
  • แขม่วท้องให้ท้องแฟบไปทางกระดูกสันหลังให้มากที่สุด แล้วผ่อนคลาย (ห้ามฝึกท่านี้ถ้ามีเส้นเลือดในช่องท้องโป่งพอง)

  • ขมิบก้น แล้วผ่อนคลาย
  • ยกขา 2 ข้างจากพื้นเล็กน้อย เหยียดตรง กดจิกนิ้วเท้าลงไปทางฝ่าเท้าจนน่องเกร็ง แล้วผ่อนคลาย
  • ยกขา 2 ข้างจากพื้นเล็กน้อย เหยียดตรง ทำตรงข้ามกับท่าก่อนหน้านี้คือ กระดกปลายเท้าเข้าหาตัวจนรู้สึกเกร็งหน้าขา แล้วผ่อนคลาย

ท่าฝึกคลายเครียดเหล่านี้... ขอเรียนเสนอให้ท่านผู้อ่านลองทำดู ชอบท่าไหน ให้ฝึกทำท่านั้นบ่อยๆ

ท่านที่นั่งทำงานวันละนานๆ หรือเดินทางไปไหนมาไหนไกลๆ โดยเฉพาะนั่งรถนานๆ เรียนเสนอให้ฝึกทำท่าคลายเครียด 3 ท่าได้แก่

  • ท่าลุกขึ้นเหยียด:
    ให้เปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่ายืน หายใจเข้าพร้อมกับเหยียดมือขึ้นเหนือหัว แหงนหน้า ทำคล้ายๆ กับจะแบมือขึ้นรับพลังจากฟากฟ้า... นั่งลง และทำซ้ำ 2-3 ครั้ง

  • ท่าขยับข้อเท้าขึ้นลง:
    เวลานั่งนานๆ... แนะนำให้กระดกข้อเท้าขึ้นลงบ่อยๆ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด และแก้เมื่อย

  • ท่าจิก-กระดกนิ้วเท้า:
    เวลานั่งนานๆ... เลือดมักจะไปคั่งที่น่องและเท้า ทำให้เสี่ยงต่ออาการปวดเมื่อย เส้นเลือดดำอุดตัน ให้จิกนิ้วเท้าลงไปทางฝ่าเท้า เกร็งไว้ 1-2 วินาที แล้วกระดกนิ้วเท้ากลับไปทางหลังเท้า เกร็งไว้ 1-2 วินาที ทำสลับกันบ่อยๆ จะเพิ่มการไหลเวียนเลือด และแก้เมื่อยได้ดี

เรียนเสนอให้ท่านผู้อ่านลองทำดู ได้ผลอย่างไร นำมาเล่าสู่กันฟังได้ครับ...

    แหล่งที่มา:    

  • ขอขอบพระคุณ (thank / courtesy of...) > อาจารย์ลักษณ์โตเผ่น วุฒิศักดิ์. แปลงความเครียดเป็นทุน. กรุงเทพธุรกิจ. 25 มีนาคม 2550. หน้า 10.
  • ขอขอบพระคุณ > ศูนย์บริการรถเชพโรเลต ลำปาง. 31 มีนาคม 2550.
  • ขอขอบพระคุณ > โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี + อาจารย์เทวินทร์ IT + พต.ศรัณย์ มกรพฤฒิพงษ์ โร > สนับสนุนทางเทคนิค + อินเตอร์เน็ต.
  • ขอขอบพระคุณ > ศูนย์มะเร็งลำปาง + อาจารย์ ณรงค์ ม่วงตานี และคุณเบนซ์(ชื่อรวย ตัวจริงไม่รวย) IT ศูนย์มะเร็งลำปาง > สนับสนุนทางเทคนิค + อินเตอร์เน็ต.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์. จัดทำ > ๒ เมษายน ๒๕๕๐.
  • บ้านสาระ > [ Click - Click ]
หมายเลขบันทึก: 88047เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2007 12:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ภาพประกอบน่ารักมากครับอาจารย์
  • ปกติผมนั่งสมาธิ คลายอารมณ์
  • ตอนนี้ฝึกงานอยู่ที่มติชนครับ ไม่ค่อยได้เข้ามาใน Gotoknow
  • ด้วยความเคารพครับ

ขอขอบคุณ... คุณ Beever และท่านผู้อ่านทุกท่าน

  • ก่อนอื่นขอแสดงความยินดีที่ได้มีโอกาสฝึกงานที่มติชน ซึ่งเป็นสำนักข่าว และเป็นสำนักพิมพ์ระดับชาติ
  • การได้ฝึกงานกับหน่วยงานชั้นนำเช่นนี้เป็นโอกาสทองของชีวิตทีเดียว

ต่อไป...

  • ขอขอบคุณที่ให้กำลังใจกับภาพประกอบ (เมื่อก่อนสอบศิลปะได้ที่โหล่ประมาณ 3 ปีทีเดียว)

ลืมไป...

  • ภาพคนเดิน(ภาพสี)... ดาวน์โหลดมาจาก Smiley
  • ไม่ใช่ฝีมือผมแน่นอน

ขอบพระคุณครับอาจารย์วัลลภ สำหรับวิธีคลายความเครียด หลายๆ แบบ

ผมมีโอกาสให้ผู้มารับบริการบางคน ลอง เฝ้ามองและสังเกตลมหายใจ โดยเฉพาะ ในผู้ที่มีความกังวลใจ

วิธีการทำโดย สังเกตที่บริเวณปลายจมูก โดยไม่ต้องท่อง หรือบริกรรม   (วิธีการไม่ท่องคำใดๆ นำวิธีการนี้มาจาก คำแนะนำใน หนังสือของท่านโกเองก้า และจากคำแนะนำของอาจารย์วิชิต ที่เป็นศิษย์ของท่าน)

โดยทำครั้งหนึ่งประมาณห้านาทีก็พอ โดยให้ตอบคำถามง่ายๆ ว่าลมหายใจที่ผ่านรูจมูก แต่ละข้างนั้น ร้อนหรือเย็นต่างกันอย่างไร

เท่าที่ลองสังเกต และสอบถามดู ก็สามารถจะทำกันได้ และสนุกพอควร และผลพลอยได้คือ บางคนสามารถจะลดความทรมาน จากอาการคันได้บ้าง

หมอสุข 

 

 

 

ขอขอบพระคุณอาจารย์หมอสุข และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • การสังเกตลมหายใจน่าจะเป็นวิธีคลายเครียดที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งเท่าที่มีมาในโลก...
  • คำบริกรรมเป็น "เครื่องช่วย" หรือ "ทางผ่าน" สำหรับการอบรมเจริญสมาธิ
  • ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ถ้าเจริญเมตตาแล้วเกิดปีติติดต่อกัน... คำบริกรรมจะหายไป

ท่านโคเอนก้า...

  • ได้ยินจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุเทพ โพธิสัทธา อาจารย์สอนพระอภิธรรมว่า ท่านเป็นชาวพม่าเชื้อสายอินเดียง

คนพม่ากับแขก...

  • น่าสนใจว่า คนพม่าดูจะ "ไม่ชอบแขก" มากกว่าคนไทยเสียอีก
  • เพราะอังกฤษ "นำเข้า" แขกจากบังคลาเทศ(พม่าเรียกว่า "บินกะลา") ไปในพม่าเพื่อใช้แรงงาน และ "นำเข้า" แขกจากอินเดีย(พม่าเรียกว่า "อินดิยะ") เป็นนายทุน
  • คนพม่าเลยไม่ค่อยชอบแขก... ช่วงที่ทหารปฏิวัติ ท่านโคเอนก้าเลยต้องหนีออกนอกประเทศ

คำแนะนำ...

  • คำแนะนำให้การฝึกสังเกตลมหายใจว่า "ร้อนหรือเย็น" ผ่านรูจมูกแต่ละข้างน่าสนใจมาก
  • ผมคิดว่า จะนำไปฝึกดู

ช่องจมูก...

  • ช่องจมูก 2 ข้างของคนเรามักจะไม่เหมือนกัน เช่น ช่องจมูกข้างซ้ายของผมจะอักเสบ หรืออุดตันได้ง่ายกว่าข้างขวา มีความโค้งมากกว่า และมีพื้นที่ตัดขวางน้อยกว่าข้างขวา ฯลฯ
  • ขอแสดงความยินดีกับท่านผู้อ่านทุกท่านที่มีช่องจมูกดีทั้ง 2 ข้าง

ขอขอบพระคุณอาจารย์หมอสุขครับ...

" หายใจเข้าท้องพอง  หายใจออกท้องยุบ " เป็นการหายใจด้วยกระบังลม  ( Diaphragmatic Breathing หรือ Abdominal Breathing )   นักร้องและนักวิ่งก็ฝึกการหายใจแบบนี้อยู่นะครับ  ฝึกแล้วจะร้องเพลงเพราะแถมวิ่งเร็วๆนานๆ ไม่จุกเสียดครับ

การหายใจเข้าช้าๆ ลึกๆ... เมื่อหายใจสุดแล้ว ให้กลั้นลมหายไว้ไว้ 5-10 วินาที จากนั้นให้หายใจออกช้าๆ  เหมือนการฝึกหายใจของโยคะ  ( แต่ของโยคะให้หายใจออกทางปากช้าๆ )  ทำให้หายเครียดได้ดีครับ 

 

ขอขอบพระคุณอาจารย์คนชอบวิ่ง และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • ขอขอบพระคุณที่กรุณาสรุปประเด็นให้กระจ่าง ชัดเจน แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น
  • อาจารย์ทำให้พวกเราทราบว่า นี่เป็นเทคนิคของนักกีฬา-นักร้อง (1) และเป็นเทคนิคโยคะ (2)...
  1. เรียนเสนอให้พวกเราฝึก "หายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องยุบ" กันครับ... อาจารย์ท่านว่า ดีกับนักร้อง นักวิ่ง และขอเพิ่มเติมว่า ดีกับครูบาอาจารย์ นักเทศน์ และนักสวดมนต์ - สาธยายธรรมด้วย เพราะจะทำให้เสียงดี กังวาล ไม่เหนื่อยง่าย
  2. เรียนเสนอให้พวกเราฝึก "หายใจเข้าลึกๆ > กลั้นไว้ > หายใจออก" เพื่อคลายเครียดกันครับ

ขอขอบพระคุณครับ...

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท