การถอดบทเรียนและเขียนความรู้เพื่อนำไปพัฒนาอย่างต่อเนื่อง


การใช้แผนภาพปรากฏการณ์วิทยาเพื่อถอดบทเรียนและจัดการความรู้แบบเสริมพลังอย่างมีส่วนร่วม ตัวอย่างจากการถอดบทเรียน การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาการวิจัย วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร ชลบุรี วันจันทร์ที่ ๓๐ พฤศิกายน ๒๕๕๒

คลิ๊กตรงนี้ครับ : แสดงเครื่องมือการใช้ถอดบทเรียนบนเวที และบันทึกข้อมูลจากการระดมความคิดเพื่อเรียนรู้และสร้างความรู้ไปด้วยกันเป็นกลุ่ม

  • แบบสอบถามมีโครงสร้างเชิงปรากฏการณ์วิทยาที่ใช้เก็บข้อมูลแบบทั่วไป ซึ่งทำให้โครงสร้างและการปฏิสัมพันธ์กันของนักวิจัย นักวิชาการ กับชาวบ้านและชุมชน เป็นโครงสร้างเชิงอำนาจแนวดิ่ง (Vertical Power Relationship) และทำให้ความรู้ที่ได้สร้างขึ้น ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจัดการถ่ายทอดกลับไปหาชาวบ้านและชุมชน ซึ่งในบางเรื่องที่เป็นความจำเป็นของชาวบ้านจะทำให้มีข้อจำกัด เนื่องจากในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ การมีส่วนร่วมของชาวบ้านและชุมชนจะเป็นเพียงผู้ตอบแบบสอบถามและเป็นแหล่งข้อมูล
  • ประเด็นโครงสร้างเชิงปรากฏการณ์วิทยา แบบเดียวกับที่ทำเป็นแบบสอบถามหรือแบบสัมภาษณ์ เมื่อนำมาออกแบบทำเป็นเครื่องมือเชิงกระบวนการเพื่อถอดบทเรียนและบันทึกเป็นข้อมูลทั้งเพื่อสร้างเป็นเอกสารบันทึกความรู้และเป็นข้อมูลเพื่อการวิจัย
  • ตัวอย่างการบันทึกการถอดบทเรียนบนเวทีระดมความคิด โดยใช้แผนภาพเชิงปรากฏการณ์วิทยา ซึ่งประเด็นโครงสร้างเชิงปรากฏการณ์วิทยาแบบที่ต้องการในแบบสอบถาม ได้ทำให้เป็นการวาดภาพและแผนภาพเพื่อบันทึกข้อมูลบนเวที ทำให้การเก็บบันทึกข้อมูล การวิเคราะห์ การสรุป และการเรียนรู้เพื่อนำเอากลับไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือการทำงาน เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ทุกคน ทั้งนักวิจัย ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และทุกคนที่ร่วมอยู่ในเวที ต้องคิดและทำสิ่งต่างๆด้วยกัน เป็นโครงสร้างแบบปฏิสัมพันธ์แนวราบ ( Horizontal Interactive Relationship)  เกิดการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ กลับเข้าไปเป็นความรู้จำเพาะตนของปัจเจก (Tacit Knowledge) และเป็นการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ซึ่งทำให้เวทีการรวมกลุ่ม พัฒนาการความเป็นกลุ่มประชาคมและชุมชนแห่งการเรียนรู้

คลิ๊กตรงนี้ครับ : การประมวลผลและเขียนบันทึกความรู้ ตัวอย่างจากการถอดบทเรียนการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาการวิจัย วิทยาลัยสาธารณสุขสิรินธร ชลบุรี

ตัวอย่างข้อมูลจากแผนภาพปรากฏการณ์วิทยา นำมาประมวลผลบนเวทีแล้วเขียนเรียบเรียง บันทึกเป็นเอกสารความรู้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ คือ...

  • รวบรวมเป็นเอกสารและการบันทึกความรู้แบบสะสม พัฒนาเพิ่มมากขึ้นตามลำดับทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
  • ทำเป็นงานวิจัยบนงานประจำ และเป็นการวิจัยแบบกระดาษแผ่นเดียว ทำให้คนทำงานมีวิธีการรวบรวมประสบการณ์และความรู้ของผู้คนอย่างเป็นระบบ เพื่อสะท้อนไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนางาน
  • บันทึกความรู้เป็นข้อมูลเพื่อการวิจัยเชิงสังเคราะห์ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
  • นำไปเป็นข้อมูลความรู้ทำเป็นสื่อ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และจัดการการสื่อสารเรียนรู้ของสังคม ให้กว้างขวางมากยิ่งๆขึ้น
  • บันทึกลงในแหล่งจัดเก็บรวบรวมความรู้แบบสะสม เช่น บันทึกลงบล๊อก เป็นต้น

ข้อดีสำหรับการใช้ทำงาน

การถอดบทเรียนแบบเสริมพลังอย่างมีส่วนร่วมในลักษณะดังกล่าว มีข้อดีหลายประการ คือ

  • แม้เป็นเพียงวิธีถอดบทเรียนและเก็บข้อมูล ก็ทำให้สามารถปฏิบัติการเชิงสังคมได้ ทำให้การวิจัยเป็นทั้งวิธีสร้างความรู้และเป็นนวัตกรรมการจัดการอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนไปด้วย
  • ทำให้การระดมความคิด ไม่เป็นการพรรณารายละเอียดแบบทั่วไป แต่จะสะท้อนการคิดเชิงระบบ มีโครงสร้างเชิงปรากฏการณ์ เห็นความเป็นตัวแปรจากตัวคน กลุ่มคน และผู้สร้างปรากฏการณ์ ทำให้เป็นความรู้ที่สามารถสนับสนุนบทบาทของผู้กระทำได้อย่างเจาะจงมากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ
  • ทำให้กลุ่มคนและชุมชนที่ร่วมเวที มีส่วนร่วมได้ในทุกฐานะและทุกกระบวนการอย่างเข้มข้นได้ไปตามความชำนาญและทักษะของนักวิจัย พัฒนาวิถีการทำงานให้ผู้มีส่วนร่วมค่อยๆได้การเรียนรู้เปลี่ยนแปลงจาก Passived participant เป็นActive participant
  • นักวิจัย นักวิชาการ และผู้บริหาร จะมีบทบาทเท่าเทียมกับผู้อื่นมากขึ้น โดยเป็นผู้นำการจัดกระบวนการและสามารถเป็นผู้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วย
  • กลุ่มผู้ร่วมเวทีจะเกิดการพัฒนาภาวะผู้นำเป็นกลุ่ม (Collective Leadership) ชุมชนและกลุ่มปัจเจกมีประสบการณ์ในการพัฒนากลุ่มทางสังคมและได้เรียนรู้ที่จะจัดความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ได้มากขึ้นเรื่อยๆผ่านการปฏิบัติการเชิงสังคมและการเรียนรู้จากการแก้ปัญหาด้วยกันกับคนอื่น และสามารถเกิดองค์กรจัดการด้วยโครงสร้างที่สะท้อนความสำนึกรู้ร่วมกันมากกว่าการจัดตั้งที่เป็นทางการแต่ทำงานไม่ได้
  • ผู้บริหารและผู้มีอำนาจ ก็จะเกิดการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงอำนาจแบบดั้วเดิม ไปสู่การเป็นผู้นำด้วยพลังอำนาจทางความรู้  อำนาจเชิงคุณธรรม และอำนาจเชิงการปรึกษาหารือ เปิดกว้าง มากยิ่งๆขึ้น
  • ก่อเกิดความเป็นชุมชน และเป็นปัจจัยเงื่อนไขในการก่อเกิดสุขภาวะของส่วนรวม ในกลุ่มประชากรขนาดที่พอเหมาะของชุมชนระดับต่างๆ
หมายเลขบันทึก: 317669เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2009 14:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะ ได้ copyไปเก็บไว้ใช้ในการทำงานค่ะ

  • สวัสดีครับคุณ nana
  • ด้วยความยินดีครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท