ข้อมูลคดีปราสาทพระวิหาร


สรุปเหตุผลที่แท้จริงที่ประเทศไทยเสียปราสาทพระวิหารคือ การยอมรับความคลาดเคลื่อนของแผนที่อันเป็นผลมาจากการทำแผนที่ฝ่ายเดียวของเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส ซึ่งศาลโลกเห็นว่า หลังจากที่ทำสนธิสัญญาประเทศสยามอยู่ในฐานะที่จะคัดค้านความไม่ถูกต้องของแผนที่ได้หลายครั้ง แต่ก็มิได้คัดค้าน จึงปิดปากประเทศสยามว่าต่อมาจะปฏิเสธความไม่ถูกต้องของแผนที่ไม่ได้…

เนื่องจากผมได้บันทึกเรื่องไปเที่ยวปราสาทพระวิหาร มาสองสามตอนแล้วมีหลายท่านเข้ามาเติมเต็มประเด็นต่างๆกัน และในโอกาสที่ปราสาทพระวิหารกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาเป็นมรดกโลก และจากสื่อมวลชนที่ตามเรื่องนี้จึงมีข้อมูลที่น่าสนใจแก่สาธารณะที่ผู้บันทึกขออนุญาตผู้เขียนมาเสนอ  โดยมิประสงค์จะให้เกิดผลใดๆในทางมิชอบ ตรงข้ามประสงค์ให้เราเรียนรู้เท่าทันและตามติดเรื่องอย่างมีสติแห่งสันติสุขร่วมกัน


ข้อมูลนี้เป็นของท่านประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนไว้ในหัวข้อ เหตุผลใดไทยจึงแพ้คดีปราสาทพระวิหารมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
บทนำ

ประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหารกลายเป็นหัวข้อที่สาธารณชนให้ความสนใจอีกครั้ง เมื่อประเทศกัมพูชายื่นเรื่องการขอเสนอให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามอนุสัญญา Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage โดยที่ประเทศไทยคัดค้านการยื่นฝ่ายเดียวของกัมพูชา โดยอ้างเรื่องความสมบูรณ์ทางวิชาการด้านโบราณคดีและการที่ทั้งสองประเทศยังตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับเขตแดน

แม้คดีนี้จะผ่านความรับรู้ของคนไทยมายาวนานแล้วก็ตามแต่ปรากฏว่ามีคนไทยน้อยมากที่รู้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในเรื่องนี้ 

เหตุผลที่คนไทยไม่ค่อยรู้ความเป็นมาเป็นไปในคดีปราสาทพระวิหารอาจเป็นเพราะว่าประเทศไทยแพ้คดีนี้ให้กับประเทศเพื่อนบ้านคือกัมพูชา จนทำให้สังคมไทยไม่อยากกล่าวถึงคดีนี้มากนัก และด้วยเหตุที่คนไทยรู้จักกับคดีนี้น้อย จึงอาจมีการบิดเบือนข้อมูลได้ง่าย เนื่องจากคดีนี้มีสองประเด็นใหญ่ที่ต้องพิจารณาคือ ประเด็นเรื่องการยอมรับเขตอำนาจศาลและการพิจารณาขั้นเนื้อหา
จึงขอแยกอธิบาย ดังนี้

ประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลโลก

ประชาชนคนไทยมักจะสงสัยอยู่เสมอว่า ทำไมประเทศไทยต้องไปขึ้นต่อสู้คดีต่อศาลโลกที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีอธิปไตย มีเอกราช การขึ้นต่อสู้คดีของประเทศไทยมิเท่ากับเป็นการเสียเอกราชหรือ

ประเด็นนี้ เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่สลับซับซ้อน หากใช้ความรู้สึกชาตินิยมหรือสามัญสำนึกย่อมไม่เข้าใจว่าทำไมประเทศไทยต้องขึ้นศาลโลก ผู้เขียนจะขออธิบายช่องทางการยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเสียก่อนว่ามีวิธีการใดบ้าง การยอมรับเขตอำนาจศาลโลกนั้นทำได้อยู่สามประการคือ

ประการแรก: การยอมรับเขตอำนาจการพิจารณาคดีโดยการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาใดอนุสัญญาหนึ่งซึ่งกำหนดว่า หากมีปัญหาในการตีความสนธิสัญญา ให้ศาลโลกเป็นผู้พิจารณา

ประการที่สอง: ประเทศคู่พิพาทตกลงทำความตกลงยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเป็นเฉพาะกรณีๆ ไป กล่าวคือ เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นมาแล้ว รัฐคู่พิพาทได้ทำสนธิสัญญายอมรับเขตอำนาจศาลเฉพาะข้อพิพาทนั้น และ

ประการที่สาม: รัฐได้ทำคำประกาศฝ่ายเดียวยอมรับเขตอำนาจศาล ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐกำหนดไว้

ประเด็นเรื่องการยอมรับเขตอำนาจศาลโลก (ทั้งศาลโลกเก่าและใหม่) ของประเทศไทยนั้นเป็นประเด็นที่คนไทยไม่ใคร่ได้กล่าวถึง อาจเป็นเพราะว่าเป็นประเด็นข้อกฎหมายมากเกินไปประชาชนทั่วไปจึงไม่ค่อยได้สนใจ

อีกทั้งทางการก็มิได้ชี้แจงประเด็นนี้ต่อสาธารณชนมากนัก ทั้งๆ ที่ประเด็นนี้มี ความสำคัญอย่างมาก และเป็นประเด็นที่หากมีการกล่าวถึงในวงกว้างแล้วก็อาจมีผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องได้ แต่เนื่องจากประเด็นนี้สำคัญ ผู้เขียนจึงมิอาจหลีกเลี่ยงที่จะข้ามไปได้จึงขอกล่าวถึง ดังนี้

ประเทศไทยได้ทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจของศาลโลก ทั้งหมด 3 ฉบับ ดังนี้

ฉบับแรก: ทำเมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ.1929 และเริ่มมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ในปี ค.ศ.1930 โดยคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเก่าซึ่งชื่ออย่างเป็นทางการคือ "ศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ" (Permanent Court of International Justice : PCIJ) เป็นเวลา 10 ปี

ฉบับที่สอง: รัฐบาลไทยทำคำประกาศโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ "ต่ออายุ" (renew) เขตอำนาจศาลโลกเก่า โดยคำประกาศฉบับที่สองนี้ทำเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ.1940 โดยคำประกาศที่สองนี้เริ่มมีผลใช้บังคับวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ.1940

ฉบับที่สาม: รัฐบาลไทยทำเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ.1950 ซึ่งหลังจากที่คำประกาศฉบับที่สอง (ที่ต่ออายุคำประกาศฉบับแรก) หมดอายุเป็นเวลา 14 วัน

มีข้อสังเกตที่น่าสนใจและเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่ฝ่ายไทยนำมาอ้างก็คือ ศาลโลกเก่านั้นได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1946 และตามธรรมนูญของศาลโลกใหม่ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ" (International Court of Justice : ICJ) นั้นมาตรา 36 วรรค 5 ได้กำหนดว่า ให้การยอมรับเขตอำนาจ "ศาลโลกเก่า" โอนถ่ายไปยัง "ศาลโลกใหม่" หากว่า คำประกาศนั้นยังมีผลใช้บังคับอยู่หรือกล่าวง่ายๆ คือ ยังไม่ขาดอายุนั่นเอง

ข้อต่อสู้เกี่ยวกับการคัดค้านเขตอำนาจศาลโลกใหม่ที่ทนายความฝ่ายไทยต่อสู้ในชั้นของการคัดค้านเขตอำนาจของศาลโลกใหม่นั้นมีว่า คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเก่าได้ยุติลงอันเป็นผลมาจากการสิ้นสุดของศาลโลกเก่า ดังนั้น คำประกาศต่ออายุเขตอำนาจศาลโลกเก่าเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ.1950 จึงไม่มีผลใช้บังคับอีกต่อไป

อีกทั้งคำประกาศดังกล่าวมิใช่คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกใหม่ ดังนั้น ศาลโลกใหม่จึงไม่มีเขตอำนาจ

แต่ข้อต่อสู้นี้อ่อนมาก ศาลโลกเห็นว่า คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลฉบับที่สามที่รัฐบาลไทยทำเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ.1950 นั้น ไม่สามารถใช้เป็นเหตุผลในการต่ออายุยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเก่าได้ เพราะว่า คำประกาศฉบับที่สามนี้ ทำหลังจากที่คำประกาศฉบับที่สองหมดอายุแล้วสองอาทิตย์

ศาลโลกเห็นว่า สิ่งที่จะต่ออายุได้นั้น สิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งที่ยังมีอยู่ มิใช่เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว อีกทั้งรัฐบาลไทยก็รู้ดีว่าขณะที่ทำคำประกาศฉบับที่สามนั้นทำหลังจากที่ศาลโลกเก่าได้สิ้นสุดลงแล้วกว่าสี่ปี (ศาลโลกเก่าสลายตัวเมื่อปี ค.ศ.1946 แต่คำประกาศฉบับที่สามทำเมื่อปี ค.ศ.1950) ข้ออ้างของประเทศไทยจึงฟังไม่ขึ้น

ประเด็นต่อไปมีว่า ในเมื่อคำประกาศฉบับที่สามฟังไม่ได้ว่าเป็นคำประกาศต่ออายุยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเก่าแล้ว ผลในทางกฎหมายของคำประกาศฉบับที่สามคืออะไร ศาลโลกเห็นว่า คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลฉบับที่สามเป็นคำประกาศใหม่ ที่แยกเป็นเอกเทศออกจากคำประกาศฉบับแรกและฉบับที่สอง 

และหากพิจารณาเนื้อหาของคำประกาศที่สามแล้ว ศาลโลกเห็นว่า เป็นการประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกใหม่ โดยอิงเงื่อนไขจากคำประกาศฉบับแรก  ดังนั้น ศาลโลกจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ศาลโลกมีเขตอำนาจพิจารณาข้อพิพาทที่รัฐบาลกัมพูชาฟ้องรัฐบาลไทย ข้อต่อสู้ทางกฎหมายของฝ่ายไทยฟังไม่ขึ้น

ประเด็นเรื่องเนื้อหาของข้อพิพาท

คําร้องของกัมพูชาที่สำคัญที่ให้ศาลโลกวินิจฉัยคือประเด็นที่ว่า กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอันเป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร การนำเสนอพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายนั้นมีดังนี้

ฝ่ายไทยเสนอว่า หากพิจารณาตามสนธิสัญญาที่สยามทำกับประเทศฝรั่งเศส (ขณะนั้นประเทศฝรั่งเศสปกครองกัมพูชา) เมื่อปี ค.ศ.1904 ซึ่งตามสนธิสัญญาจะใช้ "สันปันน้ำ" (watershed) ปราสาทพระวิหารจะอยู่ฝั่งไทย แต่หากพิจารณาตามแผนที่ ปราสาทพระวิหารจะอยู่ฝั่งกัมพูชา

ขออธิบายตรงนี้เลยว่าหลังจากที่มีการทำสนธิสัญญาทวิภาคีในปี ค.ศ.1904 ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งคณะกรรมการผสมขึ้น และไม่นานนัก คณะกรรมการชุดนี้ก็มิได้ทำงานอีกต่อไป ต่อมา ฝ่ายไทยได้ร้องขอให้ประเทศฝรั่งเศสจัดทำแผนที่ขึ้น ข้อสังเกตเกี่ยวกับแผนที่เจ้าปัญหาฉบับนี้ มีดังนี้

ประการแรก: แผนที่นี้เป็นการร้องขอจากฝ่ายไทยให้ประเทศฝรั่งเศสทำขึ้น แผนที่นี้ทำขึ้นที่กรุงปารีส การที่ประเทศร้องขอให้ประเทศฝรั่งเศสทำขึ้นนั้นเป็นเพราะว่าในขณะนั้นประเทศไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญในการทำแผนที่

ประการที่สอง: การปักปันเขตแดนแล้วลงมาตราส่วนลงในแผนที่เป็นการกระทำฝ่ายเดียวของประเทศฝรั่งเศส โดยที่ฝ่ายไทยไม่มีส่วนร่วมเลย

ประการที่สาม: การทำแผนที่นี้ไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการผสมแต่อย่างใด ในประเด็นนี้ผู้พิพากษาฟิสต์มอริสซึ่งเป็นหนึ่งในองค์คณะกล่าวว่า คณะกรรมการผสมไม่เคยแม้แต่จะ "เห็น" แผนที่นี้ อย่าว่าแต่ "รับรอง" เลย เป็นการร้องขอฝ่ายเดียวจากรัฐบาลไทย 

ประการที่สี่: เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดและเป็นเหตุผลสำคัญที่ศาลโลกวินิจฉัยให้ประเทศไทยแพ้ก็คือ แม้ประเทศไทยจะไม่มีส่วนในการทำแผนที่ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยคัดค้านหรือประท้วงเกี่ยวกับความถูกต้องของแผนที่ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีโอกาสอยู่หลายครั้งที่จะทักท้วงหรือประท้วงถึงความคลาดเคลื่อนหรือความผิดพลาดของแผนที่

โอกาสที่จะประท้วงความไม่ถูกต้องของแผนที่ เช่น กรณีการเจรจาทำสนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศฝรั่งเศสที่ทำขึ้นในปี ค.ศ.1925-1937 แต่ไทยก็มิได้ทักท้วง

ซึ่งศาลโลกเห็นว่า การนิ่งเฉยของประเทศไทยเป็นเวลานานเท่ากับเป็นการยอมรับความถูกต้องของแผนที่แล้ว จะมาปฏิเสธในภายหลังนั้น ไม่อาจกระทำได้ เป็นการปิดปากประเทศไทยว่าจะมาปฏิเสธความผิดพลาดของแผนที่ไม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้น ทางการของไทยเองยังได้ทำแผนที่ใช้ขึ้นเองอีกด้วยในปี ค.ศ.1937 โดยแผนที่ที่เจ้าหน้าที่ของไทยเป็นผู้จัดทำ ได้แสดงว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนของกัมพูชา ประเด็นนี้ไทยอ้างว่า แผนที่ที่ไทยทำขึ้นเองฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการทหารเป็นการภายในเท่านั้น แต่ศาลโลกไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างของไทยในประเด็นนี้

เหตุผลประการหนึ่งที่ศาลโลกเห็นว่า ประเทศไทยยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือที่ตั้งปราสาทพระวิหารก็คือ การที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ไปเยือนกึ่งเป็นทางการที่ปราสาทพระวิหาร ในครั้งนั้น กองทหารฝรั่งเศสได้ตั้งกองทหารเกียรติยศรับการเสด็จอย่างเต็มที่ และยังชักธงชาติของประเทศฝรั่งเศสด้วย 

ซึ่งศาลโลกเห็นว่า เท่ากับประเทศไทยยอมรับอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารว่าเป็นของกัมพูชา (ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส) อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ ผู้พิพากษาศาลโลกท่านหนึ่งคือ ท่านเวลลิงตัน คู ซึ่งเป็นตุลาการเสียงข้างน้อยได้ทำความเห็นแย้งว่า ในเวลานั้นกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่ดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสถานแห่งประเทศไทย อีกทั้งพระองค์ยังตรัสว่า การมาเยือนปราสาทพระวิหารนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง

นอกจากนี้ สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ไทยแพ้คดีอาจเป็นผลมาจากการตั้งรูปคดีที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น แทนที่ประเทศไทยจะปฏิเสธความผิดพลาดของแผนที่ ควรรับประเด็นเรื่องแผนที่ แล้วยกข้อต่อสู้ว่า ในกรณีที่ข้อความในสนธิสัญญาที่ให้ใช้ "สันปันน้ำ" แย้งกับ "แผนที่" ในกรณีนี้ให้ถือว่าข้อความในสนธิสัญญามีค่าบังคับเหนือกว่า

ซึ่งอนุสัญญาแวร์ซายส์ มาตรา 29 ก็มีข้อความทำนองนี้ อีกทั้งก็มีคดีที่ศาลตัดสินให้ความน่าเชื่อถือของสนธิสัญญายิ่งกว่าแผนที่

จริงหรือที่ "การนิ่งเฉย" หรือ "กฎหมายปิดปาก" มิใช่เป็นหลักกฎหมาย

หลังจากที่ไทยแพ้คดี นายถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเวลานั้นกล่าวทำนองว่า ศาลโลกนำหลักกฎหมายที่ไม่ชัดเจนมาตัดสินคดี ที่น่าคิดก็คือ ทำไมทนายฝ่ายไทยไม่ทราบ หรือว่า "หลักกฎหมายปิดปาก" หรือ "การนิ่งเฉย" นั้น ศาลโลกหรืออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเคยนำมาใช้หลายคดีแล้ว

อีกทั้งนักกฎหมายระหว่างประเทศก็ยังได้เขียนบทความเรื่อง "หลักกฎหมายปิดปากที่ใช้ในศาลระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ของหลักกฎหมายดังกล่าวกับการนิ่งเฉย" (Estoppel before Internationals and Its Relation to Acquiescence) เขียนโดยนักกฎหมายระหว่างประเทศชื่อ Bowett ลงในวารสาร British Yearbook of International Law ปี ค.ศ.1957 และบทความชื่อ "หลักกฎหมายปิดปากในกฎหมายระหว่างประเทศ" โดย Mcgibborn ในวารสาร International and Comparative Law Quarterly ปี 1958 ซึ่งตีพิมพ์ก่อนที่ศาลโลกจะตัดสินประมาณ 3-4 ปี

ไม่อาจคาดการณ์ได้แน่ชัดว่าฝ่ายไทยได้เคยอ่านบทความนี้หรือไม่ แต่ไม่ว่าฝ่ายไทยจะได้เคยอ่านบทความนี้หรือไม่ก็ตาม ประเด็นที่น่าคิดก็คือ ทนายความของฝ่ายไทยน่าจะย่อมรู้ถึงหลักกฎหมายปิดปากเป็นอย่างดีเพราะหลักว่าด้วย "การถูกการตัดสิทธิ" (Preclusion) หรือ "การนิ่งเฉย" อาจเทียบได้หรือมีผลเท่ากันกับ "หลักกฎหมายปิดปาก" อันเป็นหลักกฎหมายอังกฤษหรือแองโกลแซกซอน

บทส่งท้าย

สรุปเหตุผลที่แท้จริงที่ประเทศไทยเสียปราสาทพระวิหารคือ การยอมรับความคลาดเคลื่อนของแผนที่อันเป็นผลมาจากการทำแผนที่ฝ่ายเดียวของเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส ซึ่งศาลโลกเห็นว่า หลังจากที่ทำสนธิสัญญาประเทศสยามอยู่ในฐานะที่จะคัดค้านความไม่ถูกต้องของแผนที่ได้หลายครั้ง แต่ก็มิได้คัดค้าน จึงปิดปากประเทศสยามว่าต่อมาจะปฏิเสธความไม่ถูกต้องของแผนที่ไม่ได้

_____________

 

แหล่งข้อมูล: http://forum.nkc.kku.ac.th/index.php?topic=952.msg11064

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 177519เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2008 08:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 12:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

ขอบคุณมากครับ

นี่ละที่ต้องการ

นี่ละคือสิ่งที่ต้องนำมาเป็นกรณีศึกษา

นี่ละคือสิ่งที่ต้องนำมาวิเคราะห์ เพราะกฏหมายระหว่างประเทศก็มีการพัฒนาไปเช่นเดียวกับสังคมมนุษย์และสังคมระหว่างประเทศ

มีประเทศไหนบ้างที่ไม่เคยทำผิดกฏหมายระหว่างประเทศ....เลย และไม่สนใจผลประโยชน์ของตัวเอง

ผมคงไม่พูดมากไปกว่านี้ เพราะเข้าใจใน G2K

นักการเมืองที่เป็นนักฏหมายเก่งๆ นั้น ทำไม.........

ลูกหลานจะได้ภูมิใจ

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

วันนี้ขอเข้ามาอ่านเพื่อเก็บข้อมูลความรู้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • เข้ามารับรู้เรื่องราวในบางครั้งบางสิ่งที่พลาดแบบน่าเสียดายและไม่น่าที่จะเกิดขึ้นได้
  • ขอบคุณค่ะ

"หลักกฎหมายปิดปาก" หรือ "การนิ่งเฉย" นั้น ศาลโลกหรืออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเคยนำมาใช้หลายคดีแล้ว

ใช้ได้จริงๆเหรอค่ะเนี่ย....!!

สวัสดีค่ะ อ.บางทราย

  • เปิดปูมได้ลึกดีจริง  ๆ
  • อ่านแล้วก็เปิดหู เปิดตา
  • ช่วงหนึ่ง สมัยหนึ่ง ก็ต้องถือว่าประเทศไทยเรายังไร้เดียงสา
  • มาจนถึงบัดนี้  ก็ยังไร้เดียงสามาก ๆ อยู่เลย
  • เฮ้อ ๆๆ ประเทศไทยที่รักของข้าพเจ้า

 

  • บันทึกสุดยอดอีกบันทึกครับ
  • มีปราสาทและศิลปวัถตุหลายชิ้นที่ในปัจจุบันยังถูกละเลย
  • เรามีบทเรียนแต่ไม่ค่อยใช้บทเรียนเดิม ไม่กลับมามองความผิดพลาดเดิม ๆ
  • กลัวจะซ้ำรอยอีก

ท่านทูตครับ P 1. พลเดช วรฉัตร

  • ผมเองก็เพิ่มพบเอกสารชิ้นนี้  ผมเองก็ไม่รู้จักท่านที่เขียนบทความนี้โดยส่วนตัว เห็นว่าเป็นประโยชน์จึงเอามาขยายในที่สาธารณะแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง เพราะช่องทาง g2k นี้อาจจะสร้างสำนึกแห่งสากลได้บ้าง
  • นักการเมืองที่เป็นนักกฏหมายเก่งๆมีหลายท่านครับ เอ่ยชื่อก็ต้องยกนิ้วให้  แต่หลังจากยกนิ้วแล้วมักจะมีคำพูดตามมาด้วยเหมือนกันครับ..
  • แต่ผมคิดในแง่ดีว่า อยุธยาไม่สิ้นคนดี เมื่อเก่าไป ใหม่ก็เข้ามา เมื่อเราเป็นหนึ่งในการสร้างโอกาสสำหรับคนใหม่ๆ ก็ต้องทำครับ 
  • ขอบคุณมากๆครับท่านทูต

ป้าแดงครับ P 3. pa_daeng [มณีแดง คนสวย แซ่เฮ]  
 

  • เข้ามารับรู้เรื่องราวในบางครั้งบางสิ่งที่พลาดแบบน่าเสียดายและไม่น่าที่จะเกิดขึ้นได้

ประวัติศาสตร์สอนเราแล้ว ต่อไปเราจะไม่ผิดพลาดอีกนะป้าแดงนะครับ เจอะกันเด้อครับที่ดอนเมืองปลายสัปดาห์นี้

น้องสาว P 4. แก่นจัง

"หลักกฎหมายปิดปาก" หรือ "การนิ่งเฉย" นั้น ศาลโลกหรืออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเคยนำมาใช้หลายคดีแล้ว

ใช้ได้จริงๆเหรอค่ะเนี่ย....!!

พี่ก็ไม่รู้เรื่องกฏหมายระหว่างประเทศ แต่เป็นไปแล้วและอย่าเป็นซ้ำอีกก็แล้วกัน  เอามาเรียนเอามาศึกษา เป็นบทเรียนชิ้นสำคัญสำหรับนักกฏหมายของเราในอนาคต

สงกรานต์สนุกไหมล่ะครับ

น้องกาแฟครับ P 5. coffee mania

  • เปิดปูมได้ลึกดีจริง  ๆ
  • อ่านแล้วก็เปิดหู เปิดตา
  • ช่วงหนึ่ง สมัยหนึ่ง ก็ต้องถือว่าประเทศไทยเรายังไร้เดียงสา
  • มาจนถึงบัดนี้  ก็ยังไร้เดียงสามาก ๆ อยู่เลย
  • เฮ้อ ๆๆ ประเทศไทยที่รักของข้าพเจ้า

 คิดแบบเล่นๆนะน้องนะ....นักกฏหมายของเราเก่งแต่ในบ้าน.. อุตสาห์ไปเรียนเป็นดอกเตอร์อังดรัว แต่ช่วยประเทศไม่ได้ หากกล่าวอย่างนี้ก็คงจะทำให้เรามองหาเรื่องกันเรื่อยไป จึงต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า อาจจะเกิดติดขัดอะไรก็ได้ในช่งเวลานั้น  เมื่อเลยมาถึงวันนี้แล้วก็ต้องเอามาเป็นบทเรียน  และอย่าให้เกิดขึ้นอีก  นี่คือบทเรียนราคาแพง..นะครับน้องสาว

น้องออตครับ P  6. ออต

  • บันทึกสุดยอดอีกบันทึกครับ
  • มีปราสาทและศิลปวัถตุหลายชิ้นที่ในปัจจุบันยังถูกละเลย
  • เรามีบทเรียนแต่ไม่ค่อยใช้บทเรียนเดิม ไม่กลับมามองความผิดพลาดเดิม ๆ
  • กลัวจะซ้ำรอยอีก

อ้าวนักกฏหมายไทยเก่งๆมาช่วยหน่อยเร้ววว เสียวๆเหมือนกัน ประเด็นร้อนๆยังมีอีกหลายเรื่องนะ รอการคลี่คลายในอนาคตนะน้องออต..

สวัสดีครับพี่บางทราย

บทความชิ้นนี้น่าสนใจมากครับ ผมเคยอ่านแต่บทวิเคราะห์ที่พูดถึงเรื่องกฎหมายปิดปาก และเราก็มักจะยอมรับโดยปริยายว่า เออใช่...แต่ในชีวิตความเป็นจริงของการทำคดี คำพิพากษามันไม่ได้ตายตัวว่าเป็นอย่างนี้แล้วต้องตัดสินอย่างนั้น การสู้คดีเราจะดูคำฟ้องว่าเขาฟ้องว่าอย่างไร เราจะตั้งสู้คดีว่าอย่างไร แต่บางทีได้ที่เขาว่ากันระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้น ผู้พิพากษาออกไปอีกทาง จะโทษทนายฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลยไม่ได้เต็มปากเต็มคำเหมือนกัน แต่ถ้าโจทก์ตั้งฟ้องว่าอย่างนี้ ฝ่ายจำเลยไม่แก้ตามนั้น อย่างนี้สมควรถูกตำหนิครับ

ผมโดนมาเองกับคดี ส.ป.ก.ถูกผู้ยิ่งใหญ่กล่าวผ่านสื่อว่าสงสัยอัยการแกล้งแพ้ ทั้งๆที่เราสืบพยานกันหามรุ่งหามค่ำ ทำงานกันอย่างหนัก ผ่านการตรวจสอบคำฟ้องจากอัยการรุ่นเดอะ พอศาลชั้นต้นแพ้โดนกระแนะกระแหนทันที แต่พอศาลอุทธรณ์ให้ฝ่ายเราชนะ ทุกอย่างเงียบเป็นเป่าสาก โดนด่าฟรี ยังงี้ก็มีครับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีศาลตัดสินแพ้ชนะไปแล้ว คนวิพากย์วิจารณ์ก็สามารถวิเคราะห์ได้ครับว่าแพ้เพราะไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่คนที่ทำคดีในขณะนั้นไม่มีใครอยากให้แพ้หรอกครับ จะมีใครเข้าใจความเครียดของทนายที่ทำคดีความเป็นความตายของประเทศไหมครับ เราอยู่วงนอกเราคิดได้ครับเพราะเราไม่เครียด แต่ทนายเขาเครียดครับ (นี่พูดในฐานะคนเคยเป็นทนายความมาก่อนครับ อิอิ)

แต่อย่างไรก็ตามจะโทษแต่ทนายฝ่ายเดียวผมไม่เห็นด้วยครับถ้าโทษกันมันต้องโทษรัฐบาลแต่ละยุคสมัยที่ผ่านมาด้วยว่าทำไมไม่ดูแล ไม่เอาจริงเอาจังกับเรื่องแผนที่ ทำไมปล่อยปละละเลย เราเอาบทเรียนนี้มาเป็นข้อคิดข้อควรระวังกับการดำเนินการของบ้านเมืองเราดีกว่า เพราะมันมีผลกระทบไปถึงโลกภายนอกด้วย เราอยู่ในโลกนี้ก็ต้องยอมรับกฎเกณฑ์กติกาของสังคมโลก ใครที่ระมัดระวังประเทศของตนได้ดีทำงานอย่างมีหลักเกณฑ์ขั้นตอนอันเป็นที่ยอมรับของสากล ฝ่ายนั้นก็ชนะครับ และที่สำคัญเรื่องนี้ถ้าให้คนเอเชียด้วยกันตัดสิน ผมว่าคำพิพากษาอาจจะเปลี่ยนแปลงก็ได้นะครับ อิอิ

สวัสดีครับ P 13. อัยการชาวเกาะ

บทความชิ้นนี้น่าสนใจมากครับ ผมเคยอ่านแต่บทวิเคราะห์ที่พูดถึงเรื่องกฎหมายปิดปาก และเราก็มักจะยอมรับโดยปริยายว่า เออใช่...แต่ในชีวิตความเป็นจริงของการทำคดี คำพิพากษามันไม่ได้ตายตัวว่าเป็นอย่างนี้แล้วต้องตัดสินอย่างนั้น การสู้คดีเราจะดูคำฟ้องว่าเขาฟ้องว่าอย่างไร เราจะตั้งสู้คดีว่าอย่างไร แต่บางทีได้ที่เขาว่ากันระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้น ผู้พิพากษาออกไปอีกทาง จะโทษทนายฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลยไม่ได้เต็มปากเต็มคำเหมือนกัน แต่ถ้าโจทก์ตั้งฟ้องว่าอย่างนี้ ฝ่ายจำเลยไม่แก้ตามนั้น อย่างนี้สมควรถูกตำหนิครับ

ผมไม่คุ้นเคยเรื่องราวของโรง-ศาลครับ แต่ก็เคยฟังคุณน้า..(ซึ่งเป็นอดีตอัยการประจำสำนักงานใหญ่..ปัจจุบันท่านพักผ่อนแล้ว) เล่าให้ฟังเหมือนกัน ก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพื่อนๆน้องๆที่เป็นอัยการที่ขอนแก่น อุดร และอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 เดี๋ยวนี้ย้ายไปแล้ว  ฟังดูก็น่าเห็นใจมากครับ เพราะต้องเรียนรู้คดีต่างๆมากมายเหมือนอ่านนิยาย  แต่หนักกว่าคือต้องจำ เข้าใจ เพื่อจะนำไปใช้ต่อ  แล้วเรื่องราวนั้นมันมากมายก่ายกอง ...

ผมโดนมาเองกับคดี ส.ป.ก.ถูกผู้ยิ่งใหญ่กล่าวผ่านสื่อว่าสงสัยอัยการแกล้งแพ้ ทั้งๆที่เราสืบพยานกันหามรุ่งหามค่ำ ทำงานกันอย่างหนัก ผ่านการตรวจสอบคำฟ้องจากอัยการรุ่นเดอะ พอศาลชั้นต้นแพ้โดนกระแนะกระแหนทันที แต่พอศาลอุทธรณ์ให้ฝ่ายเราชนะ ทุกอย่างเงียบเป็นเป่าสาก โดนด่าฟรี ยังงี้ก็มีครับ

น่าสนใจต้องสัมภาษณ์ซะหน่อยแล้วครับ...เพราะผมทำงานกับ ส.ป.ก.อยู่ครับ เผื่อเป็นความรู้และบทเรียนติดตัวไปครับ..

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีศาลตัดสินแพ้ชนะไปแล้ว คนวิพากย์วิจารณ์ก็สามารถวิเคราะห์ได้ครับว่าแพ้เพราะไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่คนที่ทำคดีในขณะนั้นไม่มีใครอยากให้แพ้หรอกครับ จะมีใครเข้าใจความเครียดของทนายที่ทำคดีความเป็นความตายของประเทศไหมครับ เราอยู่วงนอกเราคิดได้ครับเพราะเราไม่เครียด แต่ทนายเขาเครียดครับ (นี่พูดในฐานะคนเคยเป็นทนายความมาก่อนครับ อิอิ)

เป็นธรรมดา ผมเชื่อและเคยได้ยินได้ฟัง ผมเชื่อว่ากระบวนยุติธรรมนั้นเชื่อในหลักฐาน แต่บางเรื่องจำเลยอาจจะถูกแต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอนั่นแหละ น่าเห็นใจมากๆ..

แต่อย่างไรก็ตามจะโทษแต่ทนายฝ่ายเดียวผมไม่เห็นด้วยครับถ้าโทษกันมันต้องโทษรัฐบาลแต่ละยุคสมัยที่ผ่านมาด้วยว่าทำไมไม่ดูแล ไม่เอาจริงเอาจังกับเรื่องแผนที่ ทำไมปล่อยปละละเลย เราเอาบทเรียนนี้มาเป็นข้อคิดข้อควรระวังกับการดำเนินการของบ้านเมืองเราดีกว่า เพราะมันมีผลกระทบไปถึงโลกภายนอกด้วย เราอยู่ในโลกนี้ก็ต้องยอมรับกฎเกณฑ์กติกาของสังคมโลก ใครที่ระมัดระวังประเทศของตนได้ดีทำงานอย่างมีหลักเกณฑ์ขั้นตอนอันเป็นที่ยอมรับของสากล ฝ่ายนั้นก็ชนะครับ และที่สำคัญเรื่องนี้ถ้าให้คนเอเชียด้วยกันตัดสิน ผมว่าคำพิพากษาอาจจะเปลี่ยนแปลงก็ได้นะครับ อิอิ

กรณีปราสาทพระวิหารนี้มันเกี่ยวเนื่องกันกับกรณีที่ฝรั่งเศสเข้ามายึดครองอิโดจีนแล้วเขาทำแผนที่ขึ้นมาตามลำพัง  เราไม่ได้ทำแถมไปยอมรับแผนที่ของเขาโดยเราไม่มีความรู้ความชำนาญมากเพียงพอ และการเกิดคดีก็เพราะชาติที่สามมิใช่สยามกับกัมพูชา...โอยเรื่องมันยาว  เมื่อเป็นคดีเข้าศาลโลก ก็อย่างว่าแหละ หลักฐานเราไม่เพียงพอก็ต้องยอมรับกติกาของโลก  ถามว่าเป็นเพราะจุดอ่อนของทนายเราหรือ... ผมไม่ฟื้นฝอยหาตะเข็บแน่ๆ และไม่เห็นด้วย  แต่นักกฏหมายควรศึกษาเป็นกรณีตัวอย่าง ถกกันให้แจ่มแจ้งแล้วสรุปบทเรียนไว้ เพื่อให้นักกฏหมายรุ่นหลังได้เรียนรู้เพื่อป้องกันมิให้เกิดขึ้นมาอีก  เราก้าวไปข้างหน้าดีกว่าครับ  เดี๋ยวผมจะเอาข้อมูลอีกส่วนหนึ่งมาลงครับท่านอัยการครับ

ท่านทูตพลเดช ท่านอัยการ และเพื่อนๆ G2K ทุกท่านครับ

นี่คือ historical profile บางส่วนของเรื่องราว ปราสาทพระวิหาร ที่กัมพูชาพยายาม เสนอเป็นมรดกโลก ผมขออนุญาตผู้เขียนนำมาขยายในที่นี่ครับ ผู้เขียนคือคุณ eggs เขียนเมื่อกรกฏาคม 2550 ดังนี้

 

ปราสาทเขาพระวิหาร  : 

อดีต : คนไทยที่อายุมากกว่า ๕๐ ปีขึ้นไปคงจำเหตุการณ์นี้ได้ดี เพราะขณะนั้นคงมีอายุประมาณ ๑๐ ปีซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่มีความจำแม่น  ช่วงนั้นผมอยู่ชั้นประถมปีที่ ๔ มันเป็นเหตุการณ์ที่คนไทยทุกคนไม่อาจลืมได้กรณีพิพาทระหว่างไทยกับเขมร เรื่องการอ้างสิทธิครอบครองปราสาทเขาพระวิหาร หรือที่ชาวเขมรเรียกว่า เปรี๊ยะวิเฮียร์ (Prasat Preah Vihear) ที่มีความสูง ๖๕๗ เมตร ตั้งอยู่บริเวณผามออีแดง ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ จ.ศรีสะเกษ  

          ก่อนถึงวันที่ศาลโลกจะตัดสินว่าปราสาทเขาพระวิหารจะเป็นของไทยหรือเขมร ทุกคนในโรงเรียน(ทั่วประเทศ) ช่วยกันถือป้ายที่เขียนว่า เขาพระวิหารต้องเป็นของไทย ออกรณรงค์ไปตามตัวเมืองของทุกจังหวัดอย่างทุ่มเทกันสุดหัวใจ เพราะหัวหน้าคณะทนายฝ่ายไทยคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ชาวอังกฤษและยุโรปรู้จักกันดี ส่วนหัวหน้าคณะทนายของเขมรเป็นทนายคนหนึ่งที่ไม่โด่งดังและไม่มีชื่อเสียง (A Cambodian Lawyer) ดังนั้น คนไทยทุกคนจึงมั่นใจว่า เราจะได้ครอบครองปราสาทเขาพระวิหาร อย่างแน่นอน

          ๑๕ มิถุนายน ๒๕๐๕ เป็นวันที่คนไทยทั้งประเทศโศกเศร้าที่สุด และคนไทยทุกคนจะไม่มีวันลืมวันนี้เป็นอันขาด เพราะเป็นวันที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ตัดสินว่า เขาพระวิหารอยู่ในดินแดนของเขมรและให้เขมรเป็นผู้ดูแล แต่ศาลไม่ได้มีคำตัดสินให้พื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารเป็นดินแดนของประเทศใด  ผมจำได้ว่า วันนั้นผมกับเพื่อน ๆ น้ำตาคลอเบ้ากันทั้งโรงเรียน และเฝ้าถกเถียงกันตามประสาเด็ก ๆ ว่า เราแพ้ได้อย่างไร? ศาลโลกไม่ยุติธรรม!!! จากนั้น ไทยก็ยอมรับอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทเขาพระวิหารตลอดมา

ปัจจุบัน : กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก

          ในการประชุมครั้งที่ ๓๑ ของคณะกรรมการมรดกโลก หรือ WHC (World Heritage Committee)ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ที่เมือง Christchurch ประเทศนิวซีแลนด์ระหว่าง ๒๓ มิถุนายน -๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐ กัมพูชาได้ยื่นความจำนงขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารให้เป็น มรดกโลก

ภูมิหลังที่ไม่นานมากนัก : มีนาคม ๒๕๔๗ ไทยกับกัมพูชาได้ทำความตกลงในหลักการพัฒนาร่วม โดยไทยจะสนับสนุนให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ในรูปแบบของการดำเนินการร่วมกัน เพื่อป้องกันมิให้มีปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นของไทย

          มกราคม ๒๕๔๙ กัมพูชาได้ยื่นข้อเสนอฝ่ายเดียวขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่มีการหารือกับไทยและไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า กัมพูชาใช้ที่ตั้งแผนผังปราสาทและเขตอนุรักษ์บางส่วนล้ำเข้ามาในเขตไทย ซึ่งหาก WHC เห็นชอบให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารก็จะทำให้เขตแดนของกัมพูชาได้รับการยอมรับในระดับสากลและจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่ออธิปไตยของไทยในแถบนี้  ฝ่ายไทยพยายามเชิญคณะกรรมการเขตแดนร่วมของกัมพูชามาหารือเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากฝ่ายกัมพูชา นอกจากนี้ กัมพูชายังกระจายข้อมูลที่ไม่ถูกต้องให้แก่คณะทูตจนทำให้หลายประเทศเกิดความสับสนว่า กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารและพื้นที่ใกล้เคียงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแต่เพียงประเทศเดียว

          ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ ฝ่ายไทยได้หารือกับทุกหน่วยงานราชการเพื่อทบทวนการแสดงท่าทีครั้งสุดท้ายก่อนการประชุม WHC ที่จะมีขึ้นใน ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๐ ที่เมือง Christchurch ประเทศนิวซีแลนด์

          ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๐ ไทยได้ขอให้  WHC เลื่อนการพิจารณากรณีนี้ออกไปก่อนเพื่อให้ไทยได้หารือกับฝ่ายกัมพูชาอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่ฝ่ายกัมพูชาแจ้งว่า สายเกินไปแล้วน้องไทยที่จะหยุดยั้งกระบวนการต่าง ๆ ที่ได้คืบหน้าไปมากแล้ว อีกทั้งยังยืนกรานว่า การจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะไม่ส่งผลกระทบเส้นเขตแดนของไทย และขอให้น้องไทยยอมไปก่อนแล้วค่อยมาทำความตกลงในรายละเอียดอื่น ๆ กันทีหลัง ซึ่งเป็นเรื่องที่น้องไทยไม่อาจยอมรับได้เพราะไม่มีอะไรจะมาเป็นหลักประกันว่า กัมพูชาจะหันมาร่วมมือกับน้องไทย

          ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๐ WHC เห็นชอบให้มีการพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารอีกครั้งหนึ่งในการประชุม WHC ครั้งที่ ๓๒ ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นที่เมือง Quebec ประเทศแคนาดากลางปี ๒๕๕๑ ในช่วงนี้เองที่ชุมชนชาวไทยในกัมพูชามีความหวาดกลัวว่า ชาวเขมรบางกลุ่มที่ได้รับข้อมูลไม่ถูกต้องอาจแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงจนถึงกับอาจมีการบุกเผาสถานเอกอัครราชทูตไทย/พนมเปญเหมือนกับเมื่อ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๖ หรือไม่ ดังนั้น ทางสถานทูตไทยจึงมีการเตรียมความพร้อมด้านการอพยพคนไทยในกัมพูชาที่มีจำนวนประมาณ ๑๕,๐๐๐ คน หากเกิดกรณีรุนแรงขึ้น แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการต่อต้านคนไทยในขั้นรุนแรง

          จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชา เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๑ แม้ดูห่างไกล อย่างไรก็ตาม ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หากมีพรรคการเมืองใดฉวยโอกาสหาเสียงด้วยการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาโจมตีไทย ก็อาจทำให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายต่อชาวไทยในกัมพูชาได้ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างน้องไทยกับกัมพูชามันเปราะบางเหลือเกิน

 ------------------

แหล่งข้อมูล: http://www.oknation.net/blog/print.php?id=70936

 

 

เป็นช่วงที่ผมไม่ได้อยู่ที่เมืองไทย

ขอออกนอกเรื่องนิดหน่อย

ผมเคยไปค้นหา เสาะแสวงหาของเก่า หนังสือเก่าในตลาดชองเก่าในยุโรปและในแอฟริกาหลายประเทศมาแล้ว

เวลาได้ของเก่าหรือหนังสือเก่าที่มีอายุร้อยกว่าปีขึ้นไป ก็ดีใจมาก เพราะอยากสะสมและอยากเรียนรู้จากข้อมูลจากของและในหนังสือนั้น

ในแวบหนึ่งที่ได้เป็นเจ้าของ รู้สึกว่า เออ ของเหล่านี้ มีคนเป็นเจ้าของหลายรุ่น ในที่สุดก็เป็นสมบัติผลัดกันชม

ก็เหมือนคนที่เป็นเจ้าของรุ่นแรกและรุ่นต่อๆ มา เก็บรักษาเอาไว้ให้คนรุ่นหลัง ก็คือตกมาถึงเราในวันนี้นั่นเอง

ใครจะไปรู้อนาคต......................

คำว่าให้ดูแล ชัดเจนอยู่แล้ว ดูแล....เท่านั้น

เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก

ไม่สามารถ....ณ ที่นี้ ครับ

ผมมีความรู้สึกว่า ประวัติศาสตร์ผ่านมาเพียงชั่วร้อยกว่าปี

ความเจริญ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ เปลี่ยนไปเยอะครับในภูมิภาคนี้

แต่....คน...ไม่เปลี่ยนครับ

ด้วยความปรารถนาดี

ท่านทูตครับ

  • ผมนั้นแอบชื่นชมการวางตัว ความคิดความอ่านและวิถีชีวิตของท่านทูตซึ่งดูดูอาจจะไม่เหมือนกับท่านทูตท่านอื่นๆ หมายถึงนอกเหนือจากภาระปกติ หรือตารางชีวิตนะครับ
  • ผมไม่เคยสนใจเรื่องประวัติศาสตร์มาก่อน และไม่ชอบสมัยเรียน  แต่เมื่อมาทำงาน โดยเฉพาะงานพัฒนาคน พัฒนาหมู่บ้าน ได้หูตากว้างขึ้นเมื่อพบนักคิดต่างๆที่ท่านได้พูด ได้เขียน ได้วิจัย ไว้มากมาย  ยิ่งเอาความรู้นั้นไปศึกษาในสภาพจริงจึงรู้ซึ้งว่าคนนั้นมิใช่ลอยๆมาลอยๆไป แต่มีที่มาที่ไป มีเบ้าหลอม มีแนวโน้ม มี...ที่สำคัญคือเบ้าหลอม
  • เรื่อง ความเจริญ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ เปลี่ยนไปเยอะครับในภูมิภาคนี้ แต่....คน...ไม่เปลี่ยนครับ
  • ผมเดาความหมายของท่านทูตได้ครับ  แต่ผมเฝ้ามองดูพบว่า ปัจจุบันนี้ภาคธุรกิจจูงสังคมเราไปครับ ภาคธุรกิจสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆขึ้นในสังคมที่ไม่ได้มาจากฐานการดำรงชีวิต แบบเดิม แต่เป็นฐานของการบริโภคสารพัดเพียงเพื่อว่านั่นคือความสุข แต่ล้วนสะพัดไปกับเงินตรา เป็นวัฒนธรรมที่จะต้องวิเคราะห์กันต่อไปว่ามีกี่หมวดหมู่ และจำนวนเท่าใดที่ใช้ได้ จำนวนเท่าใดที่ไม่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต
  • ผมเคยคิดว่า นักวิชาการจำนวนหนึ่งทุ่มความรู้ที่ท่านร่ำเรียนมาเพื่อตอบสนองจิตวิญญาณของธุรกิจคือการได้มาเพื่อเงินตรา แต่มิได้ทุ่มเทความรู้ของท่านเพื่อการพัฒนาสังคมตามสภาพของเรา  เพื่อความถูกต้อง เพื่อยกระดับความยากไร้ เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ ..... ทำให้ผมนึกถึงเพื่อนที่เกือบเป็นนักบวชทางคริสเตียนว่า เขากล่าวว่ายุคนี้เป็นยุคหลง...ครับท่านทูต
  • ในมุมมองนี้ คนเปลี่ยนครับ แต่เปลี่ยนไปในทางที่ไม่ค่อยพึงประสงค์  แต่หากเอาคุณธรรม เอาความเป็นคนดี มีศีลมีธรรมเป็นตัวตั้ง  เขาไม่ได้เปลี่ยนมาทางนี้เลย น้อยมากๆ จึงเห็นด้วยครับว่า ฅน ไม่ได้เปลี่ยนเลย
  • ผมเห็นด้วยว่าเมื่อท่านมีโอกาสท่านควรจะรวบรวมเอกสารเก่าๆมาไว้ เพื่อการศึกษา เพื่อเป็นกระจกส่องข้างหลังของเราครับม่าเรามาจากไหน อย่างไรบ้าง มีประโยชน์มหาศาลครับ คนสมัยนี้ไม่ทราบประวัติศาสตร์ ไม่สนใจ  ลูกหลายคนไม่ทรายละเอียดว่าพ่อแม่มีชีวิตเติบโตมาได้อย่างไร หากพ่อแม่ไม่เล่าให้ฟังก็อาจจะไม่เคยถามด้วยซ้ำไป คนหากไม่มองหลังก็ขาดสติ ขาดมิติของพัฒนาการ รากเหง้า นี่แหละครอบครัวจึงมีความสำคัญยิ่งแก่เบ้าหลอมของ ฅน
  • เมื่อคืนก่อนผมดูรายการสุริวิภาที่เขาสัมภาษณ์ลูกชายศิลปินใหญ่ ดร.ถวัลย์ ดัชนี  ที่ลูกชายกำลังรับมรดกบ้านสี่สิบกว่าหลัง ข้างในบ้านแต่ละหลังมีศิลปะมากมาย ท่านถวัลย์กล่าวว่า เขาต้องการเปิดสมบัติส่วนตัวเหล่านี้ให้ประชาชนเข้ามาดู ในจำนวนนั้นอาจจะมีคนซึมซับแล้วเกิดปัญญาไปสร้างงานอื่นๆต่อไปได้อีกมากมาย.....  ผมชอบหลักคิดนี้มาก ศิลปินใช้จินตนาการสูงมากๆ  ท่านทูตเป็นอีกท่านหนึ่งที่มีสิ่งนี้เพราะท่านเป็นศิลปินด้วย  จินตนาการสร้างสรรค์โลก ประโลมโลกจริงๆ สมัย มช.ผมเคยเรียนกับท่านถวัลย์ด้วย และมีโอกาสรว่มงานกับท่านอาจารย์องุ่น มาลิค จัด Lock Bowl แสดงผลงานของท่านถวัลย์ ดัชนีด้วย  ยิ่งใหญ่จริงๆครับศิลปิน  ฟังท่านแล้วช่างเป็นคนที่มีพลังมหาศาล มากมาย
  • ปรารถนาดีเช่นเดียวกันครับ

เกร็ดเกี่ยวกับการเสียดินแดน ครั้งที่ ๑๔ คือเขาพระวิหาร เสียให้กับเขมรเมื่อ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๐๕ พื้นที่ ๒ ตร.กม. ในสมัย ร.๙ ตามคำพิพากษาของศาลโลก ให้เขาพระวิหารตกเป็นของเขมร เนื่องมาจากหลักฐานสำคัญของเขมร ในสมัยที่เป็นของฝรั่งเศส เมื่อรู้ว่ากรมพระยาดำรงราชานุภาพจะเสด็จเขาพระวิหาร จึงไปก่อนแล้วชักธงชาติฝรั่งเศสรับเสด็จ ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน นำมาใช้เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงต่อศาลโลก จริงเท็จแค่ไหนไม่ทราบ ไม่รับรองครับ แต่ที่น่ากลัวกว่าก็คือระวังครั้งที่ ๑๕ นะครับ ไม่เสียดินแดนแต่เสียมากกว่านั้น เสียความเป็นไทย เพราะดูสถานการณ์ ทั้งการเมืองเศรษฐกิจและสังคม เยาวชนเราหลงไหลตะวันตกมาก ผมคิดคำนึงผ่านบทกลอนไว้ดังนี้

มิใช่ขุดเรื่องเก่าให้ร้าวฉาน

เรื่องที่ผ่านประวัติศาสตร์มิอาจหวน

แต่อยากให้คนไทยได้ทบทวน

เพื่อชักชวนให้ตระหนักรักแผ่นดิน

ในอดีตที่เขาทำซ้ำข่มขี่

แต่วันนี้ใช่การรบจะจบสิ้น

เปลี่ยนจากการรุกไล่ได้แผ่นดิน

แต่โกยสินทรัพย์กำไรกลับไปแทน

ใช้สื่อเป็นอาวุธสุดแสนง่าย

เร่งขยายฐานรุกบุกตามแผน

ห้างสรรพสินค้าโตใหญ่เต็มไทยแลนด์

คนเดินแน่นเต็มห้างสร้างกำไร

ทั้งดนตรีกีฬาเสื้อผ้าผม

แทรกให้ชมโฆษณามีมาใหม่

ค่อยซึมซับรับทุกทางอย่างเต็มใจ

ไม่ต้องใช้รบรุกบุกยึดครอง

ภาพยนตร์แฝงเนื้อหาพาตอกย้ำ

ฉายซ้ำซ้ำให้ชมชอบตอบสนอง

ทั้งเครื่องดื่มอาหารน่าทานลอง

แทรกเรื่องของภาษาประเพณี

ชื่อเด็กไทย ไก่ ปลา หาได้ยาก

เปลี่ยนเป็นมาร์คมิ้งแม็กแจ๊คปาล์มมี่

ผมสีทองผิวสีแทนแสนเท่ดี

ลืมสิ่งที่เป็นไทยไร้ค่าจัง

มิใช่จะฟื้นฝอยหาตะเข็บ

แต่เมื่อเจ็บก็ต้องจำนำบางสิ่ง

มาปรับปรุงแก้ไขใช้ได้จริง

อย่าลืมสิ่งดีงามความเป็นไทย

สมเจตน์ เมฆพายัพ

แต่งไว้เมื่อ ๕ มีนาคม ๒๕๕๑

สวัสดีครับคุณสมเจตน์ P  18. สมเจตน์

 

ผมขอย้ำว่าการสำเนาข้อมูลมาขยายในที่นี้ ต้องการกระตุ้นให้คนไทยเราได้เรียนรู้ ได้ศึกษา เอามาเป็นบทเรียนแก่เรา ไม่ประสงค์จะสร้างกระแสอะไรแต่อย่างใด

สำหรับข้อมูลที่คุณสมเจตน์ต้องขอบคุณมากครับที่มาเสริมเติมเต็ม

สำหรับกลอนสอนใจนั้นผมยกนิ้วให้เลยครับ ถูกใจ และสนับสนุนความหมายที่บ่งชี้นี้ด้วยครับ เพียงแต่ว่าพลังทางสังคมยังไม่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ครับ

ขอบคุณมากๆครับคุณสมเจตน์ครับ

สวัสดีครับพี่บางทราย

ที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องความมั่นคงระหว่างประเทศเต็ม ๆ เกี่ยวกับ รัฐบาล ต่อรัฐบาลและกองทัพด้วย

การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกผมเองก็ไม่ทราบสิ่งที่ตามมาที่จะกระทบเรื่องดินแดนที่ยังไม่ลงตัวกันหรือไม่ขนาดไหน

แต่ถ้าหากมันกระทบ ทางรัฐบาลก็น่าจะพูดถึงเรื่องนี้ให้มาก ไม่เห็นท่านนายกหมักพูดพร่ามเลย หรือว่ากลัวทางเพื่อนบ้านไม่พอใจกลัวอันตรายต่อคนไทย ธุรกิจไทยที่นั่นกันล่ะครับ

นั่น ...ไปเกี่ยวกับผลประโยชน์ของไอ้พวกคนรวยกลุ่มน้อย(อำนาจใหญ่ )ของประเทศไทยเราจนได้

มันคิดกันคงจะอย่างนี้กระมังครับ เราคงต้องเสียดินแดนอีกอย่างน้อยคงรอบฐานปราสาทหินอีก เฮ้อ ..หรือไม่งั้นก็คงต้องสู้กันยาวเรื่องแบ่งเขตแดน

ส่วนในด้านกฎหมายเมื่อ ศาสโลกตัดสินไปอย่างนี้แล้ว เพื่อนบ้านเรามีไพ่เหนือเราแบบเต็ม ก็ประเด็นเรื่องแผนที่คงอ้างกันตลอดชาติ

ที่จริงเราน่าจะตั้งประเด็นใหม่ได้นะครับ ก็เอาเรื่องสนธิสัญญามาพูด ไม่ได้เขาพระวิหารคืน ก็ฟ้องว่าทางขึ้นปราสาทนั้นเป็นของเราก็ได้ อ้างเอาสนธิสัญญาที่ทำไว้กับฝรั่งเศษนั่น อย่างนี้จะได้ไหมครับฝากเรียนถามท่านอัยการชาวเกาะไปด้วยครับ

สวัสดีครับน้อง P 20. mr. สุมิตรชัย คำเขาแดง

 

เรื่องนี้ออกทีวีหลายครั้งเหมือนกัน แต่ไม่ดังทางหนังสือพิมพ์  เรื่องมันต้องผู้รู้ทางกฏหมายระหว่างประเทศ เราไม่ทราบมากนัก ครับ  เราเพลี่ยงพล้ำไปแล้ว  ยากที่จะเป็นอื่น  เหลือแต่ว่าอย่าให้เสียอีก อย่างน้องว่าแหละ  แล้วพี่จะถามให้ครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท