เรื่องเล่าจากดงหลวง 105 ขึ้นดอย ตอน ผึ้งป่าและพริกสาธารณะ


นี่คือวิถีชาวบ้าน หากพิจารณาดีๆแล้วพบว่า ชีวิตเขาครึ่งหนึ่งคลุกคลีอยู่กับป่า มีความรู้เรื่องป่า ชำนาญเรื่องป่า หากินกับป่า เรียนรู้ธรรมชาติของป่า มันช่างต่างจากเรามนุษย์เงินเดือนมากมาย เวลาราชการหรือใครก็ตามทำงานกับเขาก็เอาระบบของตัวเองเป็นตัวตั้ง ใช้วิธีสั่ง และสอนโดยเอาความรู้จากข้างนอกที่เรียกกันว่าวิชาการเข้ามาให้เขาโดยไม่กลั่นกรองเลยว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร

ผู้บันทึกอยู่ดงหลวงมาหลายปีทุกปีก็จะได้กินน้ำผึ้งป่าเดือนห้า ซึ่งชาวบ้านเอามาขายให้ในราคาขวดละ 200 บาทขาดตัว แพงไปหน่อย แต่เมื่อนึกถึงความยากลำบากที่เขาไปเอามา และเงินนี้ก็ตกกับชาวบ้านไม่ใช่พ่อค้าที่ไหน ก็เลยไม่ต่อรองราคาสักคำ

เมื่อวันที่เราเดินทางขึ้นป่านั้นเราก็พบผึ้งระหว่างทางหลายรัง เริ่มจากเจ้าตัวเล็ก รังเล็กๆ เกาะตามกิ่งไม้ต่ำๆ อยู่บนหัวทางเดินไปนั่นเอง ชาวบ้านเห็นก็บอกว่าเขาเรียก มิ้มก็เป็นรังผึ้งเล็กๆ ชาวบ้านบอกว่าจะไปปีนเอามาให้ ยังไม่ทันขาดคำ ชาวบ้านผู้นั้นก็ปืนขึ้นต้นไม้อย่างคล่องแคล่ว เพียงสองสามก้าวก็เข้าถึงรังมิ้ม เขย่ากิ่งไม้ที่เขาทำรังอยู่เพียงสองทีตัวมิ้มก็แตกกระจายออกจากรัง แล้วก็หักเอากิ่งไม้ที่ติดรังมิ้มเอาลงมา เพียงสัก สามนาที แค่นั้น ผู้บันทึกละงง คิดไม่ถึงว่าจะง่ายดายอย่างนี้  นึกว่าหากให้เราขึ้นไปเอารังมิ้มนี้คงใช้เวลานานมากกว่า ครึ่งชั่วโมงแน่เลย นี่คือทักษะของชาวบ้าน ผู้บันทึกไม่ได้กินรังและน้ำหวานมิ้ม ให้น้องผู้หญิงคนเดียวที่ขึ้นไปด้วย เธอเป็นเลขาสำนักงานที่ผมชวนขึ้นมาด้วย เธอชิมน้ำหวานแล้วบอกว่า “หวานจนขม"

เดินมาพักใหญ่สหายเด่นก็เล่าประวัติศาสตร์สมัยอยู่ป่าให้ฟังไปตลอดทางชาวบ้านชวนหยุดที่ลานหินบริเวณหน้าผาสูงชันหน้ากลัว ชาวบ้านเตือนอย่าไปริมหน้าผามากนัก เพราะมันรื่น อาจจะไถลตกหน้าผาไปได้ เพราะใบไม้เปียกฝน บางจุดใบไม้เน่าก็ยิ่งทำให้เกิดการรื่นไถลได้ ยังไม่ทันจะนั่งลงพักเลย ชาวบ้านบอกว่าต้นไม้ใหญ่ริมหน้าผานี้มีผึ้งรังใหญ่อยู่ข้างบน พร้อมกับชี้มือให้ผู้บันทึกดู เห็นแล้ว โอ้โฮ ใหญ่จริงๆ....ผมซักถามชาวบ้านว่าหากเป็นอย่างนี้จะเอารังผึ้งได้ไหม   ชาวบ้านบอกว่าไม่มีปัญหา เอาได้หมด หน้าผาสูงชันยังเอาได้ นี่มันต้นไม้ทำไมจะเอาไม่ได้..สักพักเดียวชาวบ้านบอดเราไปต่อเถอะ เพราะว่านั่งนานไปเดี๋ยวผึ้งได้กลิ่นคน และหากเขาดุเขาอาจจะยกรังลงมาต่อย ทำร้ายเราได้ ทางที่ดีเราเดินไปก่อนดีกว่า... 

ระหว่างทางเดิน ชาวบ้านชี้ให้ผู้บันทึกดูแมงกว่าง จับคู่กันอยู่โคนต้นไม้ ทำให้ผู้บันทึกนึกถึงสมัยเด็กๆชอบจับมาเล่นชนกัน โดยเอาตัวผู้ที่มีเขายาวโง้งมาชนกัน เอาลำอ้อยให้มันเกาะ ดูดน้ำหวาน แล้วผู้เขามันด้วยเส้นด้ายเล็กๆติดกับคอนไม้ หรือลำอ้อย  ชาวบ้านบอกว่ามันชอบเกาะที่ต้นครามป่ากินใบอ่อน แล้วชี้ให้ดูต้นครามป่าใกล้ๆนั้นเอง ชาวบ้านเล่าต่อว่า เด็กๆที่นี่ก็ชอบเล่นมัน โดยเอาเชือกผูกขา แล้วปล่อยให้มันบินเล่นสนุกๆ แข่งกัน  เบื่อขึ้นมาก็เอาไปจี่กินเสียอีก..???

ช่วงเวลาที่เราเดินกลับ ชาวบ้านพาเราเดินอีกทางหนึ่ง ไม่ซ้ำเส้นทางที่เดินขึ้นไป เพื่อจะได้ให้เราดูสภาพป่าในลักษณะต่างๆ แล้วเราก็มาพบพื้นที่หนึ่งมีร่องรอยการถางต้นไม้เสียเตียน และเผาทิ้ง กินพื้นที่สัก 5 ตารางวา ดูสภาพดินแล้วฟูร่วนดีมาก เป็นดินมีฮิวมัสสูง เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชต่างๆ ผมถามชาวบ้านว่านี่เป็นพื้นที่อะไร เขาบอกว่า คงมีชาวบ้านมา เตรียมพื้นที่ปลูกพริก  ผมทวนคำว่า ปลูกพริกรู้ได้อย่างไรว่าเขาจะปลูกพริก และรู้ได้อย่างไรว่านี่เป็นของชาวบ้าน แล้วทำไมต้องมาปลูกบนยอดดอยนี้ด้วยเล่า ทำไมไม่ปลูกที่หลังบ้าน อยากกินก็เดินลงจากบ้านมาเก็บกินง่ายๆ ทำไม่ต้องมาเดินเป็นชั่วโมงเพื่อมาเก็บพริกไปกินไกลอย่างนี้ ผมไม่เข้าใจจริงๆ.....  

ชาวบ้านหัวเราะใส่ผู้บันทึก.. แล้วผู้ใหญ่บ้านก็อธิบายว่า เขาปลูกเพื่อใช้ประกอบอาหารเวลามาเดินป่าก็ไม่ต้องขนเอาพริกขึ้นมา มาเอาที่นี่ ดินดีอย่างนี้ปลูกทิ้งไว้เดี๋ยวก็ได้กิน ส่วนที่บ้านก็มี หรือเมื่อเข้าป่าก็แวะมาเก็บเอาไปกินที่บ้านด้วยก็ได้   

ชาวบ้านชี้ไปที่ต้นไม้ต้นหนึ่งใกล้ๆนั้นพร้อมบอกว่า ..นั่นเห็นเศษใบไม้ที่เหน็บติดกลางต้นไม้นั่นไหม  นั่นหมายความว่า พื้นที่ตรงนี้มีเจ้าของแล้ว คนอื่นก็รับทราบและไม่ทำร้าย ไม่ทำลายพื้นที่ตรงนี้ นี่เป็นกฎป่าชาวบ้านทั่วไปเข้าใจ และไม่มีใครทำอะไรแต่อย่างใด  ผมถามต่อว่า เอ้า...ถ้าอย่างนั้นเวลาผมเดินขึ้นมาบนป่านี้และผมเก็บพริกนี้ไปกินโดยเจ้าของเขาไม่รู้ก็ได้นะซี.... ชาวบ้านยิ้มๆแล้วตอบว่า..ได้เลยจะเอาซักเท่าไหร่เชียว  เจ้าของก็ไม่ว่าหรอก ถือว่า นี่คือพริกสาธารณะ แต่ไม่มีใครเก็บไปแบบมากมายหรอกครับ เอาแค่พอกินก็เท่านั้น เขาเห็นอกเห็นใจคนที่เขามาปลูก  เพราะเราก็ทำแบบนั้น  หลายคนก็ทำแบบนั้น ต่างเคารพกัน ทีใครทีมัน ...... ผมมองหน้าชาวบ้านพร้อมกับนึกในใจว่า ทำไมจิตใจเขาสูงส่งอย่างนี้ ..ผิดกับ.... 

เดินมาอีกไม่เท่าไหร่ก็ถึงหน้าผาใหญ่สูงชัน เราอยู่ด้านล่างของหน้าผา ชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งมีความชำนาญในการเอาผึ้งป่าดึงมือผู้บันทึกไป แล้วบอกว่า มาทางนี้หน่อยจะชี้ให้ดูหน้าผาที่มาเอาผึ้ง ...เดินไปนิดเดียวก็เห็นชัดเจนมีร่องรอยรังผึ้งใหญ่ที่ถูกเอารังไปแล้ว  แต่ก็มีอีกรังหนึ่งมาอยู่ใกล้ๆ  ชาวบ้านคนนี้บอกว่า อ้าว..มันมาทำรังใหม่อีกแล้ว ผมเพิ่งมาเอาเมื่อ 2 สัปดาห์นี่เอง  ผู้บันทึกเห็นหน้าผาสูงแล้วสงสัยว่าชาวบ้านเอาผึ้งด้วยวิธีใด ชาวบ้านคนนี้อธิบายว่า เห็นนั่งร้านนั่นไหม  นั่นแหละเราสร้างขึ้นมาแล้วก็เอาไม้ยาวๆมาปลายด้านหนึ่งก็ผูกเศษใบไม้จุดไฟแล้วยื่นขึ้นไปรนรังผึ้ง และข้างล่างก็ต้องก่อกองไฟด้วย  ผึ้งกลัวไฟ  เมื่อตัวผึ้งแตกออกจากรังมากแล้วก็เอาไม้ยาวอีกอันหนึ่งแต่งปลายให้ป้านๆและคม ยื่นขึ้นไปแซะเอารังออกจากหินหน้าผานั้น เพื่อน 2 คนข้างล่างต้องกางแผ่นพลาสติกผืนใหญ่พอประมาณ รองรับรังผึ้งและน้ำหวานที่จะตกลงมาให้ดี  ก็แค่นี้เอง 

ปีนี้ชาวบ้านคนนี้ได้น้ำผึ้งเดือนห้าไป 60 ขวดขายขวดละ 200 บาท ก็ได้เงินมากโขอยู่ นี่คือวิถีชาวบ้าน หากพิจารณาดีๆแล้วพบว่า

ชีวิตเขาครึ่งหนึ่งคลุกคลีอยู่กับป่า มีความรู้เรื่องป่า ชำนาญเรื่องป่า หากินกับป่า เรียนรู้ธรรมชาติของป่า มันช่างต่างจากเรามนุษย์เงินเดือนมากมาย 

เวลาใครก็ตามทำงานกับเขาที่เอาระบบของตัวเองเป็นตัวตั้ง ใช้วิธีสั่ง และสอนโดยเอาความรู้จากข้างนอกที่เรียกกันว่าวิชาการเข้ามาให้เขาโดยไม่กลั่นกรองเลยว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร  ไม่เข้าใจว่าวิถีเขาเป็นเช่นไรจริงๆ อาจจะรู้แต่ผิวเผิน  แล้วก็ไปสรุปว่า ไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน หรือชาวบ้านเปลี่ยนแปลงยาก สอนเท่าไหร่ก็ไม่เอา...

บทเรียนการทำงานกับชาวบ้านนั้นมีผู้เสนอแนะมากมายรวมทั้งหลัก People center หรือแนวทาง Credo ของ ดร.เจมส์ ซี เยนส์ แห่ง PRRM ที่คนไทยเดินทางไปดูงานกันมากมายในอดีต...

หมายเลขบันทึก: 98407เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2007 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

เห็นแมงกว่างแล้วนึกถึงตัวเองตอนเด็กเหมือนกันค่ะ  พี่ และเพื่อนๆ ที่เป็นผู้ชายชอบเลี้ยงไว้ดูเล่น...แต่สมัยนี้ไม่เห็นแล้ว...

 น้ำผึ้งที่เคยเห็นชาวบ้านนำมาวางขายในกระจาด ที่ตลาดสดแถวบ้าน ราคาไม่แพงเลย ประมาณ 80-120 บาทเองค่ะ บางครั้งดูแล้วน้ำหวานไม่ค่อยเยอะด้วย ไม่รู้ว่ามาหลอกขายกันหรือเปล่า (รังยังเกาะไม้อยู่เลย)   พอได้อ่านบันทึกนี้ของพี่บางทราย ก็เห็นใจเค้าค่ะ   คิดไปคิดมา เข้าข้างคนขายว่า ...ราคาน่าจะสูงกว่านี้อีกนะคะ...

สวัสดีค่ะ

ชอบคำว่าพริกสาธารณะค่ะ นี่คือความงามของจิตใจค่ะ

%e0%b9%80%e0%b8%ad%e0%b8%b7%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%87นำดอกไม้มากำนัลจิตใจที่งามนี้ค่ะ

สวัสดีครับ

ทุกบันทึกของคุณบางทรายสะท้อนให้เห็นชีวิตของชนที่มี"กิเลส"น้อยกลุ่มหนึ่ง  ที่อยู่ร่วมกันกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล   อ่านแล้วเหมือนอ่านหนังสือธรรมะ ทำให้จิตใจปลอดโปร่งมากจริงๆครับ

ขอบคุณที่นำเรื่องดีๆมาเล่าให้พวกเราฟังเสมอ

สวัสดีครับน้องPhiangruthai

ใช่ครับสมัยเด็กๆพี่ก็ชอบเล่นเจ้าแมงกว่างนี้ เล่นแบบเด็กๆ เอาสนุกเข้าว่า ไม่ได้คิดอะไรมาก  เคนเอาไปแลกกับขนมเพื่อในชั้นเรียนที่เขาเป็นลูกคนจีน เจาไม่มีแมงกว่างเล่นแต่เขามีขนม เรามีแมงกว่างแต่ไม่มีขนมเลยมาพบกัน แลกกัน 

สำกรับน้ำผึ้งนั้น พี่ก็ซื้อของชาวบ้านมาตลอด แต่ก็พบเหมือนกันที่ชาวบ้านเขาผสมแบะแซ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำผึ้ง  เราซื้อหลายขวด กินบางส่วนเก็บไว้บางส่วน ส่วนรที่เก็บนานเข้าส่วนผสมนั้นก็นอนก้น เห็นชัดเจน  เรสก็เสียความรู้สึกไปเลย เราซื้อเขาเพราะเห็นใจเขา แต่โดนหรอก ก็รู้สึกไม่ดีเลย  แต่นั่นนานมาแล้ว หวังว่าปัจจุบันคงไม่มี!!

ขอบคุณครับ

สว้สดีครับท่านsasinanda

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่นำดอกไม้มาให้ครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับอาจารย์ครับ

ก็มีสองมุมครับ มุมหนึ่งที่เป็นกิเลสเยี่ยงมนุษย์ทั่วไป และบางมุมบางส่วนที่ผมไปสัมผัสมาก็เอามาเล่าสู่กันฟัง ทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น หากไม่ไปเห็นก็ไม่ทราบ เพราะเขาคงไม่เล่าให้เราฟัง ต่อเมื่อเราถามเขาถึงจะบอกว่าอะไรคืออะไร  เมื่อเรารับทราบแล้วและทบทวนปรากฏการณ์ต่างๆช่วงที่เราคลุกคลีกับเขานั้นก็เห็นว่า เออ เขาก็มีสิ่งนั้น สิ่งนี้อยู่นะ ซึ่งปกติเรามองไม่เห็นครับ

นี่คือผลของการเข้าไปคลุกคลี นี่คือผลของการเข้าถึง เข้าใจเขา มันก็ช่วยเรื่องทัศนคติที่มีต่อเขา และเลยไปถึงการทำงานการแลกเปลี่ยนกัน  การเข้าใจกันอย่างลึกซึ้งช่วยได้มากเลยครับ

P

 สวัสดีอีกรอบค่ะ

P

พอดีไปบันทึกครูบามา เห็นคุณบางทรายให้ความเห็น ก็เลย ขอ ร่วมให้ข้อคิดเห็นด้วยค่ะ

เกษตรกรไทยไม่มีการวิเคราะห์วิจารณ์ แต่มีการเฮกันไป ปรากฏการณ์นี้ซ้ำซากเสียจนนักธุรกิจจับทางอยู่ ก็อาศัยช่องทางนี้ทำมาหากินต่อไปบนความเสี่ยงของเกษตรกร

เป็นเช่นนี้มานานแล้วค่ะ คุณบางทรายคะ

การค้าขายและความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนตลอดค่ะ นักธุรกิจก้ต้องเปลี่ยนตาม และเราไม่ได้ป้อนสินค้า ให้ตลาดโลกคนเดียว มีประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศที่ทำอย่างเดียวกับเรา เช่น ปีนี้ ข้างโพดหวานทางอเมริกาผลผลิตตกต่ำ ทางเราก็ได้ราคา ปีไหนเขาผลผลิตสูงเราก็ไม่ได้ราคา มะเขือเทศก็เช่นเดียวกัน ผลผลิตอื่นๆก็เช่นเดียวกัน

 เกษตรกรก็มีผลกระทบด้วย ตรงนี้ทางการต้องมีข้อมูลให้เกษตรกรค่ะ ให้ตามทันโลก ราชการอาจช้าไปหน่อยค่ะ

ตลาดโลก ตลาดในประเทศเป็นผู้กำหนดราคาค่ะ

มันเป็นกลไกของตลาดจริงๆนะคะ

สวัสดีครับท่านsasinanda

ผมเห็นด้วยครับกับแนวคิดที่ทางราชการเราต้องทำงานแบบนักธุรกิจบ้าง (แต่คงยากนะครับ)  แต่ภาคการผลิตอ่อนแอมากไปคือรู้แต่ไม่เท่าทัน และหน่วยงานที่ควรจะก้าวเข้ามาช่วยให้เกิดการเท่าทันก็ไม่ work ชาวบ้านก็เลยตกเป็นเบี้ยล่าง ปีไหนที่ผลผลิตราคาดีก็รอดตัวไป ปีไหนผลผลิตต่ำลงมาก็ติดลบไป และหลายครั้งที่ผมรับผิดชอบกับงาน Contract farming อยู่นะครับ ทั้งๆที่ความบกพร่องอยู่ที่บริษัท แต่ก็โยนภาระมาให้เกษตรกร เขาไม่ share risk เกษตรกร เราเองก็แบกความรู้สึกเจ็บแทนชาวบ้าน แต่คิดหน้าคิดหลังแล้วทำอะไรก็ไม่ได้ ทางบริษัท take advantage มากไป 

ผมเห็นด้วยว่า บริษัทอยู่ได้ ชาวบ้านอยู่ได้ แต่ควรจะยุติธรรมมากกว่านี้ ผมยกกรณีที่ผมรับผิดชอบนะครับ ที่อื่นๆผมไม่ทราบเป็นเช่นไร เราเองสนับสนุนบริษัท เป็นผู้ชักชวนมาทำเอง แต่บริษัทกลับไม่แบ่งความเสี่ยงไป หรือแบ่งความเสี่ยงน้อยเกินไป เป็นเรื่องที่สร้างความไม่เข้าใจขึ้นมาระหว่างผู้ผลิตและบริษัท บทบาททางราชการเกือบจะไม่มี  อาจจะมีคำแนะนำ ก็เหมือนว่า แนะนำกับไม่แนะนำก็แทบไม่ต่างกันเลยครับ

ผมเองก็ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงให้ทั้งทางราชการและชาวบ้าน  แต่ชาวบ้านน่ะเขาทำอะไรไม่ได้หรอกครับต้องพื่งพาเรา  ราชการกลับไม่มีอะไรเลย ...  ผมก็เลยคิดเลยเถิดไปว่า หากเป็นเช่นนั้น โครงการ 40 กว่าล้านที่สร้างระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแล้วส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจ แบบ contract farmingนั้น ราชการน่าพิจารณาให้เอกชนมาประมูลระบบโครงการนี้ไปทำการผลิตเองเลย จะเกิดการใช้ระบบมากที่สุด  หากหวังให้ชาวบ้านเติบโตขึ้นมา ก็ทำได้ แต่ไม่ใช่การสนับสนุนแบบมองดูห่างๆ ไดยไม่พิจารณาข้อเสนอการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับโครงการ

 แต่ก็คงยากครับเพรากฏหมายไม่อนุญาติให้เอกชนเข้ามาทำเช่นนั้น ยกเว้นจะมีมติ ครม.พิเศษครับ

 ขอบคุณมากครับที่กรุณาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์

ขอบคุณครับ

P

เข้าใจและเห็นใจค่ะ

น่าจะนำเสนอเรื่องนี้ ให้ราชการเข้ามาช่วยเหลือเรื่องต่างๆให้มากกว่านี้ค่ะ

ดิฉันไม่ทราบว่าปลูกอะไร น่าจะมีสัญญาราคารับซื้อกันก่อน และทำตามปริมาณที่ตกลงกันเท่านั้นก่อนและบริษัทต้องซื้อหมด

  แต่ถ้าเราทำเกินจากข้อตกลง และเหลือเรามีสิทธิ์ขายคนอื่นได้

แต่ไม่ทราบว่าเมล็ดพันธุ์ของใคร

เรื่องนี้ละเอียดอ่อนค่ะ ต้องดูเป็นกรณีไปค่ะ

แต่ ชื่นชมคุณบางทรายที่ มุ่งมั่นพัฒนาชาวบ้านมานานอย่างสม่ำเสมอค่ะ ด้วยใจจริงๆ น้อยคนที่มุ่งมั่นแบบนี้

สวัสดีค่ะพี่บางทราย การที่เราเท้าติดดินและได้ไปรับรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน เข้าใจสิ่งที่เขาทำว่ากว่าจะได้มามันต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ทำให้เกิดความเห็นใจกัน อย่างที่พี่บางทรายเคยคิดว่าราคาน้ำผึ้งหนึ่งขวด 200บาทนั้นแพง แต่พอได้เห็นวิธีการกว่าเขาจะได้ ก็คิดว่าน่าให้เขา สำหรับตัวเองนั้นพอได้มีโอกาสเห็นการทำผ้าย้อมครามจริง ที่เคยคิดว่าแพง ก็เปลี่ยนความคิดเช่นกัน เงินที่จ่ายไม่เป็นเพียงเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้า แต่ยังเพื่อให้เขาสามารถดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและสืบทอดภูมิปัญญาไว้ให้แผ่นดินด้วย

จิตสาธารณะของชาวบ้านที่ยังคงมีความเป็นชาวบ้านจริงๆนั้นน่ายกย่องมาก แต่เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเปลี่ยนไปมากตามกระแสทุนนิยมที่โถมใส่ อย่างที่คุณเดชา ศิริภัทร มูลนิธิข้าวขวัญเคยพูดให้ฟัง เราต้องช่วยกันส่งเสริมให้ชาวบ้านกลับมาเป็นชาวบ้านจริงๆที่มีความเคารพธรรมชาติกันเสียก่อน เรื่องสวยงามมากมายยังมีให้เล่าขานในแผ่นดินนี้

พี่บางทรายโชคดีที่ได้พบชาวบ้านจริงๆ

ได้รับของและได้อีเมลตอบพี่บางทรายแล้วนะคะ ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งค่ะ

สวัสดีครับท่าน
ขอบคุณครับ เรื่อง โรงงานสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและทำ Contract farming นั้น ทำกับบริษัทเกี่ยวกับ น้ำมะเขือเทศ และอื่นๆอีก ขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อนะครับ
ก็เรากำลังทำเรื่องถ่ายโอนให้กับ อบต. ซึ่งก็น่าหนักใจอีกนั่นแหละ เพราะ อบต.ก็ยังต้องพัฒนาศักยภาพอีกมาก โครงการที่ผมรับผิดชอบกำลังสิ้นสุด เลยไม่ค่อยพร้อมเท่าไหร่ ขอต่อโครงการ ก็กำลังทำเรื่องกัน แต่ไม่ต่อเนื่องในการบริหารงานน่ะครับ
ขอบคุณในคำแนะนำครับ

สวัสดีครับน้องยุวนุช

ใช่ครับ ชาวบ้านจริงๆนั้น ซื่อ ใส บริสุทธิ์ ตรไปตรงมา มีน้ำในท่วมท้น มีศีลมีธรรม (ไม่ใช่ดีไปหมด ที่ไม่ดีก็มี) เราพบสื่งเหล่านี้มากกว่าในเมือง

ในเมือง เราเป็นลูกค้าประจำกับแม่ค้าขายส้มแห่งหนึ่งซึ่งเราซื้อผลไม้ประจำ เกือบทุกวัน เวลาไปถึงก้ไม่ต้องคัด ให้เขาหยิบให้เลย โดยเชื่อใจกัน และเขาก็หยิบเอาดีดีให้จริงๆ พอลูกสาวเขามาขายแทนเท่านั้นแหละ เราก็ปฏิบัติเหมือนเดิม  แต่ผลที่ได้ซิ กลับบ้านต้องโยนส้มทิ้งไปหลายลูก มันเน่า มันเสียหายไม่น่ากิน  นี่แหละแม่ค้า...ในทำนองเดียวกันพบบ่อยๆในเรื่องอื่นๆด้วย  เวลาเราไปซื้อของชาวบ้าน แถมแล้วแถมอีกจนเราต้องให้เงินเพิ่ม เขาก็ไม่เอา ... น้ำใจ จิตใจมันต่างกันมาก  แล้วเราเป็นอะไรจึงจะไม่รักเคารพคนดีดีเช่นนั้น ส่วนใหญ่ชาวบ้านก็เสงี่ยมเจียมตัว ค่อนข้างเชื่อฟังเรา เพราะเราคลุกคลีกับเขามา เห็นความคิดเห็นการกระทำกัน ก็เป็นอย่างนี้แหละ  และก็ต้องยอมรับว่าที่ไม่ดีก็มี

เรื่องมันเป็นอย่างนี้แหละครับท่านสารวัตร (ประโยคแซวกันเล่นในหมู่เพื่อนฝูง..)

สวัสดีค่ะคุณบางทราย

เห็นเป็นเรื่องผึ้ง เลยเอาผึ้งเมืองกรุงมาให้ดูค่ะ ^ ^

ผึ้งที่สถาบันกำลังดูดน้ำหวานจากขวดแฟนต้าที่มีนักศึกษามาบนไว้ที่ศาลฯ (ช่วงนี้เยอะเพราะคนเพิ่งสอบเข้าได้) ดิฉันเดินผ่านทุกวัน วันนึงสังเกตเห็นผึ้งจำนวนมาก แล้วพอสังเกตุดูน้ำหวานในขวด โอ้โฮ..หมดไปครึ่งขวดแล้ว..ใครมาแอบกินหรือเปล่า แต่เป็นของบนกับศาลฯก็ไม่น่าจะใช่..สรุปแล้วคือเป็นฝีมือผึ้งจริงๆ..

เป็นธรรมชาติที่ถูกปรุงแต่งแล้ว แปลกๆ ดีค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์กมลวัลย์

 รูปนี้แปลกดี และน่าคิด ต้นไม้หายไป แหล่งน้ำหวานหายไป ผึ้งจึงต้องมาพึ่งพาน้ำหวานเทียม  น้ำผึ้งที่ได้ก็คงมีรสแฟนต้าด้วยหรือเปล่าหนอ..คิดเลยเถิดไปโน่นก็ตลกดีนะครับ  ทแต่ตลกไม่ออกตรงที่พืชที่เป็นแหล่งน้ำหวานตามธรรมชาติไม่มี หรือมีน้องลง  จริงๆผมเคยเห็นผึ้งเลี้ยงเขาก็ให้น้ำตาลนะครับ

 ถ้าอย่างนั้นก็สู้น้ำผึ้งธรรมชาติกลางป่าไม่ได้ซิ รูปนี้มีความหมายครับอาจารย์

สงสัยว่ารังผึ้งเมืองกรุงที่ดูดแฟนต้าน้ำแดงจะมีรังสีแดงและรสหวานแบบเดียวกับแฟนต้าหรือเปล่า...

โลกเปลี่ยนไปจริงๆ

โอชกร

น่าจะเป็นอย่างที่น้องโอชกรกล่าวนะ สงสัยจัง คุณค่าน้ำผึ้งใต้เงื่อนไขนี้คงแตกต่างไปจากคุณค่าน้ำผึ้งแบบธรรมชาตินะครับ

สวัสดีคะ

  • คราวก่อนเอาผลไม้เปรี้ยว ฝาดให้ชื่นชม
  • มาคราวนี้เอาของหวานๆอย่างน้ำผึ้งมาแสดง กำลังเจ็บคอพอดีเลยคะ ถ้าได้จิบน้ำผึ้งสักนิดคงชุ่มคอ เป็นสมุนไพรไทยได้อย่างหนึ่ง
  • ว่าแต่ ถ้าเอารังของผึ้งมาเพื่อให้ได้น้ำผึ้ง จะถือว่าเป็นการเบียดเบียนผึ้งหรือเปล่าคะ (อันนี้ไม่แน่ใจจริงๆคะ)

เห็นแล้วคิดถึงบ้าน คิดถึงแมงกวางคั่วกิน (อุบส์!!) แหะๆๆ เอามาเล่นเฉยๆนะ ค่ะ

มิ้ม แถวบ้านนะค่ะ คนที่สูบบุหรี่จะปีนขึ้นไปแล้วก็สูบบุหรี่บ่นใส่ มิ้มก็จะเมาควัน ทำให้ได้รังมาง่ายๆเลย

สวัสดีครับน้อง กมลนารี

ใช่ครับ เที่ยวป่าก็มีของหลากหลายมาฝากอย่างนี้แหละครับ  ยังมีอีกนะ แต่ไม่มีเวลาลำดับเรื่องเลย ยุ่งกับงาน และคนซึ่งจำเป็น

เรื่องรังผึ้งมองได้สองด้านครับ บางมุมมองว่าเป็นยาและอาหาร ก็แบบหนึ่งหากเป็นกลุ่มเคร่งจะไม่ได้เลยครับ เพราะเป็นการเบียดเบียน และมีตัวอ่อนอยู่ในรัง  ไม่ได้เด็ดขาด ยกเว้นเขาจะทิ้งรังไปแล้ว  พี่ก็เคยอยู่กลุ่มนี้มาก่อนครับ

สวัสดีครับน้องแก่นจัง

 แฮ่มอย่าบอกนะว่าเคยกินมาแล้ววว... เอ้าไม่ว่ากันหรอก มันเป็นอาหารถิ่น เรื่องเอาผึ้งแบบเอาบุหรี่ไปสูบแล้วพ่นใส่น่ะ เมื่อเด็กๆพี่ทำมาแล้ว และปรากฏว่าเราเมาเอง คากอไผ่เลย เพื่อนต้องแบกกลับบ้าน ก็สมัยัน้นเป็นบุหรี่แม่ขวัญ ตราไก่(ชาวเรียกกาไก่) มวนเบ่อเริ่มเลย และฉุนมาก หรือเข้มข้นมากนั่นเอง เลยหยุดไปนานทีเดียว  สมัยเด็กๆชอบไปกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ สนุกดี

สวัสดีอีกรอบค่ะคุณบางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

ดิฉันเอาเรื่องผึ้งเมืองกรุงไปทำเป็นบันทึกแล้วนะคะ ถ้าว่างเชิญอ่านได้ทางนี้ค่ะ ; )

สวัสดีครับ อาจารย์

 

เดี๋ยวผมตามไปครับ

สวัสดีค่ะ

P

เห็นคุณพูดถึงทุนทางสังคมบ่อยๆ

ลองอ่านนี่ดูนะคะ

คุณอยู่จังหวัดสุรินทร์ ใช่ไหมคะ จังหวัดนี้มีทุนทางสังคมเข้มแข็ง  อย่าให้หายไปนะคะ

ตอนนี้ได้ข่าวว่าที่ สันป่าตอง ที่มีงานปอยทุกปี ชาวบ้านอาจจ้างผู้รับเหมามาจัดแทน น่าเป็นห่วงว่า วํฒนธรรมเดิมอาจเริ่มสูญไป ทางการคงต้องเข้าไปแก้ไขด่วนค่ะ

http://gotoknow.org/blog/goodliving/99001

สวัสดีครับท่าน sasinsnda

เดี๋ยวผมไปเยี่ยมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท