เรื่องเล่าจากดงหลวง 80 ระบบเจ้าโคตรในชุมชน


บทบาทของเจ้าโคตรคือ เมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วยก็ดี ขัดแย้งกันในครอบครัวก็ดี จะต้องมีการเรียกประชุมญาติทั้งสองฝ่าย มาจัดการไกล่เกลี่ยให้ดีกัน หรือปฏิบัติการต่างๆเพื่อให้เรื่องยุติกัน แม้กรณีแบ่งมรดก

ทำไมต้องมีตำรวจ ? ก็เอาไว้จับผู้ร้าย เอาไว้โบกรถกลางถนน เอาไว้เฝ้าบ้านเวลาคนไปต่างจังหวัดหลายวัน ฯลฯ และเมื่อคนทะเลาะเบาะแว้งกัน ตีรันฟันแทงกันก็มักจะไปหาตำรวจ  ในสังคมเมืองจะเป็นเช่นนี้ ผู้บันทึกก็เคยขึ้นโรงพักกลางเมืองหลวงเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนั่งแท็กซี่กลับที่พักแล้วพบสร้อยคอเส้นหนึ่งจึงชวนคนขับไปแจ้งความไว้ให้ตามหาเจ้าของที.? ไม่รู้ป่านนี้แล้วมาเอาหรือยัง..??  

แต่ในชนบทหลายพื้นที่ อย่างดงหลวงก็เช่นกัน ตำรวจมักไม่ค่อยมีบทบาทเท่าใดนักในเรื่องคดีต่างๆในชุมชน ยกเว้นเป็นเรื่องราวใหญ่โตจริงๆ เช่นมีการฆ่ากันตายเป็นต้น นอกนั้น ชุมชนจัดการกันเองครับ  แบบไหนหนอ...  

ในพื้นที่ทำงานโครงการ จะเช่าบ้านชาวบ้านหลังหนึ่งเพื่อให้เจ้าหน้าที่สนามพักอาศัย  เจ้าหน้าที่ก็เป็นวันรุ่น ทั้งรุ่นเล็กกลางใหญ่มักจะมารวมกันที่บ้าน เพื่อคุยกันตามประสาวัย  และก็มักจะลงเอยด้วยการดูรายการแข่งฟุตบอลด้วยกันทางโทรทัศน์ บางวันก็จะซื้อเหล้ามาดื่มกัน ตามประสาคนหนุ่มแน่น วัยห้าว  เวลาเราไปพบก็จะเหนียมอาย เพราะผมไม่ชอบการดื่มเหล้า และจะบอกกล่าวเสมอถึงการประพฤติตัวในชุมชนต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่ใช่เป็นหัวโจกนำพาวัยรุ่นไปในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร ดังนั้นต่อหน้าเขาก็จะไม่พยายามทำให้ผมเห็น    

แล้วก็เกิดเรื่องชกต่อยจนได้ อย่างที่ผมระแวง แต่ไม่ถึงกับใช้เครื่องทุ่นแรงทำร้ายกัน การชกต่อยเกิดขึ้นเพราะเหล้าเข้าปากแล้วควบคุมสติไม่อยู่  

แล้วเอาเรื่องเอาราวกันอย่างไร..??  เอาเรื่องกันครับ แต่เป็นเรื่องราวตามฉบับของชาวบ้าน คือ พ่อแม่ของฝ่ายเด็กชาวบ้านก็มาเรียกเจ้าหน้าที่ของโครงการไปคุยกัน แล้วก็ว่า ให้มา ผู้ข้อต่อแขน กัน เรียกค่าทำขวัญกันตามประเพณี ต่อหน้า เจ้าโคตร   แล้วให้ เจ้าโคตรอบรมสั่งสอนแล้วเป็นอันจบกัน..??  (งานแบบนี้ตำรวจไม่เกี่ยว)

 เจ้าโคตรคือใคร..??  : คือ ญาติผู้ใหญ่สูงสุดของตระกูลที่มีชีวิตอยู่ ที่เป็นที่เคารพ กราบไหว้ของลูกหลานในสายสกุล  ถ้ากล่าวในระบบครอบครัว  ก็คือ ญาติผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง    

บทบาทของเจ้าโคตรคือ เมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วยก็ดี ขัดแย้งกันในครอบครัวก็ดี จะต้องมีการเรียกประชุมญาติทั้งสองฝ่าย มาจัดการไกล่เกลี่ยให้ดีกัน หรือปฏิบัติการต่างๆเพื่อให้เรื่องยุติกัน แม้กรณีแบ่งมรดก   

เจ้าโคตรก็มีบทบาทมากกว่ากฎหมายมรดกบ้านเมืองเสียอีก เช่นโบราณกล่าวว่า     พี่กิน 3 น้องกิน 2 ส่วนน้องหล่า พ่อให้อีก 2 ส่วน  เป็นการบอกว่าการแบ่งมรดกนั้นต้องตามคำของพ่อ  นอกจากนี้ยังมีบทบาทต่อพิธีกรรมต่างๆมากที่สุดคือ พิธีกินดอง หรือแต่งงาน การแบ่งมรดก การทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว และการเจ็บไข้ได้ป่วย ผีเข้า ปลูกบ้านใหม่ ล้วนต้องพึ่งบารมีผู้เป็นสูงสุดของสายสกุลทำหน้าที่   

ในสังคมอีสานจะเป็นที่สังเกตได้เมื่อลูกสาวสุดท้องแต่งงานแล้ว นั่นคือสัญญาณว่าจะมีการแบ่งมรดกแล้ว ลูกสาวสุดท้องจะได้มรดกมากกว่าคนอื่น    

เจ้าโคตรนี้ไม่ใช่ใครแก่ตัวแล้วก็จะได้รับการยอมรับทันทีนะครับ แต่จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติ ดังนี้คือ เป็นญาติผู้ใหญ่สูงสุดของแต่ละฝ่าย เป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม เป็นผู้อยู่ในศีลในธรรม รักษาศีล เป็นที่เคารพของลูกหลาน  

ผู้เขียนประทับใจระบบนี้มาก ที่ใช้ในการระงับความขัดแย้งในชุมชนชนบทอีสานดังกรณีตัวอย่าง แต่ระบบนี้ค่อยๆจางหายไปเมื่อระบบเมืองรุกคืบเข้าสู่พื้นที่ชนบท ในคราบของความเจริญ ความทันสมัย คนออกนอกหมู่บ้านมากขึ้น ไม่ได้คลุกคลีกับการเคลื่อนตัวของชุมชน และระบบกฎหมายเข้ามาแทนที่   

สำหรับชาวบ้านดงหลวงแล้วยังใช้ระบบเดิมอยู่ดังกล่าว เพราะให้ความเป็นกันเอง ในกรณีความขัดแย้งก็เป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างญาติมิตร ซึ่งเมื่อที่สุดก็ยังอยู่ในสังคมเดียวกันอีกนานเท่านาน 

การมีระบบเจ้าโคตรจึงก่อให้เกิดพลัง “ค้ำคูณ ในชนบทอีสาน  เป็นกาวใจ เป็น Social adhesive เป็นทุนก้อนใหญ่ทางสังคมชุมชนที่สำคัญ เป็นความดีงาม เป็นการถนอมน้ำใจกัน ประคบประหงมมิให้ชุมชนบอบช้ำทางด้านจิตใจ เป็นการสมานฉันท์ด้วยสายใยแห่งสำนึกในชีวิต มันงดงามยิ่งกว่า นาตาลี เกียวโปวา อีกเป็นไหน ไหน..  

สังคมที่ร้อนแรงแบบ “ฮิบฮอบ และมี เทพเจ้าเรน มานั่นโด่อยู่ในใจใครๆนั้น ในพื้นที่ที่เรียกว่าทันสมัย ก้าวหน้า ในพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางความเจริญใช้ระบบปัจจุบันแก้ปัญหา อยู่น่ะ ตรวจสอบดูทีว่ามันค้ำมันคูณ หรือทำให้ไม่มองหน้ากันอีกต่อไป ไม่เผาผีกันอีกต่อไป   

ของดี ดี ที่โบราณท่านสั่งสมเป็นมรดกมาให้ดังกล่าวมานี้มีการเรียนการกู้คืนมากันไหมเล่า หรือไปไกลสุดกู่แล้ว  ความศิวิไลย์ที่กำลังก้าวไปสู่ สังคมนาโน เนี่ยะ มีระบบเจ้าโคตรนั่งอยู่ตรงไหนกันครับ..?   (อ้างอิง งานของ อ.อุดม บัวศรี)

คำสำคัญ (Tags): #เจ้าโคตร
หมายเลขบันทึก: 92546เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2007 22:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 09:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ในสังคมอีสานจะเป็นที่สังเกตได้เมื่อลูกสาวสุดท้องแต่งงานแล้ว นั่นคือสัญญาณว่าจะมีการแบ่งมรดกแล้ว ลูกสาวสุดท้องจะได้มรดกมากกว่าคนอื่น    

อาจารย์คะ ตรงนี้ มีที่มาที่ไปไหมคะ แปลก มีแต่ประเพณี ให้ลูกชายคนโตมากกว่า

  • มาทักทายพี่ชาย
  • สบายดีไหมครับ
  • วัฒนธรรมอีสานดีจังเลยครับ
  • กลัวจะต้องอยู่ภาคอีสานไม่ได้กลับบ้านครับ
  • สวัสดีครับท่านsasinanda
  • คนสุดท้องได้มากกว่าคนอื่น เพราะเป็นผู้เลี้ยงดูพ่อแม่จนที่สุดแห่งชีวิตครับ  แต่คนโตก็ได้มากเช่นกันเพราะต้องเป็นแรงงานแก่ครอบครัว ดูแลน้องๆ หนักแทนพ่อแทนแม่ ดังคำกล่าวที่ว่า "คนพี่กิน 3 คนน้องกิน 2 ส่วนน้องหล่า(คนสุดท้อง) พ่อให้อีก 2 ส่วน" อันนี้เป็นจารีตโบราณที่บัญญัติไว้ และถือปฏิบัติกันมาครับ ในชนบทยังถือใช้กันอยู่ตามที่ผมสอบถาม ส่วนสังคมชนบมที่ขับเคลื่อนใกล้เมืองมากแล้วนั้น สัดส่วนมรดกดังกล่าวก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปครับ เช่น ให้เท่ากันหมด แต่พ่อแม่อยู่กับใครฝากผีฝากไข้กับใครคนนั้นได้อีกส่วนหนึ่ง เป็นต้น
  • ผมขออนุญาต code คำที่ อ.อุดม บัวศรีกล่าวในรายงานของท่านว่า "ศาสตราจารย์ กูชิบะ ชาวญี่ปุ่น ก็ตั้งข้อสังเกตเหมือนกันว่า ลูกสาวคนสุดท้องจะได้มรดกมากกว่าคนอื่น" (รายงานการวิจัยเรื่อง เจ้าโคตร : การระงับความขัดแย้งในวัฒนธรรมอีสาน) หน้า 10
  • เป็นลักษณะปฏิบัติทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น อาจจะแตกต่างจากส่วนอื่นๆครับ 
  • ขอบคุณมากครับ
  • สวัสดีครับน้องขจิต
  • พี่สบายดีครับ ช่วงนี้ทำรายงานสิ้นสุดโครงการเลยหนักหน่อย
  • จะมาอยู่อีสานพี่เลยเอาเรื่องราวอีสานบางส่วนมาเล่าสู่กันฟังไงครับ  น่ารักจะตายไป
  • น้องขจิตจะไปอเมริกา พี่ อาจจะ ไปเวียตนาม
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับคุณบางทราย
  • เป็นระบบการปกครองกันเองที่หาไม่ได้แล้วในสังคมเมือง และต่อให้มีอยู่ก็จะไม่มีใครเชื่อฟังเจ้าโคตรเพราะคนเมืองดูจะไม่แยแสต่อระบบการปกครองที่มิใช่กฎหมาย
  • คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บ้านเมืองเราวุ่นวายอยู่จนทุกวันนี้กระมังครับ
  • สวัสดีครับคุณ aj kae
  • ผมคิดว่าสังคมเมืองคงไม่สามารถย้อนไปเระบบนั้นมาใช้ได้แล้ว  แต่การสร้างใหม่ที่ดีกว่าระบบตำรวจจะทำได้ไหม ฟังดูเป็นคำภามที่มีโอกาสเกิดยากจัง งั้นระบบกฏหมายและตำรวจก็วิ่งกระเผลกกันต่อไป
  • ถ้าอย่างนั้นสังคมชนบทที่พอมีหลงเหลืออยู่บ้างจะรักษาไว้ได้อย่างไร หรือปรับสภาพบ้างแต่คงคุณภาพเช่นเดิม ทำได้ไหม อย่างไร และจะอยู่ยงคงกะพันได้สักกี่น้ำ..
  • ในฐานะคนทำงานชุมชนก็ตั้งคำถามกับตัวเองและเพื่อนๆน่ะครับ
  • แต่ก็แปลกครับ  งานพัฒนาชนบทต่างๆเห็นสิ่งนี้เหมือนกัน  แต่ไม่มีกิจกรรมที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบนี้ต่อไป กิจกรรมส่วนมากไปอยู่ที่รูปธรรมทางการทำมาหากิน หรือด้านเทคนิควิธีต่างๆ แต่ด้านทุนทางสังคมนี้ ไม่มีอยู่ในแผนงานเช่นกัน.....?? เพราะโครงการออกแบบมาจากฐานการมองต่างไปจากสาระนี้ และแม้ให้ชาวบ้านเสนอแผนงาน ก็มักจะต้องการถนน อาคารนั่นนี่ เขาเองก็ไม่เคยยกสิ่งนี้เข้ามาในแผน เช่นกัน
  • นักพัฒนาต้องออกแรงมากครับในเรื่องเหล่านี้
  • ขอบคุณมากครับที่แวะมาทักทายกัน

มีลูกสาวคนเดียว สบายไม่ต้องไปแบ่งให้ยุ่งยาก เหมาโหลยกให้ทั้งชุดไปเลย ดีไหมละครับ

สวัสดีครับท่านครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

  • แหะ..แหะ ใช่แล้วครับ ยกให้หมดเลยคนเดียว เพราะมีที่ดินอยู่กระผีกเดียวเท่านั้น
  • คุณพ่อมีลูก 7 คน แบ่งสรรปันส่วนกันแล้วก็ได้กันคนละนิดละหน่อย แล้วไม่มีใครกลับไปทำนาสักคนเดียว  มีแต่เป็นมนุษย์เงินเดือน
  • มีผมแปลกกว่าเพื่อนกลับไปทำงานกับคนยากจน
  • คนรองจากผมไปก็ถูก กระแสคลื่น สึนามิ เศรษฐกิจสมัยปี 40 กระหน่ำเสียโงหัวไม่ขึ้นจนบัดนี้ นี่ได้ข่าวว่าพอมีงานทำบ้างแล้ว สงสารลูกหลานต้องตกระกำรำบากกันเพราะเจ้านายที่เอาแต่ตัวรอด (พวกเจ้าของบริษัทล้มบนฟูก ลูกน้องล้มละลาย...)
  • ขอบคุณครับท่าน

สวัสดีค่ะ

  • แวะมาทักทายค่ะ
  • เป็นคนอีสานค่ะ เป็นลูกสาวคนสุดท้อง ด้วยค่ะ แต่ยังไม่แต่งงาน มีพี่ชาย 2 คนค่ะ
  • พ่อแม่ให้มรดกที่ยิ่งใหญ่สำหรับนุ้ยแล้วค่ะ คือการศึกษา ไม่ต้องการอะไรอีกแล้วค่ะ อิอิอิ
  • ขอบคุณค่ะ

ในสังคมไทย การแต่งงานจะเป็นการแต่งผู้ชายเข้าบ้านครับ แต่สำหรับคนจีนจะเป็นการแต่งผู้หญิงเข้าบ้าน ดังนั้น ลูกสาวคนเล็กจะได้สมบัติเพิ่มอีกตรงที่จะช่วยเลี้ยงดูพ่อแม่ครับ ซึ่งแตกต่างจากคนจีนที่ลูกชายคนโตจะเป็นคนดูแลครอบครัวต่อจากพ่อ ครับ 

สวัสดีครับคุณนุ้ยcsmsu ลูกสาวคนสุดท้อง

  • ผมว่าในปัจจุบันการศึกษาคือมรดกที่ดีที่สุดแล้ว ผมเห็นด้วย เพราะสภาพสังคมเปลี่ยนไป
  • ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมเป็นสังคมเกษตรกรรม ที่ดินจึงมีความสำคัญสำหรับการทำมาหากิน คนสมัยใหม่ที่ดินมีความสำคัญสำหรับการสร้างบ้านพักอาศัย
  • เรื่องเจ้าโคตรที่สถาบันการศึกษาน่าที่จะหยิบมาสังเคราะห์ในแง่ระบบสังคม การถ่ายเททรัพยากร ความสัมพันธุ์ในครัวเรือน ชุมชน การเอาคนเข้า เอาคนออกจากครัวเรือน และผู้เฒ่าผู้แก่กับบทบาทที่ยังคงมีอยู่ในชุมชน
  • บทบาทกลับไปตกกับกำนันผู้ใหญ่บ้านที่เป็นเรื่องการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น ปล่อยให้เจ้าโคตร นั่งทำตาปริบๆอยู่ใต้ถุนบ้าน พิธีกรรมต่างๆที่เคยมีบทบาทก็ถูกถ่ายโอนไปที่กำนันผู้ใหญ่บ้านเกือบหมดสิ้นแล้ว คุณธรรมกำลังลดลง ผลประโยชน์ต่อกันกำลังมีมากขึ้น
  • บทบาทต่างๆเหล่านั้นต่อไปจะเป็นเพียงการเล่าขานกันเท่านั้น ผมยังเห็นคุณค่าอยู่ครับ
  • ขอบคุณมากครับลูกสาวคนสุดท้องครับ

 

สว้สดีครับ คุณ ภูคา

ใช่แล้วครับ ในสังคมไทย การแต่งงานจะเป็นการแต่งผู้ชายเข้าบ้านครับ แต่สำหรับคนจีนจะเป็นการแต่งผู้หญิงเข้าบ้าน ดังนั้น ลูกสาวคนเล็กจะได้สมบัติเพิ่มอีกตรงที่จะช่วยเลี้ยงดูพ่อแม่ครับ ซึ่งแตกต่างจากคนจีนที่ลูกชายคนโตจะเป็นคนดูแลครอบครัวต่อจากพ่อ

เรื่องนี้ผมคิดว่ามีคนศึกษาไว้มากพอสมควรทีเดียว ครับ ขอบคุณครับที่มาเยี่ยม

  • ฟังแล้วอบอุ่นดีจังครับ
  • คงต้องช่วยกันถนอมไว้ใช้นานๆ
  • ในสังคมเมือง "เจ้าโคตร"  คงไปนั่งเศร้าอยู่ที่บ้านคนชราครับ
  • น่าเศร้ากับสังคมเมืองนะครับ  เราเลียนแบบสังคมฝรั่งเข้าไปทุกที  แต่ไม่รู้จะเข้มแข็งสู้เขาได้หรือเปล่าก็ไม่รู้
  • พี่ก็หยิบเอามาเล่า อีกหลายท่านอาจจะไม่ทราบว่ามีระบบเจ้าโคตรอยู่ในสังคมอีสาน
  • แต่อย่างที่เรารู้ๆกันว่า มันจาง คลาย เสื่อม  และมีอย่างอื่นมาแทนที่ ก็เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นปกติของสังคมที่เคลื่อนที่ไป
  • แต่เราตั้งประเด็นว่า มีทางใดบ้างไหมที่เราจะปรับเปลี่ยนระบบนี้ให้คงคุณค่าอยู่ได้ต่อไป และยังคงยอมรับและปฏิบัติกันต่อไปภายใต้สถานการณ์ใหม่
  • เจ้าโคตรเฉพาะของไทโซ่ดงหลวง มีบทบาทมากกว่านี้ในวิถีชีวิต  แต่ "บางเรื่องเป็นอดีตไปแล้วครับ"
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท