"เรื่องเล่าจากดงหลวง" เรื่องที่ 4 ความขัดแย้งแฝง(2)


..เมื่อทราบความขัดแย้งเรารีบถอยออกมาหนึ่งก้าว พยายามรักษาความสัมพันธ์กับพ่อขิงแบบมีระยะห่าง แต่ก็ปฏิบัติกับพ่อกำนันอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการทุกเรื่อง..

1.   ปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่บ้านพังแดง :  ในปี 2547 วันหนึ่งผู้เขียนนั่งรถไปตรวจงานก่อสร้างถนนสายซอย(Lateral road) เพื่อดูความเรียบร้อยก่อนส่งงาน   เมื่อมาถึงวัดป่าภูถ้ำนกเห็นแปลงเพาะกล้าไม้สวยงาม มีกล้าไม้หลายอย่างจึงลงไปคุยกับชาวบ้านที่มาเป็นโยมอุปัฏฐากที่วัด ทราบว่าเป็นกิจกรรมเพาะกล้าไม้ของคณะกรรมการป่าชุมชนภูถ้ำนกของบ้านพังแดงนั่นเอง ดีใจ และประหลาดใจ เพราะเราส่งเสริมกิจกรรมป่าชุมชนมาตลอดและบ้านพังแดงเป็นหมู่บ้านที่เรามาบ่อยที่สุด  แต่กิจกรรมของชาวบ้านกิจกรรมนี้รอดสายตาไปได้อย่างไร หลังจากสอบถามทราบว่าพ่อขิง(นามสมมุติ) เชื้อคำฮด เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งป่าชุมชนโดยมีคนเข้าร่วมจำนวน 24 คนเราจึงนัดประชุมทันทีเพื่อเข้าถึงรายละเอียดกิจกรรม..  พ่อขิงเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านพังแดง มีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนให้สร้างงานสูบน้ำห้วยบางทราย แต่พ่อขิงมีบุคลิกที่ค่อนข้างเผด็จการ คิดอย่างไรก็จะเอาอย่างนั้น สิ่งที่พ่อขิงปฏิบัติหลายครั้งรุนแรง แม้ว่าสาระแล้วเป็นเรื่องที่เห็นใจ เช่น มีเด็กวันรุ่นในหมู่บ้านขี่มอเตอรไซด์เสียงดัง พ่อขิงก็ใช้วิธีรุนแรงจัดการจนถึงโรงถึงศาล ใช้อำนาจตัดสินใจเองและมักไม่ค่อยปรึกษาชาวบ้านและกลุ่มผู้เฒ่าในชุมชน  จนในที่สุดชาวบ้านบีบให้ออกและเปิดรับสมัครผู้ใหญ่บ้านใหม่ และพ่อสา(นามสมมุติ) เชื้อคำฮด ที่ชาวบ้านสนับสนุนก็ขึ้นมาแทนและก็เป็นไปดังคาดที่พ่อสาได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านอย่างท่วมท้น และได้เป็นกำนันในเวลาต่อมาจนปัจจุบันนี้ แม้ว่ากำนันสาจะปกครองคนไม่เป็น ทำงานก็ไม่คล่องเหมือนพ่อขิง  แต่มติชาวบ้านก็เลือกอย่างนั้น  เมื่อพ่อขิงหมดอำนาจก็มาเคลื่อนไหวกิจกรรมป่าชุมชน และมักจะไปใช้ชีวิตกับพระที่วัดภูถ้ำนกแล้วเรื่องก็เกิดขึ้น...

2.   ป่าชุมชนและความขัดแย้ง: ประชุมคณะกรรมการป่าชุมชนเมื่อใดก็มีคนมาเพียง 24 คน และก็มีเท่านั้นจริงๆ วันหนึ่งคณะกรรมการป่าชุมชนจับชาวบ้าน ก็เพื่อนบ้านพังแดงนี่เองที่ขึ้นไปตัดไม้ในป่าชุมชนโดยไม่บอกกรรมการ  เกิดการฟ้องร้องถึงอำเภอ เจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัดเข้าไปจัดการ เกิดการชุมนุมชาวบ้านพังแดงฝ่ายกำนันสาและคณะกรรมการป่าชุมชนของพ่อขิงซึ่งมีเพียง 24 คน ผู้เขียนเข้าร่วมการแก้ไขปัญหาครั้งนั้นด้วย เป็นการเผชิญหน้ากันจริงๆ เจ้าหน้าที่มาเพียงปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ระดับล่าง 2-3 คน ประเด็นก็คือ

1)       พ่อขิงเข้ารับการฝึกอบรมการจัดทำป่าชุมชนกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัดแล้วกลับมาตั้งป่าชุมชนเลย โดยไม่ประชุมประชาคมหมู่บ้าน ที่น่าแปลกใจคือ เจ้าหน้าที่ก็ลงทะเบียนป่าชุมชนเป็นทางการ โดยไม่ทราบความขัดแย้งที่มีอยู่

2)       เมื่อทราบก็ไม่แก้ไขอย่างถูกต้องโดยการจัดประชุมประชาคมบ้านใหม่  แต่ยืนยันการขึ้นทะเบียนป่าชุมชนไปแล้ว ที่มีเพียง 24 คนเป็นสมาชิก คนทั้งหมู่บ้านเป็น ร้อยๆคนไม่ยอมรับ ก็ไม่สนใจ

3)       คดีการตัดไม้ป่าชุมชนก็ประนีประนอมกันแบบขุ่นเคืองกันไปด้วย

3.   คฟป.วางตัวอย่างไร: เมื่อทราบความขัดแย้งเรารีบถอยออกมาหนึ่งก้าว พยายามรักษาความสัมพันธ์กับพ่อขิงแบบมีระยะห่าง  แต่ก็ปฏิบัติกับพ่อกำนันอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการทุกเรื่อง เช่นเข้าพบ  ทำหนังสือ  เชิญเข้าร่วมการประชุม  ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เราเป็นลิ่มตอกความขัดแย้งนี้มากขึ้น สำหรับป่าชุมชนก็ห่างออกมาให้ชาวบ้านคุยกันเองและให้บทบาทของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการผูกปัญหานี้ขึ้นมาก็จะต้องแก้ไข  แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า  การเผชิญหน้าครั้งนั้นจบลงที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ยอมรับการมีอยู่ของป่าชุมชน  แต่คณะกรรรมการป่าชุมชนยิ่งคร่ำเคร่งกับการดูแลป่า  และมีเสียงเข้าหูมาตลอดทั้งสองฝ่ายว่า พ่อขิงกล่าวเสมอว่าฝ่ายกำนันเป็นมือตัดไม้ขายให้แก่เครือข่ายพ่อค้าในเมือง ยังระบุอะไรต่อมิอะไรชัดเจนมากทั้งคนทั้งเจ้าหน้าที่  ส่วนฝ่ายพ่อกำนันก็ว่ามีหลักฐานที่ชาวบ้านเห็นว่ากลุ่มพ่อขิงตัดไม้เสียเอง  หวงป่าไว้เพราะต้องการตัดไม้เอง !!!!!   เราเองทำได้เพียงพูดหลักการจัดการป่าชุมชนแบบกลางๆโดยละเว้นการกล่าวหาทั้งสองฝ่าย

4.   ความขัดแย้งที่มีเบื้องหลังมานาน: ย้อนหลังไปหลัง 14 ตุลาวิปโยค ดงหลวงยังเป็นพื้นที่ปิด จึงเป็นเป้าหมายของนักศึกษาผู้หลบเข้าป่า  สมัยนั้นใครที่ต่อต้านรัฐบาลก็เป็นคนกลุ่มเดียวกัน นักศึกษาคนหนึ่งเดินทางเข้ามาที่บ้านพังแดง แล้วบวชพระจำพรรษาที่วัดภูถ้ำนก แม้ว่าชาวไทโซ่จะ นับถือผีมากกว่าพระแต่ก็ไม่ปฏิเสธพระ ชาวบ้านจำนวนมากยังถวายภัตตาหาร ใส่บาตร  หลายปีต่อมาพระรูปนี้สนิทสนมกับชาวบ้านมากขึ้น เข้าออกหมู่บ้านได้อย่างกันเอง แล้วเรื่องก็อุบัติขึ้นเมื่อสาวชาวบ้านนางหนึ่งเป็นเป้าหมายสายตาของพระรูปนี้  มีการเดินทางไปมาหาสู่ แต่ก็อยู่ในสายตาชาวบ้าน ความสนิทสนมทำให้ทั้งสองคนจะครองรักกัน พระรูปนั้นจึงลาสิขาออกมาหมายมั่นจะเป็นเขยบ้านพังแดง  แต่ด้วยเหตุใดไม่ทราบเมื่อพระลาสิขามาแล้วสาวกลับไม่เอาด้วย  และหลบหนีไป........ เป็นที่เล่าขานกันว่า ทิดที่สึกมาจากพระรูปนั้นเมามายหัวลาน้ำ ขึ้นบ้านโน้น ลงบ้านนี้ เมาตลอดวัน  เมาจนหมดสภาพ ตรงกันข้ามกับในรูปพระที่ชาวบ้านเคารพกราบไหว้ กลับมาอยู่ในสภาพคนเมาไม่มีสติ นอนกลางถนนเป็นต้น  ต่อมาทิดก็หายตัวไปนานหลายปี  แล้วจู่ๆก็กลับเข้ามาในหมู่บ้านอีกในรูปของพระอีกครั้งหนึ่ง  ครั้งนี้ไม่มีใครใส่บาตรให้อีก นอกจากกลุ่มพ่อขิง หรือกลุ่มป่าชุมชนนี่แหละ  ชาวบ้านทั่วไปยังถวายข้าวพระแต่เป็นพระที่สำนักสงฆ์พรเจริญ อีกแห่งหนึ่งทางทิศใต้ของหมู่บ้าน  คนทำงานพัฒนามาเห็นชุมชนเดียวมี 2 วัดก็เดาได้ว่า ชุมชนนี้ไม่ปกติ  พระที่วัดป่าภูถ้ำนกรูปที่กลับมานั้นปัจจุบันยังจำพรรษาอยู่ที่วักภูถ้ำนกเพียงรูปเดียว และวัดจึงเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มป่าชุมชน ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมพิธีงาน 3 ค่ำเดือน 3 ของชาวไทโซ่เมื่อปี 2548 พบว่ากลุ่มป่าชุมชนจัดพิธีแยกออกจากชาวบ้านกลุ่มใหญ่ ???? แต่กิจกรรมของกลุ่มผู้ใช้น้ำต่างกลุ่มก็ยังเข้าร่วมกันอยู่ แต่เราเฝ้ามองพฤติกรรมอยู่  เมื่อเราคิดถึงการพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำให้เข้มแข็ง มองซ้ายมองขวาเพื่อหาผู้นำขึ้นมาแทนพ่อขิงและพ่อกำนันดูจะมองไม่เห็นใครเลย  เพราะช่วงที่ผ่านมาไม่มีใครมีพฤติกรรมโดดเด่น  การทุ่มเทเวลาเพื่อสร้างเงื่อนไขดีๆขึ้นมาก็ทำไม่ได้เต็มที่  เมื่อมีดำริ สร้างตลาดชุมชนที่บ้านพังแดง เราก็ยินดียิ่ง แต่...คงต้องคุยกันหนัก..

5.   ความขัดแย้งที่ต้องพึ่งผู้เฒ่า: เราเคยศึกษาเอกสารวิจัยของท่านอาจารย์อุดม บัวศรี แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นเรื่อง เจ้าโคตรของชาวอีสาน และมีกรณีศึกษาที่ อ.ดงหลวงด้วย เราทราบจากการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนว่า ใครก็ตามที่เป็น ไก่บ้าน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำชุมชนบ้านพังแดงจะต้องเชิญผู้เฒ่าเป็นสภาที่ปรึกษา  ทุกยุคทุกสมัย ยกเว้นพ่อขิงที่ไม่ทำเช่นนั้น  เราศึกษาบันทึกของคุณอุดม ศรีสุวรรณ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เรื่องสมภูมิภูพานที่ดงหลวงพูดเรื่องเจ้าโคตร ในที่สุดเราจึงจัด เวทีสภากาแฟขึ้นเพื่อเป็นเวทีกลางของชุมชนในการเชิญชาวบ้านเป้าหมายต่างๆมาพบปะพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ  เพื่อเจาะลึกถึงข้อมูลต่างๆของชุมชน  ความคิดเห็น ทัศนคติ ต่างๆ เพื่อเราจะได้นำไปประกอบการคิดอ่านต่อไปในการสร้างชุมชน สร้างกลุ่ม สร้างกิจกรรม ฯลฯ เราจัดมา 2 ครั้งแล้วได้ผลดี กินกาแฟกันไป กินขนมปังปี๊บกันหมดปี๊บ คุยกันไป เอาบรรยากาศสบายๆ คิดว่าดี คาดว่าจัดต่อไปเรื่อยๆเราน่าที่จะได้แง่คิดดีๆออกมาจากปากชาวบ้านมากขึ้น  เวทีสภากาแฟ นี้ไม่กำหนดชัดว่าจะเชิญใครมา แล้วแต่ครั้งนั้นๆ ตั้งใจว่าจะกระจายกลุ่มคนไปเรื่อยๆ เช่น กลุ่มผู้เฒ่า กลุ่มคนหนุ่ม คนสาว วัยรุ่น  สตรี  แม้แต่เด็กๆ แต่กลุ่มผู้เฒ่าเราให้น้ำหนักมากหน่อย เพราะต้องการความเห็น คำแนะนำต่างๆโดยเฉพาะ การขจัดความขัดแย้งใน ทัศนคนใน

 หมายเหตุ       ไก่บ้าน คืออะไร นอกจากนี้ยังมีคำว่า ไก่ป่าอีก แล้วมันคืออะไร ไก่ทั้งสองชนิดนี้มีบทบาทต่อ    สังคม                        ไทโซ่อย่างไร?? อยากรู้ต้องติดตาม....           
หมายเลขบันทึก: 72838เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2007 00:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ความขัดแย้ง มีมาก มีทุกพื้นที่ ทั้งที่เปิดเผย และซ่อนแร้น

เทคนิคการแก้ไขความขัดแย้ง ถึงแม้จะมีตำรา แต่ก็ใช่ว่าจะนำมาปฎิบัติได้จริงๆ กับทุกพื้นที่

พยายามต่อไป...สู้

จริงครับท่านผู้ไม่แสดงตน ขอบคุณมากครับ

ถ้าเป็นอย่างงี้แล้ว จะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่หนอ จึงจะผสานชุมชนเป็นหนึ่งเดียวได้

พัฒนาอะไรจะยากยิ่งเท่าพัฒนาคนให้เป็นคน

ขอบคุณเหว่ามากเลยที่แนะนำ Blog ให้ พี่ตามเข้าไปแล้วที่ท่านครูบา ผู้เจนจบ

- เรื่องความขัดแย้ง มันเป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมชาติของสังคม ทุกวงการ การสร้างคนสร้างสังคมจึงต้องเอา "สำนึก" เข้ามาด้วยไง หากมุ่งแต่กิจกรรมที่มีผลประโยชน์เพียงถ่ายเดียว ไม่มีกิจกรรมกระตุ้นสำนึกก็สำเร็จเพียงตัวกิจกรรมแต่ไม่ได้ใจ

-งานพัฒนาทางสังฆมณฑลจึงเรียกว่า "ทั้งครบ" ไม่ทำกิจกรรมที่เป็นเพียงเสี้ยวส่วนเท่านั้นที่ระบบโครงการบังคับให้ทำ แต่ต้องทำกิจกรรมด้านจิตใจ ด้านสำนึกเข้าไปด้วย สอดแทรกเข้าไปในทุกเรื่อง ซึ่งคนทำงานพัฒนาคนต้องฝึกฝนตัวเองมากทีเดียว...ยากจริงๆ.. แต่ท้าทาย..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท