เรื่องเล่าจากดงหลวง 134 คนจนในชนบท


หลายครั้งที่เราจัดฝึกอบรมต่างๆในชุมชนและมีการเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้เข้าร่วมทุกคน เราพบว่ากลุ่มคนจนจะเอาถุงพลาสติกมาเก็บส่วนเหลือของอาหารกลับไปบ้านด้วย เราเห็นแล้วก็สะท้อนใจเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือมื้อไหนก็ไม่รู้ของคนทางบ้าน นั่นคือความรับผิดชอบที่เขามีต่อลูก เมียของเขา แล้วเราจะไปเรียกร้องการมีส่วนร่วมอะไรมากมายจากเขาอีก แค่เอาชีวิตรอดไปวันวันก็แย่แล้ว

การจัดเก็บข้อมูลชุมชนที่ผู้บันทึกกำลังดำเนินการอยู่นี้ใช้กระบวนการ PRA ดังเคยกล่าวถึงในบันทึกก่อนหน้านี้บ้างแล้ว หลายครั้งที่ผู้บันทึกตั้งข้อสังเกตไว้ว่ากลุ่มคนยากจนในชุมชนหรือที่เราเรียกว่า ประชาชนชายขอบ  นั้นมักจะหลุดออกจากวงจรงานพัฒนาไปด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น เขาไม่กล้าเข้ามาร่วมกิจกรรม เพราะถ่อมตัว เก็บเนื้อเก็บตัว หรือเพราะเงื่อนไขของการเข้ามาร่วมกิจกรรมเขามีไม่ครบ เช่น ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีเงิน เป็นต้น ยิ่งทำให้เขาผู้ด้อยโอกาส ถูกผลักออกไปอยู่ขอบของการยกระดับชีวิตยิ่งขึ้นไปอีก  

เขาก็ต้องดิ้นรนตามเงื่อนไขที่ไม่มีขอบมากีดกั้นเขา เช่นเข้าป่าหาอาหารมากกว่าคนอื่นๆ หรือหาของป่าไปขายเพื่อรายได้เล็กน้อย  แต่ก็พอประทังชีวิตไปได้วันวันหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่มีหลักประกันอะไรต่อวิถีชีวิตเขาเลย การที่เขายังมีชีวิตร่วมกับเพื่อนในชุมชนได้คือ ชุมชนไม่ได้รังเกียจเขาที่จะเข้าร่วมงานทางประเพณี วัฒนธรรมของชุมชน ดูเหมือนเป็นสิ่งเดียวที่เป็นแรงเกาะเกี่ยวเขาให้อยู่ในชุมชนได้อย่างปกติ นี่คือคุณค่าของวัฒนธรรมชุมชน ที่สังคมเมืองเกือบจะไม่หลงเหลืออีกแล้ว 

มีหัวข้อหนึ่งที่เรากำหนดจัดเก็บคือ การทำ Wealth ranking คือการให้ชุมชนพิจารณาแบ่งฐานะทางเศรษฐกิจในชุมชนดูว่า คนในชุมชนทั้งหมดนี้หากแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือคนที่มีฐานะดี ฐานะปานกลาง และฐานะยากจนนั้น เขามองอย่างไร แบ่งอย่างไรและมีจำนวนแต่ละกลุ่มเท่าไหร่  ทั้งนี้เพื่อเราจะได้ทราบทัศนคติของเขาต่อการกำหนดแบ่งฐานะ และเพื่อนร่วมชุมชน ข้อมูลที่ได้จะทำให้เราเข้าใจและนำไปประกอบการกำหนดแนวงานพัฒนาได้ จากการจัดทำดังกล่าวพบข้อสรุปภาพรวมของหมู่บ้านตัวอย่างดังต่อไปนี้ 

พบว่า สถานการณ์คนจนในชนบทต่อสภาพสังคมเช่นปัจจุบันนี้ลำบากมากขึ้นในแง่ของการดำรงชีวิตด้วยการเลี้ยงชีพ ด้วยการรับจ้างทั่วไปในชุมชน ซึ่งไม่มีหลักประกันอะไรเลย เพราะการว่าจ้างหลักก็คือกิจกรรมด้านการเกษตร เช่นการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง การตัดอ้อย การไถนา ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการจ้างรถไถนามากกว่า การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังและอ้อยก็ไม่ได้มีตลอดทุกวันทั้งปี บางชุมชนมีแต่มันไม่มีอ้อย บางชุมชนมีแต่อ้อยไม่มีมันสำปะหลัง  

จากการหาค่าเฉลี่ยเราพบว่า คนจนในชนบทมี 12 % ขณะที่คนฐานะดีมี 8 % ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดคือฐานะปานกลางมี 80 % 

คนจนกลุ่มนี้หากอยู่ในท้องถิ่นที่เป็นภูเขา เช่น ที่ดงหลวง ทางออกของเขาก็คือการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจากป่าตลอดทั้งปี  เข้าไปหาของที่กินได้ทุกอย่างที่มีอยู่ในป่า และหากมากเกินพอก็เอาไปขายเพื่อเป็นรายได้ของครอบครัวต่อไป คนกลุ่มนี้จึงไม่มีเวลาสำหรับการเข้าร่วมกลุ่มกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ เพราะวันทั้งวันต้องใช้เวลาทั้งหมดในการแสวงหาอาหารเพื่อครอบครัว โอกาสที่จะได้รับความรู้และประสบการณ์อื่นๆในการพัฒนาตัวเองและครอบครัวจึงไม่มีหรือมีน้อยมาก จึงหลุดออกจากวงจรงานพัฒนาชุมชนไปในที่สุด 

ในทางตรงข้ามเมื่อเราตั้งคำถามว่าคนยากจนเหล่านี้เข้ามาร่วมงานบุญ ประเพณีของชุมชนบ้างไหม ชาวบ้านทั่วไปรังเกียจเขาหรือเปล่า คำตอบที่ได้คือ เข้าร่วม และชาวบ้านก็ไม่ได้รังเกียจอะไร 

หลายครั้งที่เราจัดฝึกอบรมต่างๆในชุมชนและมีการเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้เข้าร่วมทุกคน เราพบว่ากลุ่มคนจนจะเอาถุงพลาสติกมาเก็บส่วนเหลือของอาหารกลับไปบ้านด้วย เราเห็นแล้วก็สะท้อนใจเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือมื้อไหนก็ไม่รู้ของคนทางบ้าน นั่นคือความรับผิดชอบที่เขามีต่อลูก เมียของเขา แล้วเราจะไปเรียกร้องการมีส่วนร่วมอะไรมากมายจากเขาอีก แค่เอาชีวิตรอดไปวันวันก็แย่แล้ว ผู้บันทึกต้องกลับมาทบทวนแนวทางงานพัฒนาข้างหน้าใหม่ทั้งหมด ว่าจะเอาคนกลุ่มนี้มาอยู่ในกระบวนการได้อย่างไร กองทุนสารพัดไม่เคยถึงมือคนกลุ่มนี้ รายชื่อคนกลุ่มนี้ไม่มีอยู่ในคิวการส่งเสริมอาชีพแบบมีเงื่อนไข อย่าว่าแต่พอเพียงเลยครับ สถานภาพของเขาต่ำกว่าพอเพียงเป็นไหนๆ พี่น้องเอ๋ย นี่แหละคนจนในชนบท 

หมายเลขบันทึก: 114382เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2007 14:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 00:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เหเหว่าชอบภาพนี้มากไ เลยค่ะ ให้ความรู้สึก ให้จินตนาการดีจังเลย คุณตาดูตั้งใจมากๆ เลยเนาะ

สวัสดีค่ะคุณบางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)  

อ่านแล้วเห็นภาพคนจนในชนบทชัดเจนจริงๆ ค่ะว่าขาดโอกาสขนาดไหน ขนาดจะเวลาที่จะมาเรียนรู้พัฒนาให้ชีวิตดีขึ้นยังไม่มีเพราะต้องใช้เวลาเกือบทั้งหมดไปหาอาหารเพื่อยังชีพ

เห็นภาพแล้วสะท้อนใจจริงๆ เอามาตีแผ่ให้รู้กันเยอะๆ ก็ยังดีค่ะ

ขอบคุณที่นำมาเล่าให้ฟังกันนะคะ

สวัสดีครับน้อง P Kawao

  • คุณลุงคนขวามือนั่นคือสหาย..ที่สุขุม และนุ่มนวน เมื่อเราพูดคุยกัน
  • ตรงข้ามกับลุงคนซ้ายมือที่กระฉับกระเฉง ส่งเสียงดังและแสดงความคิดเห็นจากประสบการณ์มากที่สุดครับ
  • ทั้งสองท่านได้ให้ข้อเท็จจริงของชีวิตแก่ทีมงานตลอดทั้งวันอน่างจริงใจ ครับ 

สวัสดีครับอาจารย์ P

  • ผมพยายามหยิบบางมุมของชนบทมาเผยแพร่น่ะครับ
  • เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยยังไม่ทราบบางมุมของชุมชน เช่นดังกล่าว
  • รัฐ หรือหน่วยงานเอาแต่ความสำเร็จมาประชาสัมพันธ์ แต่จุดอ่อนและข้อจำกัดต่างๆไม่ได้เอามาเผยแพร่ เพราะอะไรเล่า..แล้วจะแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างไร
  • ผมก็เลยขุดเอามาแบบ้างน่ะครับ แค่มุมเล็กๆเท่านั้นครับ

สวัสดี่ค่ะพี่ไพศาล เรื่องการแก้ปัญหาคนจน คนชายขอบ ทำคนเดียวไม่ได้แน่ๆ แต่จุดที่พี่ตระหนักถึงเหตุผลที่เขามาร่วมประชุม อบรมเพื่อพัฒนาตนเองไม่ได้ นุชคิดว่าสำคัญมาก มันจะช่วยให้เราไม่นำวิธีคิดและวิธีการเดิมๆมาใช้ แม้ว่าจะใช้อย่างมีความปรารถนาดีและจริงใจ ขอให้ธรรมะจัดสรรให้พี่ไพศาลได้แนวร่วมมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำให้ได้ผล เกิดความสุขแก่คนจนและผู้ทำงานนะคะ

หนังสือเล่มใหม่ที่นุชเขียนเพิ่งเสร็จ จะส่งมาให้ นุชเองไม่ได้มีความรู้เรื่องการทำงานในพื้นที่ แต่เรื่องที่ไปรู้มาอาจถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันก็ได้ค่ะ อาจทำให้พี่เห็นแง่มุมบางอย่างที่จะทำงานกับชุมชน คนจน แม้ว่าหนังสือจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการความรู้และโรคเบาหวาน(กรณีศึกษาโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก)ค่ะ

สวัสดีครับน้อง P

  • ขอบคุณสำหรับแนวคิดที่น่าสนใจ
  • และพี่ก็รออ่านหนังสือเล่มใหม่ที่ท่านอาจารย์หมอกล่าวถึง และก็เชื่อว่าน่าอ่านอีกเช่นเคย
  • ก็ทึ่งว่าวิธีการเขียนที่อ่านง่ายๆน่ะเป็นเอกศิลป์ที่หาคนทำได้น้อยมากนะครับ
  • เล่มต่อไปน่าจะเขียน "วิธีการเขียนงานวิชาการให้อ่านง่าย"
  • ขอบคุณอีกครั้งครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท