Learning by doing บันทึกนศพ.ปี 6: จำเป็นไหมก่อนตายต้องขอขมา?


จำเป็นหรือไม่ที่ก่อนตายเราจะต้องมีการขอขมา และเคลียร์ทุกอย่างที่ติดขัดไว้ ปล่อยไว้ให้อยู่อย่างสงบๆนิ่งๆ จะไม่ดีกว่าหรือ??

    ทุกปีที่ผ่านมา หลักสูตรนักศึกษาแพทย์ปีทีุ่ 6 ในช่วง Community medicine จะได้ไปปฎิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน แต่เปิดเทอมใหม่ปีนี้ ด้วยวิสัยทัศน์ คิดใหม่ ทำใหม่ ของท่าน อาจารย์รัตนา และอาจารย์นิสิต ในการส่งเสริม Humanized medicine โดยให้มีโอกาสดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง/ผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลชุมชนด้วย และส่งเป็นรายงาน on line ที่เราเรียกกันให้เท่ห์ๆ หน่อยว่า Practicum paper

ในบรรดา 12 รายงานนั้น มีรายงานหนึ่ง ที่อ่านแล้วประทับใจในมุมมองผู้ใหญ่เกินตัว และให้เห็นแง่มุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จึงขออนุญาตน้อง Extern พิจารณ์ สารเสวก นำมาเล่าสู่กันฟัง โดยคงเนื้อหาเหมือนเดิมทั้งหมด เพียงปิดบังชื่อบุคคลและสถานที่คะ

Family Genogram:

 

Symptom management issues:

ผู้ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย มีการกระจายไปที่สมอง ไขสันหลัง และ กระดูก แรกรับผู้ป่วยมีอาการค่อนข้างอ่อนล้า การตอบสนองไม่ค่อยดี สื่อสารค่อนข้างลำบาก เสียงแหบ พูดได้ไม่นานก็รู้สึกเหนื่อย

problem list:

   1. pain : ผู้ป่วยมีอาการปวดตามแขน ตามหลัง

  2. dyspnea: ผู้ป่วยหายใจไม่อิ่ม เหนื่อย หอบ บ่นเรื่องเสมหะมาก ดูดไม่ออก  ปัญหาที่ผู้ป่วยให้ความสนใจมากที่สุดคือ รำคาญเสมหะอยากจะเอาออกให้ได้

   3. urinary retention : ผู้ป่วยปัสสาวะไม่ออก ต้องคาสายสวนปัสสาวะไว้ตลอด

   4. กินไม่ได้ เพราะกลืนลงไปจะสำลักออกทันที ทรมานมาก    

1.ปัญหาเรื่องอาการปวด

         ผู้ป่วยมีอาการปวดกระดูกที่แขน และหลัง (6/10) ปวดตื้อๆ อยู่กับที่ไม่มีแสบร้อนหรือร้าวไปที่ใด น่าจะเป็น Nociceptive pain (somatic and visceral)  เป็นมาแล้วประมาณ 2 เดือน ตรวจร่างกายมีตำแหน่งกดปวดชัดเจน น่าจะเป็นอาการปวดจากมะเร็งกระจายมาที่กระดูกร่วมกับปวดกล้ามเนื้อจากการนอนนาน อาจมีปัญหาความเศร้าหมอง ความไม่สบายใจทำให้มีอาการปวดมากขึ้นก็ได้ จากแนวทางเวชปฏิบัติการรักษาความปวดจากมะเร็ง ของ สำนักพัฒนาวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวถึงหลักการในการระงับปวดจากมะเร็งดังนี้

หลักการระงับปวดมะเร็ง

1. อธิบายให้ผู้ป่วยทราบอย่างตรงไปตรงมาว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ปวด

2. การใช้ยาแก้ปวดเป็นวิธีหลักในการระงับปวด โดยอาศัยคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ในการเลือกใช้ยาตามระดับความรุนแรงของความปวด “WHO Analgesic Ladder” 

3. การบริหารยาจะต้องเป็นลักษณะต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่ควรบริหารยาเมื่อมีความปวดเท่านั้น

ทั้งนี้เพื่อให้ระดับยาในร่างกายคงที่ และสามารถควบคุมความปวดได้ดี นอกจากนี้จะต้องมียาขนานสำหรับ

เพิ่มเติมในช่วงที่ผู้ป่วยปวดระหว่างเวลาได้รับยาเดิมด้วย เพื่อเป็นการระงับ breakthrough pain

4. ใช้ยาที่สามัญที่สุดหรือวิธีที่เรียบง่ายและปลอดภัยที่สุดก่อนเท่าที่จะทำได้

5. พิจารณาให้ Co-analgesic ร่วมด้วยเสมอ ยาที่แนะนำให้เลือกใช้ในแต่ละกลุ่มได้แก่

5.1 Antidepressant : amitriptyline, nortriptyline

5.2 Antianxiety : lorazepam

5.3 Anticonvulsant : carbamazepine, gabapentin, oxcarbazepine

6. ผู้ป่วยแต่ละรายและมะเร็งแต่ละชนิดตอบสนองต่อยาแก้ปวดแตกต่างกัน ความปวดบางชนิด

ได้ผลดีโดยใช้ opioids ร่วมกับ non-opioids บางชนิดได้ผลโดยใช้ corticosteroids ร่วมกับ opioids เป็นต้น

7. ให้การรักษาความปวดอย่างมีประสิทธิภาพทุกครั้งที่ผู้ป่วยปวด

8. Neuropathic pain ได้ผลดีเมื่อใช้ tricyclic antidepressants หรือ anticonvulsants แต่ ตอบสนองต่อยาแก้ปวดกลุ่ม opioids หรือ non-opioids น้อยหรือไม่ได้ผล ไม่ควรเพิ่มขนาด opioids โดยไม่จำเป็น เพื่อลดปวดจาก neuropathic pain ที่รุนแรงหรือตอบสนองต่อการรักษาไม่ดี

9. ใช้หลักการรักษาหลายวิธีร่วมกัน โดยรักษามะเร็งด้วยการฉายรังสี การผ่าตัด หรือเคมีบำบัด ไปพร้อมๆ กับการให้ยาแก้ปวด ปรับยาแก้ปวดให้เหมาะสมที่สุดด้วยชนิดและขนาดยาที่น้อยที่สุด เท่าที่ระงับปวดได้ดี และปราศจากภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง หรือหากมีภาวะแทรกซ้อนก็สามารถยอมรับได้  พิจารณาการรักษาวิธีอื่นๆ เมื่อมีข้อบ่งชี้ และตระหนักถึงภาวะแทรกซ้อนของวิธีต่างๆ

10. ผู้ป่วยที่มีอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าต้องให้การรักษาทางจิตเวช โดยการใช้ยาที่เหมาะสมควบคู่กับยาแก้ปวด

11. ตระหนักถึงความคุ้มค่าและประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ยาหรือวิธีอื่นๆ

12. คำนึงถึงระยะเวลาที่คาดว่าผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ

13. ควรพิจารณาให้ยาเพื่อป้องกัน/บรรเทาภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาและยาที่ใช้แก้ปวดด้วย

          เนื่องจากในผู้ป่วยรายนี้นึกถึงการปวดกระดูกและกล้ามเนื้อ ยาที่ควรให้ควรเป็น  NSAIDs และ opioids และ Bisphosphonates  ร่วมกับ  Co-analgesic  ในโรงพยาบาลXXX  ผู้ป่วยรายนี้ได้รับยาแก้ปวดเป็น tramadol ทุก 6 ชั่วโมง ร่วมกับ diazepam วันละครั้ง และให้ tramadol ทุกครั้งที่มีอาการปวดเกิดขึ้น มีการประเมินและปรับขนาดยา พบว่าสามารถควบคุมอาการปวดได้ และมีการแนะนำให้ญาติคอยนวดบีบจับเพื่อจะได้ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น เป็นการรักษาอาการปวดที่มาจากสภาวะทางจิตใจด้วย

2.ปัญหาเรื่องการหายใจเหนื่อยมีเสมหะมาก

ได้อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเหนื่อย ว่ามาจากตัวมะเร็งทำให้อากาศเข้าไปในปอดได้น้อย และได้ช่วยเหลือโดยการให้ออกซิเจนผ่านทางnasal canula สำหรับเสมหะที่มีตลอดอธิบายว่าเกิดจากตัวโรค ผู้ป่วยเข้าใจแต่ต้องการทำให้เสมหะหายไปให้มากที่สุดเพราะรำคาญ และรู้สึกทรมาน ได้แนะนำว่ามีวิธีรักษาคือ ให้ยาละลายเสมหะ และดูดเอาเสมหะออก บอกว่าสามารถทำได้ตั้งแต่ ดูดออกโดยไม่ต้องคาท่อใดๆ จะไม่เจ็บ ไม่รำคาญแต่จะดูดออกได้ไม่หมด หรืออาจใช้วิธีใส่ท่อ (mouth gag) ลงไปแล้วดูดออกมา จะเอาออกได้มากขึ้น แต่อาจเจ็บและระคายเคืองได้ ผู้ป่วยได้เลือกที่จะดูดเสมหะผ่านทาง mouth gag แต่ก็เลิกไปเพราะทนความเจ็บระคายเคืองไม่ได้ หันมาใช้การดูดโดยสาย suction อย่างเดียว

3.ปัญหาเรื่องปัสสาวะไม่ออก

อธิบายว่าเกิดจากมีไขสันหลังถูกกดและบวม ทำให้ปัสสาวะไม่ออก แก้ไขโดยการใส่สายสวนปัสาวะและคาไว้ให้ปัสสาวะไหลออกมาเอง พร้อมกับแนะนำให้สังเกตลักษณะของปัสาวะที่ออกมาด้วย หากมีลักษณะขุ่น ให้รีบแจ้งให้ผู้ดูแลทราบ

4.ปัญหาเรื่องกินไม่ได้ เนื่องจากจะมีการสำลักทันทีเวลากลืน

อธิบายว่เกิดจากมะเร็งกระจายมาที่สมองแล้วทำให้ระบบประสาทที่ควบคุมการกลืนทำงานไม่ได้ จึงมีการาสำลัก แนะนำให้แก้ไข้โดยการให้อาหารน้ำที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ เพื่อเป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย

Psycosocial issues

    ปัญหาด้านจิตสังคมในผู้ป่วยตอนแรก ที่มานอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลชุมชน XXX คือ คือมีภาวะไม่พอใจต่อแพทย์โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย YYY ที่ไม่ยอมให้การรักษาผู้ป่วยต่อ ผู้ป่วยคิดว่าแม้เป็นมะเร็งก็น่าจะรักษาให้หายได้ และไม่พอใจลูกที่ไม่ยอมพาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน ZZZ
   เรื่องนี้มีความขัดแย้งในประวัติเพราะผู้ป่วยและ ญาติบอกว่าผู้ป่วยยังไม่รู้ว่าอาการนี้เกิดจากมะเร็ง แต่เอกสารในโรงพยาบาล YYY บอกว่าได้แจ้งผู้ป้วยว่ามะเร็งมาที่กระดูกและกดไขสันหลัง ได้มีการปรึกษาเรื่องการผ่าตัดแต่ผู้ป่วยปฏิเสธ สำหรับเรือ่งนี้หากเป็นกรณีที่ผู้ป่วยรู้แล้วจริง อาจเป็นไปที่ยังอยู่ในภาวะปฏิเสธหรือต่อรองหลังจากได้รับข่าวร้าย ซึ่งผู้ป่วยจะเข้าใจได้ในเวลาต่อมา เมื่อเวลาผ่านไปร่วมกับสิ่งที่ครอบครัวทำเพื่อผู้ป่วยมาตลอดน่าจะทำให้ความไม่พอใจต่อญาติคลายลงได้ ทีมผู้ดูแลควรตรวจสอบระยะ ให้เอาใจใส่ผู้ป่วยดูแลอย่างเต็มที่พร้อมกับให้ญาติดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ น่าจะทำให้ผู้ป่วยเข้าใจได้ในเวลาต่อมา

   ซึ่งต่อมาเมื่อผู้ป่วยมีอาการแย่ลงมาก ผู้ป่วยยอมรับว่าเป็นมะเร็งคงไม่หาย แค่อยากหายใจง่ายเอาเสมหะออกให้หมด ก็เลยได้อธิบายว่าการเอาเสมหะออกสามารถทำได้อย่างไรบ้าง มีแผนการักษาอย่างไรบ้าง ไปรักษาที่ไหนก็คงทำในทำนองเดียวกัน ดูผู้ป่วยก็พอใจและเข้าใจมากขึ้น

   ในระหว่างที่สังเกตอาการผู้ป่วยอยู่นั้นได้คิดว่าหากผู้ป่วยไม่รู้ว่าการป่วยคราวนี้เกิดจากมะเร็งและไม่มีทางรักษาให้หายแล้ว จะทำอย่างไรจึงจะคลายความขุ่นข้องหมองใจต่อญาติได้ เพราะหากปล่อยไว้ผู้ป่วยเองคงจะจากไปอย่างไม่สงบ ลูกหลานก็จะรู้สึกโทษตัวเองอยู่ตลอดไป ได้วางแผนที่จะสำรวจความคิดผู้ป่วยต่อ แต่ผู้ป่วยคุยไม่ได้ต้องอาศัยการอ่านจากปาก มาจนถึงตอนที่ได้รู้ว่าผู้ป่วยเข้าใจว่าจะไม่หายจากมะเร็ง และวางแผนจะสอบถามในวันต่อมา ซึ่งวันรุ่งขึ้นผู้ป่วยอาการแย่ลงมาก ไม่ลืมตา ญาติได้พากลับบ้าน ผมก็ขอตามไปดูที่ผ่าน ช่วยญาติประเมินผู้ป่วย เมื่อเห็นว่าใกล้เสียชีวิตได้แนะนำให้ญาตินำขันดอกไม้ธูปเทียนมาขอขมา และได้ร่วมเป็นตัวแทนของลูกหลานขอขมาต่อผู้ป่วยหากว่าได้ทำการใดที่ทำให้ผู้ป่วยไม่พอใจ และเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตได้ช่วยถอดสายสวนปัสสาวะให้ ลูกหลานได้มอบยามาบริจาคเพื่อเป็นการทำบุญให้ผู้ป่วย กระผมหวังว่าสิ่งที่ได้ทำจะช่วยคลายความรู้สึกผิดของหลูกหลานได้บ้าง

    จากการที่ผู้ป่วยยังไม่ยอมรับ คิดว่ายังไงก็น่าจะหายได้ อาจทำให้นึกถึงว่าผู้ป่วยยังมีห่วงอะไร หรือมีภาระกิจใดที่ต้องทำก่อนไปหรือเปล่า แต่ช่วงแรกผู้ป่วยยังไม่ยอมรับ และอาการก็แย่มากเหนื่อย หาจังวหะคุยเรื่องนี้ก็ผู้ป่วยลำบาก จนผู้ป่วยเสียชีวิตไป คาดว่าสิ่งที่ผู้ป่วยห่วงที่สุดน่าจะเป็นหลานกำพร้าที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วย ผู้ป่วยน่าจะต้องการฝากฝังให้ญาติคนอื่นดูแล ความห่วงต่อหลานสาวน่าจะเป็นความต้องการลึกๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยอย่างกจะหาย ระหว่างที่คุณยายกำลังะเสียชีวิตเลยได้ให้ลูกสาวคนโตพูดถึงการที่จะดูหลานสาวต่อจากยายด้วย

Reflection:

1.จากการได้ดูแลผู้ป่วยรายนี้ ท่านได้เรียนรู้อะไร ใหม่ ตรงกับความคาดหวังก่อนได้ดูแลหรือไม่ ?

1.  การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะ life limiting ควรมีการบอก prognosis  ให้ผู้ป่วยเข้าใจ และให้เข้าใจตรงกันทั้งผู้ป่วยและญาติ เพราะมันมีผลมาถึงสภาวะทางจิตใจ อาจเกี่ยวข้องกับการที่จะได้จากไปอย่างสงบหรือไม่

ก่อนดูแลผู้ป่วยรายนี้จากภาวะที่ผู้ป่วยอยู่ในช่วง end of life คิดว่าผู้ป่วยควรจะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองบ้าง เพราะผู้ป่วยก็ป่วยมานาน ไม่น่าจะมีความขัดแย้งเหลืออยู่ กลับกลายเป็นว่ากระผมจะต้องมาสำรวจผู้ป่วยเอง ในสภาวะที่สื่อสารกับผู้ป่วยได้ลำบากมาก

2.  การดูแลผู้ป่วยที่กำลังอยู่ในภาวะ end fo life สิ่งสำคัญคือการให้ผู้ป่วยได้รับรู้ถึงความห่วงใยและเอาใจใส่  บางทีอาจช่วยคลี่คลายอะไรหลายๆอย่างลงได้

3. ความรู้สึกของญาติก็ต้องดูแลด้วย เพราะเขาจะกลายเป็นคนที่มีความทุกข์อีกต่อไปหากต้องอยู่อย่างรู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา

4. การให้ผู้ป่วยหรือญาติทำใจอะไรซักอย่าง ไม่ควรใช้คำว่าถ้าเป็นหมอ หมอก็อาจจะทำอย่างคุณ อาจจะทำให้เขาแย้งได้ว่า ก็หมอยังไม่โดนนี่  ควรค่อยๆซักให้ผู้ป่วยได้คิดและสรุปเองน่าจะเหมาะสมกว่า

2.บอกถึงความรู้สึก ที่เกิดขึ้น

   รู้สึกกระอักกระอ่วน บอกไม่ถูก ในการดูแลผู้ป่วยที่ใกล้จะเสียชีวิต เหนื่อย และมีประเด็นขัดแย้งที่เราต้องมาสำรวจ มันอยู่ท่ามกลางความรู้สึกที่ว่าคำถามนี้สมควรจะถามตอนนี้หรือไม่ ผู้ป่วยจะเหนื่อย จะแย่ไหม มันจำเป็นไหมที่เราต้องสำรวจให้รู้ ในใจหนึ่งคิดว่าการจากไปแบบไม่ติดขัดคือสิ่งที่ดีที่สุด แต่ในอีกใจคิดว่าผู้ป่วยแย่ขนาดนี้แล้ว เขาก็น่าจะรู้ตัวเองอยู่แล้วว่าเขาคงต้องตาย น่าจะให้เขาอยู่นิ่งๆ ได้สงบสุขอยู่กับลูกหลานจะดีกว่า  และรู้สึกว่าถ้าเป็นไปได้จะไม่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก จะรีบบอกผู้ป่วยแต่เนิ่นๆ จะได้เตรียมตัวรับมือ ผู้ที่ต้องดูแลภาวะก่อนตายจะได้ทำงานได้สะดวก ผู้ป่วยเองก็จะได้จัดการสิ่งที่ค้างอยู่ทุกอย่างได้สำเร็จ

3.มีคำถาม หรือสิ่งใดที่ต้องการค้นหาคำตอบเพิ่มเติม

จำเป็นหรือไม่ที่ก่อนตายเราจะต้องมีการขอขมา และเคลียร์ทุกอย่างที่ติดขัดไว้ ปล่อยไว้ให้อยู่อย่างสงบๆนิ่งๆ จะไม่ดีกว่าหรือ

4.ท่านได้ค้นคว้าหาคำตอบในข้อ 3 หรือไม่ ได้ว่าอย่างไร?

ได้ศึกษาจากงานวิจัยของ Mary J Hansen และคณะ (2009) จาก jurnal of palliative care เรื่อง palliative cae intervention in foregiveness therapy for elderly terminally ill cancer patients โดยได้เอาผู้ที่เคยมีความขัดแย้งกับผู้ป่วยให้มาทำความเข้าใจกันและขออภัยต่อกัน ผลออกมาว่ากลุ่มที่ไดรับ foregivess therapy มีคะแนนในด้านต่างๆทางจิตสังคมดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

5.บทเรียนที่ได้นำไปสู่การแนวคิดการเปลี่ยนแปลงแนวเวชฎิบัติหรือไม่อย่างไร?

น่าจะสนับสนุนให้ทีมผู้ดูแลได้สำรวจภาวะทางจิตใจ และความขัดแย้งที่ผู้ป่วยมีและต้องการได้รับการแก้ไข เพื่อจะได้จัดให้มีการทำ foregiveness therapy ทั้งนี้เพื่อผู้ป่วยจะมีได้ความรู้สึกที่เป็นสุขอยู่แม้นว่าจะมี ร่างกายที่แย่ลงก็ตาม

รูปแบบคือ

1. ผู้ป่วยที่มี life limitimg disease ทุกคน จะมีทีมมาสำรวจหาภาวะติดขัดที่ควรได้รับการแก้ไข

2. ถ้ามีและผู้ป่วยมีความต้องการที่จะแก้ไข ให้ติดต่อมาที่ผู้เกี่ยวข้อง

3. จัดให้มีการคุยกัน ขอขมากัน ในบรรยากาศที่เป็นมิตร และสงบ

4. ประเมินภาวะผู้ป่วยก่อนและหลังรักษา เพื่อปรับปรุง หรือเพิ่มความน่าเชื่อถือของสิ่งที่เรากำลังทำอยู่

 ------------

หมายเลขบันทึก: 353932เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2010 14:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณปัทมามากครับ สำหรับ memo ฉบับนี้

ไม่ทราบว่ามี reflection สด ที่ไม่ใช่การเขียนไหมครับ บางทีการเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมี reference หรือการเขียนแบบ academic อาจจะมีข้อจำกัดในด้าน explore attitude หรือความรู้สึกได้พอสมควร

ถ้าเรื่องราวของคนไข้ถูกเล่าแบบ narrative อาจจะมีเรื่องราวของความรู้สึกมากขึ้น สมมติฐาน (เหตุผลที่น่าจะอธิบาย) ลดลง ในแง่ของ symptom control โดยเฉพาะ pain นั้น อาจจะ explore ต่อไปถึงว่า pain free ณ at rest หรือว่ามี activities ได้ (ฟังจากระยะของคนไข้ เดาว่าอาจจะเป็น at rest แล้ว)

น้อง extern คิดว่า หรือบอกไหมว่า "ระยะ และเวลา" ที่เราควรเริ่มทำ palliative care จากการเรียนรู้ใน case นี้ควรจะเริ่มเมื่อไร โดยใคร และทำอะไรบ้าง (เป็น what if... scenario)

Flinders คงจะภาคภูมิใจ และชื่นชมมี references ประกอบ แต่ระวัง เพราะ psychosocial research นั้น จะมี impact ของ cultural differences เยอะ และเมื่อถึงเวลา approach คนไข้ เราอาจจะต้องลืมไปเลยว่า "ส่วนใหญ่" เขารู้สึกกันอย่างไร เพราะถ้าเผลอๆ เราอาจจะหวังว่า หรือคิดว่าคนข้างหน้านี้น่าจะทำ รู้สึก และคิดเหมือนคนส่วนใหญ่จนกระทั่งเราไม่ได้สืบค้นเชิงลึกว่า แล้ว case นี้เขา unique หรือว่าเป็น case ทั่วๆไป น้อง extern เขามีความคิดเห็นส่วนตัวว่าอย่างไรครับสำหรับเรื่องการขอขมา ทั้งใน case นี้ และ case ต่อๆไป?

ขอแสดงความยินดี และขอบคุณอีกครั้งสำหรับกรณีศึกษาครับ

ขอบคุณอาจารย์สกลคะ นักศึกษาคงภูมิใจที่มีอาจารย์ช่วย comment ด้วย

รูปแบบการเรียนการสอน เป็นการ assign ให้นักศึกษาแพทย์ได้ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง/ End of life ในโรงพยาบาลชุมชน เป็นเวลา 3 สัปดาห์คะ ในสัปดาห์ที่สอง อาจารย์ 3 ท่านจะไปเยี่ยม นศพ.ที่ รพช. และให้เด็กได้นำเสนอเคสด้วยวาจา

แต่ก็ยอมรับว่าการนำเสนอด้วยวาจาเองก็ยังติด Pattern อยู่คะ เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจเรื่อง Narative

ส่วนรายงาน ที่จริง น้องอาจอยากเขียนอะไรมากกว่านี้ แต่อาจารย์ (หนูเอง) กำหนดบรรทัดไว้ไม่ให้ยาวเกินไป เพราะกลัวอ่านไม่หมดคะ :-(

หนูจะนำ comment เรื่องการแสดงความคิดเห็นตัวเองให้มากขึ้น ในการเสนอแนะน้อง นศพ.กลุ่มต่อไปคะ

ที่ทำนี่ก็ดีมากอยู่แล้วครับ

ถ้าเผื่อ "มี" เวลา การสะท้อนจะช่วยน้องเขาครับ มากกว่าช่วยเรา เพราะถ้าไม่ได้สะท้อนออกมา (elaborate) ประสบการณ์มันจะหยุดนิ่งอยู่ที่ superficial คือเป็นแค่ความจำ ต้องมีการ interpretation ให้ความหมาย และมากไปกว่านั้นก็คือ ที่เราลองให้นศพ.หัดทำบ่อยๆก็คือให้ลองจินตนาการว่า ถ้าทำ/ไม่ทำ เราจะเป็นหมอแบบไหน อย่างไร ไม่ทำเพราะกลัวอะไร ทำแล้วรู้สึกอย่างไร หรือเห็นอาจารย์ approach คนไข้แบบนี้ เปรียบเทียบกับแบบอื่นๆแล้วรู้สึกอย่างไร ผมคิดว่า reflection เป็น process ที่จะพัฒนา attitude หรือ affective domains ของการเรียนรู้ที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง

รายงานน้องเราอ่านไม่หมดไม่เป็นไรครับ (อ่านหมดก็ดี) เพราะกระบวนการ​​ "เขียน" เป็นเทคนิกการเรียนรู้อีกเทคนิกหนึ่ง ที่จริงการเขียนนั้นจะทำให้เนื้อหามีการไหลเข้าออกสมองเราถึง 4 เที่ยว เป็น silent reflection อีกแบบ (ถ้าเราให้เขาเขียนแบบอิสระนะครับ ไม่ได้เขียนเพื่อเอาคะแนน เป็นเขียนแบบ diary พรรณนาความคิด ความรู้สึกลงไปด้วย)

โชคดีที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์ทั้งสองครับ กำลังอยู่ในสนามการทำงานจริงครับ เป็นประโยชน์อย่างสูง

เพิ่งได้กลับมาอ่านงานที่กระผมเองได้ทำอีกครั้ง ลองนึกทบทวนสิ่งที่ผมทำในตอนที่เรียนอยุ่ เทียบกับปัจจุบันนี้ รู้สึกว่าเหมือนจิตใจผมเองมันกระด้างกว่าเดิม แต่ก่อนนั้่นเมื่อมีสิ่งกระทบจิตเล็กน้อยมันก็รู้สึกทราบซิ้งครับน้ำตาไหลเอาง่ายๆ แต่ตอนนี้หลังเป็นแพทย์พี่เลี้ยงศัลยกรรมมา 3 ปี ผมรู้สึกว่าสิ่งต่างๆที่มากระทบจิตใจแล้วทำให้ทราบซ้ิงจนน้ำตาซึมมันไม่ค่อยมีครับ  แต่กระนั้นสิ่งที่อาจารย์สอนผมมา ก็ผลักดันให้ผมแอบแว๊บไปเยี่ยมบ้าน ทำ palliative care ใน case CA  อยู่หลาย case ครับ  ถ้าอาจารย์จะสืบสอบ หรือ สอบอารมณ์ผม ถามผมอีกครัังเพื่อให้ความทรงจำมันกระจ่างขึ้นผมก็ยินดีนะครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท