การศึกษาเพื่อ "การพัฒนาที่ยั่งยืน" (๘) : "ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย" โรงเรียนและมหาวิทยาลัยสำหรับลูกหลานไทยส่วนใหญ่


ครู อาจารย์ นักเรียน นิสิต ผู้อำนวยการ และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ควรต้องศึกษาพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ด้วยเหตุผล อย่างน้อย ๓ ประการ ดังนี้

  • ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎรตลอดไป" ... ทรงจะสืบสาน รักษา และต่อยอด สิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงดำเนินมา ดังนั้นตลอดรัชสมัยนี้ ย่อมชัดเจนว่าควรจะขับเคลื่อนการศึกษาด้วยหลักปรัชญาใด
  • พระราชนิพนธ์ของในหลวง รัชกาลที่ ๙ ที่สำคัญที่สุด ซึ่งทรงพระราชทานให้ประชาชนคนไทยนำไปศึกษา ปฏิบัติตาม คือ พระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก ...(ใครยังไม่อ่านเชิญดูคลิปวีดีโอที่นี่ หรืออ่านสรุปประเด็นในบันทึกนี้ครับ)
  • การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยังยืนที่แท้จริง คือ การนำเอาหลักแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน นั่นคือ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้เป็นหลักปฏิบัติทางการศึกษา นั่นเอง 
การจัดการศึกษาที่ทรงสอนไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก คือ การสร้างสถาบันการศึกษาให้เป็น "ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย" เพื่อฟื้นฟูพัฒนาคนไทยทั้งประเทศให้ พออยู่ พอกิน มีความสุข มีภูมิคุ้มกันและเท่าทันโลกโมหภูมิ ทุนนิยมเสรีในทุกวันนี้

ปัญหาของการศึกษาที่สำคัญที่สุด คือ การสอนให้คนอยากรวย ไม่ได้เน้นสอนให้พึ่งตนเองแล้วช่วยคนอื่นอย่างที่ในหลวงทรงสอนและทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่าง จึงทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสและคนทิ้งถิ่นเข้าเมืองดังที่ทราบกัน (เคยสะท้อนไว้ที่นี่)


วันนี้ผมตกผลึกในใจตนเอง ถึง รูปแบบการศึกษาที่ตรงกับปรัชญา "ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย" มากที่สุด  ที่ว่ามากที่สุด เพราะเหมาะสมกับคนไทยส่วนใหญ่มากที่สุด ซึ่งมีที่ดิน-ที่นาเป็นของตนเอง จึงขอบันทึกแลกเปลี่ยนไว้ เพื่อค้นหานักการศึกษาที่เห็นเป็นอุดมการณ์เดียวกัน มาช่วยกันสร้าง PLC สำหรับครู-อาจารย์ที่จะมาช่วยกันขับเคลื่อนโรงเรียน-มหาวิทยาลัย ให้มีลักษณะเป็น "ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย" ให้มากที่สุด

หลักสูตรแกนกลาง ที่ไปผิดทาง ยิ่งห่างไกลจาก "ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย"

ผมเคยวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลาง พ.ศ. ๒๕๕๑ ไว้ที่บันทึกนี้  สรุปไว้ว่า หลักสูตรฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเกษตรพึ่งตนเอง นั่นเป็นก้าวใหญ่ ๆ ที่เราไปผิดทางจากปรัชญา "ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย" และได้เสนอแนวทางการจัดการศึกษาตามหลักปรัชญานี้ไว้ ดังนี้ว่า (คัดลอกมาอีกครั้ง)

การศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง "ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย"
สอนให้เป็นคน "พอเพียง"  คือ ใช้ความรู้คู่คุณธรรม (ดูคำอธิบายสมการความพอเพียงที่นี่) ... สร้างภูมิคุ้มกันต่อการหลงไปในโมหภูมิ (โลภะ โทสะ โมหะ) สอนให้ดำเนินชีวิตด้วยระบบเศรษฐกิจพอเพียง "พอกิน พอใช้ พออยู่ ตอบแทนบุญคุณ แบ่งปัน รักษา แบ่งปัน ให้นึกถึงการขายไว้ท้าย ๆ ของความต้องการ คือต้องไม่สอนให้คน "อยากรวย" แต่เน้นสอนให้ "อยากช่วยคนอื่น" อยากช่วยส่วนรวม เสียสละ เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน เป็นสำคัญ 
  • (อนุบาล ๑ ถึง ม.๓) เริ่มโดยเน้นคุณธรรมและระเบียบวินัยในเบื้องต้นด้วยการอบรมบ่มเพาะ และมุ่งการสอนชีวิตและความเป็นคนที่พึ่งตนเองด้วยหลัก "พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น" ...  เด็กจะรู้จักและภูมิใจในชุมชน ท้องถิ่น และประเทศของตนเอง มีจิตสำนึกที่จะพัฒนาตนเอง (เรียนรู้) เพื่อจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา(เป็นคนที่มีคุณค่าต่อ)ชุมชน สังคม ประเทศชาติ
  • (ม.๔-ป.ตรี) เรียนเน้นเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะตามความถนัดและความสนใจของตน (ที่ได้บ่มเพาะมาดี) อย่างเต็มที่ ... เป้าหมายคือทักษะอาชีพ 
  • (วัยทำงานหรือศึกษาต่อบัณฑิตศึกษา) เน้นให้เป็นไปเพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้ดีต่อส่วนรวม 
  • (วัยชรา) สอน ถ่ายทอดประสบการณ์ บริหารจัดการ เป็นผู้นำชุมชนสังคมประเทศ และศึกษาค้นพัฒนาตนเองสู่การหลุดพ้นแห่งทุกข์
ตัวอย่างของโรงเรียนที่กำลังสืบสานพระราชปณิธานนี้อย่างจริงจัง

วันพุธที่ผ่านมา (๑๙ มิ.ย. ๖๒) ที่ผ่านมา มีโอกาสได้ไปเยี่ยมถอดบทเรียนคุณครูวรารัตน์ ภูเฉลิม ครูเพื่อศิษย์อีสานประจำปีการศึกษา ๒๕๖๑ ที่โรงเรียนมะค่าพิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม โรงเรียนที่มีเอกลักษณ์คือ "ความพอเพียง" และกำหนดวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าจะเป็น "องค์กรแห่งการเรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม นำภูมิปัญญา พัฒนาท้องถิ่น" (คลิกดูประวัติโรงเรียนที่นี่)

ขอเล่าด้วยภาพก่อนนะครับ บันทึกต่อไป จะนำเอาหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนมะค่าพิทยาคม อันเป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของโรงเรียนและของคุณครูวรารัตน์ มาเล่าแลกเปลี่ยนต่อไป



  • เนื้อที่ของโรงเรียนประมาณ ๖๐ ไร่ ทั้งหมด อาจเรียกได้ว่า เป็น "วนเกษตร" ได้ไม่ผิด มีทั้งป่า สวน และไร่นาสาธิต ฯลฯ  


  • คุณครูวรารัตน์ ยิ้มอย่างมีความสุขอยู่ซ้ายสุดครับ  เราถ่ายภาพนี้หลังจากที่นักเรียนนำเสนอโครงการปุ๋ยโดนัทจาเศษใบไม้จากป่าโรงเรียน ... เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตอาหารสำหรับพืช  


  • โรงเรียนได้รวบรวมเรื่องราวทั้งหมด ไว้นำเสนอสำหรับผู้มาดูงาน ที่ห้อง "ศาสตร์พระราชา" น้อง ๆ นักเรียนแกนนำ จะทำหน้าที่อธิบายและพาเดินดูอย่างเป็นขั้นเป็นตอน  


  • ในห้องมีผลิตภัณฑ์แปรรูปสาธิต ในรูปเป็นเปลไม้ไผ่ ที่นักเรียนได้รับวิชามาจากภูมิปัญญา ที่เชิญมาเป็นวิทยากรอบรมให้นักเรียน  

 

  • มีพืชผักพื้นบ้านภูมิปัญญามากมาย ในรูปนี้คือ ต้นชะมวง สมุนไพรไทย เอาแกงใส่ขาหมูอร่อยนักแล 


  • ผมถามนักเรียนว่า ทำไมต้นมะตูม ถึงสำคัญยิ่งนักในเมืองไทย ก่อนจะมอบไว้เป็นการบ้านว่า ทำไมพระมหากษัตริย์ไทย ต้องเอาใบมะตูมใช้ทัดเนบพระกัณฑ์ไว้ในราชพิธีสำคัญ ๆ  ... มะตูมเป็นไม้มงคลอย่างยิ่ง 


  • ส่วนนี้เป็นสวนพริกไทย ทุกต้นจะมีป้ายติดไว้ว่า นักเรียนคนใดต้องเป็นผู้ดูแล โดยบูรณาการกับกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ต่าง ๆ ของโรงเรียน  


  • มะม่วงหาวมะนาวโห่ 


  • มะนาว ย่อมต้องมี 


  • แปลงนาสาธิต ที่นักเรียนใช้เป็นพื้นที่ทำทดลองต่าง ๆ ในการทำโครงงาน 


  • ไผ่ มีหลายสายพันธุ์ ไผ่เลี้ยง ไผ่กิมซุง ไผ่ซางหม่น ไผ่บงหวาน ไผ่ข้าวหลาม ฯลฯ 

  • อ้อยหวาน  


  • กระชาย 


  • ดอกกระเจียวหวาน 


  • มะขามป้อม


  • สมอไทย 

  • ม่อน (มอนเบอรี่กินผล)
ยังมีพืชพันธุ์อื่น ๆ อีกทั่วโรงเรียน เสียดายไม่เวลาจำกัดนัก...  "คนค้นครู" จะกลับไปถอดบทเรียนคุณครูวารารัตน์มาเล่าให้ฟังใหม่อีกรอบครับ 



สไลด์สองแผ่นสุดท้าย เป็นบทสรุปที่เขียนไว้ในอย่างกระทัดรัด สำหรับท่านที่สนใจครับ 


เริ่มขับเคลื่อน "ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย" ยังไงดี

ความจริง (ผมตีความของผมเองว่า) กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้ว ในลักษณะโครงการ "โรงเรียนสถานศึกษาพอเพียง" "โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" และ "โครงการโรงเรียนคุณธรรม" ... แต่สภาพการณ์ของโรงเรียนต่าง ๆ ที่ผมเห็นขณะนี้  ยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่จะเรียกได้ว่าเป็น "โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย" ... แต่คงจะมีแล้ว มีแน่ เช่น โรงเรียนหนึ่งที่ผมรู้จักทางอินเตอร์เน็ตคือ โรงเรียนบ้านหนองผือ (อ่านบันทึกท่าน ผอ.ชัยยันต์ เพชรศรีจันทร์ ที่นี่) หรือแม้แต่ในพื้นที่ก็คงมี

โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย ครูเกษตร ครูการงาน ครูวิทยาศาสตร์ ครูคณิตศาสตร์ และครูเทคโนโลยี จะทำงานนี้กันอย่างบูรณาการ โดยเอา "งาน" อันเป็นอาชีพของพ่อแม่ของนักเรียนเป็นสนามฝึก ... สิ่งแรกที่ผมคิดขึ้นได้คือ ปรึกษาครูเพื่อศิษย์อีสาน  จัดเวที PLC ครูเพื่อศิษย์อีสานเพื่อแลกเปลี่ยนระดัมสอมองกันเกี่ยวกับแนวคิดนี้

ก่อนจบ โรงเรียนทีผมเพิ่งจะไปนิเทศมา คุณครูบอกว่า ทั้งโรงเรียนแทบจะไม่มีครูเกษตรเหลืออยู่เลย ... เฮ้อ ... จะเป็นอย่างไรหนอ

หมายเลขบันทึก: 662235เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2019 01:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2019 01:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรื่องดีดี เป็นกำลังใจให้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท