สานสัมพันธ์มิตรภาพไทย-ลาว : AAR การเรียนรู้


เมื่อจัดกิจกรรมในแต่ละวันเสร็จสิ้นลง ยังมีการประชุมเป็นการภายในเฉพาะมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อสรุปผลการเรียนรู้ร่วมกันด้วยอีกต่างหาก เท่านั้นยังไม่พอ ในช่วงเช้าก็มีการพบปะกันอีกรอบเพื่อบอกย้ำถึงภารกิจที่จะมีขึ้น หรือกระทั่งเสร็นกิจกรรมแล้วยังต้องเขียนเนื่องเล่าเร้าพลังคนละเรื่อง

ภายหลังการเข้าร่วมโครงการ “สานสัมพันธ์มิตรภาพไทย-ลาว ครั้งที่ 13” เราได้สรุปบทเรียนผ่านกระบวนการต่างๆ เป็นต้นว่า เรื่องเล่าเร้าพลัง เล่มรายงาน จัดวงโสเหล่-สัมภาษณ์ รวมถึงการวิจัย (อยู่ระหว่างการประมวลผล)

โครงการสานสัมพันธ์มิตรภาพไทย-ลาว ครั้งที่ 13 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28-31 มกราคม 2559 โดยมีมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นเจ้าภาพ ประกอบด้วยวัตถุประสงค์หลักคือการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนว่าด้วยเรื่อง “ศิลปวัฒนธรรม”




ว่าไปแล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะกิจกรรมหลักหยัดยืนด้วย “ทุนทางวัฒนธรรม” อย่างไม่ผิดเพี้ยน นับตั้งแต่การแสดงบนเวทีของแต่ละมหาวิทยาลัย (ทั้งจากประเทศไทยและ สปป.ลาว) รวมถึงการทัศนศึกษาสถานที่สำคัญๆ เช่น วัดวาอาราม พิพิธภัณฑ์ชุมชน การเรียนรู้จากปากคำและภาคสนามของปราชญ์ชาวบ้าน

ผมยืนยันเช่นนั้น เพราะกิจกรรมหลักเป็นเช่นนั้นจริงๆ ยิ่งเมื่อใคร่ครวญดูกิจกรรมการบริการสังคม ยิ่งดูไม่หนักแน่นเป็นรูปธรรมมากนัก เพราะภาพรวมล้วนเป็นไปตามครรลองเดิมบนฐานคิดแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม อันหมายถึงศิลปะการแสดงในมิติดนตรี ขับร้องและนาฏศิลป์ หรือการละเล่นเสียมากกว่า

ด้วยเหตุนี้ โดยส่วนตัวผมแล้ว จึงยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นกิจกรรม “เรียนรู้คู่บริการ” (Service Learning) อย่างแท้จริง

กระนั้นก็ยังต้องชื่นชมเจ้าภาพอย่างมหาวิทยาลัยนเรศวรอยู่ดี เพราะไม่ได้ย่ำเท้าอยู่กับที่ ทว่ากล้าที่จะแตกกิ่งก้านกิจกรรมจากเดิมคือที่มักคุ้นอยู่กับการเผยแพร่-แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว ก็บูรณาการสู่กิจกรรมบริการสังคมผ่านงานบำเพ็ญประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ถึงจะไม่มากนัก แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีเอาซะเลย




กระบวนการเตรียมความพร้อมสู่สถานการณ์จริงของ มมส

กรณีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ต้องยอมรับว่ามีกระบวนการออกแบบการเรียนรู้แก่นิสิตในหลายเรื่องได้อย่างน่าสนใจ ถึงแม้จะไม่บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์เสียทั้งหมด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการหนุนเสริมการเรียนรู้แก่นิสิตอย่างเป็นรูปธรรม ควรค่าต่อการใส่ใจและต่อยอดให้เกิดพลังแห่งการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสธาร “การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” เช่น

  • เปิดพื้นที่ให้นิสิตได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการด้วยตนเอง
  • มีการปฐมนิเทศเพื่อให้ความรู้ในเรื่องโครงการที่จะเข้าร่วม ทั้งวัตถุประสงค์ กิจกรรม และประวัติศาสตร์ความเป็นมาของโครงการ
  • มีกระบวนการประเมินความคาดหวังก่อนการเข้าร่วมโครงการ (Before action review : BAR)
  • มีการประเมินผลการเตรียมความพร้อมที่ว่าด้วยดนตรีและนาฏศิลป์ (During action review : DAR)
  • มีกระบวนการเติมเต็มความรู้ที่สำคัญๆ เช่น การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เครื่องมือในการเรียนรู้
    คู่บริการ การเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน/ฐานการเรียนรู้ (Community-based Learning : CBL)
  • มีการมอบหมายให้นิสิตศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเองในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานที่สำคัญตามแนวคิด “ชุมชนคือห้องเรียน”




มิหนำซ้ำในช่วงการเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยนเรศวร ทีมทำงานได้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้บนรถบัสโดยมอบหมายให้นิสิตได้ทำการบอกเล่าข้อมูลสำคัญๆ ของจังหวัดที่เดินทางผ่านสู่กันฟัง เช่น ขอนแก่น ชัยภูมิ เลย พิษณุโลก ผสมผสานกับกิจกรรมนันทนาการบนรถบัส เพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพและความเป็นทีมในแบบฉบับ “บันเทิงเริงปัญญา”

นอกจากนั้นเมื่อจัดกิจกรรมในแต่ละวันเสร็จสิ้นลง ยังมีการประชุมเป็นการภายในเฉพาะมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อสรุปผลการเรียนรู้ร่วมกันด้วยอีกต่างหาก เท่านั้นยังไม่พอ ในช่วงเช้าก็มีการพบปะกันอีกรอบเพื่อบอกย้ำถึงภารกิจที่จะมีขึ้น หรือกระทั่งเสร็จกิจกรรมแล้วยังต้องเขียนเนื่องเล่าเร้าพลังคนละเรื่อง เป็นการจัดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบุคลากรและนิสิตในครรลองของ PDCA และ KM






ผลพวงของการเรียนรู้

นี่คือส่วนหนึ่งอันเป็นผลการเรียนรู้ที่นิสิตได้สะท้อนคืนกลับมาผ่านเรื่องเล่าเร้าพลัง ผ่านการให้สัมภาษณ์ ผ่านเอกสารสรุปโครงการ หรือกระทั่งแบบสอบถามจากงานวิจัย เช่น

ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมและถ่ายทอดความรู้ผ่านการปฏิบัติการจริง

  • ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีทั้งเหมือนและต่างกัน ผ่านการแสดงด้านดนตรี ขับร้อง และนาฏศิลป์
  • ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมกับนักศึกษาจาก สปป.ลาว ผ่านการเต้น Paslop ที่เขียนแตกต่างกันไป ทั้งบาสะโล๊ฟ บัดสลบ บาสะโลบ (ซึ่งผมก็ไม่ใคร่แน่ใจว่าเขียนยังไง)
  • ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางภาษาระหว่างภาษาไทย – ภาษาอีสาน และภาษาจาก สปป.ลาว




ว่าด้วยการได้รับองค์ความรู้ใหม่

  • ได้รับองค์ความรู้ใหม่ในเรื่องโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ความเป็นชาติไทยผ่านการทัศนศึกษาสถานที่สำคัญ เช่น วัดราชบูรณะ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร
  • ได้รับองค์ความรู้ใหม่ในเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านการทัศนศึกษา เช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี (จ่าสิบเอกทวี-พิมพ์ บูรณเขตต์)




ว่าด้วยการบริการสังคม

  • ได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน เช่น การวางตัวหนอนเป็นทางเดินให้นักเรียน การทำความสะอาดวัด -โรงเรียน ทาสีล้อรถในสนามเด็กเล่น


ว่าด้วยทักษะชีวิตและสังคม

  • ทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่นบนหลักประชาธิปไตย เช่น การยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น การทำงานตามมติที่ประชุม ความเป็นผู้นำ และผู้ตาม
  • ทักษะการทำงานแบบมีส่วนร่วมและพึ่งพิง (Collaborative Learning)
  • ทักษะการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by Doing)
  • ทักษะการบริหารโครงการ/กิจกรรม เช่น การวางแผน การบริหารคน บริหารงาน บริหารเวลา การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า



ว่าด้วยการเรียนรู้ตัวเองและเครือข่าย

  • เกิดความภูมิใจในความเป็นสถาบัน/มหาวิทยาลัย/องค์กร
  • เกิดความภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ
  • เกิดเครือข่ายการทำงานด้านกิจกรรมนิสิตนักศึกษาและการใช้ชีวิต
  • เกิดทัศนคติและความเข้าใจต่อการแนวคิดของการ Show & Share

ว่าด้วยปัญหาและอุปสรรค

  • กิจกรรมบริการสังคม หรือการบำเพ็ญประโยชน์มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับด้านศิลปะและวัฒนธรรม
  • เวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรมมีขนาดเล็ก
  • ความไม่ตรงต่อเวลาของบางสถาบัน ทำให้การแสดงต่างๆ เลื่อนไหล ล่าช้า
  • ไม่มีสูจิบัตร หรือเอกสารที่รวบรวมรายละเอียดการแสดงของแต่ละสถาบันให้ศึกษาเรียนรู้
  • การขาดความมั่นใจที่จะแสดงความคิดเห็น




ว่าด้วยการเรียนรู้ครั้งใหม่

  • ต่อยอดสู่กิจกรรมโครงการ “เทา-งามสัมพันธ์”
  • ต่อยอดกิจกรรมบริการสังคม/บำเพ็ญประโยชน์ หรือการบริการสังคมในมิติ “เรียนรู้คู่บริการ” ให้มากขึ้น
  • ต่อยอดสู่กิจกรรมในลักษณะ “ศิลปวัฒนธรรมสัญจร” เพื่อเผยแพร่ภายในภูมิภาค




หมายเหตุ

1.ภาพ : งานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศนิสิต ม.มหาสารคาม

2.สถาบันที่เข้าร่วม :

  • มหาวิทยาลัยแห่งชาติ (สปป.ลาว)
  • มหาวิทยาลัยจำปาสัก(สปป.ลาว)
  • มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ (สปป.ลาว)
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • มหาวิทยาลัยแม่โจ้
  • มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
  • มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  • มหาวิทยาลัยพายัพ
  • มหาวิทยาลัยพะเยา
  • มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
หมายเลขบันทึก: 605275เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2016 20:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2016 21:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ดีแล้วน่าทำต่อเนื่องผมหมายถึงดึงวัฒนธรรมสี่ภาคเข้าร่วมด้วยในการจัดงานครั้งต่อไปนะครับคุณแผ่นดิน

ครับ อ. ยูมิ

ตอนนี้กลุ่มเป้าหมายหลัก ยึดโยงในสายอีสาน-เหนือ ในแบบ "ล้านนา-ล้านช้าง" แต่เข้าใจว่าในอนาคตคงได้ขยายเครือข่ายภาคีมากขึ้น

ในเชิงโครงสร้างระบบนั้น มหาวิทยาลัยฯ ที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก จะต้องเข้าสังเกตการณ์อย่างน้อย 1 ปี โดยธรรมเนียมมหาวิทยาลัยใดเป็นเจ้าภาพ ก็จะเทียบเชิญมหาวิทยาลัยในเครือข่ายเข้ามาสังเกตการณ์ก่อน 1 ปี ปีถัดไปจึงขยับเข้าเป็นสมาชิกเต็มตัว

หากแต่งานหลักเน้นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมเป็นหลัก มีปีนี้ครับ เริ่มมีกลิ่นอาย "ชุมชนเป็นห้องเรียน" ที่เด่นชัดมากขึ้น และมีกลิ่นอายบริการสังคมในมิติบำเพ็ญประโยชน์มากขึ้น





สวัสดีครับ อWasawat Deemarn.


งานทำนองนี้ เจ้าภาพหลักของแต่ละมหาวิทยาลัยจะเป็น "ฝ่ายพัฒนานิสิตนักศึกษา" ครับ มหาวิทยาลัยอื่นๆ ไม่ค่อยยกวงไปเล่นสด แต่ ม.มหาสารคาม ไปร่วมทุกครั้ง จะยกวงไปเล่นสด ไม่เปิดแผ่นครับ 555

ครับ พี่ แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

ในครั้งที่ ม.มหาสารคาม เป็นเจ้าภาพ ครั้งที่ 10 ก็สังเคราะห์ชุดความรู้เชิงปรากฏการณ์สำคัญในวาระ "1 ทศวรรษไทย-ลาวสัมพันธ์"

รวมถึงพยายามสร้างฐานข้อมูลไว้ เพื่อส่งต่อไปยังเจ้าภาพปีถัดไป.... โดยส่วนตัวก็ดีใจที่กิจกรรมยังคงเดินทางเรื่อยๆ หากแต่ก็มีคำถามเหมือนกันว่า จะสามารถยกระดับกิจกรรมสู่เชิงคุณภาพได้มากขึ้นอย่างไร




พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท