SEEN มหาสารคาม _๐๖ : ประเมินโรงเรียนบรบือ (๒) ผลการประเมิน


 ในการประเมินฯ คณะกรรมการฯ จะแบ่งหน้าที่กันพิจารณา โดยทุกท่านมี "จุดร่วม" ในการประเมินฯ ๒ ประการ ได้แก่

  • อุปนิสัย "พอเพียงด้านการศึกษา" ที่เกิดกับนักเรียนแกนนำ และ
  • ผลงานของนักเรียน แหล่งเรียนรู้หรือฐานการเรียนรู้

และแยกพิจารณาตามจุดเน้นต่างๆ ได้แก่

  • ผอ.คณาพร เน้นดูวิชาการและแผนการสอน
  • ผอ.เกษม เน้นดูกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการ และโครงงาน 
  • ศน. รพีพรรณ เน้นดูเรื่องเครือข่าย 
  • ผมเน้นเรื่องการบริหารจัดการ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และเครือข่ายขยายผล

ในตอนท้ายของการประเมินก็จะนำข้อค้นพบและข้อเสนอแนะมาสะท้อนต่อผู้บริหาร คณะครู และนักเรียนแกนนำ

เนื่องจากการนำเสนอวีดีทัศน์ของโรงเรียนบรบือ ทำได้ดี ผมจึง "เห็น" ทั้ง "แนวคิด" "วิธีคิด" "กระบวนการขับเคลื่อนฯ" และไม่จำเป็นต้องสอบถามหรือสัมภาษณ์ผู้บริหารมากนัก เพราะถ้ายึด "หลักคิดในการประเมินฯ" ตามที่ผมเสนอไว้ที่นี่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผลลัพธ์ นั่นคือ อุปนิสัย "พอเพียงด้านการศึกษา" ว่าเกิดกับนักเรียนหรือไม่  วิธีที่ใช้ในการประเมินคือการ สัมภาษณ์ สนทนา ...

หลังจากจบการนำเสนอของทางโรงเรียน คณะกรรมการฯ แยกย้ายตามที่เราตกลงจุดเน้นของแต่ละคนไว้ข้างต้น สิ่งที่ผมทำเป็นเบื้องต้นคือการ "สนทนากับกรรมการสภานักเรียน"

หลังจาก "สนทนา" กับ "สภาพนักเรียน" ผมมีข้อค้นพบและความเห็น ดังนี้ครับ

  • นักเรียนที่เป็นกรรมการสภานักเรียนส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้น ม.๖ ไม่ได้ใช้ระบบคัดเลือกตัวแทนจากแต่ละระดับชั้นหรือห้องเรียน 
  • นักเรียนที่เป็นกรรมการนักเรียนส่วนใหญ่ น่าจะมาจากนักเรียนจิตอาสา ที่เป็นเด็กกิจกรรม อันนี้ผิด-ถูก ไม่รู้ แต่เท่าที่พิจารณาดู นักเรียนที่รับผิดชอบนำเสนอผลงานหรือโครงงานต่างๆ น่าจะเป็นคนละกลุ่มคนละบุคลิกกับนักเรียนที่มาเป็นกรรมสภานักเรียน 
  • นักเรียนส่วนใหญ่ยังไม่ "กล้าพูด"  อาจจะไม่ได้หมายถึง "ไม่กล้าคิด" แต่อาจเพราะ "ยังไม่มั่นใจ" ทำให้ไม่กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นของตนเอง ความจริงแล้ว "ความมั่นใจ" เกิดจาก "ความภมูิใจในตนเอง" ซึ่ง ความภูมิใจในตนเองนี้เกิดมีจาก การมีและรู้จัก "องค์ความรู้" หรือ "ความสามารถ" บางอย่างของตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ พวกเขาได้ "คิดแลทำ" ด้วยตนเองเท่านั้น 
  • นักเรียนยังมีความรู้ความเข้าใจ ปศพพ.ด้านการศึกษาอยู่ในระดับ ๑ คือ ระดับมูลค่า อ่านรายละเอียดที่นี่ หรือมีระดับพัฒนาการอยู่ในระดับ "นิยาม" ส่วนการ "ตีความ" ยังไม่ชัดเจนนัก หากพิจารณาตามกรอบคิดในการประเมินครั้งนี้ อ่านที่นี่

จากนั้นเราออกเดินดูสถานที่ต่างๆ รอบโรงเรียน ผมถือโอกาสนี้แทรกความเข้าใจ ปศพพ. ให้กับนักเรียนที่เดินตาม และตั้งคำถามกับพวกเขาไปเรื่อยๆ ต่อไปนี้เป็นข้อความเห็นเชิงวิพากษ์ (หลังจากที่ได้ชื่นชมมากแล้ว) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและเป็นตัวอย่างของจุดเล็กๆ ในการขับเคลื่อน ปศพพ. ฯ

 ภาพที่ ๑ อะไรที่ไม่พอเพียงจากในภาพ?

จากภาพนี้ ผมเห็นรถจักรยานยนต์จอดในที่จอดรถยนต์  อาจจะมีเหตุผลอะไรบางอย่าง  แต่ผมขอจับเอาเป็นประเด็นว่า โรงเรียนพอเพียงนั้น คนในโรงเรียนจะเคารพและรักษา "กฎ" หรือ "ระเบียบ" โดยเฉพาะข้อใดที่กำหนดไว้ไม่ให้ "เบียดเบียนคนอื่น"

ภาพที่ ๒ ศาลพระภูมิ "หลวงปู่ดำ" หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในโรงเรียน 

ผมถามนักเรียนว่า

  • นี่คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไร ทำไมต้องมีศาลพระภูมิ
  • มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ใครเป็นคนสร้าง 
  • ทำไมเราต้องมาเคารพสักการะ
  • ทำไมต้องใช้พวงมาลัย ทำไมมีม้า ม้า ๔ ตัวนั้นหมายถึงอะไร
  • ทำไมเราถึงควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ ควรทำหรือไม่ควรทำตามที่ทำตามกันมา 
  • ในฐานะนักเรียนเราควรอนุรักษ์สิ่งนี้ไว้ต่อไปหรือไม่ ถ้าใช้ต้องทำอย่างไรจะดีที่สุด 
  • ฯลฯ

ผลปรากฎว่านักเรียนยังตอบไม่ค่อยได้มากนัก   คำถามเหล่านี้ มุ่งตรวจสอบว่านักเรียนรู้จักโรงเรียนของตนเองหรือไม่ รายวิชาสังคมได้บูรณาการการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์กับแหล่งเรียนรู้ใกล้ตัว การขับเคลื่อน ปศพพ. นั้นเบื้องต้น ต้องเรียนรู้ "ภูมิสังคม" ของตนเองก่อน การเรียนรู้นั้นควรตั้งเป้าหมายให้นักเรียน "รู้รอบ รู้ลึก และรู้ละเอียด" การเรียนให้รู้จักตนเอง ชุมชนและท้องถิ่นของตนเอง และประเทศของตนเองนั้นสำคัญมาก เพราะถ้าไม่รู้จักตนเอง ก็ไม่สามารถที่จะ "ตัดสินใจ" ให้ "พอประมาณ" กับตนเองได้

ภาพที่ ๓ กล้วยๆ

เมื่อผมถามเด็กๆ ว่า โรงเรียนเราจำเป็นต้องปลูกกล้วยหรือเปล่า? นักเรียนตอบว่า ไม่จำเป็น ผมถามต่อว่า แล้วทำไมถึงต้องปลูก ใครเป็นคนคิดริเริ่มว่าจะปลูกกล้วย? ได้รับคำตอบว่า ผู้บริหารและครู ผมเลยตั้งคำถามให้นักเรียนช่วยกันคิดเดาใจของผู้บริหารและครูว่า ทำไมถึงให้ผู้บริหารและครูถึงกำหนดให้เราปลูกกล้วย? ไม่มีใครตอบ หรืออาจเป็นว่า ไม่มีใครกล้าตอบ

ผมขอชื่นชมทางโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับภูมิปัญญาและวิถีชีวิตจริงๆ พยายามสร้างความเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนและชุมชน แม้ว่าเด็กๆ ที่ติดตามการประเมินของผมจะยังไม่สามารถตอบคำถามที่แสดงถึงความ "รู้รอบ รู้ลึก รู้ละเอียด" แต่ผมมั่นใจจากการสังเกตผลงานที่เป็นกิจกรรม โครงการ และการนำเสนอโครงงานว่า การส่งเสริมการเรียนรู้อย่างบูรณาการนี้ ทำให้พวกเขาเห็นความสำคัญ เห็นประโยชน์ และสนุกกับการเรียนมากกว่าการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว

เป้าหมายสำคัญของการปลูกกล้วยของผู้บริหารและครูที่ผมได้ทราบจากวีดีทัศน์ คือ การส่งเสริมให้นักเรียนได้ภูมิใจและเห็นความสำคัญของกล้วย จนเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งโดยมากจะใช้กล้วยเป็นวัตถุดิบสำคัญ แม้ตอนนี้จะยังไม่บรรลุเป้าประสงค์นั้น แต่หากขับเคลื่อนฯ ด้วยความเข้าใจ ค่อยๆ กระตุ้นให้นักเรียนเป็นคนฝึกใช้ "หลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง" กับการ "ปลูกกล้วยด้วยตนเอง" ช่วยกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่จะสามารถ "ฝึกทักษะ" เน้นให้นักเรียนทุกคนได้ "ลงมือปฏิบัติ" และ "ปลูกฝัง บ่มเพาะคุณธรรม" ตลอดทั้งพัฒนาวิธีการวัดผลประเมินผลเชิงนามธรรม ซึ่งยังไม่ค่อยพบ BP ในโรงเรียนใดๆ นัก ความสำเร็จที่เกิดจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนของโรงเรียนอื่นต่อไป

ภาพที่ ๔  กระท่อมพอเพียง?

เมื่อเดินผ่านมายังกระท่อม ๒ หลังดังภาพ ผมบอกให้นักเรียนที่ติดตามหยุดมอง แล้วตั้งคำถามกับพวกเขาว่า "พอเพียงหรือไม่?"  ก่อนจะอธิบายให้พวกเขาฟังถึงเหตุและผลของ "ภูมิคุ้มกันที่ดี" ที่ต้องระวัง และเล่าเรื่อง "ภาพความพอเพียง" ให้พวกเขาฟังดังนี้ ว่า

...ครั้งหนึ่งผมเคยไปชมงานแสดงภาพเขียนศิลปะ ในงานนิทรรศการงานภาพศิลป์ประจำปี พบภาพเขียนหลังคากระท่อมปลายนาที่ขาดเป็นรูโหว่ และมีหมวกขาดๆ เก่าๆ ห้อยอยู่หัวเสาไม้ไผ่  ศิลปินตั้งชื่อภาพนั้นว่า "ความพอเพียง"...

ผมตั้งคำถามกับนักเรียนแกนนำว่า คิดว่าอย่างไร ศิลปินเข้าใจคำว่า "พอเพียง" ถูกต้องหรือไม่ ก่อนที่จะอธิบายต่อไปว่า "ความพอเพียง" นั้น สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ "ความพอประมาณ" ความพอประมาณไม่ได้หมายถึง "ยากจน" "ขาดแคลน" แต่หมายถึงความ "เหมาะสม" "ถูกต้อง" "พร้อม" ฯลฯ ซึ่งจะพอประมาณหรือไม่นั้น ต้องการ "เหตุผล" เหตุผลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงที่ถูกต้อง เช่น หลังคามี "หน้าที่" กันแดดกันฝน หลังคาที่เป็นรูโหว่ แสดงว่าหลังคานั้นไม่พร้อมที่จะทำหน้าที่ ไม่สามารถบังแดดฝนได้ จึงไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง หรือเรียกได้ว่า "ไม่พอเพียง"

แม้ว่าตัวอย่างที่ผมเล่าให้เขาฟัง จะไม่ได้เทียบเคียงกับภาพกระท่อมเอียงแบบตรงๆ แต่หลังจากดูสีหน้า ผมคิดว่า พวกเขาเข้าใจ  เข้าใจว่า อุปนิสัยพอเพียงที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการ "รู้หน้าที่" และ "ทำหน้าที่นั้นได้"

ภาพที่ ๕ ธนาคารโรงเรียน

คำถามคือ ธนาคารคืออะไร ทำไมต้องมีธนาคาร มีอะไรบ้างที่ "ถ้าไม่มี เราไม่อาจเรียกได้ว่าธนาคาร" คำตอบที่เด็กตอบมีหลากหลายครับ  แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจ เพราะ "พวกเขาได้ทำเอง" ขอขอบคุณธนาคารออมสิน ที่ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ระบบของธนาคาร ส่งเสริมเรื่องการออมของเด็กๆ ในหลายๆ โรงเรียนที่ผมได้ไปเยี่ยมมา ...  นักเรียนในฐานนี้ตอบคำถามได้ดีครับ

ข้อสะท้อนและข้อเสนอแนะตามตามกรอบการพิจารณาที่กำหนดที่นี่ 

  • ระดับพัฒนาการของนักเรียน ส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับมูลค่า คือระดับที่ ๑  นักเรียนสามารถ "นิยาม" ปศพพ. ได้ และ "ตีความ" ได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถบูรณาการกับสิ่งที่ตนเองทำได้ซับซ้อน เชื่อมโยงนัก 
  • บทบาทของครู ส่วนใหญ่น่าจะยังคงอยู่ในระดับ ๑ และ ระดับ ๒ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ต้องให้นักเรียนได้มีโอกาศ "คิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง และนำเสนอเอง" และส่งเสริมให้ "ถอดบทเรียน" ให้มากขึ้น 
  • จุดเด่นของโรงเรียนคือ มีความเข้าใจและกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนฯ ได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน  แสดงถึงการมีบุคลากรที่เข้าใจจริง ที่จะสามารถเป็นแกนนำภายในโรงเรียนได้ 

โดยภาพรวมแล้ว ผลลัพธ์ของการขับเคลื่อนฯ ยังไม่ได้ลงถึงตัวนักเรียนส่วนใหญ่มากนัก  ถือเป็นโจทย์สำคัญของทีมขับเคลื่อนฯ ของโรงเรียน

ข้อเสนอแนะ

  • ตั้งทีมแกนนำขับเคลื่อนฯ อย่างเป็นทางการ และร่วมกัน KM เพื่อหาทางขยายความเข้าใจ และความสำเร็จของครูแกนนำสู่เพื่อนครู 
  • เน้นให้นักเรียนได้ "ลงมือปฏิบัติ" อย่างครบวงจร หมายถึง ลดการ "บอก สอน ป้อน สั่ง" ลง  ถอยบทบาทของครูด้านการสอน มาเป็นครูฝึก อ่านที่นี่
  • ให้นักเรียนแกนนำ อธิปรายและวิพากษ์แผนการหรือวิธีการขับเคลื่อนฯ ของโรงเรียน รวมทั้งถอดบทเรียนเพื่อสะท้อนความสำเร็จไปยังครู (ทำบ่อยๆ) 
  • "ถอดบทเรียน" กระตุ้นให้นักเรียนใช้ "กระบวนการเรียนรู้" เพื่อให้ได้ "ฝึกคิด ฝึกตีความ" จากผลงานที่ตนกระทำมากขึ้น 
  • สร้างโอกาสให้นักเรียนแกนนำ ได้อธิบาย ได้แสดงผลงาน ได้ตั้งคำถาม ได้แสดงความคิดเห็น ฯลฯ ให้มากๆ

ที่สำคัญที่สุดคือ ทีมบริหารต้องเอาจริง ปฏิบัติเป็นแบบอย่างของทั้งครูและนักเรียน ทำซ้ำย้ำทวนเป้าหมายร่วม เพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของ "อุปนิสัยพอเพียง" 

หมายเลขบันทึก: 570209เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2014 05:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2014 05:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ   อาจารย์ต๋อย

        ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ในประเด็นนี้ครับ       

       " ถ้าไม่รู้จักตนเอง ก็ไม่สามารถที่จะ "ตัดสินใจ" ให้ "พอประมาณ" กับตนเองได้"

        เป็นประเด็นที่น่าสนใจมากครับอาจารย์

        ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับตรงนี้ครับ  

         "นักเรียนส่วนใหญ่ยังไม่ "กล้าพูด" อาจจะไม่ได้หมายถึง "ไม่กล้าคิด" แต่อาจเพราะ "ยังไม่มั่นใจ" ทำให้ไม่กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นของตนเอง"

         ในมุมมองของผม ผมว่าเป็นหัวใจสำคัญของ ปรัชญา ศกพพ  เลยครับ  ผมว่า  ความพอเพียง ต้องเริ่มจากให้เด็ก "รู้จักตนเอง"   "กล้าพูด กล้าแสดงออก  จากความเป็นตัวของตัวเอง"  เพื่อที่จะได้้คิด ได้ตัดสินใจ  ความพอประมาณ ที่พอดีกับตัวเองได้

         ผมชอชื่นชมอาจารย์อีกเรื่องครับ ที่บันทึกตามความเป็นจริง ทั้งจุดเด่น และ ข้อจำกัด  ทำให้ได้เรียนรู้ตามความเป็นจริงทั้งสองด้าน

                                      ขอบคุณบันทึกประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ครับ

                        

ได้พบประเด็นที่โรงเรียนเข้าไม่ถึงหลายประเด็น

แค่ภูมิรู้ทางสังคมเรื่อง หลวงปู่ดำ ก็ควรสนใจแล้วครับ

ขอบคุณมากๆครับ

เอาบุญมาฝากอาจารย์จ้ะ  อนุโมทามิ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท