หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง (จุดที่ 7 หมู่ที่ 3 บ้านสายเพชร ตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จ. ประจวบคีรีขันถ์)


การพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนมีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาหมู่บ้านและตนเอง ที่มีคุณลักษณะตามสภาพแวดล้อมและความต้องการเฉพาะถิ่นของตนเอง

  [อ่าน : เทคนิคการถอดบทเรียน]

     ตัวอย่างหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงจุดนี้จะมีความเป็นตนเองที่เด่นชัด        มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกบทเรียนหนึ่งของหมู่บ้านเศรษฐกิจ     พอเพียง ตั้งอยู่คือ หมู่ที่ 3  บ้านสายเพชร  ตำบลทองมงคล  อำเภอบางสะพาน   จ. ประจวบคีรีขันถ์ จากการจัดเก็บข้อมูลจะเห็นได้ว่า   

     1)  กระบวนการสร้างชุมชน  ชาวบ้านส่วนใหญ่มีพื้นเพเดิมเป็นคนจังหวัดเพชรบุรี  โดยมีการก่อตั้งหมู่บ้านขึ้นในปี 2517  อาชีพส่วนใหญ่ของสมัยนั้นทำนาข้าว และปลูกพริก  หลังจากนั้นในปี 2512 – 2517  ทำอาชีพนาข้าว  ทำไร่พริก  ปลูกขิง  และมีโรงสีเกิดขึ้น  ในปี 2545  มีการปลูกมะพร้าว  ทำสวนยางพารา  และปลูกปาล์มน้ำมัน  ในปี 2547  มีหมอดินเกิดขึ้น และมีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์  และในปี 2549 – 2550 มีการลดรายจ่ายในครัวเรือน  เป็นชุมชนที่รักษาความสะอาด  เป็นแหล่งท่องเที่ยว  และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  ส่วนเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น คือ  ระหว่างปี 2512 – 2516  ชาวบ้านอยู่กันอย่างเอื้ออาทร ใช้แกะเก็บข้าวและเก็บข้าวเป็นเรียง  ในปี  2545  มีนายทุนเข้ามาบุกรุกพื้นที่ป่าและสู้นายทุนไม่ได้ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันทำป่าชุมชนโดยขอพื้นที่มมาช่วยกันปลูกป่า  ในปี 2547  ชาวบ้านเริ่มเปิดวิสัยทัศน์ของตนเองเพื่อแก้ปัญหาความยากจน มีหนี้เป็นมรดกให้ลูกหลาน  ดังนั้น จึงสร้างระบบเศรษฐกิจทุนนิยม เพื่อแก้ปัญหาการแบ่งชนชั้น และมีกองทุนนิยมเกิดขึ้น  ในปี 2549  เริ่มทำการเกษตรตามรอยพ่อ โครงการเศรษฐกิจพอเพียง  เป็นเกษตรผสมผสาน  มีป่าชุมชน วนอุทยาน  ลดรายจ่ายในครัวเรือน  และ มีสิ่งภูมิใจ คือ ได้ทำ 12 โครงการเพื่อถวายพระองค์ท่านได้ผลสำเร็จ  ส่วนในปี 2550 ได้วางเป้าหมายไว้ว่า  ทำหมู่บ้านหน้ายล ตำบลน่าอยู่  ควบคุมลูกบ้านให้รักษาความสะอาด  เป็นแหล่งท่องเที่ยว ชมดอกสะดองในหน้าร้อน  กันพื้นที่ป่าไม่ให้บุกรุกวนอุทยาน  และเน้นให้คนมีงานทำ 

     ปัจจุบันมีทั้งหมด 9 หมู่บ้าน ที่อยู่ในตำบลทองมงคล  มีกลุ่มเกษตรกรเกิดขึ้นหลากหลาย ได้แก่  1)  กลุ่มโคเนื้อ  2)  กลุ่มแม่บ้าน  3)  กลุ่มอนุรักษ์ป่า  4)  กลุ่มออมทรัพย์  5)  กลุ่มสตรี  และ 6)  กลุ่มเยาวชน  ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หลังจาก 10 ปีผ่านมากับหมู่บ้านก็คือ  1) ด้านดี ได้แก่  ความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้นทั้งด้านฐานะและเครื่องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ    มีรั้วบ้านเป็นผักสวนครัว  มีการหมุนเวียนเงินที่เป็นกองทุนและกลุ่มสัจจะ  และมีระเบียบของหมู่บ้านที่ใช้ปฏิบัติร่วมกัน  และ 2) ด้านลบ  ได้แก่  การครองชีพของชาวบ้านมีความแตกต่างกัน  การพบกลุ่มต้องมีเวลาว่าง  ชาวบ้านมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาจากการสร้างฐานะและอาชีพ     ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า  ชาวบ้านมีการทำประชาคมมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน ประมาณ 8 – 10 คน  ความเป็นอยู่จะเป็นครอบครัวขยาย  ไม่มีวัดแต่ชาวบ้านจะมีศาลาปฏิบัติธรรมที่ช่วยกันสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ปฏิบัติธรรมร่วมกันในช่วงเข้าพรรษาที่มีผู้เฒ่าเป็นคนเริ่มก่อนตั้งแต่ปี 2535  ที่มีการทำสมาธิ  ไม่กินเหล้า และ ฆ่าสัตว์  นอกจากนี้ศาลาปฏิบัติธรรมยังเป็นมี นส. 3  และพื้นที่นิคมฯ   ส่วนการ  ทำอาชีพได้เริ่มจากการปลูกพริก/ปลูกข้าว  แล้วมาปลูกขิง  แล้วจึงปลูกมะพร้าว และสุดท้ายจึงปลูกยางพารา ปลูกปาล์มน้ำมัน และหันกลับมาปลูกมะพร้าว    

     นอกจากนี้ผลงานของชุมชนที่เกิดขึ้น คือ  มีเกษตรกรดีเด่น  เป็นแหล่งศึกษา    ดูงาน  มีการใช้ทรัพยากรของหมู่บ้าน  และเป็นหมู่บ้านได้รับรางวัล เช่น  ปลอด ยาเสพติด  เป็นต้น  ส่วนภูมิปัญญาที่เกิดขึ้น ได้แก่  ด้านพืชสมุนไพร  ด้านการ  จักรสาน (ตระกร้า/กระบุง)  และด้านขนมไทย 

     2)  กระบวนการเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง  รากฐานของหมู่บ้านที่ปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดเพื่อพึ่งพาตนเองนั้นมาจากการลดรายจ่ายในครัวเรือน  โดยในปี 2542  ได้มีการก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมา มีสมาชิกไม่ถึง  100  คน  เพื่อดูแลครัวเรือนของชาวบ้าน ปัจจุบันกลุ่มออมทรัพย์มีสมาชิก  115  คน  ทำหน้าที่ออมเงินและให้กู้เงิน  ส่งเสริมให้ชาวบ้านทำบัญชีครัวเรือน  ทำของใช้ในครัวเรือน  มีการรื้อฟื้นกลุ่มสตรี  และมีสวัสดิการให้กับชาวบ้าน เช่น  มีญาปกิจสงเคราะห์ให้ 5,000 บาทต่อคน  และมีเงินกู้ฉุกเฉินไม่เสียดอกเบี้ย 3,000 บาท    ต่อคน เป็นต้น  หลังจากนั้นในปี 2548 – 2549  ได้มีแนวคิดว่าทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีรายได้  จึงได้ทำกิจกรรมเช้าจ่าย-บ่ายประชุม ที่เป็น ตลาดครอบครัว      ทุกวันที่ 9 ของเดือน เฉพาะคนในหมู่บ้านเพื่อไม่ให้เอาเงินออกนอกหมู่บ้าน 

     นอกจากนี้หมู่บ้านยังได้มีการอนุรักษ์ของดีที่มีอยู่  ได้แก่  1)  การทำขนมไทย โดย มีโครงการฟื้นฟูขนมไทย   2)  ส่งเสริมกลุ่มเยาวชนให้ปลูกป่า  สืบสานวัฒนธรรมของท้องถิ่นเกี่ยวกับการทำขนมไทย  และ 3)  ฟื้นฟูกลุ่มสตรีขึ้นมาใหม่เพื่อทำของใช้ในครัวเรือน เช่น  น้ำยาล้างจาน  และยาสระผม เป็นต้น ความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงได้เริ่มจากชาวบ้านทำอาชีพเกษตรผสมผสาน  มีการอนุรักษ์ป่าชุมชน วนอุทยาน  มีการลดรายจ่ายในครัวเรือน  มีการทำบัญชีครัวเรือน  มีการทำรั้วบ้านเป็นผักสวนครัว  เป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติด  และมีระเบียบกฎเกณฑ์ของหมู่บ้าน เช่น  ห้ามยิงกระต่าย  เป็นต้น  ซึ่งกิจกรรมและอาชีพที่ทำจะแทรกความพอเพียงมาตลอดโดยเฉพาะการทำเกษตรตามรอยพ่อที่เกิดขึ้นในปี 2549 คือโครงการเศรษฐกิจพอเพียง

     ดังนั้น  การเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้นได้ เพราะ 1)  ความร่วมมือของชาวบ้าน  2)  การประยุกต์จากสิ่งที่มีอยู่ ได้แก่  การยกระดับของเกษตรผสมผสาน  3)  ผู้นำทำก่อนเพื่อให้ลูกบ้านเห็น เช่น  เก็บขยะ  และเผาขยะ  เป็นต้น  4)  ต้องพึ่งเด็ก เพราะเด็กจะพัฒนาหมู่บ้านได้ดีที่สุด  5)  ต้องมีแผนพัฒนาหมู่บ้าน  6)  ต้องมีอาชีพหลักและอาชีพเสริม เช่น  ทำสวนยางเป็นอาชีพหลักและเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริม  และ 7)  ต้องหาจุดที่พอเพียงของหมู่บ้านให้เจอ  จึงสรุปเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ได้ว่า 

       (1)  ความพอประมาณ  ได้แก่  ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย  มีการประหยัดและความพอเพียงโดยลดรายจ่ายในครัวเรือน  มีการทำของใช้ ๆ เองในครัวเรือนและนำของเก่ามาปรับใช้ใหม่ เช่น หัตถกรรมไม้ไผ่  เลี้ยงปลา/หาปลา  และปลูกผัก   ไว้กินเอง  ทำอาชีพการเกษตรแบบพอเพียงโดยทำหลากหลายอาชีพ  มีอาชีพเสริม  มีการใช้ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยชีวภาพ

       (2)  ความมีเหตุมีผล  ได้แก่  มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน  ทำของใช้ในครอบครัว เช่น  น้ำยาล้างจาน  และยาสระผม  เป็นต้น  มีการใช้ชีวิตและทำอาชีพโดยยึดหลักพอเพียงมาตลอด เช่น  ปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง  และไม่งอมืองอเท้า  เป็นต้น  มีการทำแปลงเรียนรู้  มีการเปิดวิสัยทัศน์เพื่อแก้ปัญหาความยากจน  และมีการหมุนเวียนหรือการจัดการเงิน                               

       (3)  มีภูมิคุ้มกัน  ได้แก่  มีระเบียบของหมู่บ้านในการอยู่ร่วมกัน  เช่น  การรักษา/อนุรักษ์ป่า/ปลูกป่าชุมชน  เป็นต้น  มีความเอื้ออาทรหรือแบ่งกันกินแบ่งกันใช้  เป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติด/เป็นหมู่บ้านสีขาว  เป็นสังคมเครือญาติ  มีการทำบัญชีครัวเรือน  เป็นแหล่งท่องเที่ยว  มีกลุ่มต่าง ๆ ในหมู่บ้านและมีโครงการต่าง ๆ เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาและสร้างหมู่บ้าน  และเป็นหมู่บ้านที่เข้มแข็ง               

       (4)  มีความรู้  ได้แก่  เป็นสถานที่/แหล่งศึกษาดูงาน  มีครูภูมิปัญญา  เช่น  เรื่องขนมไทย  เรื่องจักรสาน  และอื่น ๆ  มีการทำประชาคมหมู่บ้านบ่อย ๆ  มีผู้นำที่ทำจริง  มีการเรียนรู้ร่วมกัน  และมีเด็กเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้านได้ดีที่สุด

       (5)  มีคุณธรรม  ได้แก่  มีการคำนึงถึงสุขภาพของคนในชุมชน  มีการปฏิบัติธรรมและทำบุญในวันสำคัญ ๆ ที่ศาลาปฏิบัติธรรม  ชาวบ้านร่วมมือกันสร้างศาลาปฏิบัติธรรมเพื่อใช้เป็นศูนย์รวมของชุมชน  และมีผู้เฒ่าเป็นคนนำปฏิบัติธรรม                

     3)  กระบวนการถอดบทเรียน การจัดเก็บข้อมูลเจ้าหน้าที่ได้จัดกระบวนการเพื่อถอดบทเรียน คือ

       ขั้นที่ 1  ชี้แจงและเล่าความเป็นมา คือ  เพื่อค้นหาความเป็นรูปธรรมไปยืนยันคำว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่านที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม  และเพื่อถวายในวโรกาสครบรอบ  80  พรรษา ในวันที่ 5  ธันวาคม  2550

       ขั้นที่ 2  แนะนำทีมงานที่มาร่วมกันปฏิบัติกับชุมชน

       ขั้นที่ 3  ซักถามข้อมูลและชวนคุยชวนเล่า

       ขั้นที่ 4  จัดเก็บและบันทึกข้อมูลตามที่มีการสนทนาระหว่างกลุ่มเกษตรกรกับทีมเจ้าหน้าที่

       ขั้นที่ 5  สะท้อนข้อมูลที่จัดเก็บสู่กลุ่มชาวบ้าน โดยใช้  3  ห่วง  2  เงื่อน

       ขั้นที่ 6  สรุปบทเรียน  ได้แก่                 

         1)  ข้อมูลที่เกิดขึ้นนั้น ยังเป็นเพียงข้อมูลคร่าว ๆ               

         2)  ข้อมูลที่จัดเก็บจะนำกลับคืนสู่ชุมชนของท่าน               

         3)  เนื้อหาสาระที่เกิดขึ้นจะเป็น 1 ในบทเรียนให้กับที่อื่นได้                

         4)  กระบวนการเรียนรู้ของชุมชนของที่นี่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง               

         5)  ความมีคุณธรรมของที่นี่มีมาก               

         6)  งานที่จะดำเนินการต่อก็คือ  การถอดบทเรียนรายครัวเรือน               

         7)  นำบทเรียนที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ของที่นี่ไปยืนยันความเป็นรูปธรรมของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

       ขั้นที่ 7  งานที่จะดำเนินการต่อไป คือ               

         1)  คัดเลือกแกนนำชุมชน เพื่อทำวิจัยตนเองและสรุปเรื่องราวของตนเอง               

         2)  จัดตั้งทีมงานวิจัยชุมชน               

         3)  สำรวจและจัดเก็บข้อมูลรายครัวเรือนว่า มีความพอเพียงกันอย่างไร?               

         4)  ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล               

         5)  วิเคราะห์และสรุปผล 

     การประมวลผลข้อมูลที่เกิดขึ้นของ  7  หมู่บ้าน  เป็นเพียงข้อมูลคร่าว ๆ ที่ได้จากการจัดเก็บข้อมูลในครั้งที่ 1 ซึ่งได้นำ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจาก  3  ห่วง  2  เงื่อน"  ได้แก่  ความพอประมาณ  ความมีเหตุมีผล  ความมีภูมิคุ้มกัน  มีองค์ความรู้  และมีคุณธรรม  มาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการปฏิบัติงานครั้งนี้ค่ะ.

     อ่านข้อมูล "หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง 7 กรณีตัวอย่าง ของภาคกลาง"

 [จุดที่ 1]      [จุดที่ 2]     [จุดที่ 3]      [จุดที่ 4]      [จุดที่ 5]      [จุดที่ 6]   

หมายเลขบันทึก: 108072เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2007 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ยอดเยี่ยมครับ การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติสู่ชุมชนอย่างชัดเจนจริง ๆ  ขอบคุณครับ

เรียน Mr. ดิศกุล เกษมสวัสดิ์

  ขอบคุณค่ะ  ที่ให้กำลังใจ

ว่าที่ ดร.สุทธิพงค์ นันเกษตร

ยินดีด้วยครับ เดี๋ยวจบ ดร.แล้วจะไปช่วยงาน ที่นั่น บ้านผมเอง

พอดีเทศบาลเมืองลัดหลวงจะนำคณะอาสาสมัครผู้ประสานพลังแผ่นดิน 25 ตาสับปะรด เข้าเยี่ยมชมศึกษาดูงานที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รบกวนขอเบอร์ติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเข้าเยี่ยมชมนะคั่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท