หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง (จุดที่ 4 ตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง)


ทุกแห่งหนของชุมชนต่างมีของดี ๆ ที่ซ่อนอยู่ทั้งนั้น จึงอยู่ที่ว่าท่าน...ต้องการค้นหาจริงหรือไม่?

 [อ่าน : หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จุดที่ 3]

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550  ในช่วงบ่าย  ดิฉันและทีมงานได้ไปจัดเก็บข้อมูลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จุดที่ 4  ตำบลบางเจ้าฉ่า  อำเภอโพธิ์ทอง  จังหวัดอ่างทอง  ในการทำงานดังกล่าวเราก็ได้มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างไม่เป็นทางการ หมายความว่า  พอถึงเวลาแค่สะกิดและบอกสั้น ๆ เราก็ทำงานได้แล้ว  อาทิเช่น  อาจารย์บำเพ็ญ  เขียวหวาน  วาดรูปเครื่องมือ 3 ห่วง 2 เงื่อน ขึ้นกระดาษฟาง แล้วมาบอกดิฉันว่า "เก็บข้อมูลใช้เครื่องมือนี้นะ" แล้วอาจารย์ก็ไปทำหน้าที่ชวนคุยชวนพูดกับแกนนำเกษตรกรต่อ  ส่วนข้อมูลและเนื้อหาออกมาเป็นเช่นไร ดิฉันก็จับประเด็นและจัดลงกล่องเครื่องมือดังกล่าวเอง  และเมื่อเสร็จสิ้นการ สนทนา ทีมงานอาจารย์ก็จะโยนเวทีมาให้ดิฉันสะท้อนข้อมูลให้กับชาวบ้านฟัง เพื่อปรับแก้และเพิ่มเติมข้อมูล  ซึ่งเนื้อหาสาระของหมู่บ้านนี้มีรายละเอียด คือ

 จากการจัดเก็บข้อมูลจะเห็นได้ว่า

1)  กระบวนการถอดบทเรียน  ได้เริ่มจาก

       ขั้นที่ 1  ทีมงานบอกที่มาที่ไปของการมาครั้งนี้  มีคนที่เกี่ยวข้องคือ

                     (1)  วุฒิอาสา  จะมาช่วยถอดบทเรียน ซึ่งคนเหล่านี้มาจาก "คลังสมอง" ที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน

                     (2)  จากกรมส่งเสริมการเกษตร  มาร่วมเรียนรู้

                     (3)  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  เป็นผู้รับผิดชอบงาน

      ขั้นที่ 2  วัตถุประสงค์ของการทำงานครั้งนี้ คือ  เพื่อถอดบทเรียนที่ เป็นรูปธรรม แล้วนำมาจัดระบบข้อมูลเป็นกรณีตัวอย่าง "เรื่องหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อถวายในหลวงในวันที่ 5 ธันวาคม 2550"  และจัดทำเป็นเอกสารและสื่อเพื่อเผยแพร่

       ขั้นที่ 3   ชวนชาวบ้านคุยชวนชาวบ้านเล่า  โดยวุฒิอาสา และทีมจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นคนชวนสนทนา เริ่มตั้งแต่

                    (1)  เกษตรกรเล่าภาพรวมของชุมชน

                    (2)  เกษตรกรเล่าความเป็นอยู่ของคนในชุมชน

                    (3)  เกษตรกรเล่าถึง "การใช้กระบวนการพัฒนาของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ที่ชุมชนได้ปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม

                    (4)  เกษตรกรอธิบายการใช้เศรษฐกิจพอเพียง ตาม 3 ห่วง 2 เงื่อน ให้ฟังที่เป็นผลจากการปฏิบัติจริง ๆ

                    (5)  ร่วมกันค้นหา "ปราชญ์ชาวบ้าน...ภูมิปัญญา" ที่มีอยู่ในชุมชน

                    (6)  วุฒิอาสา ที่ดูแลและประสานงานหมู่บ้านนี้ ได้เล่าสิ่งที่ ตนทำเองแล้วได้ผล "มาแลกเปลี่ยน...ตามประเด็นที่เห็นว่า...ต้องไขข้อข้องใจ หรือจุดอ่อนให้กับหมู่บ้านนี้"    

              ขั้นที่ 4  สะท้อนข้อมูลสู่ชุมชน  โดยคนจับประเด็นตาม 3 ห่วง 2 เงื่อน  สะท้อนข้อมูลให้กับเกษตรกรฟัง 

              ขั้นที่ 5  สรุปเรื่องราวที่มาทำร่วมกับเกษตรกร และงานที่จะทำกันต่อไป  ได้แก่  เรื่องที่ 1  ค้นหาคนที่จะมาช่วยจัดเก็บข้อมูล คือ "ผู้วิจัยชุมชน"    เรื่องที่ 2  จัดเก็บข้อมูลเป็นครัวเรือน  และ เรื่องที่ 3  การประมวลและสรุปข้อมูล

2)  กระบวนการสร้างชุมชน  ความเป็นหมู่บ้านนั้นได้มีการพัฒนามา คือ  ก่อนปี  2515  ชาวบ้านจะทำไร่ทำนาและหาปลากินและเป็นรายได้ให้กับครอบครัว  แม่บ้านจะสานไม้ไผ่ไว้ใช้เอง  อาชีพหลักคือทำนา  ความเป็นอยู่แบบพอเพียงอยู่กันได้และปลูกผักไว้กิน  ในปี  2515  มีหน่วยงานภายนอกเข้ามาร่วมพัฒนาคือ  พัฒนาชุมชน  มีการจัดตั้งกลุ่มเพื่อพัฒนารูปแบบจักรสาน  และมีกลุ่มทอผ้าเกิดขึ้น  ในปี  2520  กลุ่มจักรสานเริ่มมีปัญหาทางด้านการพัฒนารูปแบบและลวดลาย  ในปี  2535  ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจักรสานไม้ไผ่  ในปี  2538  เริ่มมีการส่งออกขายต่างประเทศ และมีการพัฒนารูปแบบ  ในปี  2539   ปรับเปลี่ยนอาชีพจากการทำนามาทำจักรสาน ประมาณ 80 %  และความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น  หลังปี  2539  มีชาวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยว  รู้จักทำตลาดด้วยตนเอง  พัฒนาจักรสารให้ดีขึ้นประณีตขึ้น  มีการจัดการและบริหารกลุ่ม 

ซึ่งการทำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะใช้มือทำและมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง  ส่วนรายได้หลักจะมาจากการส่งออกผลิตภัณฑ์จักรสานไม้ไผ่  แล้วยังเชื่อมโยง  ไปสู่เครือข่ายอาชีพท่องเที่ยวที่นำเงินเพิ่มรายได้เข้าสู่ชุมชนโดยเกิดกลุ่มต่าง ๆ ขึ้น  ได้แก่  กลุ่มจักสาน  กลุ่มแปรรูป  กลุ่ม Home Stay (ปี 2546)  กลุ่มแม่ครัวชุมชน (ใช้ผักปลอดสารพิษมาเพิ่มมูลค่า)  กลุ่มรถบริการ (รถที่ใช้ทำนาแล้วจอดทิ้งไว้)  กลุ่มผู้นำชม  กลุ่มไม้ผลตามฤดูกาล (มะปราง/กะท้อน/มะม่วง/อื่น ๆ)  กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน (ออมทรัพย์)  กลุ่มวิสาหกิจชุมชน  และกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง (กำลังเกิดขึ้น)  ทางด้านรายจ่ายของเครือเรือน ประมาณ  100-150  บาท/วัน (4-5 คน/ครัวเรือน) 

ส่วนการลดรายจ่ายในครัวเรือนที่ทำคือ  ปลูกผักกินเองจึงทำให้คนส่วนใหญ่อายุยืนเพราะกินผักปลอดสารพิษ  มีการช่วยเหลือคนที่ช่วยตนเองไม่ได้  เช่น  คนพิการ  ผู้สูงอายุ  และมีการอยู่ร่วมกันแบบสังคมเครือญาติ

3)  กระบวนการเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง  ความอยู่รอดของชุมชนนั้นเริ่มแรกมาจากอาชีพทำนา  แล้วปรับมาเป็นอาชีพจักรสาน  หลังจากนั้นได้เพิ่มอาชีพท่องเที่ยวเกษตรขึ้นมาเพื่อเป็นรายได้ให้กับครอบครัวและหมู่บ้าน  มีการลดรายจ่ายในครัวเรือนโดยการปลูกผักกินเองและยังเป็นการรักษาสุขภาพ  และกำลังริเริ่มจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมาเพื่อเป็นเวทีสร้างความเข้าใจ  เชิญชวนคนที่สนใจเข้ามารวมกันเพื่อทำกิจกรรมที่เน้นชีวภาพ  และเน้นกิจกรรมที่ลดรายจ่ายในครัวเรือน  ดังนั้น  จึงสรุปเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ได้ว่า

     (1)  ความพอประมาณ  ได้แก่  ทำอาชีพหัตกรรมจักรสานไม้ไผ่เป็นอาชีพหลักโดยใช้ฝีมือคน  ใช้ทรัพยากรในหมู่บ้าน  เพิ่มรายได้และลดรายจ่าย (ปลูกผัก/น้ำยาสระผม/อื่น ๆ)  ปรับอาชีพหลักเป็นอาชีพเสริมและปรับอาชีพเสริมเป็นอาชีพหลัก (จากทำนาเป็นหลักมาเป็นจักรสานเป็นหลัก)  มีการบริหารจัดการอาชีพเพื่อสร้างงานและเพิ่มรายได้ (มีตลาด/กลุ่ม)  และคนในหมู่บ้านมีงานทำและมีรายได้ 

     (2)  ความมีเหตุมีผล  ได้แก่  ทำอาชีพกันเป็นกลุ่มกิจกรรม  ลดรายจ่ายในครัวเรือนและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน  การตัดสินใจทำอะไรจะศึกษาข้อมูลวิเคราะห์และตัดสินใจ  มีการจัดทำฐานข้อมูล (บัญชีรายรับ-รายจ่าย)  และการอนุรักษ์ทรัพยากรไม้ไผ่เพื่อเป็นรายได้   

                     (3)  มีภูมิคุ้มกัน  ได้แก่  อยู่กันแบบเครือญาติ  มีเอกลักษณ์การ

 จักรสานเป็นของตนเอง  มีการใช้ภูมิปัญญาเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้  มีแผนชุมชน  มีกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย  มีการออมทรัพย์  ทำงานร่วมกันและแลกเปลี่ยนกัน  นำเรื่องการจักรสานเข้ามาเป็นหลักสูตรของโรงเรียน  มีการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ (เยาวชน)  การอนุรักษ์ทรัพยากรไม้ไผ่  และคนในชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข                               

                      (4)  มีความรู้  ได้แก่  ภูมิปัญญาการจักรสาน  เช่น  เรื่องการขึ้นลาย  เรื่องการออกแบบ  เป็นต้น  และการอนุรักษ์ทรัพยากรไม้ไผ่      การจัดการตลาด  จักรสารประณีต  การจัดการกลุ่ม  และเป็นศูนย์เรียนรู้ระดับประเทศและต่างประเทศ 

                      (5)  มีคุณธรรม  ได้แก่  ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส  ฝึกวินัยตนเองให้รู้จักการออมและมัธยัสถ์  ยึดประเพณีวัฒนธรรม (รวมญาติ/ขอพรผู้สูงอายุ/อื่น ๆ)  มีความเอื้ออาทรและอยู่กันแบบเครือญาติ  และปลูกฝังค่านิยมและความมีคุณธรรมให้คนรุ่นหลัง

                 ก็เป็นเนื้อหาสาระที่ได้ไปถอดบทเรียนของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เป็นจุดที่ 4  มาให้ท่านได้อ่านกันค่ะ.

  [อ่าน : หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จุดที่ 5 บ้านหนองกระอิฐ  จังหวัดสุพรรณบุรี]

  [ อ่าน :หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง  7  กรณีตัวอย่าง]

หมายเลขบันทึก: 103219เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2007 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ขอบพระคุณมากครับที่บันทึกสิ่งดีๆ มาแบ่งปัน
  • ผมกับพี่สายัณห์ ได้ลงไปช่วยอาจารย์เพียงครั้งเดียวครับ

สวัสดีครับอ.จือ   ผมมาแวะเยี่ยมครับ ขอบคุณมากที่แบ่งปัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท