"หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง" (จุดที่ 5 หมู่ที่ 12 ตำบลหนองกระอิฐ อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี)


การถอดบทเรียนยิ่งเพิ่มจำนวนรอบมากขึ้น ๆ ประสบการณืก็เพิ่มขึ้น เช่น การตั้งประเด็นคำถาม การจับประเด็น การบันทึก และการสรุปบทเรียน ที่เกิดขึ้น

[ อ่าน : หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จุดที่ 4  บ้านบางเจ้าฉ่า จ. อ่างทอง] 

บทเรียนที่เกิดขึ้นของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จุดที่ 5 คือ  หมู่ที่ 12  ตำบลหนองกระอิฐ  อำเภอหนองหญ้าไซ  จังหวัดสุพรรณบุรี  มีเนื้อหาสาระคือ

1)  กระบวนการสร้างชุมชน  ก่อนปี 2530  คนในหมู่บ้านจะทำนาเป็นหลัก ร้อยละ 70  และทำไร่ ร้อยละ 30  พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นที่ดอน  แล้วในปี 2538  ได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากที่ทำนามาเป็นทำไร่อ้อย ร้อยละ 30  ในปี 2548  มีการแบ่งพื้นที่เพื่อปลูกผัก ร้อยละ 70  ปลูกพืชหมันเวียน เช่น  ปลูกข้าว  อ้อย  และผัก  ทำให้มีรายได้ดีขึ้น มีหนี้สินลดลง  และมีหน่วยงานเกษตรเข้ามาแนะนำเกี่ยวกับการกำจัดแมลงและการทำนาให้ปลอดภัย  จนถึงปี 2550  เริ่มมีการใช้ปุ๋ยชีวภาพในอาชีพการเกษตร  และมีการทำนาเพื่อเก็บไว้กินเองในครัวเรือน  มีโรงสีเคลื่อนที่เข้ามาให้บริการสีข้าวในหมู่บ้าน  และทำให้เกิดกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นมา  เช่น  กลุ่มแม่บ้าน  กลุ่มสัจจะที่ดูแลชาวบ้านตั้งแต่เกิดจนถึงตาย โดยมีสวัสดิการต่าง ๆ ช่วยเหลือ ได้แก่  เงินกู้  เงินฌาปณกิจสงเคราะห์  เงินค่ารักษาพยาบาล (10 คืน)  และเงินคลอดบุตร(1,500 บาทต่อครั้ง) ตั้งแต่ปี 2544  มีแหล่งเรียนรู้ในการประกอบอาชีพ (ภูมิชาวบ้าน)  และได้ไปศึกษาดูงานเพื่อนำความรู้มาพัฒนาอาชีพและหมู่บ้าน  เป็นต้น  จึงทำให้ความเป็นอยู่และเศรษฐกิจในการดำรงชีวิตดีขึ้นมาก 

2)  กระบวนการเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง  จากการประกอบอาชีพทำนาข้าว  มาทปลูกอ้อย  และปลูกผัก  ตลอดจนทำการเกษตรแบบหมุนเวียนและแบบผสมผสาน ทำให้มีรายได้ของครัวเรือนดีขึ้น  มีการลดรายจ่ายในครัวเรือนโดยการปลูกพืช (ปลูกข้าว/ผัก) และเลี้ยงสัตว์กินเอง  เงินที่เหลือก็นำมาออมกับกลุ่มสัจจะหรือกลุ่มออมทรัพย์ที่ได้ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2544 เพื่อเป็นสวัสดิการและช่วยเหลือชาวบ้านด้วยกันเอง  ชาวบ้านและมีจิตศรัทธาและเชื่อมั่นต่อวัดโดยร่วมกันสร้างถาวรวัตถุขึ้นมาในวัด  มีการพัฒนาตนเองตลอดเวลาโดยเฉพาะกับอาชีพที่ทำก็จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  การไปศึกษาดูงาน  การฝึกอบรม  และทดลองศึกษาความรู้จากการปฏิบัติจริง  นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายในการอยู่ร่วมกันและการประกอบอาชีพ  ซึ่งการดำรงชีวิตที่เป็นอยู่นั้นพออยู่ได้  มีเงินเหลือเก็บ  มีข้าวกิน มีผักกิน  มีรายได้ทุกวัน ทำอาชีพการเกษตรเป็นอาชีพหลักและรับจ้างเป็นครั้งคราว  ส่วนรายจ่ายที่เกิดขึ้น ประมาณ 100 กว่าบาทต่อวันต่อครัวเรือน  ดังนั้น  จึงสรุปเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ได้ว่า 

  (1)  ความพอประมาณ  ได้แก่  ทำอาชีพเพื่อกินเองและขายในชุมชน  บริหารจัดการทรัพยากรตามความเหมาะสม  ใช้เวลาอย่างคุ้มค่าและมีคุณค่า  เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง (ข้าว)  มีโรงสีเคลื่อนที่ไว้ให้บริการ  ใช้องค์ความรู้ในการทำอาชีพอย่างมีเหตุผลและถูกโรค  มีการปลูกพืชผักไว้กินเองในครัวเรือนเหลือก็นำไปขาย  มีฐานะความเป็นอยู่ที่พออยู่ได้/มีเงินเก็บ  และทำอาชีพอย่างสม่ำเสมอและลงทุนไม่ฟุ่มเฟือย

  (2)  ความมีเหตุมีผล  ได้แก่  มีการบริหารจัดการตนเองและเวลา  คิดด้วยเหตุและผลจากข้อมูล  มีการจัดระบบการผลิต  มีระบบการคิดและวิธีการใช้องค์ความรู้ด้วยเหตุผลและข้อมูล  และมีการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง                                 

  (3)  มีภูมิคุ้มกัน  ได้แก่  มีกลุ่มสัจจออมทรัพย์ (กู้/ออม)  มีสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนทุกระดับ (เด็ก/คนแก่/คนตาย/คนคลอดบุตร)  ทำอาชีพไว้กินเองเหลือก็ขาย  ทำอาชีพเกษตรด้วยปัญญา  ทำอาชีพหลากหลาย  อยู่กันแบบสบาย ๆ พออยู่พอกินมีเหลือไว้เก็บ  มีความรู้ด้านระบบการปลูกพืช  มีรายได้ทุกวัน  และมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่                               

  (4)  มีความรู้  ได้แก่  มีวิธีการและช่องทางการค้นหาความรู้  นำความรู้จากการศึกษาดูงานแล้วนำมาปรับใช้ (ออมทรัพย์)  เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง  และเรียนรู้อาชีพจากการปฏิบัติและลงมือทำ                  

  (5)  มีคุณธรรม  ได้แก่  มีสัจจะ/ไม่โกง  มีการรวมคนและรวมเงินเพื่อสร้างและบำรุงวัด  มีการเชื่อมโยงคนกับวัดในการอยู่ร่วมกัน  และมีความศรัทธาต่อวัด                ส่วนการให้ความหมายของคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง นั้นเป็นการอยู่แบบพอมีพอกิน เหลือไว้เก็บบ้าง  ไม่ทะเยอทะยาน  และทำเท่าที่จะทำได้                

3)  กระบวนการถอดบทเรียน                 ในการถอดบทเรียนเจ้าหน้าที่ได้มีกระบวนการ คือ               

  ขั้นที่ 1  ชี้แจงความเป็นมาและเป้าหมายของการดำเนินงาน  โดยทีมงานได้เล่าถึงการถอดบทเรียนของหมู่ที่ 2  ตำบลบ้านสระ  อำเภอสามชุก  จังหวัดสุพรรณบุรี นั้นเพื่อจัดทำเป็นกรณีตัวอย่างของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ตามปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม           

  ขั้นที่ 2  ชาวบ้านเล่าถึงความเป็นมาและเรื่องราวที่เกิดขึ้นของสภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของหมู่บ้านที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่  อาชีพ  การดำรงชีวิต  ความเป็นอยู่  และอื่น ๆ               

  ขั้นที่ 3  จัดเก็บข้อมูลและสะท้อนข้อมูลสู่กลุ่มเกษตรกร  โดยจับประเด็นข้อมูล  เขียนเป็นบันทึก  และการนำเครื่องมือ 3 ห่วง 2 เงื่อน มาจัดเก็บข้อมูล               

  ขั้นที่ 4  เสริมความรู้  โดยทีมงานได้สะท้อนข้อมูลสู่กลุ่มชาวบ้าน ได้แก่                               

    1)  เป็นเศรษฐกิจพอเพียงด้วยตนเอง ด้วยความไม่รู้แล้วนำมาปฏิบัติ                                       

    2)  ควรนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาอาชีพ เช่น ระบบน้ำในไร่อ้อย เป็นต้น                               

    3)  แนวโน้มการเกษตรของที่นี่จะมีความประณีตขึ้น เช่น  ปลูกอ้อยกับปลูกผักร่วมกัน  เป็นต้น                               

    4)  การเกื้อกูลของอาชีพยังไม่ค่อยมีและยังไม่ชัดเจน เช่น  เลี้ยงวัวเพื่อทำมูลสัตว์ แต่ถ้าเลี้ยงไก่ก็จะไปจิกหรือคุ้ยเขี่ยผักก็จะทำให้เกิดความเสียหาย เป็นต้น                               

    5)  มีความเป็นตัวของตัวเอง  แต่ถ้าเรามีการให้หรือขยายผลความรู้ในการผลิตก็จะทำให้กว้างขวางขึ้น ซึ่งต่อไปสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ  ความน่าอยู่และมีความสุข  โดยเฉพาะจิตใจที่มาจาก ความพอเพียง...ก็จะเป็นสุข               

  ขั้นที่ 5  แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้  โดยวุฒิอาสา (ลุงทองเหมาะ จ. สุพรรณบุรี) ได้เล่าให้ฟังถึงตัวเองว่า  แต่เดิมนั้นจะปลูกอ้อย  แล้วไปทำนา  แล้วไปทำผัก  และตอนนี้ปลูกพืชหลายอย่าง  จึงอยากจะให้คำแนะนำ คือ                                 

    1)  อยากให้เลี้ยงหมูแล้วนำขี้หมูมาใส่ในไร่อ้อย  เพราะที่นี่เลี้ยงหมูกันอยู่แล้ว เพียงแต่ปรับเป็น หมูหลุม  เช่น เลี้ยงหมู 10 ตัว จะได้ปุ๋ย ประมาณ 8 ตันต่อปี และใช้ได้ ประมาณ7-8 ไร่ต่อปี                               

    2)  อยากจะให้ไปดูงาน แล้วนำมาดัดแปลงเอง เพราะเวลาคนที่นี่ไปดูงานแล้วจะนำมาดัดแปลงทำกันทุกครั้ง  คือ  มีอะไรบ้างที่เป็นสารทดแทนสารเคมีได้ เพราะคนที่นี่ทำงานแล้วน่าจะรวย เพียงแต่ใช้และซื้อสารเคมีมากเกินไป เช่น ไปดูงานเรื่องเกษตรอินทรีย์ และเรื่องเครือข่ายหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น                               

    3)  สิ่งที่ควรจะทำต่อไป คือ                                                 

      (1)  การปรับปรุงบำรุงดินให้เหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว                                               

      (2)  ดินดี  น้ำดี  อากาศดี แล้วตัวแมลงจะไม่กินผัก                                               

      (3)  ไปดูงานเกษตรอินทรีย์ ลด  ละ  เลิก สารเคมี โดยใช้สารอินทรีย์                                               

      (4)  ค้นหาศูนย์เรียนรู้ที่พอเชื่อถือได้ในการศึกษาเรียนรู้เรื่อง การทดแทนและทำปุ๋ยอินทรีย์                                               

      (5)  เลี้ยงหมูหลุม เพื่อใช้ปุ๋ยอินทรีย์               

  ขั้นที่ 6  สรุปบทเรียน  โดยทีมงานได้กล่าวว่า  ข้อมูลที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงคร่าว ๆ เท่านั้นและยังไม่เพียงพอ และทีมงานจะนำไปประมวลผลแล้วค่อยนำข้อมูลมาคืนสู่ชุมชน เพราะสิ่งเหล่านี้มีประโยชน์เพื่อใช้ทบทวนตนเอง ซึ่งแต่ละหมู่บ้านหรือแต่ละที่จะมีวิถีชีวิตเป็นของตนเองและสามารถนำมาใช้จัดการตนเองได้               

   ขั้นที่ 7  งานที่จะทำต่อไป  โดยทีมงานได้ให้ชาวบ้านดำเนินการในสิ่งที่จะดำเนินการต่อไปหลังจากนี้ คือ                               

    1)  ให้ค้นหาบ้านที่ดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน  50  ครัวเรือน เพื่อจัดเก็บข้อมูลในเชิงลึก และนำมาจัดระดับของเศรษฐกิจพอเพียง

                               

                    2)  ให้ค้นหาและสำรวจคนที่จะมาเป็น นักวิจัยชุมชน  เพื่อจัดเก็บข้อมูลชาวบ้านของหมู่บ้านของเราเอง จึงขอให้คัดเลือกคนที่มีความคล่องตัวและเขียนหนังสือเป็น

     ก็เป็นอีกเรื่องราวหนึ่งที่เป็นเหตุการณืและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของชาวบ้านค่ะ

                [อ่าน : หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จุดที่ 6  บ้านสระ จ. สุพรรณบุรี]
หมายเลขบันทึก: 108052เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2007 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับอ.ศิริวรรณครับ ต้องชื่นชมจริงฯฯขยันบันทึกนะครับ สุดยอดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท