ว่าด้วยเรื่องของ เมตตา ธรรมที่มีคุณค่าของชีวิต


เรื่องของเมตตาอยู่ในหลักการพื้นฐานขั้นจริยธรรมของศาสนาพุทธ แต่ที่นำมาเขียนคราวนี้ เพราะผมรู้สึกว่าเราคนไทยที่เข้าใจและเข้าถึงจนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในเรื่องของเมตตายังมีน้อยคน


       

 

       อันว่าความกรุณาปราณี
       
จะมีใครบังคับก็หาไม่
        
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ   

       จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน

       คำจั่วหัวนี้ หลายท่านอ่านแล้วคงคุ้นๆตาอยู่บ้าง

 

 

     เชื่อว่ายังคงจำได้ว่าเป็นบทกลอนที่ ร. 6 ทรงพระราชนิพนธ์จากบทประพันธ์เรื่อง เวนิสวานิช อันลือชื่อ จากบทละครภาษาอังกฤษ เรื่อง “The Merchant of Venic” ของ   วิลเลียม เช็คสเปียร์        ยังจำได้สมัยยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม มีเพื่อนจอมทะลึ่ง เรียกท่านเช็คสเปียร์เป็นชื่อไทยว่า ท่านเขย่าหอกพอถามมันว่า รู้มั้ยทำไมท่านจึงต้องเขย่าหอก มันก็ตอบผมเป็นคุ้งเป็นแควว่า บรรพบุรุษท่านเป็นชาวไอริส

    ตอนต่อสู้กับอังกฤษ ชาวไอริสจะมีท่าพิเศษที่ข่มขวัญคู่ต่อสู้ด้วยการเขย่าหอกก่อนรบ ว่าแล้วมันก็แสดงท่าเขย่าและขย่มอันแปลกปลาดให้ผมและเพื่อนๆดู เวลาพูดถึงท่านเช็คสเปียร์ทีไหร่ ท่านั้นก็โผล่ขึ้นมาทุกที

     เข้าเรื่องของเมตตาดีกว่าครับ อันที่จริงเรื่องของเมตตานี้คนไทยเรารู้จักและคุ้นเคยกว่าฝรั่งที่ยกตัวอย่างมาเป็นไหนๆ เนื่องจากเรื่องของเมตตาอยู่ในหลักการพื้นฐานขั้นจริยธรรมของศาสนาพุทธ แต่ที่นำมาเขียนคราวนี้ เพราะผมรู้สึกว่าเราคนไทยที่เข้าใจและเข้าถึงจนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในเรื่องของเมตตายังมีน้อยคน

     ลองยกคำกล่าวในพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับเมตตาฟังดูสักนิด

 

      “เมตตาเป็นธรรมคุ้มครองโลก

    ที่กล่าวอย่างนี้ เนื่องจากสังคมใดมีคนที่มีเมตตามาก สังคมนั้นก็จะอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุขและปราศจากการเบียดเบียนกัน ดังนั้นเมตตาจึงเป็นธรรมที่คุ้มครองโลกจากการเบียดเบียนกัน

    การเบียดเบียนกันนี้ รวมความตั้งแต่ พูดให้ร้ายกัน รังแกกัน กลั่นแกล้งทำร้ายกัน จนถึงการฆ่ากัน ซึ่งประมวลดูแล้วจะเห็นว่ามาจากรากของอุกุศลจิตตัวเดียวกัน นั่นคือ

   เจ้าตัวโกรธ ภาษาอภิธรรมเรียกว่า โทสะมูลจิต หมายถึงรากที่ก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจทั้งมวล หากจะอธิบายเป็นภาษาธรรมะต้องพูดว่า ความไม่พึงพอใจนี้เกิดจากจิตที่กระทบกับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เรียกว่า ปฏิฆะจิต ชาวบ้านอย่างเราๆก็พูดว่า เกิดความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจขึ้นมาในใจ

   หากยังไม่เข้าใจ ให้ลองนึกว่า เหมือนเราอยากจะเดินไปไหนก็สะดุด สะดุด สะดุดบ่อยๆ ก็รำคาญใจ และหงุดหงิดขึ้นมาจนทนไม่ได้ จนต้องว้ากเพ้ยออกมา เรียกว่าโกรธแล้ว อาการจะออกมาทางกาย วาจา

     หากโกรธแล้วไม่สามารถแสดงออกได้ทางกายหรือวาจา ก็จะเก็บความโกรธนั้นไว้ในจิต ไปไหนก็เอาไปด้วย กินข้าวนึกขึ้นมาได้ก็โกรธ ถึงกับเขวี้ยงจานข้าวก็มี เดินไปไหนนึกขึ้นมาได้ก็โกรธ เลยเตะก้อนหินหรือเสาข้างทางเสียจนเท้าแป นอนหลับฝันถึงก็โกรธขบเขี้ยวเคี้ยวฟันจนตื่นขึ้นมาฟันบิ่นไปหลายซี่ ก็ยังไม่รู้สาเหตุ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าผูกโกรธ เอาไว้กับจิต พัฒนาเป็นความอาฆาตฝังแน่นอยู่ในจิต

   กลายเป็นคนคิดหมกมุ่นอยู่กับอดีต เป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น เรียกว่าจะกิน จะนอน จะขับถ่าย อยู่กับจิตที่เคียดแค้นอยู่ตลอดเวลา

      มะเร็งไม่ถามหาตอนนี้ ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว

     หากไม่อยากเป็นเช่นที่กล่าวมา ถามว่าจะทำอย่างไรดี ทางพุทธธรรมบอกว่า ให้หมั่นเจริญเมตตา

       เพราะเมตตากับโทสะอยู่ตรงกันข้ามกัน เป็นองค์ธรรมที่เป็นปรปักษ์ซึ่งกันและกัน      คนที่มีเมตตาเกิดขึ้นในขณะใด ขณะนั้นโทสะก็ไม่เกิดในจิตดวงนั้น

      จึงกล่าวกันว่า คนเจ้าโทสะ จะเป็นคนที่แล้งเมตตา

     อยากเห็นภาพชัด ลองนึกถึงแผ่นดินที่แตกระแหง เป็นแผ่นๆกรอบเกรียมบิดงอเพราะขาดน้ำซ้ำถูกแดดร้อนจ้าเผาแถวๆทุ่งกุลาร้องให้ จิตของคนเจ้าโทสะจะมีลักษณะคล้ายๆกันนั่นแหละ

      เพราะจิตแล้งน้ำใจเมตตา จิตจึงแห้งแล้ง แข็งกระด้าง และถูกไฟโกรธ เกลียด อาฆาตเผาใจอยู่ทุกวันเวลา

      ทำให้ไม่รักไม่พอใจในสิ่งใดๆเลยทั้งสิ้น    พูดไปพูดมา ถ้านึกกลัวไม่อยากเป็นอย่างที่ว่าต้องหันมาเจริญเมตตาแล้วล่ะ

    หลักการเจริญเมตตามีอยู่ว่า ต้องสร้างความรู้สึกรักและเมตตาต่อคนและสัตว์ให้เกิดขึ้นในจิต ให้เกิดขึ้นบ่อยๆและให้เกิดขึ้นในแต่ละครั้งให้นานที่สุดเท่าจะทำได้

      ให้สังเกตว่า ความรักที่อยู่ในฐานของเมตตานั้น จะต้องเป็นความรักที่บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสกาม คือไม่ใช่ความรักแบบชู้สาว

    แบบนั่งกินข้าวตามภัตตาคารแล้วเกิดเมตตาเรียกน้องๆมานั่งตักป้อนข้าวให้ อย่างนั้นไม่นับ

   แต่เป็นความรักที่เกิดจากความหวังดี ความปรารถนาดีต่อบุคคลหรือสัตว์ที่ประสบกับกับความทุกข์ยากลำบากทั้งกายและใจ โดยส่วนใหญ่จิตเมตตาจะเกิดขึ้นได้ต้องมีอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในจิต

       พระท่านจึงกล่าวว่า เมตตามีสภาวะทุกข์เป็นอารมณ์

     จิตคนเราโดยทั่วไปนั้น เมตตามักเกิดขึ้นง่าย คือรักหรือสงสารต่อสัตว์บุคคลที่ประสบภัยพิบัติหรือได้รับความทุกข์ยาก แต่ให้สังเกตดีดีว่า ในบางครั้งจะเกิดแต่เมตตาจิตเท่านั้น หามีความกรุณาเกิดขึ้นไม่

     กรุณาคือจิตที่อยากจะช่วยเหลือสัตว์หรือบุคคลที่ประสบทุกข์ สร้างให้เกิดการกระทำทางกาย วาจา เป็นการกระทำที่เรียกว่า กรุณา

       ดังนั้น บางคนจึงมีแต่เมตตา คือคิดรักและสงสารปรารถนาดี แต่อยู่ในชั้นของจิตเท่านั้น หากจิตเมตตามีกำลังแก่กล้าขึ้น จะพัฒนากลายเป็นจิตกรุณา คืออยากช่วยให้พ้นไปจากทุกข์นั้นๆ

      เช่นคนที่ขับรถอยู่เห็นคนหรือสัตว์ได้รับอุบัติเหตุ ต้องจอดรถลงช่วยเหลือ อย่างนี้เป็นคนที่มีทั้งจิตเมตตาและกรุณาควบคู่กัน แต่คนที่เห็นแล้วร้องบอกว่าสงสารเหนาะแต่ขับรถผ่านไปเฉย มีแต่จิตเมตตาแต่ขาดจิตกรุณา มิหนำซ้ำจิตเมตตาที่ว่านั้นอาจเป็นจิตเมตตาที่มีกำลังน้อยอ่อนปวกเปียกอีกด้วย

     หลักการเจริญเมตตาจึงต้องปฏิบัติควบคู่ไปกับกรุณา ซึ่งถือว่าเป็นธรรมะที่เป็นคู่ เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่นั้นมักนิยมพูดกันแค่การเจริญเมตตาเฉยๆ

      หรือจะพูดอีกอย่างก็ได้ว่า การเจริญเมตตานั้นเป็นเหตุที่นำไปสู่เป้าหมายคือความกรุณา

    เมตตานั้นเป็นสภาวจิตที่อยู่ภายใน แต่กรุณานั้นเป็นการกระทำภายนอก ที่แสดงออกมาชัดเจนทางกาย วาจา พูดอย่างนี้คงสร้างความเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น

     อันที่จริงหากพูดถึงธรรมสองประการนี้แล้ว ต้องกล่าวต่อไปให้ครบหมวด คือ เรื่องของ พรหมวิหาร 4

      จากตัวเลข 4 ก็คงทำให้รู้ว่าธรรมหมวดนี้มีหัวข้อธรรมอยู่ 4 หัวข้อ คือ เมตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขา ที่ชาวไทยรู้จักกันดี(แต่ชื่อ) และรู้จักด้วยว่าบุคคลใดประพฤติธรรมในหมวดนี้ได้ บุคคลนั้นขึ้นชื่อเปรียบได้ดังพระพรหม เนื่องจากคำว่าพรหมวิหารธรรมนั้นแปลว่าธรรมที่เป็นเครื่องอยู่ เครื่องอาศัยของพรหม ซึ่งมีนัยหมายความว่า

     เป็นผู้ที่มีความประพฤติเฉกเช่นพระพรหม คือมีธรรมะ 4 หัวข้อนี้อยู่ครบ

      ใครเอ่ย...ที่เรารู้จัก มีคุณสมบัตินี้บ้าง

    ถ้านึกกันยังไม่ออกลองหันไปดูคนที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดของคุณคือ คุณพ่อคุณแม่ของเรา

    พิจารณาดูให้ละเอียดจะเห็นได้ว่า พ่อแม่นั้นมีคุณสมบัติเหล่านี้อยู่เป็นส่วนใหญ่ เช่นในเรื่องของเมตตา ใครจะกล้าเถียงได้ว่าพ่อแม่นั้นเป็นคนไม่มีเมตตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมตตาที่มีต่อลูก เป็นเมตตาที่มีรากฐานก่อตัวมาจากความรักและหวังใยในตัวบุตร

    ในเรื่องของกรุณานั้นหาความกรุณาของใครที่จะเทียมความกรุณาของพ่อและแม่ที่แสดงออกอย่างสม่ำเสมอ ที่ฝ้าคอยทำนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูมา ตั้งแต่ตัวเล็กๆเท้าเท่าฝาหอย จนเติบใหญ่มาได้ก็ด้วยความกรุณาของพ่อแม่ราดรดลงไปทุกเมื่อเชื่อวัน

   ส่วนมุทิตานั้นไม่ต้องพูดถึง ยามใดที่ลูกมีความสุข บุคคลแรกที่ชื่นชมในความสำเร็จของลูกอย่างจริงใจนั้น คือพ่อแม่อย่างแน่นอน

   ถ้าจะขาดตกบกพร่องเพียงอย่างเดียวก็คือ อุเบกขาเนื่องด้วยพ่อแม่ทำใจให้เป็นอุเบกขาได้ยากหากเห็นลูกประสบกับความทุกข์ ยากนักที่พ่อแม่จักทำใจให้เฉยอยู่ได้ ต้องมีอคติที่เรียกว่า ฉันทาคติ เกิดความลำเอียงเพราะรักลูก เป็นต้น

      ถ้าจะถามกันว่าพ่อแม่นั้นรักอะไรที่สุด คำตอบคือ รักลูก

   ถามต่อไปว่าพ่อแม่นั้นห่วงใยใครที่สุด คำตอบนั้นก็คือ ห่วงใยลูกเช่นกัน

ถามซ้ำอีกว่าในที่สุดความปรารถนาดีนั้น พ่อแม่ปรารถนาดีอยากให้ใครมีความสุขที่สุด คำตอบคงไม่พ้นจากคำว่าลูก

       ลูก ลูกและลูก

      แม้เปลี่ยนคำถามที่ยังมีต่อไปอีกสักหมื่นแสน คำตอบนั้นคงมีคำตอบเดียว เพราะในหัวใจของพ่อแม่นั้น มีแต่คำว่าลูกอยู่เต็มหัวใจ

      มีเรื่องเล่ามากันว่า หากมีเทวดามาปรากฏและให้เราขอพรที่จะสมปรารถนาได้ 3 ข้อ เราจะขออะไรดี? เทวดาเล่าว่า ท่านเปิดดูคำขอสามข้อนั้นของบุคคลผู้เป็นแม่ จะพบว่าคำขอทั้งสามข้อนั้นล้วนแต่ขึ้นต้นว่า

   ขอให้ลูกมีความสุขสมหวังในชีวิต.....ขอให้ลูกประสบความสำเร็จ....ขอให้ลูกมีครอบครัวที่ดี...

     แต่หากไปเปิดคำขอของบุคคลที่เป็นบุตรบ้าง ทั้ง สามข้อนั้นยากที่จะพบว่าขอให้แม่หรือพ่อ ส่วนใหญ่ล้วนแต่ขอให้ตนเอง แฟนและเพื่อนเท่านั้น

   พระพุทธองค์จึงตรัสเปรียบเทียบว่า พ่อแม่นั้นคือพระพรหมของลูก

     จริงไหมครับ ?

 

 

 

 

(ขอยกยอดไปเขียนต่อไปนะครับ)

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 98791เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2007 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 09:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะอาจารย์

กลับมาแล้วหรือคะ แถมมีเรื่องสอนใจดีๆ มาฝากเต็มบันทึกเลย

อ่านแล้วรู้สึกว่าตัวเองมีเมตตาแต่กรุณาน้อยไปหน่อยค่ะ อิอิ มุทิตากับอุเบกขา มีมากขึ้นกว่าก่อนเยอะ แต่สำหรับของพ่อกับแม่นั้น เห็นจริงอย่างที่อาจารย์ว่าไว้ค่ะว่าท่านเป็นพระพรหมของเราจริงๆ

ขอบคุณอาจารย์สำหรับเรื่องเตือนสติดีๆ อีกหนึ่งเรื่อง แล้วจะรออ่านในบันทึกต่อไปนะคะ

เย้! อาจารย์กลับมาแล้ว

สวัสดีค่ะอาจารย์ ซาบซึ้งมากกับเรื่องเมตตาธรรมนี้ อ่านถึงตอนพ่อแม่ขอพรมีแต่คำว่าลูก...ลูกและลูกๆๆ

น้ำตาปริ่มเลยค่ะ

กราบขอบคุณสำหรับเรื่องดีดีอย่างนี้ค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ ผมคิดถึงแม่ครับ...ฮือ ฮือ

สวัสดีครับ อาจารย์กมลวัลย์

กลับมาถึงกท.ตอนเช้าตรู่(ตีห้า) ของวันที่๒๔ ครับ ยังสะลึมสะลืออยู่เล็กน้อย รู้สึกนอนไม่ค่อยพอ เพราะไม่ได้พักเลย มาถึงเชียงใหม่ เก้าโมงเช้ารีบบึ่งไปทำงานทันที

บันทึกนี้เป็นของเก่าที่เขียนไว้นานแล้วครับ ยาวพอสมควร ต้องแบ่งเป็นสามตอนกระมังครับ

แผ่เมตตาบ่อยๆ กรุณาจะเต็มขึ้นมาเอง...ผมว่าอาจารย์น่าจะมีกรุณามากนะครับ เพราะการเขียนบันทึกธรรมถือว่าเป็นการแสดงออกซึ่งกรุณาได้เหมือนกัน อยากให้ผู้อื่นได้สิ่งที่ดีดีไปใช้ปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์ครับ

เย้! เย้! เย้!! หนูนา

อาจารย์เองก็ดีใจ ฟาดแต่อูด้ง ราเมงมาหลายมื้อ กำลังหิวของแซ่บๆอยู่

กะว่าจะกินข้าวซอยซะสองชาม ตามด้วยเส้นเล็กน้ำต้มยำไม่ตับอีกหนึ่ง ตบท้ายด้วยข้าวเหนียวทุเรียนเล็กน้อย แล้วย้อนด้วยข้าวกั้นจิ้นอีกหนึ่งห่อ..แฮ่ะ แฮ่ะ!

โอ๋ อนิรุต อย่าร้อง...อย่าร้อง

เป็นหมอต้องใจแข็งซิ

ว่าแต่อาจารย์ก็คิดถึงแม่เหมือนกัน...แง!

อาจารย์ขยันจังเลยค่ะ : )

ขอบคุณอาจารย์ที่ชมว่าดิฉันมีกรุณา ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองมีความคิดที่จะช่วย แต่กรณีที่ช่วยได้จริงๆ กลับน้อย ก็เลยเป็นที่มาของมีกรุณาน้อยกว่าเมตตา เพราะอยากให้เขาเป็นสุข แต่ไม่สามารถช่วยให้พ้นทุกข์ได้ทั้งหมด  ดีที่มีโอกาสได้เขียนบันทึกค่ะ ถ้าอย่างนั้นที่สอนหนังสือก็น่าจะเป็นกรุณาด้วยใช่ไหมคะ มานึกๆ ดูแล้ว สอนหนังสือ..เป็นครู ก็ควรจะมีพรหมวิหาร ๔ เช่นกัน... ขอบคุณอาจารย์ที่ทำให้ได้คิดค่ะ : )

สวัสดียามดึกครับ

คนที่เป็นครูบาอาจารย์หรือคุณหมอ แท้จริงแล้วหากคิดให้ดีได้ทำบุญทุกวันครับ

คือสอนหนังสือ รักษาแบบเป็นทาน สั่งสมเป็นทานบารมีได้...หากคิดจะทำ

คือการทำงานด้วยจิตคิดที่จะให้ ...ให้ความรู้ ให้ความเข้าใจ ให้ความเมตตา รักอย่างบริสุทธิ์

เต็มไปด้วยความปรารถนาที่ดีต่อศิษย์ เป็นกัลยณมิตรที่ยอดเยี่ยมของศิษย์

เพราะในขณะที่ทำกรรมดีนั้น จิตจะเป็นกุศลและปราถนาดีต่อผู้อื่นจริงๆ

ฝึกไปสอนไป บารมีจะแก่กล้าขึ้นมาเองครับ

คนที่เป็นครู(ที่ดี)จึงมีพรหมวิหารสี่ครบครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

อ่านถึงเรื่องคุณพ่อ คุณแม่แล้วนึกถึงความรู้สึกหลังจากที่กลับจากปฏิบัติธรรมค่ะ ได้กลับมากราบเท้าคุณแม่ด้วยในครั้งนั้น

เคยอ่านสัมภาษณ์ท่านหนึ่งว่า เราคิดว่าในหนึ่งปีมีวันแม่หนึ่งวัน แต่สำหรับคุณแม่ทุกท่านแล้ว ทั้ง ๓๖๕ วันเป็นวันของลูกทั้งสิ้น

สวัสดีค่ะอาจารย์ ... อาจารย์กลับมาจากญี่ปุ่นแล้วดีใจจังค่ะ ... นึกว่าอาจารย์จะติดใจอูด้ง ราเมงโซบะ ไม่กลับมาทานมาม่าต้มยำซะแล้ว... อิอิอิ

อ่านเรื่องนี้แล้วทำให้เข้าใจและแยกแยะ ความเมตตา กรุณาค่ะ เมื่อพิจารณาตัวเองแล้ว เชื่อว่ามีเมตตาเยอะค่ะ แต่กรุณาก็มีบ้างแต่ไม่มากนักค่ะ ... ตอนนี้ก็กำลังพยายามที่จะมีเมตตากับศิษย์ที่จะต้องสอนตอนเปิดเทอมให้มากๆค่ะ...

ขอบคุณค่ะ

หนูPaew

อูด้ง ราเมง หรือจะสู้ยำหัวปลี ตำบะหนุน

ขอให้หนูยิ้มหวานๆก็แผ่เมตตาแล้ว

หนูเอ๋

ใช่ครับ เรามาทำวันแม่ทั้งลมหายใจเข้าออกดีกว่า

หายใจออก ก็เฮ้อแม่จ๋า หายใจเข้า ก็เฮ้อแม่จ๋า ดีไหม?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท