Backward Design ในสพท.สพ ๒


 

 

Backward Design  ในสพท.สพ ๒ 

                    เมื่อวันที่ ๒๔ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ผมได้เข้าร่วมอบรมปฏิบัติการ พัฒนาครูผู้สอน จัดทำแนวการจัดการเรียนรู้ รูปแบบ Backward Design  ณ โรงเรียนอู่ทอง มีครูในสังกัด สพท.สพ.เขต ๒ เข้าร่วมอบรมเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้จะแบ่งเป็นกลุ่มตัวแทนจากศูนย์เครือข่ายทุกศูนย์ กลุ่มอาจารย์ ๓ เชิงประจักษ์ที่ไม่ผ่านการประเมินหลังการอบรม และผ่านการประเมินหลังการอบรม รอส่งแผนการสอน ๑๑ สัปดาห์ กลุ่มครูโรงเรียนอนุบาลบ้านท่าพระยาจักร และกลุ่มครูที่เป็นที่ปรึกษาอาจารย์ ๓ เชิงประจักษ์ ที่จะมีโอกาสแก้ตัวอีกครั้ง ผมจัดอยู่ในกลุ่มสุดท้าย                การอบรมในวันแรก หัวหน้าลำดวน ท่านเป็นวิทยากร มาปูพื้นฐาน ให้แนวคิดและพาฝึกตามขั้นตอน Backward Design  เป็นการออกแบบการจัดการเรียนรู้ซึ่งมี ๓ ขั้นตอนดังนี้               

ขั้นตอนที่ ๑ เป็นการกำหนดเป้าหมายที่พึงประสงค์ ครูจะพิจารณาว่านักเรียนควรรู้อะไร ควรเข้าใจเรื่องใด และนักเรียนควรทำอะไรได้  อะไรควรค่าแก่การเรียนรู้ และควรมีความเข้าใจที่ยั่งยืน ฝังแน่นอะไรบ้าง ขั้นนี้หัวหน้าลำดวนให้ทำใบงานตามหัวข้อดังนี้               

๑.๑ กำหนดประเด็นหรือชื่อหน่วยการเรียนรู้ ได้มาจากมาตรฐานการศึกษา ความสนใจ สถานการณ์ปัจจุบัน นโยบาย เช่น พืชเศรษฐกิจเพื่อชีวิตที่พอเพียง               

๑.๒ หาConcept  หลัก ซึ่งเป็นเนื้อหาย่อยๆที่สอดคล้องกับประเด็น               

๑.๓ กำหนดความรู้คงทน คือความรู้หรือความคิดรวบยอดที่จะเกิดขึ้นเมื่อนักเรียนเรียนจบหน่วยการเรียนรู้นั้น เช่นจากหน่วยนี้ อาจกำหนดความรู้คงทนว่า พืชเศรษฐกิจเป็นพืชที่ทำรายได้ ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืน               

๑.๔ วิเคราะห์เทียบมาตรฐานกลุ่มสาระการเรียนรู้ ว่าประเด็นที่เราจะจัดการเรียนรู้นั้นเกี่ยวข้องกับมาตรฐานใด แล้วแต่ว่าเราจะทำร่วมหรือบูรณาการกับกลุ่มสาระใดถ้าทำร่วมกันทั้งโรงเรียนก็คงต้องดึงมาตรฐานที่เกี่ยวข้องมาทุกกลุ่มสาระ               

๑.๕ วิเคราะห์ความรู้หรือทักษะเฉพาะวิชาของกลุ่มสาระการเรียนรู้ จากมาตรฐานที่เลือกมา เช่น ภาษาไทยคงไม่พ้น ทักษะฟัง พูด อ่าน เขียน ถ้ามีหลายวิชาให้เขียนเรียงมาตามลำดับ               

๑.๖ วิเคราะห์จิตพิสัยที่ต้องการให้เกิดกับนักเรียน ให้ดูจากมาตรฐาน ถ้าไม่มีให้เขียนขึ้นเองแต่ต้องเกี่ยวข้อง               

๑.๗ วิเคราะห์ทักษะคร่อมวิชา คือทักษะที่นำมาใช้ร่วมกันได้ในทุกกลุ่มสาระเช่นทักษะการคิดวิเคราะห์               

๑.๘ วิเคราะห์คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของสถานศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่องหรือประเด็นที่ศึกษา               

ขั้นตอนที่ ๒ เป็นการกำหนดหลักฐานของการเรียนรู้ที่เป็นที่ยอมรับได้ 

Backward Design  จะกำหนดให้ครูคิดเหมือนนักประเมินผล โดยคิดถึงหลักฐานที่จะบ่งชี้ว่านักเรียนได้บรรลุเป้าหมาย การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ ด้วยวิธีการประเมินที่หลากหลายและต่อเนื่อง ขั้นนี้เป็นขั้นจัดทำผังการประเมินหรือร่องรอยผลงานของนักเรียน                ขั้นตอนนี้หัวหน้าลำดวนและทีมงานแจกใบงานเป็นตารางผังการประเมินว่า จากข้อ ๑.๓ ๑.๘ จะประเมินด้วยวิธีใดเช่น ตอบแบบเลือกตอบ ตอบแบบความเรียง ใช้โครงงาน ใช้การปฏิบัติจริง ใช้การสังเกต               

ขั้นตอนที่ ๓ การวางแผนการเรียนการสอนหรือการออกแบบการเรียนรู้                

ขั้นนี้เป็นการนำผังการประเมินที่กำหนดไว้มาออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้โดยตีตารางเป็น ๔ ช่อง-         

ช่องที่ ๑ เป็นช่องแสดงการวิธีวัดผลว่าความรู้หรือทักษะหรือพฤติกรรมนั้นๆจะวัดผลประเมินผลอะไร-         

ช่องที่ ๒ เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับการวัดผลประเมินผลในช่องที่ ๑-         

ช่องที่ ๓ เป็นสื่อ/แหล่งเรียนรู้ และเครื่องมือวัด ที่สอดคล้องกับกิจกรรมในช่อง ๒-         

ช่องที่ ๔ เป็นเวลาที่วางแผนจะใช้ในกิจกรรมนั้น

           จบ ๓ ขั้นตอน ก็นำไปทำแผนการสอนได้ หัวหน้าลำดวนจบไว้เพียงนี้ ก็เย็นมากถึงเวลากลับบ้าน ก่อนกลับผมได้รับมอบหมาย เป็นผู้กล่าวขอบคุณ ด้วยบทกลอนนี้

ฟังหัวหน้า ลำดวน ชวนคุณครู                       ให้เรียนรู้  วางแผน แสนคุ้มค่า

เรื่อง Backward Design  ใหม่นำมา                           พัฒนา เด็กไทย ให้ได้ดี

ท่านสละ เวลา มาแนะนำ                                  พระคุณล้ำ ดวงกมล จนล้นปรี่

ครูสุพรรณ ซึ้งใจ ในไมตรี                                พวกเรานี้ ซึ้งซาบ กราบขอบคุณ

            นั่นเป็นเหตุการณ์ในวันแรก พอวันที่ ๒ อาจารย์สุนันทา สุนทรประเสริฐ ท่านก็มาต่อยอด เชื่อมโยงที่หัวหน้าลำดวนพูดไว้ แล้วต่อด้วยเทคนิคการทำแผนการสอน และเทคนิคการพัฒนางานจากแผนการสอนอีกมากมาย แต่ที่ครูชอบกันมากคือท่านจะสรุปด้วยบทเพลงทำนองลูกทุ่งเพราะๆให้ครูร่วมกันร้อง เรียกว่าอบรมกันอย่าง เก่ง ดี มีสุข(ทุกข์ตอนกลับไปทำ) สุดท้ายผมรับหน้าที่กกล่าวขอบคุณท่านอาจารย์สุนันทาด้วยกลอนแหล่ บทนี้

ฟังอาจารย์ สุนันทา มาแนะนำ                         ให้ครูทำ ผลงาน แผนการสอน

แนะเทคนิค ครูสุพรรณ ทุกขั้นตอน               สิ่งซับซ้อน อธิบาย เห็นง่ายจริง 

ทฤษฎี ท่านตี เป็นปฏิบัติ                                   แสนแจ่มชัด จุดประสงค์ ตรงทุกสิ่ง 

ทั้งสาระ กิจกรรม นำอ้างอิง                              ประเมินผล ตรงดิ่ง คุ้มเวลา

สื่อการสอน กลอนร้อง ทำนองเพราะ             เสียงเสนาะ แสนสนุก สุขหรรษา

ผู้อบรม ชื่นชม อ.สุนันทา                                  บอกโชคดี ที่ได้มา พบอาจารย์

แสนซาบซึ้ง น้ำใจ ให้เขตสอง                        พวกเราต้อง รำลึก นึกถึงท่าน

สุนันทา สุนทรประเสริฐ เลิศผลงาน       หลอมดวงมาน น้อมนอบ กราบขอบคุณ

 

คำสำคัญ (Tags): #เล่าประสบการณ์
หมายเลขบันทึก: 98697เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2007 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 19:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรียนท่าน ผอ..pisoot

  • ท่านเขียนบันทึก  ได้ละเอียดดีมากเลยค่ะ
  • วันอาทิตย์นี้  ที่โรงเรียนที่ครูอ้อยสอน  ก็จะมีการอบรมการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ Backward Design ค่ะ
  • แล้วจะนำเสนอแผนที่เขียนเสร็จแล้วเป็น pdf เผยแพร่ต่อไปค่ะ

ขอบคุณค่ะ

  • ซึ้งน้ำใจ ครูอ้อย ไม่น้อยนิด
  • กัลยาณมิตร เปี่ยมล้นปรี่
  • เคยพบหน้า ออนซอน ดอนเจดีย์
  • จนป่านนี้ ยังไม่ลืม ปลื้มอุรา

ขอบพระคุณ  ท่านผู้รู้   ผู้กว้างใหญ่

ด้วยน้ำใจ  อัธยาศัย  ด้วยศักดิ์ศรี

หากครูอ้อย  มีโอกาส  ไปอีกที

ก็คงมี  ความสุข   ทุกคืนวัน

...ขอบคุณทุกท่านค่ะ

...เราจะเป็นเครือข่าย...เติมเต็มให้กันค่ะ

ขอบคุณครับครูอ้อย ครูครับผมเป็นแค่ครูชำนาญการพิเศษก็พอ ครูอ้อยอย่าตั้งผมเป็นผอ.เลยครับเดี๋ยวผอ.ประจักษ์ ปานอินทร์ ลูกพี่ผมตกงาน

                      ขอบคุณอีกครั้งครับ

คุณครูพิสูจน์  ทำผลงาน คศ.4 เรื่องอะไรค่ะ  อยากให้แนะนำบ้าง อยากทำวิชาภาษาไทย  แต่ไม่ทราบจะทำเกี่ยกับเรื่องอะไร และทำอย่างไร ได้ข่าวว่าถ้าเป็นแบบฝึกถือว่าธรรมดาจะไม่ผ่าน คุณครูช่วยแนะนำหน่อยนะค่ะ  ขอบคุณมากคะ  หนูเข้ามาอ่าน หาความรู้จากคุณครูบ่อย ได้นำไปใช้สอนเด็ก เป็นความรู้ที่ดี ได้แก้ข้อสังใสหลายเรื่อง ทั้งอักษรนำ มาตราตัวสะกดแม่เกอว  และอีกหลายเรื่อง ขอบคุณมากคะ

คุณครูพิสูจน์คะหนูกำลังหาความรู้เรื่อง Backward เพื่อทำวิทยานิพนธ์ค่ะ ขอบคุณมากค่ะที่ให้ความรู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท