สอบไม่ติดคิดสั้น


ไม่เคยมีใครประสบผลสำเร็จในชีวิตถ้าไม่ผ่านความล้มเหลว หรือข้อผิดพลาดมาก่อน เพียงแต่เมื่อพลาดแล้วรู้จักแก้ไข ไม่ใช่แก้ตัว

         ผมอ่านหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เมื่อไม่นานมานี้ พบข่าวนักเรียนโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จังหวัดเชียงราย ที่เป็นเด็กเรียนเก่งคนหนึ่งผูกคอตาย ซึ่งตามข่าวระบุสาเหตุสำคัญว่า เพราะตั้งใจสอบเอนทรานซ์ให้ติดวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอันดับแรก แต่ปรากฏว่าได้อันดับสองคือวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงเครียดและผูกคอตายที่ไม่สมหวัง
        เรื่องทำนองนี้เรามักได้ยินกันเป็นประจำ บางคนสอบเข้าได้แล้ว แต่พอเรียนเกรดตกต่ำเลยเครียดกระโดดตึกฆ่าตัวตายก็มี เรื่องทำนองนี้เป็นเรื่องเศร้าของครอบครัวและสังคม
       ครูหยุย(วัลลภ ตังคณานุรักษ์) กล่าวว่า เรื่องเหล่านี้เกิดจากกระบวนการเลี้ยงดูเด็ก และระบบการศึกษาของไทย เนื่องจากเด็กอ่อนแอ จิตใจฝ่อ และไม่แกร่งพอ เมื่อประสบความผิดหวัง ก็โกรธ น้อยใจ และหาทางออกด้วยการทำลายตัวเอง
      ครูหยุยเสนอทางออกว่า พ่อแม่ต้องไม่คาดหวังมากเกินไป ต้องปลูกฝังลูกตั้งแต่ยังเด็ก ฝึกให้เด็กเรียนรู้ชีวิตจริงๆ พร้อมทั้งเรียนรู้พฤติกรรมกลุ่ม คือการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม นอกจากนี้การศึกษาก็ต้องให้เด็กได้เรียนรู้โลกภายนอกและทำกิจกรรมมากๆ เพื่อฝึกความเป็นผู้นำ ฝึกการทำงานเป็นหมู่คณะ ให้เรียนรู้การผิดหวังและการปรับตัว ไม่ใช่อยู่ในตำราอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เด็กเปราะบาง
     พญ.กมลพรรณ ชีวพันธุ์ศรี บอกว่า ปัญหาเรื่องนี้เกิดจากพ่อแม่ไม่มีองค์ความรู้ที่ถูกต้องทางด้านจิตวิทยาและพัฒนาการเด็ก โดยพ่อแม่จะต้องเตรียมตัวดูแลลูกแต่ละด้านให้พร้อม แต่อย่าคาดหวังจนเกินไป การพัฒนาเด็กก็ไม่ใช่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของครูเพียงฝ่ายเดียว พ่อแม่ส่วนมากมักไม่มองหรือรับรู้ว่าลูกมีศักยภาพแค่ไหน มุ่งแต่จะให้ลูกสอบเข้าในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เพราะถูกกระแสสังคมพาไป เพื่อเป็นหน้าเป็นตา ความเข้าใจผิดเหล่านี้จะไปบีบคั้นเด็กมาก
       ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม แนะนำว่า พ่อแม่ที่มีลูกเอนทรานซ์ไม่ติด สิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่งคือ ดุด่าเด็ก หรือแสดงอาการเสียใจ-ผิดหวัง และก็ไม่ควรปลอบใจลูกมากจนเกินไปด้วย เพราะจะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกเสียขวัญ จะกลายเป็นการซ้ำเติมเด็ก ทางที่ดีคือ ควรรับฟังความคิดลูกหรือฟังเรื่องที่ลูกต้องการระบายออกมา การให้กำลังใจเป็นสิ่งที่ควรกระทำ แต่ต้องพอดีๆ เช่น การพูดว่า ล้มแล้วลุก ในคติชีวิตคนทั่วไปซึ่งถือเป็นกฎทองของโลก คือไม่เคยมีใครประสบผลสำเร็จในชีวิตถ้าไม่ผ่านความล้มเหลว หรือข้อผิดพลาดมาก่อน เพียงแต่เมื่อพลาดแล้วรู้จักแก้ไข ไม่ใช่แก้ตัว และการให้กำลังใจที่ดีที่สุดคือการสัมผัส การโอบกอดที่จะให้ความรู้สึกอบอุ่นในหลายอย่าง
         ดร.วัลลภกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันนี้ดีกว่าเมื่อก่อน ที่ยังมีมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งที่มีมาตรฐานก้ำกึ่งกับมหาวิทยาลัยรัฐ และบางวิชาเอกเหนือกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐด้วยซ้ำ พ่อแม่จึงควรคิดว่า การที่ลูกได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงก็ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันว่าชีวิตจะประสบผลสำเร็จเสมอไป ความรักความเข้าใจที่มีต่อลูกต่างหากที่มั่นคงและเป็นรากฐานที่ดีสำหรับลูก
       เมืองไทยเสียเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติหลัง
เอนทรานซ์” ไปมากแล้ว ซ้ำหลังๆยังลามถึงการสอบเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาด้วย ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องสร้างเจตคติใหม่ เพื่อยุติเรื่องเศร้าเหล่านี้

หมายเลขบันทึก: 97482เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2007 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้ดูข่าวจากทีวีเช่นกันค่ะ

น่าสลดใจมากกับเหตุการณ์นี้ค่ะ  ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวที่สูญเสียที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ด้วยค่ะ

สถาบันครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะอุ้มชูให้บุตรหลานมีความอบอุ่นและกำลังใจที่ดีในการใช้ชีวิตต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท