เป็น "ทันตแพทย์" แล้ว ต้องเป็น "บัณฑิต" ด้วย (ตอนที่ ๑)


ความทุกข์ที่มาจากโรคในช่องปาก เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่เกาะเกี่ยวเชื่อมโยงอยู่กับความทุกข์อันมหาศาลที่เพื่อนมนุษย์เราแบบรับอยู่ ไม่ว่าจะทุกข์เรื่องความเจ็บป่วยอื่นๆ ทุกข์เรื่องการทำมาหากิน ทุกข์เรื่องปัญหาทางครอบครัว ฯลฯ

ถ้าเรายังจำได้

เมื่อทันตแพทยศาสตร์บัณฑิตหมาดๆ จบไปทำงานโรงพยาบาลชุมชนใหม่ๆแรกเริ่มนั้นรู้สึกว่า มีพลังอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้พ้นทุกข์ทรมานจากโรคในช่องปาก

ปีแรก ปีที่สองผ่านไป เราก็ยังคงอิ่มอกอิ่มใจกับสิ่งที่เราได้ทำ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

แต่ความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้น หากเราได้ออกไปพบปะผู้คนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น หมอ พยาบาล ครู หรือกระทั่ง อสม และชาวบ้าน ผ่านการประชุม การทำงานร่วมกัน

  

เราได้พบว่าความทุกข์ที่มาจากโรคในช่องปาก เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่เกาะเกี่ยวเชื่อมโยงอยู่กับความทุกข์อันมหาศาลที่เพื่อนมนุษย์เราแบบรับอยู่ ไม่ว่าจะทุกข์เรื่องความเจ็บป่วยอื่นๆ ทุกข์เรื่องการทำมาหากิน ทุกข์เรื่องปัญหาทางครอบครัว ฯลฯ

ทุกข์ที่มาจากโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เอื้อให้คนชนบทอยู่อย่างเป็นสุขได้ดูจะเป็นสิ่งที่เป็นรากของทุกข์อย่างอื่นๆ

เพราะที่สุดแล้วโรคฟันป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสิ่งที่เอื้อให้เกิดพฤติกรรมก็คือโครงสร้างทางสังคม

เด็กฟันผุ มีอะไรเกี่ยวข้องบ้าง

การกินขนม, การเลี้ยงดู, การได้อยู่กับพ่อแม่ที่มีความรู้ และมีเวลา, การมีขนมทางเลือกที่หวานน้อย, สภาวะในโรงเรียนที่ดี, แปรงฟันด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์, การเข้าถึงบริการทันตสุขภาพ, หลักประกันสุขภาพ, การเดินทางมาโรงพยาบาล ฯลฯ

จะเห็นว่าสิ่งที่เรียกว่า ความรู้ กับ โครงสร้างทางสังคม ล้วนมีความสำคัญพอๆ กันในการจัดการโรคฟันผุ

นี่ยังไม่นับเรื่องเด็กฟันดีแต่ขาดอาหาร, ฟันดี อาหารดี แต่ขาดการศึกษา หรือทุกอย่างดีหมด แต่ติดเกมส์ ฯลฯ

ยังไม่นับประเด็นปัญหาในกลุ่มอื่นๆ ที่เราแทบจะไม่มีเวลาพิจารณา เช่น เรื่องการจัดฟันแฟชั่น การทำเขี้ยวในกลุ่มวัยรุ่น, การสูบบุหรี่ในวัยทำงาน และการสูญเสียฟันในกลุ่มผู้สูงอายุ เรื่องเหล่านี้ หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว ล้วนมีปัจจัยรอบๆ ที่ไม่อยู่ในช่องปาก และไม่อยู่ในปริมณฑลแห่งอำนาจของทันตแพทย์ที่จะเอื้อมไปถึง

มองย้อนกลับมาตัวเรานอกเหนือจากความสามารถทางคลินิก กับการให้ทันตสุขศึกษาแล้ว เราทำอะไรได้อีก...เพื่อแก้ไขปัญหาโรค และสร้างสุขให้กับประชาชนที่เรามีหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่

จะแก้ปัญหาฟันผุในเด็ก นอกจากต้องการทักษะอันดีเลิศในการให้บริการทันตกรรมเด็กบนเก้าอี้ทำฟันแล้ว ยังมีเรื่องการตามเทคโนโลยีเรื่องวัสดุที่ต้องใช้ในการป้องกันโรคฟันผุ หรือการบูรณะฟันน้ำนม

แต่ทักษะแค่นั้นยังไม่พอ หากจะมองที่ปัจจัยอันเป็นต้นเหตุ และพฤติกรรมเสี่ยงเกี่ยวกับโรคฟันผุ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมาข้องเกี่ยวกับผู้ปกครองเด็ก (ในชนบทจะเป็นปู่ย่าตายายมากกว่าพ่อแม่) การเลี้ยงดู ขนม โรงเรียน ฯลฯ (ต่อตอนสองเร็วๆนี้) 

หมายเลขบันทึก: 97203เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2007 16:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท