การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยเวลาและต้องสั่งสมประสบการณ์


การคิดเชิงกลยุทธ์เป็นการคิดที่ช่วยเพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จ เพราะเป็นการคิดที่มีเป้าหมายตามความต้องการที่กำหนดไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจน
       ผมคุยและเล่านิทานเกี่ยวกับเรื่องการวางแผนเชิงกลยุทธ์มาหลายวัน  เพราะช่วงเวลานี้ที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังฮิตเรื่อง "ผู้นำการเปลี่ยนแปลง" ตามนโยบายการกระจายอำนาจให้โรงเรียนบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน(SBM) จึงอบรมแกนนำทั้งในโรงเรียนและที่ สพท.ให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงกันทั่วประเทศ หมดงบประมาณไปเยอะ  เพื่อให้ทุกคนสามารถคิดวางแผนหรือปรับแผนให้เป็นแผนกลยุทธ์สามารถขับเคลื่อนการปฎิรูปการศึกษาให้เป็นผลสำเร็จ
     ด้วยความที่อดเป็นห่วงไม่ได้  เพราะภาพที่ปรากฎยังเห็นพวกเราติดกรอบกันอย่างเหนียวแน่น การคิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรภายในไม่กี่วันอาจเป็นเรื่องยาก  เพราะเรื่องนี้ต้องสั่งสมประสบการณ์พอสมควร  จึงต้องมาแสดงความคิดเห็นกันตามที่ปัญญาพอจะมี  โดยกำหนดประเด็นเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ
       ถ้าจะให้นิยามเกี่ยวกับเรื่องการวางแผนเชิงกลยุทธ์น่าจะหมายถึง การวางแผนอันชาญฉลาดที่มีการคิดเชิงกลยุทธ์โดยมีกลวิธี(Tactics)ในการแก้ปัญหาและพัฒนางานด้วยนวัตกรรมที่สร้างสรรค์  เพราะเรื่องนี้ถือเป็นจุดชี้ขาดประการหนึ่งของผู้ที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
      
การคิดเชิงกลยุทธ์เป็นการคิดที่ช่วยเพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จ  เพราะเป็นการคิดที่มีเป้าหมายตามความต้องการที่กำหนดไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจน  รู้จักเรียนรู้ที่จะมองตนเอง  มองสภาพแวดล้อม  และมองอนาคต  ทำให้สามารถรุกและรับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                        การที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะคิดเชิงกลยุทธ์ได้จะต้องรู้ปัญหา รู้สาเหตุของปัญหาอย่างดีมาก่อน  ต้องมีข้อมูลอย่างรอบด้าน  ทั้งข้อมูลที่เป็นจุดแข็ง  จุดอ่อน  โอกาส และอุปสรรค  ตลอดจนผลกระทบจากปัญหานั้นด้วย  ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจึงต้องมีเทคนิค  มีเครื่องมือช่วยในการวิเคราะห์ปัญหา  เช่นอาจใช้เทคนิคSWOTS  การประเมินความต้องการจำเป็น(Needs  Assessment :NA) หรือการวิจัย  เป็นต้น  ซึ่งการรู้ข้อมูลอย่างรอบด้านที่มีการจัดกระทำให้เป็นสารสนเทศ  จะช่วยให้ผู้บริหารมองปัญหา มองสาเหตุของปัญหาที่ชัดเจน  ซึ่งจะทำให้สามารถคิดหาทางเลือกในการแก้ปัญหาได้สอดคล้องกันมากขึ้น

                        ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะคิดเชิงกลยุทธ์ได้  ต้องมีความสามารถในการตัดสินใจ  โดยพิจารณาทางเลือกที่เห็นว่าดีที่สุด เหมาะสมที่สุดจากบรรดาทางเลือกหลายๆทาง  เพื่อนำมาดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้  โดยเกิดประโยชน์มากที่สุดและเกิดผลเสียหายน้อยที่สุด  เพราะการตัดสินใจคือหัวใจของการบริหาร  ดังมีผู้กล่าวว่า

            ถ้านายสิบตัดสินใจผิด  ทหารอาจจะตายทั้งหมวด  ถ้านายร้อยตัดสินใจผิด  ทหารอาจจะตายทั้งกองร้อย  ถ้านายพันตัดสินใจผิด  ทหารอาจจะตายทั้งกองพัน  และถ้านายพลตัดสินใจผิด  ทหารอาจจะตายทั้งกองทัพ

      ฟรานซิส  เบคอน  ได้ให้ข้อคิดสำหรับผู้บริหารในการคิดเชิงกลยุทธ์ไว้ว่า

“…ถ้าเราอยากบรรลุความสำเร็จในสิ่งที่ไม่เคยสำเร็จมาก่อน  ต้องอย่าทำเหมือนสิ่งที่เคยพยายามทำมาแล้ว  เพราะฉะนั้นต้องคิดและทำใหม่  ในความคิดใหม่  ในรูปแบบใหม่  จึงจะมีโอกาสบรรลุความสำเร็จในสิ่งซึ่งไม่เคยสำเร็จมาก่อนได้…”

หมายเลขบันทึก: 96954เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2007 07:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
สุดยอดมากเลยครับ นับถือ ๆ ได้แนวความคิดดี อิอิ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

ต้องคิดและทำใหม่  ในความคิดใหม่  ในรูปแบบใหม่  จึงจะมีโอกาสบรรลุความสำเร็จในสิ่งซึ่งไม่เคยสำเร็จมาก่อนได้

ชอบประโยคนี้จังค่ะ

ขอบคุณค่ะ

   จะคิดและทำใหม่อย่างไรก็ตาม  แต่ต้องไม่ลืมรากเหง้าของความเป็นไทยก็แล้วกัน  ไม่เช่นนั้นเราจะสูญเสียวัฒนธรรม เสียเอกลักษณ์ความเป็นชาติเป็นตัวตนของเราเอง  เราคงไม่มีความภาคภูมิใจในผลสำเร็จนั้นใช่ไหม 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท