เสียบรรยากาศ


ต่างคนหลากสไตล์ หากเราเข้าใจก็จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น

วันที่ 17 พฤษภาคม 2550

วันนี้เป็นวันพฤหัสบดี มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้น ทั้งดีและไม่ค่อยดี เอาเรื่องไม่ค่อยดีก่อนก็แล้วกัน

               

เพื่อน fellow ที่มาจาก Philippine กำลังจะหมดความอดทนที่จะเรียนที่นี่ ทั้งนี้ก็เพราะว่าเธอเครียดและทนความกดดันไม่ไหว Dr Arther ทำให้เธอเป็นเช่นนี้ ทำอะไรก็ไม่ถูกใจ มันเริ่มเกิดความเครียดมากขึ้นตั้งแต่เขากลับมาจากอังกฤษ แล้วอยากจะวางระบบการเรียนการสอนที่นี่ใหม่ ระบบมันก็เลยเริ่มรวน ตอนเย็นเธอจึงไปคุยกับคุณครูหาญ (Dr Han) เพื่อจะขอเปลี่ยนโปรมแกรมการเรียนไปเป็น minimal invasive surgery แทน คุยกันอยู่นาน คุณครูก็เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น และสอนให้เธออดทน ครูหาญจะเป็นคนเดียวเท่านั้นที่ดูแลและรับผิดชอบการเรียนของพวกเรา เธอจะขอดูต่อไปอีก 1 สัปดาห์ หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นจะออกทันที หลังจากนั้นคุณพี่สุกี้ (Shukiman) ก็พาพวกเราประชุมกลุ่มย่อยต่ออีก ภาษาบ้านเราเรียกการประชุมชนิดนี้ว่า นินทา

 พี่สุกี้บอกว่า ที่นี่ (ผมหมายถึงใน KKH) หน่วยนี้มีความสับสนที่สุดแล้ว เพราะครูหาญทำอย่างหนึ่ง ครูลีทำอย่างหนึ่ง เราจะแตกสไตล์เขาไม่ได้เลย เราจึงมีหน้าที่ต้องมาเรียนความแตกต่าง

อันนี้เห็นด้วยเป็นที่สุดครับ การเรียนนั้นเราสามารถอ่านหนังสือได้ทุกคน ใครอ่านมาก จำเก่ง ก็ถือว่าเรียนเก่ง เราสามารถมาที่นี่ได้ก็ถือว่าเก่งและเฮง พวกเราต่างก็เรียนจบสูตินรีเวชกันมาทั้งนั้นแล้ว ความสามารถในการผ่าตัดต่างๆก็ทำได้ระดับหนึ่ง แต่เรามาที่นี่เพื่อเรียนการดูแลผู้ป่วยอีกอย่างหนึ่งที่เราไม่คุ้นเคย หนังสือคู่มือการผ่าตัดมีให้อ่านแน่ๆ แต่ฝีมือการผ่าตัดคงหาคนสอนไม่ได้อีกแล้ว เราจึงต้องเรียนรู้จากครูทั้ง 2 คน เพื่อดูความแตกต่าง แล้วประยุกต์ใช้กับตัวเรา อันนี้คุ้นๆครับ เหมือนกับเราเคยสอนลูกศิษย์เรามาก่อนเลย

ข้อคิดอีกอย่างหนึ่งที่ได้จากการประชุมกลุ่มย่อยคือ เราได้ทาบว่าคุณครูทั้ง 2 คนมักจะหงุดหงิดหากลูกศิษย์ทำไม่ถูกใจ หมายความว่าหากใครไม่ทำตามความคุ้นเคยของท่าน เดี๋ยวมีปัญหา เช่นว่า สำหรับครูท่านนี้ เราต้องสั่งยาแบบนี้ หากเราเอาแบบครูอีกคนมาใช้ เดี๋ยวสวย พาลให้นึกถึงลูกศิษย์ที่เป็นแพทย์ใช้ทุนแพทย์ประจำบ้าน ที่ต้องคอยโอ้โลมปฏิโลมอาจารย์แพทย์ไม่ให้ท่านหงุดหงิด บางคนต้องการอย่างหนึ่ง แต่อีกคนต้องการอย่างหนึ่ง เราทำตามคนนี้ก็จะไปกระทบกับอีกคนหนึ่ง แต่เวลาโดนด่า เราโดน สำหรับตัวผมไม่เคยทำพฤติกรรมอย่างนี้ต่อลูกศิษย์ แต่ก็เคยเห็นลูกศิษย์น้ำตาไหลมาแล้ว พอได้เจอแบบนี้บ้างก็ยิ่งเข้าใจมากขึ้นไปอีก ชีวิตมันก็แค่นี้แหละหนอ ชีวิตมีเรื่องต้องให้เครียดมากกว่านี้อีกมากมาย หน้าที่ของเราคือการอดทน อดกลั้น และทำงานต่อไป

ข้อคิดที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ การได้ไปเรียนต่อที่เมืองนอก ไม่ได้บอกให้คนทั่วไปทราบหรอกว่า เราเก่งแค่ไหน อย่างผมมาที่นี่ หากไม่ได้ฝึกผ่าตัดเลยก็กลับไปทำงานไม่ได้ รู้แต่ทำไม่เป็น เสียเงินเปล่าๆ ทำไมจึงเขียนอย่างนี้รู้ไหมครับ ก็เนื่องจากวันอังคารที่ผ่านมาที่มีประชุมในหน่วยตอนบ่าย ที่คุณอาเธอ (Dr Arther) บรรยายว่าเธอไปทำอะไรที่อังกฤษบ้าง เธอไปอยู่กับ Linda Cardozo ผู้ที่มีชื่อเสียงอย่างมาก แต่เชื่อหรือไม่ว่าคุณอาเธอไม่ได้ผ่าตัดเลย เนื่องจากเขามีลูกศิษย์มากมาย ลูกศิษย์ส่วนใหญ่จึงได้ผ่าตัดน้อยมาก อีกทั้งที่นี่เป็นศูนย์ที่ทำวิจัยมาก การดูแลคนไข้จึงน้อยกว่าที่ KKH มากเช่นเดียวกัน ดังนั้นกลับมาได้ 1 เดือนนี้ จึงต้องมาฝึกผ่าตัดใหม่เกือบหมด แบบว่าคุณพี่สุกี้เก่งกว่าว่างั้นเถอะ ที่รู้ได้เพราะว่าวันนี้ผมต้องเข้าห้องผ่าตัดไงครับ ตอนที่ประชุมคุณครูหาญยังบอกเลยว่า พวกเราน่าจะได้ผ่าตัดมากกว่ามาก

เรื่องที่ดีที่จะบันทึกไว้ในวันนี้ก็คือ ได้เข้าช่วยผ่าตัดส่องกล้องกับหมอที่นี่

เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ ระบบที่นี่ก็คือว่า ไม่ว่าใครจะเป็นหมอเจ้าของไข้(คนไข้ฝากพิเศษ) แต่หากต้องทำการผ่าตัดทางด้านที่ตัวเองไม่ถนัด เขาจะเชิญคนที่เก่งมาทำ แล้วตัวเองดูคนไข้หลังผ่าตัดเอง เช่น ครูหาญมีคนไข้พิเศษมาผ่าตัดส่องกล้องตัดเนื้องอกมดลูก เขาทำไม่เป็น แต่จะเรียกหมอที่ชำนาญด้านนี้มาทำ เงินแบ่งกัน (ผมไม่รู้ว่าแบ่งกันเท่าไหร่ ไม่มีการเกี่ยว เพราะใครทำใครก็ได้เงินไป) หมอที่เข้ามาทำวันนี้เป็นสาว น่าจะรุ่นเดียวกับผม แต่เธอเก่งชะมัดเลย ผมเองยังไม่เคยทำการผ่าตัดก้อนมดลูกผ่านกล้องเลย ด้วย

อุปกรณ์ที่ดีกว่า ทันสมัยกว่าอย่างมาก การผ่าตัดจึงทำได้อย่างรวดเร็ว ทำคนเดียว ผู้ช่วยแค่ถือกล้อง และผมคอยโยกมดลูกด้านล่าง ประทับใจจริงๆครับ

การผ่าตัดผ่านกล้องของ ม.อ.น่าจะไปไกลกว่านี้ หากเรามีเครื่องมือที่ดี มีคนมาฝึกงานดูงานในที่ที่เขามีการผ่าตัดทุกวัน แต่สถานการณ์ด้านการเงินแบบประเทศไทย ผมว่ามันคงยังอีกนาน แต่จะว่าไปแล้ว ภายใต้ความขัดสน มันน่าจะมีผลดีบางอย่างซ่อนอยู่ ผมเคยรู้จักหมออินเดียคนหนึ่งที่ทำงานด้านผ่าตัดผ่านกล้อง อารามที่ประเทศเขาก็มีเงินน้อย ไม่มีปัญญาซื้อเครื่องมามาใช้ได้ เขาจึงอาศัยความขัดสนนี้พัฒนาเครื่องมือมาใช้เอง แถมยังขายสิทธิบัตรให้ต่างชาติอีก จนมีเครื่องมือชุดของเขาเองขึ้นมาในบริษัท Storzแล้วมีคนอื่นใช้ของเขาด้วย ไม่ไกลจากที่ผมอยู่ อาจารย์หเทิญก็ใช้วิธีเดียวกันในการพัฒนาเครื่องมือ จนได้สิทธิบัตรกับเขาเหมือนกัน
หมายเลขบันทึก: 96899เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2007 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

คิดซะว่า เขากำลังสอนเราเรื่อง การใช้ชีวิต ครับ ถ้าเราเรียนหรือทำงานกับคนแบบนี้ได้ ต่อไปเราก็ทำงานกับใครก็ได้ทั้งนั้น

วันนี้ตั้งใจจะโทรศัพท์มาชวนไปกินข้าว เพราะผมจะกลับแล้ว แต่ผมเกิดอาการเมาตอนบ่าย  เหมือนไข้ขึ้น เลยรีบกลับมานอนตั้งแต่บ่าย

นี้เพิ่งตื่นขึ้นมาครับ เลยได้้มีโอกาสมาเจอกันใน GotoKnow เป็นครั้งแรก

ยกต่อไปคงได้คุยกันผ่านบันทึกอาจารย์แป๊ะต่อนะครับ ว่างๆ ก็แวะเข้าไปอ่านบันทึก ลอดช่องสิงคโปร์ ผมบ้าง ตั้งใจว่า จะไปทะยอย post ที่หาดใหญ่ 

ดีใจจังค่ะ ที่แอบได้ข่าวอ.เต็มผ่านบันทึกอ.ธนพันธ์ จะรอบันทึก ลอดช่องสิงคโปร์ นะคะ

ขอบคุณบันทึกที่ให้ทั้งความสนุกและข้อคิดนี้นะคะ ทุกที่ทุกวงการ เราจะพบเจอสภาพเช่นนี้ และหากเราพยายามเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้ นอกจากจะไม่ต้อง suffer มากแล้วยังเป็นการฝึกจิตไปด้วยนะคะ

 P ครับ

ตอนแรกว่าจะลงบันทึกจากสิงคโปร์เลย แต่เพิ่งจะเข้า wireless ได้วันนี้ เล่นเอาคืนสุดท้ายพอดี เวลาเข้า Gotoknow ที่นี่มันขาดๆเกินๆยังไงพิกลครับ 

 เข้าระบบแล้วก็ถูกถามให้เข้าระบบใหม่อยู่เรื่อย  

เขาว่าหมอไทยถึกครับ ไม่ใช่โง่ครับ แต่เราทนไม้ทนมือ นี่คือเหตุผลหนึ่งที่คุณครูหาญเลือกหมอไทยมาตลอดครับ ถัดจากผมก็ยังมีอาจารย์จากศิริราชอีกคน

ที่นี่เขามี wireless ให้ใช้ฟรี 3 ปีครับ

เราต้องสมัครที่ www.qmax.com.sg ครับ ผมเองก็เพิ่งรู้ ยังไม่เคยได้เล่นเลย เพราะว่าที่ห้องมี lan ให้ครับ

  • สงสัยน่าจะเป็น wireless@sg ที่ผมบอกอาจารย์แป๊ะนั่นแหละ ว่าอยู่ดีๆ เครื่องผมก็มีสัญญาณมาให้เห็นนิดๆ ช่วงเช้าๆ
  • ผมคิดว่า น่าจะใส่ คำหลัก ว่า แพทย์ สิงคโปร์ ชีวิตต่างแดน ... อะไรทำนองนั้นนะครับ พยายามใส่หัวข้อที่น่าจะเข้าได้กับบันทึกของเราอันนี้ เพื่อที่เวลาคนอื่นเขาสนใจคำหลักนั้น แล้วค้นหา จะได้เข้ามาถึงบันทึกของเราไงครับ ผมก็กำลังพยายามปรับเรื่องนี้ของตัวเองอยู่ด้วย
  • ไปนอนแล้วครับ ได้เวลาแล้ว พรุ่งนี้ต้องเดินทางด้วย
  • โชคดีครับ รักษาสุขภาพด้วย ฝนเริ่มตกแล้ว กลับไปเมืองไทยเอาร่มพับได้ติดตัวมาด้วยก็ดีนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท