อยู่ดีมีสุขด้วยการตั้งกองทุนชุมชนจังหวัด


จัดตั้งกองทุนชุมชนระดับชาติโดยกระจายอำนาจมาที่จังหวัด นำงบโครงการชาติวาระจรต่างๆมากองรวมที่จังหวัดตามเกณฑ์4ตัวข้างต้น (ที่กำลังตามมาคือคพพ.หรือSMLเดิม) ลดงบสนับสนุนกิจกรรมตามโครงสร้างของหน่วยงานจนหมดไปเพื่อมากองรวมที่จังหวัด ซึ่งสามารถตั้งฐานกองทุนจังหวัดในแต่ละปีได้เลย

เมื่อวานมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อพิจารณาโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองมาจากอำเภอตามยอดเงินงบประมาณที่จังหวัดได้รับจำนวน 96 ล้านบาท มีหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นประธาน

จังหวัดใช้เกณฑ์เดียวกับที่ประเทศใช้จัดสรรเงิน5,000ล้านบาทแบ่งให้อำเภอคือ1)จำนวนประชากร 2)เท่ากัน 3)รายได้ และ4)ตกเกณฑ์จปฐ. แบ่งกันไปอำเภอละประมาณ3-5ล้านบาท

มีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุมคับคั่ง มีข้อคิดเห็นทั้งท้วงติงและสนับสนุนอย่างหลากหลาย แต่ก็ไม่สามารถทำให้ถ้วนทั่วได้เพราะคนมากและโครงการมาก
ที่น่าสนใจคือ การให้ข้อคิดของพระอาจารย์สุวรรณ คเวสโกในฐานะที่ปรึกษาให้ใส่ใจการดำเนินงานในเชิงคุณภาพให้มาก เพราะดูเหมือนรัฐบาลจะไม่สามารถทำอะไรที่ต่างไปจากรัฐบาลที่แล้วในแง่การใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เหมือนลมพัดผ่าน

ผมเห็นว่าท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้ดำเนินการเรื่องชุมชนอินทรีย์เพื่อสร้างความเข้มแข็งระดับครอบครัว หมู่บ้านมา2ปีแล้ว โครงการประชาชนอยู่ดีมีสุขในระดับจังหวัดน่าจะเป็นภาคต่อจากโครงการชุมชนอินทรีย์ คือ การคัดกรองโครงการของชุมชนที่มีคุณภาพซึ่งชุมชนไม่สามารถดำเนินการได้เองและอบต.ไม่สามารถสนับสนุนการดำเนินงานได้ นี่ว่าตามหลักการ

ชุมชนอินทรีย์ทำการสำรวจ/วิเคราะห์บัญชีครัวเรือน จัดทำแผนครัวเรือน และแผนชุมชน คือ

1.โครงการที่ครัวเรือนทำเองได้
2.โครงการที่ครัวเรือนเดียวทำเองไม่ได้
3.โครงการที่ครัวเรือนในชุมชน/หมู่บ้านร่วมกันทำเองได้
4.โครงการของชุมชน/หมู่บ้านที่ครัวเรือนในชุมชน/หมู่บ้านร่วมกันทำเองไม่ได้

5.โครงการสนับสนุนของอบต

6.โครงการของหน่วยงานตามโครงสร้าง

7.โครงการอยู่ดีมีสุข

ในทีมงานจังหวัด มีพี่วีณาจากสสจ.เป็นแกนในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการ ได้นำโครงการสนับสนุนของอบต.ข้อ5 โครงการของหน่วยงานตามโครงสร้างข้อ6 และโครงการในแผนชุมชนในข้อ4 มาพิจารณาเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน และได้จัดกลุ่มโครงการตาม5ประเด็นที่กำหนดในโครงการอยู่ดีมีสุขสรุปส่งให้อำเภอ ในขณะเดียวกันอำเภอก็จัดเวทีทำข้อมูลสรุปโครงการเข้าที่ประชุมกลั่นกรองโครงการของอำเภอจนได้โครงการที่เสนอขอและโครงการสำรองตามงบประมาณที่ได้รับ นำเข้าเวทีประชุมพิจารณาโครงการอยู่ดีมีสุขจังหวัดวันที่16พ.ค.

ผมคิดดู กระบวนการ/ขั้นตอนในระบบราชการไทยช่างซับซ้อนและแยกย่อยกันตามโครงสร้างการกระจายอำนาจที่พิกลพิการซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินงานจัดการความรู้มากที่สุด

ถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ความคิด กระบวนการดีๆและความตั้งใจดีของคนเก่ง คนดีรวมทั้งคนมีอำนาจก็ไม่สามารถเปล่งพลังออกมาได้ คอขวดสำคัญอยู่ตรงนี้

รัฐบาลชุดนี้เปลี่ยนชื่อโครงการแต่เนื้อในเหมือนเดิมไม่มีประโยชน์อะไรเลย ซ้ำยังตามหลังความคิด(ที่ก้าวหน้า)ของรัฐบาลชุดที่แล้วด้วย ถ้าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงระยะยาวต้องก้าวให้ไกลกว่ารัฐบาลชุดที่แล้ว

ข้อเสนอสำคัญและเร่งด่วนตอนนี้คือ การจัดตั้งกองทุนชุมชนระดับชาติโดยกระจายอำนาจมาที่จังหวัด นำงบโครงการชาติวาระจรต่างๆมากองรวมที่จังหวัดตามเกณฑ์4ตัวข้างต้น (ที่กำลังตามมาคือคพพ.หรือSMLเดิม) ลดงบสนับสนุนกิจกรรมตามโครงสร้างของหน่วยงานจนหมดไปเพื่อมากองรวมที่จังหวัด ซึ่งสามารถตั้งฐานกองทุนจังหวัดในแต่ละปีได้เลย เปลี่ยนบทบาทของส่วนราชการมาทำหน้าที่คุณอำนวยและคุณเอื้อเต็มรูปแบบ ใช้กลไกคณะกรรมการกองทุนชุมชนจังหวัดที่มาจากภาคส่วนต่างๆทำหน้าที่พิจารณา กลั่นกรองและอนุมัติโครงการ รวมทั้งการประเมินผล โดยมีส่วนราชการ ท้องถิ่นและภาคชุมชนในพื้นที่เป็นทีมทำงาน พัฒนาโครงการและติดตามสนับสนุนการดำเนินงาน

การประเมินผลงาน/ความสำเร็จของส่วนราชการก็มาจากการทำงานสนับสนุนชุมชน/ท้องถิ่นในฐานะคุณอำนวยและคุณเอื้อให้เกิดความเข้มแข็ง มีวิถีชีวิตที่อยู่ดีมีสุขอย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 96861เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2007 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 17:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แผนชุมชนที่แบ่งตามความสามารถในการจัดการ ว่า ควรอยู่ที่ระดับครัวเรือน ระดับชุมชน และอื่นๆ  เป็นการจัดกลุ่มแผนที่น่าสนใจ  และคิดว่า "ฉลาด" มากค่ะ  เพราะจะทำให้เห็นตัวผู้ขับเคลื่อนหลักที่ชัดเจน

ถ้าอาจารย์ภีมจะขยายความ "กองทุนชุมชน" ให้เป็นที่เข้าใจในวงกว้าง ก็จะเป็นคุณูปการมากค่ะ

น่าดีใจที่ทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นลงมาช่วยดูแลชุมชน    แต่ถ้ามองภาพใหญ่ เรื่องการกระจายอำนาจ  มันเกิดความไม่ชัดเจนว่า  เราจะเอาอย่างไรกันแน่    ใครทำอะไรได้แค่ไหน (ตามอำนาจหน้าที่) ใครหนุนใคร   

ถ้าเราอยากให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ส่วนท้องถิ่นสามารถพัฒนาเป็นตัวแทนที่แท้จริงของชุมชนได้   ส่วนจังหวัดก็ต้องวางงานกับส่วนท้องถิ่นดีๆ   อาจช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ส่วนท้องถิ่น  มากกว่าทำหน้าที่แทนในหลายๆเรื่อง

KM เมืองนคร คงจะช่วยสร้างตัวแบบที่ดีของการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนภูมิภาคกับส่วนท้องถิ่น  และส่วนท้องถิ่นกับชุมชน

               ดีครับ เห็นกระบวนการและแนวทางแก้ปัญหาไปด้วยในตัวเอง

          พูดถึงการกระจายอำนาจมีปัญหาแน่ แต่กำลังจะคลี่คลายออกไปนะครับ ไม่นับว่าเราต้องเลือกตั้งผู้ว่านะครับ เพราะคงเป็นไปไม่ได้ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ  ว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้

             แต่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นก็ทำได้ดีแล้ว ประเด็นเงินกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนนี้วัตถุประสงค์ผมว่าก็ไม่ต่างจาก sml นะ แค่กระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐเท่านั้นเพราะตอนนี้เห็นว่าเศรษฐกิจหมุนไม่คล่องนักภาคการเงินมีปัญหามาก ทำให้การลงทุนแย่

             งานนี้มีกั๊กกันไว้ที่อำนาจของจังหวัดและอำเภอครับ  หากให้ท้องถิ่นไปเลยน่าจะดีกว่า อาจมองเห็นการพัฒนาได้ในระยะยาวไม่ใช่การละลายงบฯแบบนี้

             ความจริงกลไกที่สะดวกก็พอมีนะครับแต่บ้านเราเมืองเรามีวาระซ่อนหลายเหลือเกินครับ ยิ่งในภาวะการแย่งชิงมวลชนและพื้นที่ข่าวยุคนี้แล้ว  ยากยิ่งครับ   บางทีผมมองว่าข้าราชการในพื้นที่เป็นแค่เครื่องมือจริง ๆ ไม่ใช่สมองครับ  เป็นแค่อุปกรณ์บางอย่าง

             ก็ยังดีครับ  อาทิตย์โน้นผู้ใหญ่บ้านเอาโครงการมาให้ผมช่วยดูให้ ก็คุยกันในลักษณะโครงการที่มีความยั่งยืนอยู่บ้าง  ก็น่าดีใจ ในหมู่บ้านเองเขาก็มีสมองที่จะทำอะไรที่ไม่ละลายทิ้งไป ก็น่าดีใจแล้วครับ  ผมก็ช่วยทำช่วยคิดในฐานะ ข้าราชการที่ใช้สมองร่วมกับชาวบ้าน

             ส่วนเรื่องใหญ่ ๆ ระดับจังหวัดผมก็ไม่ทราบรายละเอียดนัก  

                ขอบคุณที่เล่าเรื่องให้อ่านครับ การเติมเต็มข้อมูลและการเข้าใจของผมมากขึ้นเยอะเลย

ก่อนที่จะพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง

น่าจะพัฒนา "คนทำงานชุมชน" ให้เข้มแข็งกันก่อนจะดีไหม?

ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันในทุกระดับให้ได้ว่าโครงการต่าง ๆ ที่จะได้งบประมาณไปขับเคลื่อนงานนั้น เป็นขบวนการที่จะสร้าง "การเรียนรู้" ให้แก่ชุมชนและคนทำงานพัฒนาชุมชนอย่างไร?

ต้องชัดเจนในวิธีคิดว่า "ตัวเงิน" หรือ "กองทุนชุมชน" เป็นเพียง "เครื่องมือ" ในการพัฒนาให้ชุมชนเกิดความมั่นคงและมีความสุข

ทำอย่างไรให้คนทำงานพัฒนาเห็น "ภาพร่วมกัน" ของชุมชนที่ "อยู่ดีมีสุข" ซึ่งมีนัยยะเหมือนและต่างตามบริบทการทำงานของแต่ละหน่วยงาน? หากทำตรงนี้ได้ การขับเคลื่อนที่เป็น "กลไก" เชิงระบบก็จะเกิดขึ้นได้ น่าจะสร้าง "วงเรียนรู้" ของคนที่เป็น "แก้วน้ำที่ยังเติมได้" ก่อน

ภายใต้ "ความซับซ้อน" ที่เป็นอยู่ของระบบ นักจัดการความรู้และคนทำงานคงต้อง "ใจเย็นพอ" ที่จะสะสางและคลี่คลายปมต่าง ๆ ในการเคลื่อนงาน หาพื้นที่หรือชุมชนที่ "ค่อนข้างพร้อม" เป็นพื้นที่นำร่องเพื่อการเรียนรู้...ทำไป...เรียนรู้ไป

ที่สำคัญ "คนทำงาน" ต้องมีความอดทน มุ่งมั่น และมี "ความสุข" ทุกขณะที่ขับเคลื่อนงาน 

ขอให้ทุกคนที่กำลังทำงานด้านนี้มี "กำลังใจ" และมี "ความสุข" ในทุกขณะนะคะ...... 

 

 

 

"แก้วน้ำที่ยังเติมได้"  เป็นทักษะที่ไม่ทำไม่รู้นะครับ ซึ่งคนทำงานชุมชน จะต้องเรียนรู้ฝึกฝน ใจเย็นที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างผู้เรียนในวงเรียนรู้ต่างๆ เริ่มที่ตนเอง อย่างที่อาจารย์ทิพวัลย์ว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ นครศรีฯเราก็เดินตามแนวทางนั้นอยู่ อ.ภีม คงเสริมเรื่องนี้ได้เยอะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท